การศึกษา3 โปรแกรมสร้างคอร์สออนไลน์คุณภาพเยี่ยมน่าใช้งาน (2024)

3 โปรแกรมสร้างคอร์สออนไลน์คุณภาพเยี่ยมน่าใช้งาน (2024)

ตลาดการเรียนออนไลน์เป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงมากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในต่างประเทศหรือว่าในประเทศไทย ทำให้เปิดกว้างสำหรับผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการแบ่งปันทักษะที่ตนเองมีอยู่ ในการสร้างรายได้มากมายในรูปแบบ passive income

จริงอยู่ว่าคุณสามารถสร้างคอร์สออนไลน์ขึ้นมาไม่ยาก ด้วยการทำคลิปวิดีโอจำนวนหนึ่ง และขายผ่านทางช่องทางอย่างกลุ่มใน Facebook แต่โดยส่วนตัวแล้วผมไม่แนะนำวิธีนี้เลย เพราะตัวคอร์สออนไลน์จะดูไม่เป็นมืออาชีพและปราศจากมาตรฐานใดๆ ที่จะทำให้ผู้ซื้อคอร์สไว้ใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณอยากจะขายคอร์สของคุณให้กับนักเรียนต่างชาติด้วย

นอกจากนี้คุณยังมีข้อจำกัดในเรื่องลูกเล่นต่างๆ ที่จะส่งมอบประสบการณ์การเรียนดีเยี่ยมให้กับผู้เรียนอีกด้วย

ในระยะยาวแล้ว ถ้าคุณต้องการจะสร้างแบรนด์ของตนเองขึ้นมา การสร้างคอร์สออนไลน์ที่ได้มาตรฐานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งคุณมีทางเลือก 2 ช่องทางในการสร้างคอร์สออนไลน์ดังกล่าว

รูปแบบการสร้างคอร์สออนไลน์

วิธีการสร้างคอร์สออนไลน์ที่ได้มาตรฐานนั้นมีอยู่ 2 ช่องทางได้แก่

  1. ผ่านแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ – คุณจะสร้างคอร์สผ่านเครื่องมือสร้างคอร์สของแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่อย่างเช่น Udemy หรือ Skillshare (หรือถ้าเป็นของไทยแท้ก็ Skilllane)
  2. ผ่านโปรแกรมสร้างคอร์สออนไลน์ – ทำคอร์สออนไลน์โดยใช้ซอฟต์แวร์คุณภาพเยี่ยมที่ถูกสร้างมาเพื่อเนรมิตคอร์สเรียนออนไลน์คุณภาพสูงโดยเฉพาะ นอกจากนี้จะเหมาะกับบริษัทที่ต้องการพัฒนาคอร์สเรียนภายในพัฒนาบุคลากร

ทั้ง 2 ช่องทางมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ผมขอแจกแจงย่อยๆ เป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

ผ่านแพลตฟอร์ม

ข้อดี

  • ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนให้กับผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ ทำให้ต้นทุนการทำคอร์สออนไลน์ต่ำกว่า
  • ทำการตลาดออนไลน์ง่ายกว่าและประหยัดกว่า เพราะมีโอกาสได้นักเรียนใหม่ฟรีๆจากผู้มาเยี่ยมชมบนแพลตฟอร์ม (แต่คุณต้องทำ SEO เพื่อให้ผู้เรียนสามารถ search บนตัวแพลตฟอร์มแล้วพบคอร์สของคุณเช่นเดียวกัน)
  • ใช้งานไม่ยาก และมีทีมงานที่เชี่ยวชาญคอยช่วยเหลือในการทำคอร์ส
  • มีโอกาสได้รับรีวิวและ feedback จำนวนมาก (อย่างไรก็ดีนี่เป็นดาบสองคมไม่ต่างอะไรกับเกมใน Steam เพราะรีวิวที่ดีจะช่วยเพิ่มโอกาสที่ผู้เรียนจะซื้อคอร์ส แต่รีวิวที่แย่จะทำให้คุณขายได้ยากขึ้นมาก)
  • ไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาต่างๆ ในด้านการใช้งาน เพราะทีมงานของแพลตฟอร์มจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด (แต่คุณยังต้องดูแลผู้เรียนถ้าสงสัยและไม่เข้าใจอยู่ดีครับ)
  • ขั้นตอนการรับเงินไม่ยุ่งยาก

ข้อเสีย

  • ขาดฟีเจอร์สำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินผล
  • คอร์สที่ขายบนแพลตฟอร์มจะต้องเป็นคอร์สเรียนแบบวิดีโอเท่านั้น ถ้าคุณอยากจะสร้างคอร์สรูปแบบอื่นอย่างเช่นแบบ Interactive หรือ Live Class แล้ว คุณจะไม่สามารถทำได้ เพราะทางแพลตฟอร์มไม่มีฟีเจอร์รองรับ
  • ไม่สามารถตั้งราคาแบบรายเดือนหรือแบบ Bundle ได้
  • คุณต้องเสียส่วนแบ่งในการขายให้กับตัวแพลตฟอร์ม อย่างในกรณีของ Udemy นั้น คุณจะได้รับส่วนแบ่งค่าคอร์สเพียง 37% (เว้นแต่ว่านักเรียนซื้อคอร์สผ่านทางการแนะนำโดยตรงของคุณ ในกรณีนี้ทาง Udemy จะให้ส่วนแบ่งคุณ 97%)
  • สร้างแบรนด์ของตัวเองยาก เพราะทุกคอร์สหน้าตาเหมือนกันหมด แถมบางครั้งดูเป็นคอร์สราคาถูก ดังนั้นการที่คุณจะสร้างแบรนด์และ Loyalty นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
  • คอร์สของผู้สอนทุกคนจะต้องผ่านการประเมินคุณภาพและกฎของแพลตฟอร์มก่อนที่จะวางขาย

ผ่านโปรแกรมสร้างคอร์สออนไลน์

ข้อดีข้อเสียของช่องทางนี้จะตรงกันข้ามกับรูปแบบแรก นั่นก็คือ

ข้อดี

  • ได้รายได้จากการขายคอร์สทั้งหมด 100% โดยไม่ต้องแบ่งให้กับแพลตฟอร์มใดๆ
  • ฟีเจอร์ในการสร้างคอร์สหลากหลาย ทำให้คุณรังสรรค์คอร์สที่ต้องการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังแก้ไขทุกอย่างโดยแทบไม่มีข้อจำกัด
  • สร้างแบรนด์ของตนเองได้อย่างง่ายดาย เพราะคุณจะมีเว็บไซต์ตลอดจนแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นของคุณเอง
  • ตั้งราคาคอร์สได้ทุกรูปแบบ และแจกส่วนลดทุกอย่างได้อย่างอิสระ
  • สามารถเลือกแสดงเฉพาะรีวิวที่ดีได้ และไม่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติตามกฎของแพลตฟอร์ม ไม่ต้องกลัวว่าสักวันหนึ่ง คอร์สของคุณจะถูกนำออกจากแพลตฟอร์ม
  • สามารถสร้าง Affiliate Network เพื่อโปรโมตคอร์สเรียนของคุณบนเว็บไซต์หรือเพจต่างๆ
  • สามารถเชื่อมตัวคอร์สกับ software อื่นๆ อย่าง Email Marketing หรือ Live Chat ได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณสร้างฐาน Student Base ที่แข็งแกร่ง และช่วยนักเรียนเข้าถึงการช่วยเหลือที่เร็วมากขึ้นกว่าแบบแพลตฟอร์ม
  • ไม่ต้องกังวลกับปัญหาต่างๆ ในการใช้งาน เพราะคุณสามารถขอรับการช่วยเหลือตลอดเวลา (24/7/365) ผ่านทาง Live Chat หรือ Email

ข้อเสีย

  • ต้องลงทุนค่าใช้งานซอฟต์แวร์รายเดือน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นสูงกว่าการใช้แพลตฟอร์ม
  • สำหรับบางโปรแกรม การใช้งานจะยากกว่าแบบแพลตฟอร์มพอสมควร ทำให้คุณจะต้องเรียนรู้วิธีการใช้งานจาก Tutorial (ซึ่งไม่ได้ยากอะไรครับ)
  • ไม่มีโอกาสได้นักเรียนใหม่โดยไม่ต้องทำการตลาดออนไลน์ คุณจะต้องลงทุนลงแรงไปกับการทำ SEO, การยิง Ads หรือการให้ Influencer ช่วยโปรโมต
  • โอกาสได้รับรีวิวและ Feedback น้อยกว่า
  • ขั้นตอนการรับเงินยุ่งยากกว่า เพราะโปรแกรมสร้างคอร์สออนไลน์ส่วนมากจะรองรับแค่ Stripe และ PayPal ดังนั้นการรับเงินจะต้องทำนอกโปรแกรม (อย่างเช่นลิงค์ไปแพลตฟอร์มอื่น หรือให้ผู้เรียนโอนเงินมาโดยตรง) หรือว่าติดตั้ง Omise Button บนหน้าเว็บไซต์ที่มาพร้อมกับโปรแกรมด้วยตนเอง

เลือกตัวเลือกไหนดี

หลังจากรับทราบข้อดีข้อเสียไปแล้ว คุณอาจจะสงสัยว่าแล้วจะเลือกตัวเลือกไหนดี โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าขึ้นอยู่กับความทะเยอทะยานของคุณเองครับ

ถ้าคุณอยากจะทำคอร์สที่ไม่ซับซ้อน เนื้อหาไม่มาก ไม่คิดจะเสียเวลาและเงินทุนในการทำมากนัก และยังไม่มี Follower หรือ Subscriber มาก่อนเลย การเลือกแบบแพลตฟอร์มก็ประหยัด และใช้เวลาไม่นาน

แต่ถ้าคุณอยากได้คอร์สระดับสูงที่เจิดจรัสและสร้างรายได้ให้กับคุณมหาศาล คุณต้องการฟีเจอร์ดีๆ ที่ช่วยให้ตัวเองไปถึงจุดนั้น พร้อมที่จะลงทุนเวลาและเงินทุน รวมไปถึงมี Follower หรือ Subscriber อยู่บ้างแล้ว โปรแกรมสร้างคอร์สออนไลน์จะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าอย่างชัดเจนในระยะยาว เพราะสร้างรายได้มากกว่า มีโอกาสสร้างแบรนด์การศึกษาของตนเองอีกด้วย

สำหรับบริษัทที่ต้องการสร้างคอร์สออนไลน์เพื่อเทรนพนักงาน คุณควรเลือกใช้โปรแกรมสร้างคอร์สออนไลน์ครับ

ถ้าคุณตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกตัวเลือกหลัง ในโพสนี้ผมจะมาแนะนำโปรแกรมสร้างคอร์สออนไลน์ที่น่าสนใจใช้งานครับ

1. LearnWorlds

LearnWorlds เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ถ้าคุณสนใจจะสร้างคอร์สออนไลน์ขาย เพราะฟีเจอร์ที่ตัวโปรแกรมนี้ให้นั้นหลากหลายและมีคุณภาพสูงมาก เราไปดูกันดีกว่าครับมีฟีเจอร์อะไรบ้าง

LearnWorlds เป็นโปรแกรมสร้างคอร์สออนไลน์ที่ดีที่สุด

ฟีเจอร์หลัก

ฟีเจอร์หลักของ LearnWorlds นั้นมีดังต่อไปนี้

Course Builder – คุณสามารถสร้างคอร์สแบบต่างๆ ได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นคอร์สแบบวิดีโอ คอร์สแบบใช้การอ่าน หรือว่าคอร์สแนว Project

ในการใช้งานนั้น UI ของ LearnWorlds นั้นถือว่าดีถึงดีมาก จากที่ผมได้ลองใช้งาน ผมพบว่าคุณแค่ลาก วาง พิมพ์และอัพโหลดเท่านั้น ทำให้ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างคอร์สได้ไม่ยากครับ

ทำคอร์สออนไลน์โดยใช้ LearnWorlds

Interactions – สำหรับผู้สอนที่สร้างคอร์สวิดีโอ คุณสามารถใส่ปุุ่มเล็กๆ บนตัววิดีโอได้ ทำให้คุณสามารถใส่รายละเอียดเพิ่มเติม คำถาม รูปภาพ ลิงค์ และอื่นๆ อีกมากมายที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น

Live Classes – LearnWorlds สามารถเชื่อมต่อกับ Zoom เพื่อจัดคอร์สเรียนสดได้

Assignments – จุดแข็งของ LearnWorlds คือการที่คุณสามารถให้แบบฝึกหัดกับผู้เรียนได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบเลือกตอบ (Multiple Choice) แบบเขียนตอบ หรือแม้กระทั่งเป็นโปรเจค หรือว่าการสอบ ทำให้ผู้เรียนได้รับการประเมินผลอย่างครบถ้วน

นอกจากนี้คุณยังสามารถสร้าง Question Bank คุณภาพสูงได้ ทำให้ผู้เรียนของคุณมีแบบฝึกหัดมากมายได้ฝึกฝน ซึ่งจะเหมาะมากถ้าคุณต้องการสร้างคอร์สเรียนติวสอบ ไม่ว่าจะเป็น GAT/PAT, SAT, TOEFL ฯลฯ

Note Taking – สำหรับคอร์สที่เน้น text (ตัวอักษร) ผู้เรียนสามารถใส่ note ช่วยจำ หรือว่า highlight เนื้อหาได้ ทำให้ผู้เรียนกลับมาทบทวนได้ดียิ่งขึ้น

Drip Feeds – คุณสามารถกำหนดการเข้าถึงเนื้อหาของผู้เรียนได้อย่างอิสระ ยกตัวอย่างเช่นคุณสามารถล็อกการเข้าถึงเนื้อหาระดับสูง จนกระทั่งผู้เรียนผ่านการสอบระดับพื้นฐานเป็นต้น

Marketing – LearnWorlds มาพร้อมกับเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการแจกคูปอง, Affiliate Network และอื่นๆ อีกมากมาย

Website & Blog – LearnWorlds มาพร้อมกับโปรแกรมสร้างเว็บไซต์ที่จะช่วยให้คุณสร้างเว็บไซต์และ landing page เพื่อดึงดูดนักเรียนใหม่และสร้างความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ตัวคอร์สของคุณจะถูกเก็บไว้ใน Cloud Hosting ที่มีความเร็วสูงด้วย ทุกอย่างรวมอยู่แล้วในค่าบริการ ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้งานในส่วนนี้ครับ

ออกแบบเว็บไซต์สำหรับคอร์สเรียนออนไลน์ของคุณ

สมมติว่าคุณมีเว็บไซต์ eCommerce หรือ Blog อยู่แล้ว คุณสามารถเชื่อม LearnWorlds กับเว็บไซต์ของคุณได้ครับ

App Builder – คุณสามารถใช้ LearnWorlds ในการสร้าง app (iOS และ Android) สำหรับคอร์สของคุณโดยไม่ต้องเขียนโค้ดใดๆ

Reports & Insights – LearnWorlds จะเก็บข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับตัวคอร์สตลอดจนผู้เรียน ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถนำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่อไปได้

Social Talk – คุณสามารถสร้าง Forum ที่คุณสามารถเข้าไปสื่อสารและตอบคำถามของผู้เรียน และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้เช่นกัน

Certificate – คุณสามารถมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้เรียนได้หลังจากที่พวกเขาเรียนจบคอร์ส

จากฟีเจอร์เหล่านี้ของ LearnWorlds ผมมองว่าครบเครื่องทุกกระบวนท่าเลยทีเดียว ถ้าคุณยังสงสัยว่า LearnWorlds จะเหมาะกับคุณหรือเปล่า ผมแนะนำให้ลองสมัคร account และใช้ฟรี 21 วันครับ

ราคา

สำหรับราคาค่าสมาชิกรายเดือนของ LearnWorlds นั้นจะมี 3 ราคาด้วยกันได้แก่

  • Starter – เริ่มต้นที่ $24 หรือประมาณ 720 ต่อเดือน
  • Pro Trainer – เริ่มต้นที่ $79 หรือประมาณ 2,370 บาทต่อเดือน
  • Learning Center – เริ่มต้นที่ $249 หรือประมาณ 7,470 บาท ต่อเดือน

ผมไม่แนะนำแพลน Starter เนื่องจากว่าคุณจะต้องเสียค่าบริการ $5 หรือประมาณ 150 บาทต่อคอร์สในกรณีที่มีคนซื้อคอร์สของคุณ นั่นหมายความว่าถ้าคุณขายคอร์สได้มากกว่า 10 คอร์สต่อเดือน ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะสูงจนไม่คุ้มครับ แถมฟีเจอร์ที่ได้ยังจะจำกัดมากด้วย

ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับมือใหม่ก็คือแพลนที่สองอย่าง Pro Trainer ครับ ถ้าคุณสมัครแพลนนี้จะไม่มีการคิดค่าบริการ $5 ต่อคอร์ส แถมยังได้ฟีเจอร์เกือบทั้งหมดในแพลตฟอร์ม ขาดก็แต่ฟีเจอร์ระดับสูงอย่างเช่น Interactions และการสร้าง App เป็นต้น

แพลนสุดท้ายอย่าง Learning Center นั้นจะเหมาะกับบริษัทหรือสถาบันเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการมอบการสอนคุณภาพสูงที่สุดให้กับนักเรียน อย่างไรก็ดีผมมองว่าแพลนนี้ไม่จำเป็นสำหรับผู้สอนรายย่อยครับ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากลิงค์ด้านล่าง

2. Thinkific

Thinkific เป็นอีกตัวเลือกน่าสนใจสำหรับใครที่อยากสร้างคอร์สออนไลน์ในแบบของคุณเอง จากที่ผมได้ลองใช้มา ผมพบว่า Thinkific โดดเด่นในเรื่องของความเรียบง่าย ทุกอย่างบนแพลตฟอร์มใช้ง่ายและสะดวก แม้ว่าจำนวนฟีเจอร์จะไม่เท่ากับ LearnWorlds ก็ตาม

ทำคอร์สออนไลน์โดยใช้โปรแกรมอย่าง Thinkific นั้นไม่ยากเลย

ฟีเจอร์หลัก

Course Builder – คุณสามารถสร้างคอร์สเรียนออนไลน์บน Thinkific อย่างง่ายดายด้วยการลาก วาง หรือว่าอัพโหลดไฟล์วิดีโอ นอกจากนี้คุณยังสามารถใช้จัดคอร์สเรียนสด (Live Class) ได้อีกด้วย

สร้างคอร์สออนไลน์โดยใช้ Thinkific

Assessments – ใส่แบบฝึกหัดเพื่อให้นักเรียนของคุณรับทราบว่าพวกเขาเข้าใจเนื้อหาได้เพียงใด อย่างไรก็ดีการประเมินผลของ Thinkific จะจำกัดมากกว่า LearnWorlds เพราะจะสามารถใส่แบบเลือกตอบ (Multiple Choice) ได้เท่านั้น

Drip Content – คุณกำหนดแผนการเรียนของนักเรียนได้อย่างอิสระด้วยฟีเจอร์นี้ เช่นคุณอาจจะกำหนดให้นักเรียนต้องผ่านคอร์สพื้นฐานมาก่อนถึงจะเรียนคอร์สต่อไปได้ หรือว่าเปิดให้เข้าถึงบทเรียน หลังจากเรียนไปแล้ว 1 เดือนก็ได้

Progress Tracking – คุณสามารถตรวจสอบดูได้ว่าผู้เรียนเรียนไปถึงไหนแล้ว และพวกเขาต้องการการช่วยเหลือเพิ่มหรือไม่

Communities – คุณสามารถสร้าง forum และ community เพื่อให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนความรู้กันได้

Website Builder – Thinkific มาพร้อมกับเครื่องมือสร้างเว็บไซต์ ซึ่งจะช่วยให้คุณสร้างเว็บไซต์สำหรับใช้ในการหานักเรียนใหม่และให้ข้อมูลต่างๆ ได้อย่างง่าย โดยไม่ต้องอาศัยทักษะในการเขียนโปรแกรม แต่ถ้าคุณมีเว็บไซต์อยู่แล้ว คุณก็สามารถเชื่อมเข้ากับ Thinkific ได้เช่นกัน

Marketing – เครื่องมือของ Thinkific จะช่วยให้คุณทำการตลาดเพื่อหานักเรียนใหม่ ตั้งแต่การแจกคูปองไปจนถึง Affiliate Network เพื่อสร้างทีมที่ช่วยโปรโมตคอร์สของคุณ

ถ้าเทียบกันแล้ว Thinkific จะมีฟีเจอร์น้อยกว่า LearnWorlds แต่การใช้งานจะง่ายกว่า ถ้าสนใจก็ลองสร้าง account ฟรีเพื่อทดลองสร้างคอร์สได้ครับ

ราคา

ค่าบริการของ Thinkific (นอกเหนือจากใช้ฟรี) มี 3 ราคาได้แก่

  • Basic – เริ่มต้นที่ $39 หรือประมาณ 1,170 บาทต่อเดือน
  • Pro – เริ่มต้นที่ $79 หรือประมาณ 2,370 บาทต่อเดือน
  • Premier – เริ่มต้นที่ $399 หรือประมาณ 11,970 บาทต่อเดือน

สำหรับทุกแพลนของ Thinkific นั้นจะไม่คิดค่าบริการนอกเหนือจากค่าสมาชิกครับ อย่างไรก็ดีแพลนที่คุณควรใช้ก็คือแพลน Pro เหมือนเดิม เพราะว่าแพลน Basic จะไม่สามารถสร้างแบบฝึกหัดให้นักเรียนได้ รวมไปถึงบทเรียนแบบ Live เช่นกัน ผมจึงมองว่าไม่ค่อยคุ้มค่าเท่าไร

ส่วนแพลน Premier นั้นฟีเจอร์ไม่ต่างกับแพลน Pro เท่าไร แต่คุณจะใส่ Group Analyst และเข้าถึง API ได้ โดยส่วนตัวผมมองว่าถ้าจะจ่ายราคานี้ LearnWorlds เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าครับ

3. Teachable

Teachable เป็นอีกโปรแกรมสร้างคอร์สออนไลน์ที่ควรค่าต่อการพิจารณา ถ้าคุณอยากได้คอร์สออนไลน์ศักยภาพสูง การใช้งาน Teachable นั้นไม่มีอะไรซับซ้อน ทำให้ไม่ว่าใครก็ใช้งานได้ไม่ยากครับ

จุดแข็งของ Teachable คือตัวโปรแกรมเอื้อต่อการสร้าง Coaching Session ในรูปแบบตัวต่อตัว ทำให้คุณสามารถรังสรรค์ประสบการณ์แบบพรีเมียมให้กับนักเรียนครับ

Teachable อีกหนึ่งโปรแกรมสร้างคอร์สออนไลน์ชั้นยอด

ฟีเจอร์หลัก

Online Course Builder – เช่นเดียวกับโปรแกรมสร้างคอร์สออนไลน์อื่นๆ คุณแค่อัพโหลด, ลาก, วางเนื้อหาที่คุณได้จัดเตรียมไว้ลงในตัวโครงสร้างคอร์ส เพียงเท่านั้นคอร์สของคุณก็เริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างแล้วครับ

การสร้างคอร์สออนไลน์บน Teachable

สิ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษคือ Teachable นั้นมี interactive code example editor ด้วย ทำให้ Teachable เหมาะต่อการใช้สอนเขียนโปรแกรมภาษาต่างๆ มากเลยทีเดียว เพราะคุณสามารถแสดงตัวอย่าง code เหมือนกับการใช้ IDE ทั่วไป

One-on-one Sessions – บนแพลตฟอร์มของ Teachable จัด session แบบตัวต่อตัวเพื่อพูดคุยกับนักเรียนแบบสดๆ คุณจะได้ตอบคำถามที่นักเรียนสงสัย และให้คำแนะนำต่างๆ ที่ช่วยให้นักเรียนได้รับประสบการณ์การเรียนที่ดี

Drip Content – คุณสามารถดูแล progress ของนักเรียนแต่ละคนได้ด้วยการเรียงลำดับการเข้าถึงแต่ละบทเรียนในคอร์ส ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะในความเร็วที่เหมาะสม

Website Builder – ภายในโปรแกรมเดียวกัน คุณสามารถสร้างเว็บไซต์สำหรับคอร์สของคุณด้วยการใช้ระบบ Drag & Drop ซึ่งตัดปัญหาการเขียนโค้ดไม่เป็นไปอย่างถาวร และถ้าคุณมีเว็บอยู่แล้ว คุณก็เชื่อมตัวเว็บเข้ากับ Teachable ได้อย่างง่ายดาย

Marketing – Teachable มอบเครื่องมือการตลาดออนไลน์มากมายที่ช่วยคุณขายคอร์สได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นการสร้างโค้ดส่วนลด ไปจนถึงการสร้าง affiliate program เพื่อให้คุณสร้างทีมของ influencer มาโปรโมตคอร์สของคุณ

โดยรวมแล้วฟีเจอร์ของ Teachable จะสูสีกับ Thinkific แต่ไม่เท่า LearnWorlds แต่เรื่องความเป็นมิตรกับผู้ใช้งานนั้นสูสีกันครับ ถ้าสนใจก็ลองไปใช้ฟรีก่อนเลยดีกว่าครับ

ราคา

นอกเหนือจากแพลนใช้ฟรี แพลนของ Teachable มีทั้งหมด 3 แพลนด้วยกันประกอบด้วย

  • Basic – เริ่มต้นที่ $29 หรือประมาณ 870 บาทต่อเดือน
  • Pro – เริ่มต้นที่ $99 หรือประมาณ 2,970 บาทต่อเดือน
  • Premier – เริ่มต้นที่ $249 หรือประมาณ 7,470 บาทต่อเดือน

แพลน Basic นั้นเก็บค่าบริการต่อคอร์สสูงถึง 5% ดังนั้นในระยะยาว ผมมองว่าไม่ค่อยคุ้มค่าเท่าไร ดังนั้นการเลือกใช้แพลน Pro เลยจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าอย่างชัดเจนครับ

สำหรับแพลน Pro นั้นให้ฟีเจอร์หลักทุกอย่าง และไม่เก็บค่าบริการ ดังนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่คุณจะเลือกใช้ ส่วนแพลน Premier นั้นจะเพิ่มการ customize ระดับสูง และฟีเจอร์เรื่องการประสานงานระหว่างทีมเข้ามา ซึ่งผมมองว่าไม่จำเป็นครับ

Pun Anansakunwat
Pun Anansakunwathttps://victorytale.com/about-victorytale/
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Victory Tale ผมชื่นชอบในหลากหลายสาขาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว เทคโนโลยี ไปจนถึงการลงทุน หลังจากที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ผมก็ได้เป็นนักลงทุนในหุ้น, ติวเตอร์, นักเขียน (ตีพิมพ์ไปแล้ว 3 เล่ม) และในปัจจุบันก็เป็นเจ้าของเว็บไซต์ครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!