ธุรกิจตลาดหุ้นบอกเล่าประสบการณ์: ลงทุนในหุ้นต่างประเทศมีข้อดีข้อเสียอย่างไร?

บอกเล่าประสบการณ์: ลงทุนในหุ้นต่างประเทศมีข้อดีข้อเสียอย่างไร?

ปัจจุบันการลงทุนในประเทศไทยได้พัฒนาไปไกลมากขึ้น ทำให้นักลงทุนหุ้นชาวไทยมีทางเลือกมากขึ้นในการลงทุน การลงทุนในต่างประเทศเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ปัจจุบันนักลงทุนไทยสามารถลงทุนในหุ้นทั้งแบบทางตรงและทางอ้อม

การลงทุนหุ้นประเทศทางอ้อมคือการลงทุนผ่านกองทุน พูดง่ายๆ คือ เมื่อเราซื้อกองทุนผ่านธนาคาร กองทุนเหล่านี้จะนำเงินของเราไปซื้อหุ้น หรือ ซื้อกองทุนที่ต่างประเทศอีกทีหนึ่ง ผลตอบแทนที่กองทุนทำได้คือผลตอบแทนของเราหักค่าบริหารจัดการที่เราต้องจ่ายให้กองทุน

วิธีการนี้ค่อนข้างเรียบง่าย และไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแค่ซื้อขายกองทุนเท่านั้นก็จบแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักลงทุนไทยสามารถลงทุนหุ้นโดยตรงในต่างประเทศได้แล้ว โบรกเกอร์หลายแห่งในไทยได้มีบริการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศให้กับลูกค้า อาทิเช่น AIRA, Kasikorn, TISCO เป็นต้น

ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก

สำหรับตัวผมนั้น ผมลงทุนโดยตรงในหุ้นต่างประเทศมาหลายปีแล้ว ผมจึงขอมาชี้แจงข้อดีข้อเสียของการลงทุนแบบนี้ให้ทุกคนทราบโดยไม่ปิดบังครับ

ข้อควรทราบ: สิ่งที่ผมเขียนในโพสนี้เป็นเพียงแค่การบอกเล่าประสบการณ์ที่พบเจอเท่านั้น ไม่ใช่การแนะนำการลงทุนแต่อย่างใด นอกจากนี้ข้อมูลเหล่านี้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตอีกด้วย

ข้อดีของการลงทุนโดยตรงในหุ้นต่างประเทศ

1. สามารถลงทุนในกิจการระดับโลกและเพิ่มโอกาสทางการลงทุนให้ตนเอง

อย่างที่ทราบกันดี บริษัทชั้นนำของโลกล้วนแต่อยู่ที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา การลงทุนในหุ้นต่างประเทศสามารถเปิดโอกาสมหาศาลให้กับนักลงทุนไทย กล่าวคือเราสามารถลงทุนในกิจการระดับ 5 ดาวอย่าง Apple, Google, Microsoft และอื่นๆ อีกมากมายได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้ว การลงทุนในหุ้นใหญ่ๆ แบบนี้ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นเท่าใดนัก

หุ้นที่ผมสนใจคือหุ้นขนาดเล็กและกลางที่มีอนาคต มีเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนโลก หรือมีจุดเด่นเด็ดๆ มากกว่า เพราะหุ้นเหล่านี้สามารถเติบโตได้อีก 10 เท่า หรือ 100 เท่า

จริงอยู่ว่าตลาดไทยอาจจะมีหุ้นเหล่านี้ได้เช่นกัน แต่ด้วยความที่ตลาดไทยมีหุ้นยังไม่ถึงหนึ่งพันตัว และไม่มีหุ้นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกอยู่เลย ทำให้โอกาสพบเจอมันก็น้อยลงไปด้วย สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐมีหุ้นหมื่นกว่าตัว แต่มีหุ้นเทคโนโลยีใหม่ๆ จำนวนนับพันตัว ทำให้โอกาสพบเจอหุ้นเหล่านี้มีมากกว่าไปโดยปริยาย

ดังนั้นตลาดหุ้นต่างประเทศจึงเป็นสถานที่อันสุดยอดสำหรับนักลงทุนทุกคนที่มีความขยัน และมีทักษะอย่างสูงในด้าน Fundamental Analysis เพราะคุณสามารถใช้สกิลพวกนี้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างเต็มที่!

2. กระจายความเสี่ยงและได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจต่างประเทศ

การลงทุนประเทศไทยในประเทศเดียวเท่ากับว่านักลงทุนรับความเสี่ยงของประเทศไทยไปเต็มๆ ถ้าประเทศไทยมีปัญหาทางการเมือง การเงิน หรือเศรษฐกิจที่เกิดเฉพาะในประเทศ นักลงทุนจะมีโอกาสสูญเสียเงินจำนวนมากได้ในพริบตา

ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศจึงสำคัญอย่างยิ่ง ถ้านักลงทุนกระจายเงินของตนเองไปยังสินทรัพย์ต่างๆ ในหลายประเทศ นั่นเท่ากับว่าความเสี่ยงระดับมหภาคได้ถูกกระจายไปด้วย ถ้าเกิดปัญหาเฉพาะในประเทศไทย เงินส่วนอื่นที่เราลงทุนในต่างประเทศก็จะยังปลอดภัย

นอกจากนี้การลงทุนหุ้นในต่างประเทศยังเปิดโอกาสให้เราทำกำไรจากการเพิ่มขึ้นจากราคาหุ้นที่เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของต่างประเทศด้วย ถ้าเปรียบดูตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 มาจนถึงปัจจุบัน ดัชนี SET Index แทบยังไม่ไปไหนเลย แต่ดัชนีอื่นๆในต่างประเทศอย่าง NASDAQ Composite ได้ทำ New High ไปไกลแล้วเป็นต้น

3. สามารถขายชอร์ตได้อย่างเต็มสูบ

ปัจจุบันการชายชอร์ต (Sell Short) ในตลาดหุ้นไทยถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ที่ต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เราสามารถทำได้อย่างเต็มสูบ หุ้นส่วนใหญ่ (ยกเว้นที่เล็กเกินไป หรือลงติดๆกันนานเกินไป) สามารถถูกขายชอร์ตได้ ดังนั้นมันจึงเปิดโอกาสให้เราทำเงินในตลาดขาลง หรือทำกำไรจากหุ้นที่แพงเกินความเป็นจริงได้

4. นักลงทุนจะมีอะไรทำตลอดเวลา

สำหรับนักลงทุนที่คลั่งไคล้ในการลงทุน คุณจะมีอะไรทำตลอดเวลา เพราะตลาดต่างประเทศอย่างตลาดยุโรปเปิดในช่วงบ่ายไปจนถึงช่วงสามสี่ทุ่ม แต่ตลาดสหรัฐเปิดในช่วงสองสามทุ่มไปจนถึงตีสามตีสี่ (แล้วแต่ช่วงฤดู) ดังนั้นถ้ารักในการเทรดจริงๆ คุณจะเทรดได้ตลอดเวลา ความเบื่อและรอให้ตลาดเปิดแทบจะไม่มีอยู่อย่างแน่นอน!

5. ตัวช่วยในการลงทุนมีมาก

สำหรับตลาดชั้นนำของโลกอย่างตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป ตัวช่วยในการลงทุนมีมากจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นสายกราฟ สายพื้นฐาน หรือแม้กระทั่งสาย Quant ดังนั้นในเรื่องทรัพยากรในการลงทุน เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีมหาศาลจริงๆ ในตลาดเหล่านี้

ใครที่สนใจดูกราฟหุ้นต่างประเทศสามารถดูได้ฟรีที่เว็บเหล่านี้

ข้อเสียและปัญหาของการลงทุนโดยตรงในหุ้นต่างประเทศ

1. ปัญหาด้านภาษาและข้อมูล

การลงทุนโดยตรงในหุ้นต่างประเทศต้องสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วเป็นอย่างน้อย เพราะว่านักลงทุนต้องติดต่อกับโบรกเกอร์เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดยามที่ต้องขอความช่วยเหลือ (ในกรณีที่ใช้โบรกเกอร์ต่างชาติ แต่ถ้าเป็นโบรกเกอร์ไทยจะไม่มีปัญหานี้) การอ่านรายงานต่างๆ ก็เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ดังนั้นถ้านักลงทุนใช้ภาษาอังกฤษไม่คล่องจะไม่สามารถเข้าใจได้เลย

สำหรับผมแล้ว ผมไม่มีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษ แต่มีปัญหามากเวลาที่ลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นและหุ้นยุโรปอย่างเช่นหุ้นเยอรมัน เพราะบริษัทในประเทศเหล่านี้จำนวนมากไม่ให้ข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น Annual Report ก็เป็นภาษาเยอรมันและไม่มีภาษาอังกฤษเลยเป็นต้น

บางครั้งรายงานข่าวของบริษัทที่เป็นภาษาอังกฤษจะมาช้ากว่าภาษาท้องถิ่น ทำให้ผมทราบข่าวช้ากว่านักลงทุนคนอื่นและเสียเปรียบมาก เพราะราคาหุ้นไปไกลแล้ว แต่ผมยังงงอยู่เลยว่าเกิดอะไรขึ้น แม้โบรกเกอร์หลายแห่งจะให้บริการแปลข้อมูลทางการเงินเป็นภาษาอังกฤษ แต่สำหรับผมแล้วมันก็ไม่พออยู่ดี

ถ้าคุณไม่อยากประสบกับเหตุการณ์อย่างที่ผมเผชิญ ผมแนะนำว่าควรจะลงทุนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษอย่าง อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือถ้าเป็นประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษก็ควรจะลงทุนในบริษัทที่ให้ข้อมูลภาษาอังกฤษมากๆ และให้ข่าวสารเป็นภาษาอังกฤษเร็วเท่ากับภาษาท้องถิ่นครับ

2. ไม่มี Ceiling/Floor

ตลาดหุ้นต่างประเทศบางแห่งเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาไม่มี Ceiling/Floor เหมือนกับตลาดไทย ทำให้หุ้นขึ้นลงได้สูงมากๆ ในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็น +300% ในวันเดียวหรือ -80% ในวันเดียว ผมเคยเห็นมาแล้วทั้งสิ้น

การแกว่งตัวอย่างรุนแรงเช่นนี้มักเกิดขึ้นเมื่อมีข่าวใหม่ที่กระทบผลการดำเนินงานของบริษัทออกมา ทำให้นักลงทุนที่ไม่ได้ตรวจสอบพอร์ตของตนเองบ่อยๆอาจจะเกิดปัญหาได้ เช่น Cut Loss ไม่ทันเป็นต้น

3. กลโกงอันซับซ้อน

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายเป็นตลาดที่มีความซับซ้อนมากกว่าตลาดหุ้นไทย ดังนั้นกลโกงต่างๆ ที่ใช้หลอกนักลงทุนจึงยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปด้วย

จากที่เคยประสบมา บางบริษัทใน Wall Street ไม่ได้โกงบัญชีแบบธรรมดา แต่ทำแบบเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน อาทิเช่นการตั้งบริษัทปลอมขึ้นมาเป็นลูกค้าเพื่อปั่นยอดขายเป็นต้น การโกงแบบนี้หลอกได้แม้กระทั่งผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์สูง เพราะฉะนั้นโปรดระวังให้จงดี

4. ความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน

ความเสี่ยงเรื่องค่าเงินเป็นความเสี่ยงสูงที่สุดในการลงทุนในต่างประเทศทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะลงทุนในหุ้น กองทุน และพันธบัตรใดๆ ก็ตาม ซึ่งถ้าเราลงทุนในประเทศ เราจะไม่มีความเสี่ยงดังกล่าวเลย

ยกตัวอย่างเช่น ถ้านักลงทุนได้ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นสหรัฐ 15% แต่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง 30% เมื่อเทียบกับเงินบาท นักลงทุนผู้นั้นจะได้กำไรเป็นเงินดอลลาร์ แต่รวมๆ แล้วขาดทุนเป็นเงินบาทนั่นเอง ดังนั้นความเสี่ยงนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาทุกครั้งก่อนที่จะลงทุนในต่างประเทศ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!