ประวัติศาสตร์ปฤถวีราชาแห่งจาหะมานะ วีรบุรุษผู้ต้านทานกองทัพมุสลิม

ปฤถวีราชาแห่งจาหะมานะ วีรบุรุษผู้ต้านทานกองทัพมุสลิม

ปฤถวีราชาที่ 3 (Prithviraj III) หรือ ปฤถวีราชาแห่งจาหะมานะ (Prithviraj Chauhan) เป็นกษัตริย์หนุ่มชาวฮินดูผู้แข็งแกร่ง เขานำกองทัพต้านทานการรุกรานของชาวมุสลิมเอาไว้ได้หลายครั้ง และมีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้ศาสนสถานของทั้งฮินดูและพุทธ (รวมไปถึงมหาวิทยาลัยนาลันทา) อยู่รอดปลอดภัยจากกองทัพผู้รุกราน

แม้จะพ่ายแพ้ในบั้นปลาย แต่ความกล้าหาญของปฤถวีราชาได้ทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษในสายตาของชาวอินเดีย ภาพยนตร์ ซีรีส์ ตลอดไปจนถึงแอนิเมชันมากมาย ถูกสร้างขึ้นเพื่อเรื่องเล่าชีวิตของเขา

ในวัยเด็กและหนุ่ม

ปฤถวีราชาที่ 3 เป็นโอรสของกษัตริย์แห่งอาณาจักรจาหะมานะ อาณาจักรเก่าแก่ที่มีความเป็นมาหลายร้อยปี เขาเกิดในปี ค.ศ.1166 ตำนานเล่าว่าปฤถวีราชาเกิดในช่วงเวลาที่ดีมากตามความเชื่อของอินเดีย เพราะดวงดาวต่างๆ ทำมุมที่เป็นมงคล

อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเรื่องของโหราศาสตร์ ผมคงจะไม่ลงลึกในรายละเอียดดังกล่าวเท่าไรนัก

ปฤถวีราชา By Dhiresh b , CC BY-SA 3.0,

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ปฤถวีราชาเกิดได้ไม่นานนัก บิดาของเขาก็จากไป ทำให้ปฤถวีราชาต้องขึ้นสืบบัลลังก์ทั้งๆที่ยังเป็นเด็กน้อยอยู่ โดยมีมารดาเป็นผู้สำเร็จราชการ

ตำนานเล่าเรื่องของปฤถวีราชาไว้อย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่น เขาเอาชนะกษัตริย์รายรอบในสมรภูมิตั้งแต่ยังเด็ก แต่นักประวัติศาสตร์อินเดียเชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องแต่งมากกว่าเรื่องจริง

แต่ที่แน่ชัดคือ ปฤถวีราชาได้รับการศึกษาอย่างดีมาก เขาได้รับการสอนภาษาต่างๆ ถึง 6 ภาษา และได้เรียนคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การแพทย์ ศิลปะ และการสงคราม นอกจากนี้ปฤถวีราชายังเรียนรู้การยิงธนูได้อย่างแม่นยำด้วย ซึ่งความสามารถด้านนี้ของเขาไม่มีผู้ใดสามารถเปรียบได้ (ในลักษณะเดียวกับจูมงกระมัง)

เมื่อปฤถวีราชาเติบโตขึ้น มารดาของเขาจึงถวายอำนาจกลับคืนให้ ปฤถวีราชาเริ่มปกครองอาณาจักรด้วยตนเอง ภายในเวลาไม่นาน เขาทำสงครามขยายอาณาเขต และปราบปรามพวกกบฏที่แข็งข้ออย่างจริงจัง

ผลที่ออกมาคือปฤถวีราชามีชัยเหนือศัตรูทุกครั้ง อาณาจักรของเขาครอบคลุมตั้งแต่บริเวณเทือกเขาหิมาลัย เดลี และครอบคลุมอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือทั้งหมด และมีประเทศราชมากถึง 108 หัวเมืองด้วยกัน

อย่างไรก็ดีปฤถวีราชาต้องเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อกันในไม่ช้า

มุสลิมเติร์กบุกอินเดีย

ชาวมุสลิมต้องการจะรุกรานอินเดียมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะอินเดียมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย ผู้รุกรานจากอาณาจักรกาซนี (Ghazni) อย่างมาห์มูดแห่งกาซนีได้รุกรานอินเดียและปล้นสะดมทรัพย์สินไปจำนวนมหาศาลในช่วงศตวรรษที่ 11

ในปี ค.ศ.1173 มูฮัมหมัด โฆรี (Muhammad Ghori) (ผมขอเรียกสั้นๆว่า “มูฮัมหมัด”) ได้ขึ้นนั่งเมืองเป็นสุลต่านแห่งกาซนี มูฮัมหมัดปรารถนาที่จะรุกรานอินเดียเหมือนกับที่มาห์มู้ดเคยทำเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ด้วยเหตุนี้เขาจำต้องปะทะกับปฤถวีราชาภายในไม่ช้า

กองทัพมุสลิมได้คุกคามอาณาจักรเล็กอาณาจักรน้อยที่ปลายแดนของอาณาจักรจาหะมานะ พวกเขาปล้นชิงทรัพย์สิน ล่วงเกินหญิงสาว และได้สังหารผู้คนจำนวนมาก กษัตริย์ของอาณาจักรดังกล่าวจึงรีบมาทูลให้ปฤถวีราชาทราบ

เมื่อปฤถวีราชาทราบเช่นนั้น เขาโกรธเป็นอย่างยิ่ง และประกาศว่าเขาจะทำให้สุลต่านแห่งกาซนีคุกเข่าขออภัยในฐานะนักโทษให้จงได้

อย่างไรก็ดีก่อนที่ปฤถวีราชาจะทำอะไร กองทัพของกษัตริย์แห่งคุชราดได้เข้าตีกองทัพมุสลิมแตกกระเจิงเสียก่อนในปี ค.ศ.1178 ทำให้ปฤถวีราชายังไม่มีโอกาสปะทะกับกองทัพมุสลิม

จนกระทั่งในปี ค.ศ.1186 กองทัพมุสลิมก็หวนกลับมาใหม่ และครั้งนี้เองเป็นครั้งแรกที่ปฤถวีราชาจะได้ปะทะกับศัตรูของเขา

ความคลุมเครือ

ในการต่อสู้ระหว่างปฤถวีราชากับมูฮัมหมัด โฆรีนั้น หลักฐานมุสลิมและฮินดูว่าไว้ต่างกันอย่างมาก ชนิดที่ว่าต่างกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

หลักฐานมุสลิมร่วมสมัยให้ข้อมูลว่า ปฤถวีราชาปะทะกับมูฮัมหมัดสองครั้ง ครั้งแรกมูฮัมหมัดพ่ายแพ้ย่อยยับ แต่ว่าครั้งที่สอง มูฮัมหมัดสามารถแก้มือได้สำเร็จ

ส่วนหลักฐานฮินดูให้ข้อมูลว่า ปฤถวีราชาได้ปะทะกับมูฮัมหมัดครั้งใหญ่ และสามารถเอาชนะกองทัพมุสลิมได้อย่างเด็ดขาด ถึงขนาดที่สามารถจับมูฮัมหมัดและบังคับให้เขาคุกเข่าขออภัยโทษด้วย

หลังจากนั้นปฤถวีราชาปล่อยตัวมูฮัมหมัดไป ต่อมามูฮัมหมัดยกทัพกลับมาล้างแค้นอีกหลายครั้ง แต่ละครั้งมีการเตรียมตัวที่ดีกว่าเดิม แต่ก็ไม่วายถูกปฤถวีราชาตีแตกยับเยิน และจับมูฮัมหมัดเป็นเชลยศึกได้อีกติดต่อกันไปอีก 8 ครั้ง หรือบางหลักฐานว่ามากถึง 20 ครั้งเลยทีเดียว จนกระทั่งครั้งสุดท้ายที่มูฮัมหมัดสามารถเอาชนะปฤถวีราชาได้สำเร็จ

นักประวัติศาสตร์อินเดียบอกว่ายากที่จะเชื่อหลักฐานใดได้อย่าง 100% เพราะหลักฐานมุสลิมแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีอคติต่อชาวฮินดู จากการใช้ภาษาเชิงโจมตีตลอดทั้งเล่ม ทำให้เป็นไปได้ที่ผู้เขียนจะจงใจกลบเกลื่อนความพ่ายแพ้ของสุลต่านมุสลิม

ขณะที่หลักฐานฮินดูเองก็ไม่ต่างกัน ตามสไตล์ฮินดูคือชอบโม้ๆ อยู่แล้ว ยิ่งกษัตริย์คนไหนเก่งกล้า นักประวัติศาสตร์ชาวฮินดูมักจะเขียนให้มันเวอร์มากขึ้นไปอีก จนเหมือนเป็นเทพเจ้าอย่างพระวิษณุเลยทีเดียว

ดังนั้นสรุปแล้วผมมองว่าเชื่อไม่ได้ทั้งคู่ แต่นักประวัติศาสตร์อินเดียมองว่าพรมแดนของทั้งสองอาณาจักรติดต่อกัน และมีบันทึกชัดเจนว่ามูฮัมหมัดส่งกองทัพมารุกรานอินเดียแทบจะทุกปี ทำให้มันเป็นไปได้ที่ ปฤถวีราชาน่าจะเอาชนะกองทัพมุสลิมได้มากกว่าหนึ่งครั้ง (แต่คงไม่ขนาด 20 ครั้งติดต่อกัน) แต่พ่ายแพ้ในครั้งสุดท้าย

ชัยชนะของปฤถวีราชา

ชัยชนะของปฤถวีราชาเกิดขึ้นในสงครามครั้งแรกที่ Tarain หลักฐานมุสลิมและฮินดูต่างว่าไว้ตรงกัน

เรื่องมีอยู่ว่ามูฮัมหมัดได้บุกเข้าโจมตีอาณาจักรจาหะมานะและได้ปล้นสะดมเมือง Tarbarhindah ได้สำเร็จ มูฮัมหมัดได้มีคำสั่งให้ทหารม้าจำนวนหนึ่งป้องกันเมืองเอาไว้ ส่วนตนเองจะถอนกำลังกลับกาซนีและจะยกมาตีอินเดียใหม่ในอีกแปดเดือน

อย่างไรก็ดีก่อนที่มูฮัมหมัดจะถอยทัพ กองทัพจาหะมานะของปฤถวีราชากลับมาถึงเสียก่อน มูฮัมหมัดจึงตัดสินใจว่าจะทำสงครามกับกองทัพฮินดูที่เพิ่งยกทัพมา

มูฮัมหมัดได้เข้าต่อสู้ในสมรภูมิอย่างกล้าหาญ เขาฉวยหอกและแทงเข้าใส่ “Gobind Rae” ผู้ว่าราชการเมืองเดลีที่นั่งอยู่บนหลังช้าง หอกแทงทะลุปากของเขาจนฟันสองซี่หลุดออกมา แต่ Gobind Rae กลับยังไม่สิ้นชีวิต เขาขว้างหอกซัดเข้าใส่มูฮัมหมัด โฆรีเต็มแรง ทำให้สุลต่านผู้นี้ได้รับบาดเจ็บสาหัส จนถึงกับไม่สามารถขี่ม้าได้อีกต่อไป

เมื่อทหารมุสลิมรายรอบเห็นว่าสุลต่านของพวกเขาได้รับบาดเจ็บ พวกเขาจึงแตกหนีไปทีละทาง ทำให้กองทัพจาหะมานะมีชัยในการรบครั้งนี้อย่างเด็ดขาด หลักฐานฮินดูว่ากองทัพฮินดูจับมูฮัมหมัดได้ แต่หลักฐานมุสลิมว่ามูฮัมหมัดหนีรอดไปได้

อย่างไรก็ดีปฤถวีราชากลับไม่ได้ฉวยโอกาสนี้เข้าตีดินแดนของอาณาจักรกาซนีเพื่อทำลายศัตรูให้ราบคาบ ทำให้นักประวัติศาสตร์บางคนวิจารณ์ปฤถวีราชาว่าขาดวิสัยทัศน์

บางคนก็อธิบายว่าปฤถวีราชามีความเป็นนักรบและกษัตริย์อย่างเต็มเปี่ยม นั่นคือไม่ฉวยโอกาสรังแกผู้ที่ไม่มีทางสู้ ทำให้เขาไม่ได้ยกกองทัพเข้าตีดินแดนมุสลิม ระหว่างที่กษัตริย์ศัตรูกำลังเพลี่ยงพล้ำ

โดยส่วนตัวผมกลับมองว่ากองทัพจาหะมานะอาจจะเสียหายไม่น้อยกับยุทธการที่ Tarain ทำให้ไม่มีกำลังเพียงพอจะยกไปตีอาณาจักรกาซนีก็ได้

ความพ่ายแพ้ของปฤถวีราชา

หลังจากชัยชนะของสงครามที่ Tarain และ (หลายครั้งต่อมาตามหลักฐานฮินดู) ปฤถวีราชากลับหันไปทำสงครามกับอาณาจักรฮินดูด้วยกัน แทนที่จะสะสมกำลังไว้ต่อต้านมูฮัมหมัด ไม่เพียงเท่านั้นปฤถวีราชายังใช้เวลาอยู่กับสุรานารีและละเลยราชการแผ่นดินด้วย ทำให้อาณาจักรจาหะมานะอ่อนแอลง

ในทางตรงกันข้าม มูฮัมหมัดกลับไม่เคยลืมความแค้นที่พ่ายแพ้ครั้งนั้น เมื่อกลับไปถึงเมืองหลวง เขาด่าว่าพวกนายทัพที่หนีตายจากสมรภูมิอย่างรุนแรง และยังกินไม่ได้นอนไม่หลับ

วันๆ มูฮัมหมัดปรารถนาอยู่อย่างเดียว นั่นคือการแก้แค้นปฤถวีราชาให้ได้ มูฮัมหมัดได้ส่งทูตไปติดต่อกับอาณาจักรฮินดูที่เป็นคู่ศึกกับปฤถวีราชาโดยหมายใจว่าจะร่วมมือกันทำลายอาณาจักรจาหะมานะเสีย รวมไปถึงส่งสายลับมากมายเพื่อเข้าไปหาข้อมูลของศัตรูด้วย

สุดท้ายกองทัพของเขาทั้งหมดก็พร้อมสรรพ มูฮัมหมัดนำกองทัพใหญ่ขนาด 120,000 คนเข้ามาตีอาณาจักรจาหะมานะอีกครั้งหนึ่ง กองทัพมุสลิมส่วนใหญ่เป็นทหารม้าจึงเคลื่อนตัวได้อย่างรวดเร็ว

ก่อนจะไปถึง มูฮัมหมัดได้ส่งทูตไปหาปฤถวีราชาให้ยอมแพ้และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเสีย แต่ปฤถวีราชาปฏิเสธด้วยการตอบจดหมายไปว่า มูฮัมหมัดต่างหากควรจะเป็นฝ่ายถอนกำลังออกไป ตนเองจะให้กองทัพมุสลิมถอยไปโดยไม่ติดตาม

เมื่อตกลงกันไม่ได้ทั้งสองฝ่ายจึงเตรียมตัวต่อสู้กัน หลักฐานฮินดูว่าในครั้งนี้ปฤถวีราชากลับหลงระเริงกับชัยชนะที่ผ่านมา ทำให้เขานำกำลังออกจากเมืองไปน้อยกว่าปกติ

หลักฐานมุสลิมว่าในช่วงนี้มูฮัมหมัดส่งคนทำเป็นเจรจาสันติภาพ ทำให้ปฤถวีราชาคิดว่าเจรจาสันติภาพจริงๆ และจะไม่มีการสู้รบระหว่างทั้งสองฝ่าย กองทัพจาหะมานะจึงไม่ได้ยกออกไปเต็มกำลังอย่างที่ควรจะเป็น และไม่ได้เตรียมตัวสำหรับการสู้รบด้วย

เมื่อกองทัพจาหะมานะออกมาตั้งที่ Tarain (สถานที่เดิม) มูฮัมหมัดแบ่งกองทัพมุสลิมเป็นสี่กองและเข้าตีกองทัพของปฤถวีราชาอย่างไม่ทันตั้งตัว ตัวปฤถวีราชายังหลับอยู่ด้วยซ้ำไป

กองทัพมุสลิมเอาชนะปฤถวีราชาได้ในยุทธการแห่ง Tarain ครั้งที่สอง

ถึงแม้จะถูกโจมตีอย่างไม่ตั้งตัว แต่กองทัพจาหะมานะตั้งหลักได้อย่างรวดเร็ว และเริ่มโจมตีตอบโต้ การต่อสู้ดำเนินไปอย่างรุนแรง มูฮัมหมัดสั่งการว่าเมื่อกองทัพจาหะมานะเข้าโจมตีให้ทหารมุสลิมแสร้งทำเป็นถอยทัพ กองทัพมุสลิมต่างปฏิบัติตามคำสั่ง ทำให้ทหารจาหะมานะที่ไล่ตามไปเหนื่อยอ่อนอย่างมาก

มูฮัมหมัดเห็นเช่นนั้นจึงสั่งให้กองทัพมุสลิมทั้งหมดเข้าตีตอบโต้ทุกกรมกอง ทำให้กองทัพจาหะมานะแตกยับเยิน

หลักฐานฮินดูและมุสลิมต่างอธิบายตรงกันในแง่ที่ว่ายุทธการครั้งนี้จบลงด้วยชัยชนะครั้งใหญ่ของกองทัพมุสลิม แต่ที่ไม่แน่ชัดคือ เกิดอะไรขึ้นกับปฤถวีราชากันแน่

ชะตากรรมในบั้นปลาย

หลักฐานมุสลิมว่าปฤถวีราชาพยายามหนีออกจากสมรภูมิโดยการควบม้าหนี แต่ก็ถูกกองทัพมุสลิมจับเป็นได้ในที่สุด ปฤถวีราชาถูกมูฮัมหมัดสั่งให้ประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ

ส่วนหลักฐานฮินดูว่า ปฤถวีราชาถูกนำตัวไปยังกาซนี เมืองหลวงของมูฮัมหมัด และถูกสังหารในเวลาต่อมา เรื่องเล่าตอนที่จะถูกสังหารมีมากมายหลายเวอร์ชั่นเกินกว่าที่จะเล่าหมดในโพสนี้

แต่ที่แน่ๆ คือ ปฤถวีราชาถูกสังหารหลังจากพ่ายแพ้ต่อมูฮัมหมัด เขาจากไปตอนอายุได้เพียง 25 ปีเท่านั้น และกองทัพมุสลิมสามารถตี Ajmer เมืองหลวงของจาหะมานะแตกและทำลายวัดวาอารามจนหมด

อาณาจักรจาหะมานะตกเป็นเมืองขึ้นของมูฮัมหมัดแห่งโฆรี และถูกปกครองโดยบุตรชายอายุน้อยของปฤถวีราชา ผ่านไปอีกร้อยกว่าปี อาณาจักรนี้ก็ถูกทำลายโดยรัฐสุลต่านแห่งเดลีในที่สุด

Sources:

  • Singh, History of the Chahamanas

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!