ประวัติศาสตร์แชร์แม่ชม้อย แชร์ลูกโซ่ทำคนไทยเสียเงินนับพันล้าน

แชร์แม่ชม้อย แชร์ลูกโซ่ทำคนไทยเสียเงินนับพันล้าน

แชร์ลูกโซ่ (Ponzi Scheme) เป็นการหลอกลวงทางการเงินที่มีอยู่โดยทั่วไป โดยเจ้าของแชร์จะหลอกลวงคนทั่วไปว่า ตนเองจะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ ซึ่งได้ผลตอบแทนสูงมาก ประชาชนบางคนจึงนำเงินไปลงทุนกับแชร์เหล่านี้ด้วยความโลภ

ต่อมาเจ้าของแชร์จะนำเงินของนักลงทุนรายหลังมามอบให้กับนักลงทุนก่อนหน้าเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ทำให้นักลงทุนบางส่วนได้ผลตอบแทนที่ดีมาก พวกเขาจึงตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมกับเจ้าของแชร์

เมื่อเจ้าของแชร์ได้เงินจำนวนมหาศาลแล้ว เจ้าของแชร์ก็จะหลบหนีไปพร้อมกับเงินจำนวนดังกล่าว ทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก

แชร์ลูกโซ่ที่มีชื่อเสียงและมีขนาดใหญ่โตมากที่สุดในประเทศไทยแห่งหนึ่ง ก็คือแชร์แม่ชม้อย หรือ แชร์ชม้อย เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ 2520-2528 

นางชม้อย เจ้าของแชร์แม่ชม้อย Cr: คมชัดลึก

นางชม้อยเป็นคนจังหวัดสิงห์บุรี เธอรับราชการเป็นเสมียนธุรการทั่วไป จนกระทั่งวันหนึ่ง นางชม้อยได้รับการชักชวนจากนายประสิทธิ์ เพื่อนร่วมงานที่องค์การน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ร่วมลงทุนในธุรกิจค้าน้ำมัน ปรากฏว่านางชม้อยลงทุนแล้วได้รายได้ดี เธอจึงชักชวนบุคคลอื่นให้เข้าร่วมลงทุนกับเธอ ซึ่งก็มีผู้สนใจจำนวนมาก 

เมื่อเวลาผ่านไป นางชม้อยก็เริ่มยกระดับจากการให้ผู้อื่นร่วมลงทุนกับตน เป็นการเปิดบริษัทชื่อว่า “ปิโตรเลียม แอนด์ มารีน เซอร์วิส จำกัด” เธออ้างว่าบริษัทดังกล่าวทำกิจการซื้อขายน้ำมันทั้งในและต่างประเทศ และยังมีเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ขนส่งน้ำมันอีกด้วย ถ้าใครนำลงทุนกับเธอ เธอรับรองว่าจะได้ผลตอบแทนสูงลิบลิ่ว

หากแต่ว่าอันที่จริงแล้ว บริษัทดังกล่าวเป็นเพียงบริษัทลวง ไม่ได้ประกอบธุรกิจจริง นางชม้อยแค่ตั้งบริษัทขึ้นมาหลอกๆ เพื่อหลอกต้มตุ๋นนักลงทุน 

การที่จะลงทุนในบริษัทของนางชม้อยนั้น นักลงทุนจะต้องเซ็นสัญญาให้กู้ยืมเงิน สัญญาละ 160,500 บาท โดยนางชม้อยอ้างว่าเป็นค่ารถบรรทุกน้ำมันคันหนึ่ง หลังจากให้นางชม้อยกู้แล้ว นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทน 6.5% ต่อเดือน หรือประมาณ 78% ต่อปี แต่นางชม้อยอ้างว่าขอหักผลตอบแทนร้อยละ 4 เป็นภาษีการค้า และอีก 100 บาทต่อเดือนเพื่อเป็นค่าเด็กปั้ม

ทั้งนี้นักลงทุนมีสิทธิ์ไถ่ถอนเงินของเขาเมื่อไรก็ได้ และจะกลับมาให้นางชม้อยกู้อีกเมื่อไรก็ได้ 

นางชม้อยเป็นคนเฉลียวฉลาด เธอรู้วิธีที่จะสร้างความน่าเชื่อถือ เธอยินยอมจ่ายทั้งเงินต้นและผลตอบแทนให้กับนักลงทุนทุกคน เมื่อนักลงทุนเห็นว่านางชม้อยจ่ายเงินให้จริงๆ พวกเขาจึงแห่กันมาลงทุนกับเธอมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ขนาดของแชร์จึงใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ

ในภายหลัง นางชม้อยได้ตัดสัญญากู้ยืมเงินแต่ละฉบับให้เหลือเพียง 1 ใน 4 นั่นก็คือประมาณ 40,000 บาท ทำให้ผู้ที่มีฐานะไม่ค่อยดีนัก สามารถลงทุนในกิจการหลอกๆ ของเธอได้

สาเหตุที่นางชม้อยสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้เพราะว่าเธอนำเงินทั้งหมดไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ และนำเงินลงทุนของผู้ที่มาลงทุนทีหลังมาจ่ายเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ลงทุนก่อนหน้านั่นเอง

แชร์ของนางชม้อยกลายเป็นแชร์ใหญ่โต บัญชีของนางชม้อยมีการหมุนเวียนในหลักหมื่นล้านบาท และมีผู้ร่วมทุนจำนวนหลายหมื่นคน ต่อมานางชม้อยก็ได้เปิดบริษัทลวงขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า บริษัทอุดมข้าวหอมไทย จำกัด เธออ้างว่าทำธุรกิจค้าข้าว แต่จริงๆ ก็เป็นแบบเดิม นั่นก็คือเป็นบริษัทปลอมที่ไม่ได้ทำธุรกิจจริงๆ

นางชม้อยได้ลักลอบนำเงินลงทุนจำนวนมากไปซื้อของมีค่าส่วนตัว และนำไปอำพรางซุกซ่อนไว้ เตรียมการที่จะเชิดเงินหลบหนี

กิจการของนางชม้อยนั้นดำเนินมานานหลายปี จนกระทั่งในปี พ.ศ 2528 นางชม้อยก็เริ่มปฏิเสธการคืนเงินให้กับผู้ลงทุน เพราะว่าไม่สามารถหาเงินมาหมุนได้อีกต่อไป ในเวลาต่อมานางชม้อยก็ทำการหลบหนี ผู้ร่วมทุนจำนวนมากจึงเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

ท้ายที่สุดแล้วนางชม้อยจึงถูกจับกุม ศาลได้พิพากษาจำคุกแม่ชม้อยเป็นเวลานาน 117,595 ปี แต่กฎหมายอาญามาตรา 91 วรรค 2 ได้กำหนดให้ลงโทษรวมทุกกระทงไม่เกิน 20 ปี นางชม้อยจึงต้องโทษจำคุก 20 ปี และให้คืนเงินที่ฉ้อโกงประชาชนไปจำนวนประมาณ 510 ล้านบาท

ผู้เสียหายจากแชร์ชม้อยมีมากถึง 13,248 คน รวมเป็นเงินมากกว่า 4 พันล้านบาท แต่ที่นางชม้อยต้องใช้คืนเพียง 510 ล้านบาทนั้นก็เพราะว่า พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนเริ่มใช้ในปี พ.ศ 2527 นางชม้อยจำต้องใช้คืนเงินที่โกงมาหลังจากที่พระราชกำหนดเริ่มใช้เท่านั้น

คดีนางชม้อยเป็นคดีแชร์ลูกโซ่ที่มีชื่อเสียงมากในประเทศไทย และยังคงอยู่ในความทรงจำของคนไทยจำนวนมากมาถึงปัจจุบัน แต่ทว่าแชร์ลูกโซ่ก็คงมีอยู่เรื่อยๆ ในประเทศไทย การสังเกตว่าการลงทุนแบบใดเป็นแชร์ลูกโซ่ก็ทำได้ไม่ยากนัก ถ้ามีการการันตีผลตอบแทนที่สูงเกินจริง เราสามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นแชร์ลูกโซ่อย่างแน่นอน

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!