ประวัติศาสตร์รัสเซียครอบครัวซาร์ทำไมถึงไม่มีประเทศใดให้ครอบครัวโรมานอฟลี้ภัย? (2)

ทำไมถึงไม่มีประเทศใดให้ครอบครัวโรมานอฟลี้ภัย? (2)

ทำไมถึงไม่มีประเทศใดให้ครอบครัวโรมานอฟลี้ภัย แม้กระทั่งมหามิตรของรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างอังกฤษและฝรั่งเศส

คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญ และเป็นคำถามที่ทำให้ราชวงศ์อังกฤษถูกโจมตีมาตลอด หลังจากที่ครอบครัวโรมานอฟล่วงลับไปแล้ว

ทำไมราชวงศ์อังกฤษถึงเลือกที่จะอยู่นิ่งเฉย และปฏิเสธที่จะให้นิโคลัสและครอบครัวเดินทางมาที่นั่น ทั้งๆ ที่จอร์จที่ 5 เป็นพระญาติที่สนิทสนมกับนิโคลัส ส่วนอเล็กซานดราก็เป็นหลานสาวที่ควีนวิกตอเรียรักมากที่สุดคนหนึ่ง? อังกฤษก็มีกองเรือที่อยู่ไม่ไกลกับเมืองท่าของรัสเซียด้วย แล้วประเทศอื่นอีกละ??

หาคำตอบได้ในโพสนี้ครับ

นิโคลัส (ซ้าย) และจอร์จ (ขวา)

ท่าทีของอังกฤษ

ก่อนที่จะเดินทางกลับมายังพระราชวังอเล็กซานเดอร์ นิโคลัสได้เสนอข้อตกลงสามข้อให้กับรัฐบาลชั่วคราว และได้รับการตอบรับด้วยดี

แต่อันที่จริงแล้ว รัฐบาลชั่วคราวยังไม่สามารถหาประเทศใดๆ ที่รับครอบครัวโรมานอฟไปได้เลยสักประเทศเดียว

รัฐบาลชั่วคราวของรัสเซียติดต่อไปยังทูตอังกฤษที่อยู่ในกรุงเปโตรกราด เซอร์ จอร์จ บูแคนัน (Sir George Buchanan) ทูตอังกฤษส่งเรื่องดังกล่าวไปยังประเทศของตนทันที หากแต่ว่ากลับไม่มีการตอบกลับใดๆ ในประเด็นดังกล่าวมาเลย หลักฐานที่ปลดระวางแสดงให้เห็นว่าอังกฤษสนใจที่จะทำทุกวิธีทางให้รัสเซียอยู่ในสงครามต่อไปเท่านั้นในช่วงนี้

เซอร์ จอร์จ บูแคนัน เขาทำทุกวิธีทางเพื่อช่วยครอบครัวซาร์แต่ก็ไม่เป็นผล

สำหรับรัฐบาลชั่วคราวของรัสเซียแล้ว พวกเขาต้องการส่งนิโคลัสออกไปต่างประเทศมากที่สุด เพราะว่ากลุ่มหัวรุนแรงในรัสเซียเพิ่มมากขึ้นทุกวัน บางกลุ่มเริ่มมีการแสดงเจตนาว่าให้ประหารชีวิตนิโคลัส รัฐบาลชั่วคราวเริ่มไม่แน่ใจว่าจะปกป้องนิโคลัสได้ถ้าพวกนักปฏฺิวัติติดอาวุธเดินทางมายังซาร์โคเย ซีโล

นอกจากนี้การที่นิโคลัสยังอยู่ในรัสเซียเหมือนว่าจะทำให้พวกกลุ่มเหล่านี้รุนแรงมากขึ้นด้วย พวกเขาอาจจะลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลชั่วคราวเมื่อใดก็ได้

ดังนั้นรัฐบาลชั่วคราวจึงต้องเร่งกระบวนการส่งนิโคลัสไปต่างประเทศ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะรัฐบาลอังกฤษยังไม่ตอบอะไรมาเลย

สาเหตุที่รัฐบาลชั่วคราวฝากความหวังให้กับอังกฤษมากที่สุด เพราะนิโคลัสเองแสดงความปรารถนาว่าอยากไปอังกฤษมากที่สุดในประเทศทั้งหมด และอังกฤษก็เป็นมหาอำนาจและพันธมิตรของรัสเซีย ถ้าอังกฤษยื่นมือเข้ามา การลี้ภัยน่าจะง่ายกว่าประเทศอื่นๆ

แต่แล้วทุกอย่างก็เงียบ เพราะรัฐสภาอังกฤษพยายามยืดเวลาการตอบออกไปให้นานที่สุด เพราะประเด็นต่างๆ เรื่องค่าใช้จ่ายและเรื่องอื่นๆ

จอร์จที่ 5 เองเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและรัฐบาลประชาธิปไตย เขาจึงทำอะไรไม่ได้มากนัก อย่างไรก็ดี จอร์จส่งโทรเลขมาถึงนิโคลัสว่า

เหตุการณ์ในสัปดาห์ก่อนทำให้ฉันทุกข์ใจมาก ใจของฉันอยู่กับคุณตลอดเวลา ฉันจะยังคงเป็นเพื่อนที่รักและอุทิศตนของคุณอย่างที่คุณรู้ว่าฉันเป็นในอดีต

นิโคลัสไม่เคยได้รับโทรเลขฉบับนี้จากจอร์จ เพราะว่ารัฐบาลชั่วคราวปฏิเสธที่จะมอบมันให้กับนิโคลัส

ถึงแม้นิโคลัสจะไม่เคยได้รับมัน แต่โทรเลขฉบับนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากใช้โจมตีอังกฤษและราชวงศ์ว่า จอร์จที่ 5 ได้ส่งจดหมายเชิญนิโคลัสไปลี้ภัยแล้ว แต่ปฏิเสธในภายหลัง ในความเป็นจริงแล้วจอร์จยังไม่ได้ส่งคำเชิญใดๆ ให้นิโคลัสไปลี้ภัยยังอังกฤษเลย

เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น ทูตอังกฤษในรัสเซียเร่งส่งโทรเลขกลับไปยังอังกฤษอีกครั้งว่า ขอให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือนิโคลัสและครอบครัวอย่างเร่งด่วน วันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.1917 ลอยด์ จอร์จ (Lloyd George) นายกรัฐมนตรีอังกฤษจึงถกเรื่องนี้กับลอร์ด สแตนฟอร์ดแฮม เลขานุการของจอร์จที่ 5 และสมาชิกในรัฐบาลคนสำคัญอีกหลายคน ถึงเรื่องการช่วยเหลือครอบครัวโรมานอฟ

ลอยด์ จอร์จ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในเวลานั้น

พวกเขาสรุปว่า รัฐบาลอังกฤษควรจะเชิญนิโคลัสและครอบครัวมาลี้ภัยในอังกฤษ ข้อสรุปนี้ปรากฏในบันทึกการประชุมในวันดังกล่าว

แต่สมควรไม่ได้แปลว่าต้องการ

อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดรัฐบาลอังกฤษตัดสินใจยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลชั่วคราวของรัสเซียว่า รัฐบาลอังกฤษยินยอมให้นิโคลัสและครอบครัวลี้ภัยในอังกฤษได้ตลอดช่วงเวลาสงคราม

แต่ทว่าเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น อังกฤษกลับเปลี่ยนท่าทีและถอนข้อเสนอที่เสนอให้นิโคลัสลี้ภัยไปทั้งหมด

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

การกลับไปกลับมาของอังกฤษ

สิ่งที่การปฏิวัติรัสเซียให้กำเนิดขึ้นมาคือ กระแสฝ่ายซ้ายอันทรงพลังในยุโรป ทำให้ชนชั้นนำในยุโรปเองต่างเกรงว่าการปฏิวัติดังกล่าวจะเป็นแบบโดมิโน

หนึ่งบุคคลที่เกรงกลัวพวกฝ่ายซ้ายคือ จอร์จที่ 5 แห่งอังกฤษ

จอร์จที่ 5

จอร์จที่ 5 เริ่มเกรงกลัวว่า การที่นิโคลัสและครอบครัวเดินทางมายังอังกฤษจะทำให้กระแสฝ่ายซ้ายในอังกฤษลุกโชน ในอังกฤษเองก็มีการประท้วงอยู่บ่อยครั้งอยู่แล้ว พรรคแรงงานเองก็ได้รับความนิยมสูง ถ้านิโคลัสเดินทางมาอีก อาจจะเป็นการราดน้ำมันในกองเพลิง พระองค์อาจจะสิ้นบัลลังก์เหมือนกับนิโคลัสก็ได้

สำหรับจอร์จแล้ว แน่นอนว่าเขาอยากจะรับนิโคลัส แต่มันจะเป็นการหาเรื่องใส่ตัวหรือไม่ ช่วงเวลานั้นลอร์ดสแตนฟอร์ดแฮม เลขานุการของจอร์จจึงนำหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ลงข่าวด่ารัฐบาลอังกฤษจะให้ที่ลี้ภัยแก่นิโคลัสให้จอร์จอ่าน จอร์จจึงยิ่งกังวลมากขึ้นไปใหญ่

เป็นความจริงที่หนังสือพิมพ์ในอังกฤษเองก็เริ่มโจมตีจอร์จและราชวงศ์อังกฤษ ในวันที่ 5 เมษายน ค.ศ.1917 หนังสือพิมพ์ของพรรคแรงงานได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง ความจำเป็นที่จะต้องมีสาธารณรัฐบริติช

ส่วนหนึ่งภายในบทความระบุว่า ถ้ากษัตริย์และราชินีแห่งอังกฤษเชิญนิโคลัสและครอบครัวมาที่นี่ จะเป็นการ “ตีความเจตจำนงของพลเมืองอังกฤษผิดอย่างสิ้นเชิง” ในขณะที่หนังสือพิมพ์บางฉบับก็ว่าจริงๆ ราชวงศ์อังกฤษไม่ใช่คนอังกฤษ แต่เป็นคนเยอรมันโดยแท้ๆ เลยทีเดียว

นอกจากนี้จอร์จยังได้รับการคัดค้านมากมายจากผู้คนรอบตัว ประชาชนอังกฤษบางคนยังส่งข้อความโดยไม่ระบุชื่อมาคัดค้านไม่ให้จอร์จรับนิโคลัสเข้ามาในอังกฤษ

จอร์จเลยตัดสินใจส่งคำร้องขอไปยังรัฐบาลอังกฤษว่า

ช่วยเรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่า หลังจากที่ได้อ่านและได้ยินจากสื่อมากมาย การให้ที่อยู่กับอดีตจักรพรรดิและจักรพรรดินี (แห่งรัสเซีย) จะได้รับความเกลียดชังโดยประชาชนทั่วไป และไม่ต้องสงสัยว่าทำให้สถานะของกษัตริย์และราชินี (อังกฤษ) ผู้ที่อาจจะถูกคาดเดาว่าส่งคำเชิญดังกล่าวย่ำแย่ลง

การคัดค้านของจอร์จถูกส่งไปในรัฐบาลอังกฤษในเวลาต่อมา คณะรัฐมนตรีเองก็มิได้ขัดแย้งกับจอร์จ เพราะว่าพวกเขาก็ไม่ต้องการให้นิโคลัสมายังอังกฤษเท่าใดนักอยู่แล้ว (อย่างที่ผมบอก สมควรไม่เท่ากับต้องการ) ส่วนหนึ่งพวกเขาก็กลัวการลุกโชนของกระแสต่อต้านกษัตริย์ที่มีอยู่จริงๆ ในอังกฤษ

ดังนั้นคณะรัฐมนตรีอังกฤษเลยตัดสินใจถอนข้อเสนอเชิญนิโคลัสมาลี้ภัยยังอังกฤษ

ลอยด์ จอร์จ นายกรัฐมนตรีจึงแจ้งรัฐบาลรัสเซียว่า รัฐบาลอังกฤษจำต้องขอถอนคำเชิญที่ส่งไปแล้วก่อนหน้านี้ เพราะว่ากระแสต่อต้านในอังกฤษมากมายเหลือเกิน อังกฤษได้เสนอให้นิโคลัสและลี้ภัยไปยังฝรั่งเศส หรือ ประเทศที่เป็นกลางอื่นๆ แทน

ด้วยเหตุนี้โอกาสที่นิโคลัสและครอบครัวจะลี้ภัยไปอังกฤษเลยกลายเป็นศูนย์ ภายหลังราชวงศ์อังกฤษจึงโดนค่อนแขะบ่อยครั้งถึงการปฏิเสธครั้งนี้ รวมไปถึงแกรนด์ดยุคดมิทรีที่ด่าว่าจอร์จอย่างรุนแรงด้วย

อย่างไรก็ตาม อังกฤษได้ให้การช่วยเหลือเชื้อพระวงศ์โรมานอฟหลายคนให้รอดชีวิตมาจากรัสเซีย อย่างที่จะปรากฏต่อไป

ฝรั่งเศสและชาติอื่นๆ

สำหรับฝรั่งเศสแล้ว รัสเซียเป็นพันธมิตรที่สำคัญมาโดยตลอด กองทัพรัสเซียเคยช่วยโจมตีกองทัพเยอรมันเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของเยอรมนีจากกรุงปารีสมาแล้ว

แต่ฝรั่งเศสก็ปฏิเสธเช่นเดียวกัน ไม่ต่างอะไรกับอังกฤษ

ในเวลานั้นทูตของรัฐบาลฝรั่งเศสได้ติดต่อกับรัฐบาลอังกฤษว่า ฝรั่งเศสเองก็ไม่อาจจะช่วยเหลือได้ กระแสในฝรั่งเศสเองก็ไม่เป็นมิตรกับครอบครัวโรมานอฟสักเท่าใดนัก โดยเฉพาะต่อซาริซาอเล็กซานดราที่เกิดในเยอรมนีและได้ครอบงำสามีของเธอ

ชาวฝรั่งเศสในเวลานั้นมองเธอไม่ต่างอะไรกับมารี อังตัวเนต และมองการปฏิวัติรัสเซียไม่ต่างอะไรกับการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ดังนั้นการรับครอบครัวโรมานอฟเข้ามาลี้ภัยในฝรั่งเศสจะทำให้เกิดการประท้วงหรือปัญหาอื่นๆ ที่ยาวเป็นหางว่าว กำลังของฝรั่งเศสที่จะสู้รบในสงครามจะลดน้อยลงไปเปล่าๆ

ด้วยเหตุนี้ฝรั่งเศสจึงปฏิเสธอย่างเยื่อใยที่จะให้ที่ลี้ภัยกับครอบครัวโรมานอฟเช่นเดียวกัน (ถึงแม้ในเวลาต่อมาจะรับแกรนด์ดยุครัสเซียหลายคนก็ตาม)

เดนมาร์กเป็นอีกสถานที่ที่น่าสนใจ ราชวงศ์เดนมาร์กเป็นญาติสนิทของครอบครัวซาร์ด้วย (มาเรียแม่ของนิโคลัสเป็นเจ้าหญิงแห่งเดนมาร์ก) แต่กลับเป็นไปไม่ได้เพราะเดนมาร์กอยู่ใกล้เยอรมนีเกินไป ทำให้ฝ่ายเยอรมันอาจจะหาเรื่องโจมตีเดนมาร์กก็เป็นไปได้ การที่นิโคลัสจะลี้ภัยไปเดนมาร์กจึงเป็นไปไม่ได้อีก

อัลฟองโซที่ 13

ส่วนในสเปนนั้น กษัตริย์อัลฟองโซที่ 13 เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่แสดงความห่วงใยมายังครอบครัวโรมานอฟ แต่การจะให้ครอบครัวซาร์ลี้ภัยมายังสเปนก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สถานการณ์ในสเปนไม่ต่างอะไรกับอังกฤษที่พวกฝ่ายซ้ายกำลังทวีอำนาจขึ้นทุกวัน เยอรมนีเองก็กำลังจับตาดูสถานการณ์ในสเปนอยู่ด้วย เพื่อหวังจะให้เข้าร่วมฝ่ายตน เพราะสถานการณ์เช่นนี้ การให้ที่ลี้ภัยครอบครัวซาร์จึงไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลสเปนจะทำได้เลย

ถ้าจะสรุปแล้ว สาเหตุที่ชาติต่างๆ ปฏิเสธที่จะให้การลี้ภัยในครอบครัวซาร์ คือ รัฐบาลของประเทศทั้งหลายกลัวกระแสฝ่ายซ้ายในประเทศของตนเองที่ลุกโชนขึ้นมาจากการปฏิวัติรัสเซียจะลุกโชนขึ้นไปอีกจากการให้ที่ลี้ภัยแก่ครอบครัวซาร์ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้

ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกวิธีทางที่รอบคอบและปลอดภัยเสียก่อน นั่นก็คือ

ทิ้งให้ครอบครัวซาร์อยู่ในรัสเซีย และรับชะตากรรมของพวกเขาไป

อ่านตั้งแต่ตอนแรกและติดตามตอนต่อไป ได้ที่ วันสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ หรือติดตามตอนที่ 3 ได้ที่นี่

หนังสืออ้างอิงอยู่ ที่นี่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!