การศึกษาต้องการ Proofreading งานเขียนภาษาอังกฤษมีตัวเลือกอะไรบ้าง?

ต้องการ Proofreading งานเขียนภาษาอังกฤษมีตัวเลือกอะไรบ้าง?

Proofreading สิ่งที่อยู่คู่กับการสร้างงานเขียนใดๆ มาช้านาน ผมเชื่อว่าไม่ว่าใครก็ตามก็อยากให้มีใครสักคนมาช่วยอ่านงานเขียนของเราเสียหน่อยก่อนที่จะส่ง เพื่อสร้างความมั่นใจและแก้ไขสิ่งที่เรามองไม่เห็น

อย่างไรก็ดีการ Proofreading ไม่เท่ากับ Editing แม้ว่าจะมีอะไรที่คาบเกี่ยวกันอยู่บ้างก็ตาม

เรามาดูกันดีกว่าครับว่าทั้งสองแตกต่างกันอย่างไร และตัวเลือกในการ Proofreading ของคุณมีอะไรบ้าง

Proofreading

Proofreading ไม่เท่ากับ Editing

ผมขออธิบายง่ายๆ ว่า

Proofreading (การพิสูจน์อักษร) คือการตรวจสอบครั้งสุดท้ายก่อนที่จะส่งงานเขียน โดยจะเน้นไปที่การตรวจสอบไวยากรณ์ การสะกดคำ การใช้คำศัพท์ และรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ เพื่อให้มีความผิดพลาดน้อยที่สุด

ส่วน Editing (การตรวจแก้) คือ การแก้ไขคุณภาพในภาพรวมของงานเขียน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่เขียนลงไปดีพอหรือไม่ Thesis Statement แข็งแรงพอรึเปล่า ภาษาที่ใช้อ่านรู้เรื่องรึเปล่า การ organize งานเขียนเป็นอย่างไร? ฯลฯ

ถ้าเรียงตามลำดับขั้นตอนแล้ว Editing จะเกิดขึ้นก่อน Proofreading หรือพูดง่ายๆ Editing คือการแก้ไขในช่วง First draft ไปจนถึง Second/Third draft ส่วน Proofreading คือการตรวจสอบงานเขียนในระดับ Final draft ก่อนจะยื่นส่ง

ผมเคยได้ยินมาว่า เราจะรู้ง่ายๆ ว่างานเขียนนี้ต้องการ Proofreading หรือ Editing ด้วยการถามตัวเองว่า คุณพอใจกับคุณภาพของงานเขียนแล้วหรือยัง คุณภาพในที่นี้ครอบคลุมทุกๆ ด้านตั้งแต่เนื้อหาไปจนถึงไวยากรณ์

ถ้าคุณตอบว่าใช่ นั่นแปลว่าคุณต้องการ Proofreading แต่ถ้าตอบว่าไม่ นั่นแปลว่าคุณต้องการ Editing ซึ่งการลงมือ Edit นั้นคุณจะต้องทำด้วยตัวเอง ถ้าคุณไม่อยากมีปัญหากับสถาบันการศึกษาอย่างเช่นมหาวิทยาลัยของคุณ

สำหรับการเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว สิ่งที่คนอื่นพอจะช่วยได้ในการ Editing ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนของคุณเท่านั้น อย่างเช่นชี้ว่าตรงนี้ดีตรงนี้ไม่ดี แต่คนที่ลงมือแก้ต้องเป็นตัวคุณเอง

แต่ถ้าคุณต้องการให้คนอื่น Edit งานเขียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านวิชาการ อย่างเช่น บทความใน Blog หรือ Facebook Page ของคุณ ในส่วนนี้คุณสามารถทำได้อย่างอิสระครับ แน่นอนว่าไม่มีใครมาว่า ระวังแค่เรื่อง plagiarism หรือคัดลอกงานผู้อื่นอย่างเดียวก็พอ

ต่อไปเราจะไปดูกันว่า คุณจะมีทางเลือกอะไรบ้างสำหรับการ Proofreading ครับ

ตัวเลือกในการ Proofreading

1. Grammarly

เนื่องจากการ Proofreading คือการตรวจสอบไวยากรณ์ การสะกดคำ ซึ่งเป็นการตรวจสอบที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่คุณเขียนลงไป ผมแนะนำให้คุณใช้โปรแกรมการตรวจสอบไวยากรณ์ภาษาอังกฤษอย่าง Grammarly เป็นผู้ช่วยเหลือคุณครับ

ตัวเลือกนี้ใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพมากที่สุดถ้าเทียบกับตัวเลือกอื่นๆ ผมเองใช้งานก็ Grammarly มาตั้งแต่สมัยเรียน ในปัจจุบันก็ใช้มาเป็นปีที่สิบแล้วครับ ทุกวันนี้มีผู้ใช้งาน Grammarly ทั่วโลกมากถึง 4 ล้านคนและเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ในกรณีที่คุณต้องการแค่การตรวจสอบไวยากรณ์และการสะกดคำ คุณไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะ Grammarly แบบที่ให้ใช้ฟรีสามารถจัดการเรื่อง Grammar และ Spelling ได้อย่างดีเยี่ยม

แต่ถ้าคุณต้องการการตรวจสอบที่ซับซ้อนกว่านั้น อย่างเช่นตรวจสอบว่างานเขียนของคุณชัดเจน กระชับ อ่านรู้เรื่อง มีความสละสลวยพอหรือยัง เหมือนกับคนอื่นมากไปรึเปล่า รวมไปถึงมีความเป็นทางการพอแล้วหรือยัง โปรแกรม Grammarly ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ตัวโปรแกรมจะตรวจสอบงานเขียนของคุณแบบ real-time แบบไม่มีจำกัด แถมยังมีคำอธิบายให้อีกต่างหากว่าทำไมถึงควรแก้ไข

อย่างไรก็ดี ถ้าคุณต้องการการตรวจสอบที่สูงขึ้นเหล่านี้ คุณจะต้องสมัครบริการแบบ Premium ครับ แบบฟรีจะไม่มีบริการตรงนี้

Grammarly

แพลน Premium ของ Grammarly มี 3 แบบประกอบด้วย

  • Monthly หรือจ่ายรายเดือน ($29.95 หรือประมาณ 900 บาทต่อเดือน)
  • Quarterly หรือจ่ายรายไตรมาส (เฉลี่ยแล้ว $19.98 หรือประมาณ 600 บาทต่อเดือน)
  • Annual หรือจ่ายรายปี (เฉลี่ยแล้ว $11.66 หรือประมาณ 350 บาทต่อเดือน)

ถ้าสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถอ่านได้ที่นี่

ในความคิดเห็นส่วนตัว ผมมองว่าการใช้ Grammarly Premium เป็นทางเลือกของการ Proofreading ที่ดีมาก เพราะ

  • ค่าใช้จ่ายของ Grammarly Premium ถูกกว่าค่าจ้าง Proofreader ที่เป็นคนมาก แถมยังได้มาตรฐานอีกด้วย คุณไม่ต้องกลัวว่า Proofreader ของคุณจะทำงานออกมาดีหรือไม่
  • คุณสามารถแก้ไขงานของคุณแบบ real-time และไม่จำกัด หมดปัญหาเสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน และยังได้งานทันที ไม่ต้องรอเป็นวัน
  • ปลอดภัย คุณไม่มีโอกาสโดนโกงเหมือนกับการจ้างคนมา Proofreading (ผมจะกล่าวถึงต่อไป)

ข้อเสียอย่างเดียวของ Grammarly Premium คือถ้าคุณต้องการงานที่คุณภาพสูงมากและเป็นทางการสุดๆ ตัวโปรแกรมยังไม่สามารถตรวจงานออกมาได้เนี๊ยบถึงระดับนั้น คุณจะต้องหา Proofreader ที่เป็นคนเก่งๆ มาช่วยจัดการครับ

แต่ถ้าเป็นการ Proofreading อื่นๆ เช่น Resume, CV, Paper/Essay ระดับปริญญาตรีและโทในมหาวิทยาลัยที่ประเทศไทย อังกฤษ อเมริกา หรือแม้กระทั่งวิทยานิพนธ์ โปรแกรมนี้สามารถช่วยคุณได้สบายๆ ครับ

2. Writing Center

สำหรับใครที่เรียนในมหาวิทยาลัยที่ต่างประเทศ คุณคงจะคุ้นเคยกับ Writing Center อยู่บ้าง ซึ่ง Writing Center เป็นสวัสดิการของมหาวิทยาลัยที่ให้นักศึกษานำงานเขียนทุกระดับไปให้ Proofreader ที่เป็นเจ้าของภาษาตรวจสอบ

จากที่เคยใช้บริการมาบ้าง การตรวจของที่ผมเคยเจอถือว่าดีในระดับหนึ่งในส่วนของ Proofreading แต่ถ้าคุณหวังว่าพวกเขาจะแก้ไขแนว Editing ด้วย ผมบอกได้เลยว่าพวกเขาจะไม่ทำให้คุณอย่างแน่นอน เพราะมันคาบเกี่ยวกับเรื่องการผิดกฎของมหาวิทยาลัย ผมมองว่าพวกเขาก็เลยไม่เสี่ยงครับ

หลังๆ ผมเลยมองว่าการไป Writing Center ไม่ต่างอะไรกับการใช้ Grammarly Premium สักเท่าใดนัก ผมก็เลยใช้ Grammarly Premium ตลอดมาและเลิกไป Writing Center ครับ

3. ขอให้ TA หรือเพื่อนช่วยอ่านให้

ในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมักจะมีนักเรียนที่เคยผ่านคลาสนั้นๆ มาแล้วมาเป็นผู้ช่วยสอน (TA) คุณสามารถขอให้เขาช่วย Proofreading งานเขียนของคุณได้ก่อนส่งอาจารย์ โดยทั่วไปแล้วพวกเขายินดีที่อ่านงานเขียนและวิพากษ์วิจารณ์จุดที่คุณควรแก้ไขให้คุณทราบ แต่แน่นอนว่าพวกเขาจะไม่แก้ไขงานใดๆ ให้กับคุณครับ

นอกเหนือจาก TA แล้ว คุณยังสามารถให้เพื่อนร่วมมหาลัยของคุณช่วย Proofreading ให้คุณได้ด้วย แต่สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำอย่างมากคือ

ไม่ว่าคุณจะขอให้ TA หรือเพื่อนของคุณมา Proofreading คุณควรจะเลือกผู้ที่เป็นเจ้าของภาษาและมีความรู้ในการใช้ภาษาเขียนเท่านั้น เพราะว่าพวกเขาจะทราบดีว่าเจ้าของภาษาใช้ภาษาแบบไหน อย่างเช่นคำศัพท์หรือไวยากรณ์แบบไหนควรใช้ แบบไหนไม่ควรใช้ หรือใช้แล้วแปลก อ่านไม่รู้เรื่อง ฯลฯ

ข้อควรทราบก่อนที่จะอธิบายต่อไป

ผมต้องขอแจ้งให้ผู้อ่านทุกคนทราบว่า ตัวผมเองไม่เคยใช้บริการ proofreading จากตัวเลือกที่ผมจะอธิบายต่อไปเลยสักครั้งเดียว ข้อมูลที่ผมนำมาใช้เขียนบทความมาจากการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ก่อนที่จะลงมือเขียนเท่านั้นครับ

บริการทางด้านล่างที่ผมจะแนะนำสามารถทำได้ทั้ง proofreading และ editing หรือแม้กระทั่งสร้างงานเขียนขึ้นมาจาก 0 เลยก็ได้ แต่ถ้าคุณกำลังเขียนงานเขียนที่ต้องการความเป็นตัวคุณเอง เช่น Paper ในมหาวิทยาลัย ผมเน้นเลยว่าคุณห้ามไปใช้บริการอะไรที่มากกว่า proofreading เด็ดขาด เพราะถ้าถูกจับได้ขึ้นมา ผมบอกได้เลยว่างานเข้าใหญ่โต เพื่อนผมคนหนึ่งในมหาวิทยาลัยเคยเกือบถูกไล่ออกเพราะสาเหตุนี้ครับ

4. จ้าง Freelance

วิธีหนึ่งที่คนนิยมใช้กันมากๆ ก็คือ การจ้างฟรีแลนซ์จากแพลตฟอร์มต่างๆ มา proofread งานเขียนของคุณ ซึ่งการจ้างฟรีแลนซ์สักคนทำไม่ยาก แต่หาคนที่เก่งพอมาทำงานให้คุณนี่แหละครับที่ยาก

คุณสมบัติของฟรีแลนซ์ที่เหมาะกับการ proofreading คือ

  1. เป็นเจ้าของภาษาที่มีความรู้ในการใช้ภาษาเขียนเป็นอย่างดี
  2. ถ้างานเขียนเฉพาะทางมาก คุณควรจะหา proofreader ที่มาจากวงการเดียวกับคุณ เพราะมิฉะนั้นพวกเขาอาจจะแก้คำศัพท์ให้ผิดเพี้ยนไปได้ และคุณจะไม่ได้อะไรเลยจากการ proofreading นอกจากความวุ่นวาย
  3. มีประวัติดี รับผิดชอบงาน ตรงต่อเวลา

จากข้อ 1 ทำให้ผมแนะนำว่า ถ้าคุณจะจ้างฟรีแลนซ์สักคนนึงจริงๆ คุณควรจะพิจารณาแพลตฟอร์มจ้างฟรีแลนซ์ต่างชาติอย่างเช่น Upwork หรือ Fiverr จะดีกว่าเพราะมีเจ้าของภาษาเก่งๆมากมายที่สามารถมาทำ proofreading ให้คุณครับ

ถึงกระนั้นก่อนที่คุณจะจ้างฟรีแลนซ์สักคน คุณจะทราบถึงประเด็นเหล่านี้

  • ต้องตรวจสอบรีวิวและรายละเอียดเกี่ยวกับฟรีแลนซ์คนนั้นให้ละเอียดถี่ถ้วน ควรเลือกคนที่มีคนรีวิวเยอะ ได้คะแนนสูง ถ้าเป็น Fiverr ก็เลือกคนที่ได้ Rank สูงๆ อย่าง Top Rated Seller ครับ
  • ถ้ามีงานเก่าให้ดู ควรตรวจสอบก่อนทุกครั้งว่าเป็นอย่างไร
  • แม้ว่าจะเลือกดีแล้ว แต่ก็มีโอกาสที่ฟรีแลนซ์จะทำงานของคุณออกมาไม่ดีอยู่ดี บางคนอาจจะยินดีแก้ไขให้ แต่บางคนอาจจะไม่ ดังนั้นต้องตรวจสอบให้ดีก่อนจ่ายเงินครับว่าฟรีแลนซ์ใส่เงื่อนไขว่าพร้อมแก้ไขให้กี่ครั้งถ้าไม่พอใจ
  • ควรหลีกเลี่ยงฟรีแลนซ์ที่คิดราคาถูกกว่าคนอื่นอย่างชัดเจน เพราะบ่อยครั้งมีสาเหตุลับๆ ซ่อนอยู่
  • ฟรีแลนซ์บางคนอาจจะไม่ได้ทำอะไรมากกว่า การใช้ Grammarly Premium ตรวจงานเขียนของคุณแล้วส่งคืนคุณทันที (ประเด็นนี้ผมอ่านเจอในเว็บบอร์ดของฟรีแลนซ์ต่างประเทศแห่งหนึ่ง ระหว่างการหาข้อมูล)

ราคาในการจ้างฟรีแลนซ์สักคนหนึ่งมา proofreading จะแตกต่างกันไป โดยมากแล้วราคาบน Fiverr และ Upwork จะอยู่ที่ $15 ต่อ 1,000 คำสำหรับการ proofreading แบบเบสิกที่สุด เช่นตรวจสอบการสะกดคำ และจะสูงขึ้นตามลำดับถ้าคุณต้องการอะไรที่มากกว่านั้นครับ

5. จ้างนักเขียนจาก Writing service

Writing service เป็นบริษัทที่รับจ้างจัดการงานเขียนทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตาม ซึ่งก็รวมไปถึง proofreading ด้วยครับ ลักษณะการจ้างวานก็เหมือนกับฟรีแลนซ์ทุกประการ นั่นก็คือเข้าไปที่เว็บไซต์ของเขาและสั่งงานได้ทันที

ประเด็นที่คุณต้องทราบคือ บริษัทเหล่านี้จำนวนมากเป็นบริษัทหลอกลวง ซึ่งการหลอกลวงมีหลายระดับ ตั้งแต่ทำงานไร้คุณภาพให้กับคุณ ไปจนถึงโกงเงินซึ่งหน้า

จริงอยู่บริษัทดีก็มีมาก แต่มันแยกออกยากมากว่าบริษัทไหนเป็นบริษัทที่ดีจริง หรือบริษัทไหนหลอกลวง หนึ่งในวิธีที่พอจะแยกออกได้คือ การนำชื่อบริษัท writing service ไปหารีวิวใน Google

ส่วนมากแล้วคุณจะเจอรีวิวที่น่าเชื่อถือได้จาก Trustpilot ครับ ถ้าคะแนนได้มากกว่า 4.5 ดาว และมีคนรีวิวมากกว่า 1,000 คนบน Trustpilot บริษัทนั้นถึงจะควรค่าต่อการพิจารณา นอกจากนี้ก่อนที่จะจ้าง คุณควรจะใช้วิธีตรวจสอบแบบเดียวกับฟรีแลนซ์ที่ผมแนะนำไปแล้วด้วยครับ

ค่าใช้จ่ายในการจ้าง proofreader จาก writing service provider จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะระดับและความยากของงาน รวมไปถึง deadline ทั่วไปแล้วบริษัทที่ดีจะมีค่าใช้จ่ายสูง อย่างเช่น $25-$40 ต่อ 1,000 คำครับ

สรุป

สำหรับการ Proofreading งานเขียนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ผมแนะนำให้ใช้ Grammarly Free/Premium, Writing Center หรือให้ TA/เพื่อนที่เป็นเจ้าของภาษาในการ proofreading ส่วน Freelance และ Writing service ก็สามารถใช้ได้ แต่ควรตรวจสอบให้ดีก่อน และไม่ให้พวกเขาทำอะไรมากกว่า proofreading ครับ

แต่ถ้างานเขียนของคุณที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาการ ในส่วนนี้ใช้ Writing service หรือฟรีแลนซ์ ในการ editing และ proofreading เลยครับ แต่ต้องตรวจสอบให้ดีมากๆ เช่นเดิม

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!