ธุรกิจ3 ทางเลือกอื่นนอกจาก PayPal ในการรับเงินต่างประเทศ

3 ทางเลือกอื่นนอกจาก PayPal ในการรับเงินต่างประเทศ

ในปัจจุบันคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า PayPal เป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการส่งและรับเงินต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์ทั่วไปที่หาเงินจากแพลตฟอร์มต่างชาติใหญ่ๆ หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไปที่ต้องรับเงินโอนให้ญาติพี่น้องที่อยู่ในต่างประเทศก็ตาม หลายคนอาจจะเรียกได้ว่าใช้ PayPal เป็นหลักในการทำธุรกรรมเลยทีเดียว

ถึงกระนั้นกฎระเบียบใหม่ของ PayPal ที่เพิ่งออกมาไม่นาน กลับสร้างปัญหาอย่างมาก เพราะนอกจากบัญชีส่วนตัวจะรับเงินไม่ได้แล้ว คุณจะไม่สามารถรับและส่งเงินผ่านทางฟีเจอร์ Payouts ได้อีกแม้ว่าจะอัพเกรดเป็นบัญชีธุรกิจ (ที่ต้องเป็นนิติบุคคลในการเปิด) ก็ตาม ซึ่งเท่ากับว่าผู้ใช้งาน PayPal รายย่อยทุกคนต่างได้รับผลกระทบอย่างสาหัส

ในตอนนี้ (มีนาคม 2022) แม้ว่า PayPal จะเลื่อนกำหนดการบังคับใช้ออกไปก่อน แต่ก็ยังไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า ผู้ประกอบการทั่วไปจะยังใช้ PayPal รับเงินได้ต่อไป

ดังนั้นในโพสนี้ ผมจึงมาขอสรุปว่าคุณจะมีทางเลือกอื่นนอกจาก PayPal อะไรบ้างในการรับส่งเงินต่างประเทศ

ข้อควรทราบสำหรับฟรีแลนซ์, Affiliate และอื่นๆ

ปัญหาที่พบบ่อยสำหรับฟรีแลนซ์, Affiliate และผู้ค้าอื่นๆ ในแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ที่ต้องรับเงินโอนจากต่างประเทศผ่านทาง PayPal นั้นคือ คุณจะมีตัวเลือกที่ไม่มากนัก เนื่องจากฝั่งลูกค้าหรือ Partner ของคุณอาจจะจ่ายเฉพาะผ่านทาง PayPal เพียงอย่างเดียว ทำให้คุณไม่สามารถใช้บริการตัวเลือกอื่นไปได้โดยปริยาย

อย่างไรก็ดีจากประสบการณ์ของผมคือ ในบางครั้งเราสามารถต่อรองกับ Partner หรือลูกค้าประจำได้ โดยให้พวกเขาโอนเงินผ่านทางช่องทางอื่น คุณอาจจะต้องยอมเสียค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น แต่ก็แลกกับการที่คุณสามารถรับรายได้ของคุณได้นั่นเอง

ดังนั้นถ้าคุณกำลังประสบปัญหานี้ ผมแนะนำให้ลองติดต่อกับทุกฝั่งที่เกี่ยวเนื่องกับรายได้ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งลูกค้า, ตัวแพลตฟอร์ม ฯลฯ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ครับ

Tips: เนื่องจากการสมัครแพลตฟอร์มเหล่านี้ฟรีทั้งหมด ผมจึงแนะนำว่าให้สมัครทั้งหมดไปเลย คุณจะได้มีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้นในการรับส่งเงินต่างประเทศครับ

1. Payoneer

Payoneer เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจมาก เพราะการใช้งานแทบไม่ต่างกับ PayPal เลยครับ สามารถส่ง รับเงิน และใช้จ่ายได้อย่างอิสระ ผมเองได้ลองใช้แล้วพบว่ายอดเยี่ยมมากเลยทีเดียว

Payoneer เป็นช่องทางรับเงินทรงประสิทธิภาพทไม่แพ้ PayPal

จุดแข็งของ Payoneer มีดังต่อไปนี้

  • กำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐของสหรัฐอเมริกา ยุโรป ฮ่องกง และอีกหลากหลายประเทศทั่วทุกทวีป
  • สามารถใช้เป็น Wallet ได้ – คุณสามารถเก็บรายได้ของคุณไว้ใน Wallet ของคุณเพื่อใช้ซื้อสินค้าต่อไปได้ ไม่ต่างจาก PayPal ถึงกระนั้นคุณก็ไม่ควรเก็บเงินจำนวนมากไว้ใน account อยู่ดี เพราะสุ่มเสี่ยงจะโดนแฮคและโจรกรรมได้ครับ
  • สามารถขอ Payoneer Card (Debit Card) เพื่อนำมารูดซื้อใช้จ่ายได้
  • ชาร์จค่าบริการการโอนเงินต่างประเทศประมาณ 2% ซึ่งจัดว่าไม่แพงจนเกินไป
  • รับเงินตราต่างประเทศเข้าบัญชีได้หลายสกุลเงิน
  • มี Mobile App ให้ใช้งาน
  • User Interface ไม่รกรุกรัง ทำให้การใช้งานง่ายไม่ยุ่งยากเหมือน PayPal
  • ความเร็วในการรับเงินเข้าบัญชีธนาคารอยู่ที่ประมาณ 2-3 วัน
  • ผู้ประกอบการสามารถเปิด Business Account เพื่อชาร์จเงินลูกค้าได้ตามปกติ

อย่างไรก็ดี Payoneer ก็มีข้อเสียเช่นกันนั่นก็คือ

  • คิดค่าบริการ $29.95 หรือประมาณ 900 บาทต่อปี ถ้าบัญชีของคุณไม่มีการเคลื่อนไหวเข้าออกใดๆ
  • ในบางกรณีอาจจะมีค่าธรรมเนียมของธนาคารได้

ในปัจจุบัน Payoneer ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ผมได้สังเกตเห็นว่ามีหลากหลายแพลตฟอร์มที่เริ่มเปิดให้รับเงินโดยใช้ Payoneer ได้แล้ว และมีแนวโน้มว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกมากมายในอนาคต ดังนั้นผมจึงมองว่าเปิดไว้ก่อนล่วงหน้าก็ไม่เสียหายเลยครับ เพราะเปิดฟรีเช่นเดียวกับ PayPal การส่งเอกสารหรือยืนยันตัวตนก็เรียบง่ายกว่าด้วย

ถ้าสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม หรือว่าอยากจะสมัครแล้ว สามารถกดลิงค์ด้านล่างได้เลยครับ

2. Wise

Wise หรือในอดีตคือ TransferWise เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณต้องการได้แพลตฟอร์มรับเงินโอนจากต่างประเทศที่ช่วยให้ผู้รับเงินจะได้รับเงินโอนอย่างรวดเร็ว

จุดแข็งของ Wise มีดังต่อไปนี้

  • กำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศในยุโรป ดังนั้นไม่หลอกลวงอย่างแน่นอนครับ
  • ได้อัตราแลกเปลี่ยนโดยรวมที่ดีกว่า PayPal ทำให้คุณมีโอกาสได้เงินโอนเข้าบัญชีของคุณเป็นสกุลเงินบาทที่มากขึ้น ซึ่งทาง Wise ได้ claim ว่าใกล้เคียงกับอัตราแลกเปลี่ยนจริง (Real Exchange Rate) มากที่สุด (ผ่านกลไกของ Borderless account)
  • ค่าธรรมเนียมเริ่มต้นที่ 0.35% และไม่เกิน 2%
  • รับเงินตราต่างประเทศเข้าบัญชีได้หลายสกุลเงิน
  • ใช้เป็น Wallet ได้เหมือนกับ PayPal และ Payoneer แต่ไม่ควรเก็บไว้เกิน 15000 ยูโร เพราะถ้ามากกว่านั้นจะคิดค่าใช้จ่าย 0.4% ต่อปี
  • สามารถขอ Debit Card ได้เช่นเดียวกับ PayPal และ Payoneer
  • มี Mobile App ให้ใช้งาน
  • เงินเข้าบัญชีรวดเร็วกว่าทั้ง PayPal และ Payoneer (บางกรณีได้เงินภายในวันเดียวก็มีครับ)
  • ผู้ประกอบการสามารถเปิด Business Account เพื่อชาร์จเงินลูกค้าได้ตามปกติ

อย่างไรก็ดีข้อเสียของ Wise ก็มีเช่นกัน

  • การเปิดบัญชี Wise สำหรับปี 2022 ซับซ้อนและยุ่งยากกว่า Payoneer อยู่บ้าง เนื่องจาก Wise จะให้คุณโอนเงินในธนาคารเข้าเครือข่ายของ Wise (ประมาณ 900 บาท) แต่บางธนาคารจะปฏิเสธธุรกรรมดังกล่าวถ้าคุณใช้บัตรเครดิต ทำให้คุณต้องไปที่สาขาของธนาคารเพื่อโอนเงินแบบ Bank Transfer ครับ (แต่ถ้ามีบัตร KTC ผมแนะนำให้ใช้ KTC ครับ เพราะผมรูดผ่านแบบไม่มีปัญหาใดๆ เลย)
  • ถ้ายอดเงินเกิน 50,000 บาทต่อครั้งจะต้องผ่านบางธนาคารในไทยเท่านั้น

โดยรวมแล้ว Wise เป็นทางเลือกที่ดีในการรับเงินโอนจากต่างประเทศเช่นเดียวกัน แม้ว่าขั้นตอนการสมัครจะยุ่งยากไปบ้าง แต่ถ้าสมัครเรียบร้อยแล้ว Wise เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ

ถ้าสนใจก็ลองสมัครเลยด้วยการกดปุ่มด้านล่างครับ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้เช่นกัน)

3. Direct Deposit/Wire Transfer/Bank Transfer/SWIFT Code

วิธีการนี้ก็คือรับและส่งเงินโดยตรงผ่านระบบธนาคารนั่นเอง แนวทางการใช้งานเองก็ไม่ยากอะไร ถ้าคุณเป็นผู้รับ คุณก็แค่ใส่ชื่อของคุณ ชื่อธนาคาร ที่อยู่ เลขที่บัญชี และ Routing/ABA/SWIFT Code ให้เรียบร้อย เพียงเท่านี้คุณก็พร้อมรับเงินจากต่างประเทศอย่างไม่มีอุปสรรคแล้วครับ

สำหรับผู้ส่งนั้นก็ไม่ได้ยากเช่นเดียวกัน คุณแค่ต้องมีข้อมูลของผู้รับให้ครบถ้วน การส่งก็อาจจะส่งได้ผ่าน App หรือ Web หรือว่าจะไปทำที่สาขาก็ได้ครับ

เท่าที่ผมเคยรับมา ค่าบริการจะอยู่ที่ 300-500 บาท แต่ก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศเช่นเดียวกัน ส่วนระยะเวลาจะนานกว่านั่นคืออย่างน้อย 3-5 วันครับ

ตัวเลือกอื่นๆ ในการรับเงินโอนจากต่างประเทศในอนาคต

Stripe – อีกหนึ่งคู่แข่งสำคัญของ PayPal ในตลาดการรับเงินโอนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี Stripe ยังไม่ให้บริการรับเงินโอนมายังประเทศไทย (มีแผนจะเปิดในอนาคต) ดังนั้นคุณยังไม่สามารถสมัคร Stripe ได้ครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!