ประวัติศาสตร์รัสเซียครอบครัวซาร์การเดินทางสุดลึกลับ: เขาจะพาอดีตซาร์นิโคลัสไปที่ใดกันแน่? (15)

การเดินทางสุดลึกลับ: เขาจะพาอดีตซาร์นิโคลัสไปที่ใดกันแน่? (15)

ในเหตุการณ์ช่วงปี ค.ศ.1917-1918 ของครอบครัวโรมานอฟ หรือแม้กระทั่งการสังหารที่บ้านอิปาติเยฟในบั้นปลายก็ตาม ไม่มีเหตุการณ์ใดที่ลึกลับมากไปกว่าเหตุการณ์ที่ผมจะเล่าต่อไปนี้

เหตุการณ์ที่ว่าคือ การนำตัวนิโคลัสออกจากทาบอสค์ของยาคอฟเลฟ

ปัจจุบันยังมีการถกเถียงเรื่องนี้อยู่มากในหมู่นักวิชาการที่สนใจเรื่องประเด็นนี้ ยาคอฟเลฟมีจุดประสงค์อะไรกันแน่? เขาตั้งใจจะพานิโคลัสไปที่ใด?

รูปที่เชื่อกันว่าเป็นรูปสุดท้ายของแกรนด์ดัชเชสมาเรีย

ใครที่จะเดินทางไปกับนิโคลัส?

ยาคอฟเลฟได้แจ้งให้นิโคลัสทราบว่า ขอให้เขาเตรียมพร้อมสำหรับออกเดินทางในเช้าวันรุ่งขึ้น สำหรับสมาชิกครอบครัวคนอื่นให้อยู่ที่ทาบอสค์ต่อไปก่อน

นิโคลัสปฏิเสธในบัดดล เขาบอกยาคอฟเลฟว่าเขาไม่ต้องการไปไหน โดยเฉพาะเมื่อไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางคือที่ใดด้วย

ยาคอฟเลฟจึงกล่าวกับนิโคลัสว่า

ฉันขอร้องให้คุณอย่าได้ปฏิเสธ ฉันถูกสั่งให้ปฏิบัติเช่นนี้ ในกรณีที่คุณปฏิเสธ ฉันจะต้องใช้กำลังนำตัวคุณไป หรือฉันอาจจะต้องลาออก ในกรณีหลังคณะกรรมาธิการอาจจะส่งคนที่มารยาทแย่กว่านี้มากเพื่อมาแทนที่ฉัน อย่าได้กังวล ฉันมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของคุณด้วยชีวิตของฉัน ถ้าคุณไม่ต้องการจะไปคนเดียว คุณสามารถนำใครก็ได้ติดตามไปด้วย เตรียมตัวให้พร้อม พวกเราจะออกเดินทางพรุ่งนี้เช้าในเวลา 4 นาฬิกา

หลังจากนั้นยาคอฟเลฟก็โค้งให้นิโคลัสและเดินออกไปทันที

นิโคลัสเรียกโคบีลินสกี้เข้ามาพบ หลังจากที่ยาคอฟเลฟเดินออกไป เขาถามว่าโคบีลินสกี้ว่าโคบีลินสกี้คิดว่ายาคอฟเลฟจะพาตัวเขาไปที่ใด โคบีลินสกี้ตอบว่าเขาไม่ทราบเลย ยาคอฟเลฟบอกแค่ว่าการเดินทางจะใช้เวลา 4-5 วันเท่านั้น

ด้วยความที่นิโคลัสมีความรู้ภูมิศาสตร์ดีในระดับหนึ่ง เขาคิดคำนวณดูจากระยะการเดินทาง เขาคิดว่ายาคอฟเลฟน่าจะพาตนเองไปยังมอสโก เขาหันไปหาอเล็กซานดรา และพูดขึ้นว่า

พวกเขาคงต้องการให้ฉันลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟ แต่ฉันยอมตัดมือขวาของฉันทิ้งดีกว่าที่จะลงนามในสนธิสัญญาฉบับนั้น

อเล็กซานดราเองก็คิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น เธอเริ่มกังวลว่าถ้าเธอไม่อยู่ข้างกายนิโคลัส นิโคลัสอาจจะตัดสินใจผิดพลาดแบบที่เคยสละราชสมบัติก็เป็นได้ อเล็กซานดราจึงคิดว่าเธอควรจะเดินทางไปพร้อมกับนิโคลัส

หากแต่ว่าสำหรับอเล็กซานดราแล้ว เธอมีปัญหาใหญ่อย่างยิ่งยวด เธอไม่อยากทิ้งอเล็กเซย์ บุตรชายที่กำลังป่วยไปในเวลานี้ อเล็กซานดราจึงตัดสินใจไม่ได้ในเวลานั้น

เมื่อทุกคนในบ้านอิสรภาพทราบข่าวว่านิโคลัสต้องออกเดินทางในวันรุ่งขึ้นก็ตกตะลึง เหล่าสี่สาวต่างร้องไห้ แม้กระทั่งคนที่แข็งแกร่งที่สุดอย่างทาเทียน่าก็ตาม ทั้งครอบครัวไม่สามารถตัดสินใจได้ว่า ใครจะตามนิโคลัสไป ส่วนใครจะอยู่ดูแลอเล็กเซย์ที่บ้านอิสรภาพ

ทาเทียน่าจึงไปเคาะห้องของกิลเลียต และเชิญให้ติวเตอร์ชาวสวิสผู้นี้มาช่วยตัดสินใจ อเล็กซานดราเอ่ยขึ้นอย่างน่าสงสารว่า

คอมมิสซาร์บอกพวกเขาว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับซาร์ และใครจะตามเขาไปก็ได้ แต่ฉันไม่อาจปล่อยให้ซาร์เดินทางไปคนเดียวได้ พวกเขาคงต้องการจะแยกพวกเราอย่างที่เคยทำก่อนหน้านี้ พวกเขาคงต้องการบังคับเขาให้ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง โดยทำให้เขากังวลเกี่ยวกับครอบครัวของเขา ซาร์จำเป็นสำหรับพวกเขา ซาร์เป็นตัวแทนของรัสเซีย ถ้าพวกเราอยู่รวมกัน พวกเราจะอยู่ในสถานะที่สามารถต่อต้านพวกเขาได้ดีขึ้น และฉันควรอยู่เคียงข้างเขาในเวลาที่มีการไต่สวน แต่เด็กชาย (อเล็กเซย์) ยังป่วยหนัก ถ้ามีอาการแทรกซ้อนขึ้นมาล่ะ พระเจ้า มันเป็นความทรมานอะไรเช่นนี้

กิลเลียตจึงเสนอว่าขอให้อเล็กซานดราติดตามนิโคลัสไป ตัวเขาและคนที่เหลือจะช่วยกันดูแลอเล็กเซย์ที่นี่ อีกอย่างหนึ่งอเล็กเซย์ก็อาการดีขึ้นมากแล้ว เขาไม่น่าจะมีอันตรายอีก

กิลเลียต สอนภาษาฝรั่งเศสให้กับโอลกา ที่พระราชวังอเล็กซานเดอร์

อเล็กซานดราได้ฟังกิลเลียตแล้ว เธอก็เดินไปเดินมาอยู่อีกเป็นเวลานาน จนสุดท้ายเธอก็ตัดสินใจได้ว่าทำตามที่กิลเลียตว่า นั่นก็คือเธอจะไปกับนิโคลัส ส่วนอเล็กเซย์ เธอจะฝากให้คนที่เหลือช่วยกันดูแลไปก่อน อเล็กซานดราได้บอกนางกำนัลคนหนึ่งว่า เธอพร้อมแล้วที่จะตายกับนิโคลัสสามีของเธอ

หากแต่ว่าสี่สาวกลับคิดว่าน่าจะมีใครสักคนหนึ่งที่ติดตามบิดามารดาของเธอไปด้วย ทั้งสี่คนจึงประชุมกันอย่างเงียบๆ และได้ผลสรุปว่า มาเรียควรจะตามนิโคลัสและอเล็กซานดราไป เพราะว่าโอลกาป่วยอยู่ทั้งกายและใจ และต้องทำหน้าที่เป็นพยาบาลให้อเล็กเซย์ด้วย ส่วนทาเทียน่าต้องคอยดูแลทุกอย่างที่ทาบอสค์ อนาสตาเซียเด็กเกินไปที่จะทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นมาเรียจึงถูกเลือกให้เดินทางไปกับทริปที่ยังไม่มีใครรู้จุดหมาย

สำหรับพวกข้าราชบริพารที่ติดตามไปด้วยคือ โดลโกรูคอฟ ทาทิชเชฟ นายแพทย์บอทกิน คนขับรถ นางกำนัล และคนรับใช้อีกอย่างละคน

เมื่อตกลงกันได้แล้ว ความโศกเศร้าที่ต้องพรากจากกันก็เข้ามาแทนที่ นิโคลัสและอเล็กซานดราใช้เวลาที่เหลือของวันนั้นอำลาทุกคนที่ทาบอสค์ และฝากฝังลูกๆ ทั้งสี่ไว้กับพวกเขา นิโคลัสสวมกอดข้าราชบริพารชายทุกคน เช่นเดียวกับอเล็กซานดราที่สวมกอดข้าราชบริพารหญิงทุกคน สำหรับข้าราชบริพารเหล่านี้แล้ว ในวันนั้นคือวันสุดท้ายที่พวกเขาจะได้เห็นนิโคลัสและอเล็กซานดรา

ออกเดินทาง

ไม่ใช่เพียงครอบครัวโรมานอฟเท่านั้นที่วิตกกังวล ยาคอฟเลฟเองก็ไม่ต่างกัน เขารู้ว่าพวกบอลเชวิคที่มาจากเยกาเตรินเบิร์กออกจากทาบอสค์ไปอย่างเร่งด่วนในวันนั้น ยาคอฟเลฟรู้ทันทีว่าการเดินทางในวันพรุ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว

ยาคอฟเลฟสั่งให้เตรียมรถม้าไว้คนหนึ่งสำหรับนำนิโคลัส อเล็กซานดรา และมาเรียออกไปจากทาบอสค์ แต่เอาเข้าจริงแล้ว รถที่ยาคอฟเลฟเตรียมนั้นอย่าเรียกว่ารถม้าเลย เรียกว่าเกวียนคงจะเหมาะสมกว่า เพราะว่ามันไม่มีที่นั่ง และมีรถคันเดียวเท่านั้นที่มีหลังคา ส่วนที่เหลือเปิดประทุนไปตลอดทาง

รถม้าที่นำอเล็กซานดราไปจากทาบอสค์

พวกข้าราชบริพารเห็นสภาพแล้วจึงรีบนำฟางจากโรงเลี้ยงหมูและผ้ามาปูเพื่อให้ผู้โดยสารสบายขึ้นบ้าง

เช้าวันนั้นเป็นเช้าที่โศกเศร้าสำหรับครอบครัวโรมานอฟและข้าราชบริพาร ทุกคนอำลากันอย่างเศร้าใจ ยาคอฟเลฟได้ขอให้อเล็กซานดราสวมใส่เสื้อผ้าที่หนากว่านั้น ยาคอฟเลฟจึงขอเสื้อโค้ทจากนายแพทย์บอทกิน เพื่อมอบให้กับเธอ และมอบเสื้อตัวใหม่ให้กับบอทกินแทน

หลังจากที่อเล็กซานดราขึ้นไปบนรถม้าแล้ว นิโคลัสเตรียมที่จะขึ้นไปนั่งกับเธอ แต่ยาคอฟเลฟห้ามไว้ เขาขอให้นิโคลัสไปนั่งกับเขา และให้มาเรียมานั่งกับอเล็กซานดราแทน

เมื่อทุกคนพร้อมแล้ว ยาคอฟเลฟสั่งให้ออกเดินทางได้ รถม้าทุกคันจึงออกจากทาบอสค์อย่างไม่มีวันหวนกลับ เหล่าทหารม้าที่ทำหน้าที่อารักขาก็ติดตามไปอย่างใกล้ชิด สามสาวที่ยังอยู่ที่ทาบอสค์ต่างเข้าไปในห้องของตนและร้องไห้อย่างมากมาย

เส้นทางสุดหฤโหด

ยาคอฟเลฟได้สั่งให้ทหารทุกนายเตรียมพร้อมสำหรับ “ความรุนแรง” ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะตัวเขาไม่รู้ว่าพวกบอลเชวิคที่เยกาเตรินเบิร์กมีแผนการอะไรอยู่ ถึงกระนั้นยาคอฟเลฟเองก็ไม่ธรรมดา เขาเคยเป็นโจรปล้นธนาคาร และเป็นนักปฏิวัติระดับตัวเบ้งๆ มาแล้ว เขารู้ดีว่าถ้ามีการชิงตัวนิโคลัส กลุ่มดังกล่าวจะลงมืออย่างไร

ขบวนของนิโคลัสนำหน้าโดยทหารไรเฟิลสองนายที่นั่งอยู่บนรถม้าคันแรก ทหารปืนกลอีกนายอยู่บนรถม้าคันที่สอง ทั้งสามนายได้รับคำสั่งให้ยิงทันทีใส่สิ่งที่คิดว่าเป็นศัตรู

นิโคลัสและยาคอฟเลฟนั่งอยู่บนรถม้าคันที่สี่ อเล็กซานดราและมาเรียนั่งอยู่บนรถม้าคันที่หก ส่วนที่เหลือก็แบ่งๆกันในรถม้าคันอื่นๆที่ตามหลังมา

ระหว่างที่ออกเดินทาง นิโคลัสพยายามถามยาคอฟเลฟว่าพวกเขากำลังเดินทางไปที่ไหน ยาคอฟเลฟปฏิเสธที่จะบอก เขาสั่งให้ทุกคนเคลื่อนขบวนโดยเร็วขึ้นอีก และไม่ให้มีการหยุดแวะพัก รวมไปถึงให้ทหารออกไปสำรวจเส้นทางล่วงหน้าด้วยว่ามีใครดักรอหรือไม่

ถึงแม้ยาคอฟเลฟจะไม่บอก เส้นทางเริ่มปรากฏชัดว่ามุ่งหน้าไปยังเมือง Tyumen เมืองเอกแห่งหนึ่งในเขตไซบีเรีย การเดินทางยากลำบากมากเพราะในปลายเดือนเมษายน น้ำแข็งเริ่มจะละลาย ทำให้เส้นทางกลายเป็นโคลน ล้อของรถม้าที่วิ่งไปนานๆ ก็เริ่มที่จะเสียหาย ต้องหยุดแก้ไขเป็นพักๆ

ตลอดเส้นทางอากาศก็ยังหนาวเย็น และมีลมแรง ทุกคนจึงรู้สึกสั่นเทิ้มไม่น้อยเมื่อลมพัดมา

สิ่งหนึ่งที่ครอบครัวโรมานอฟเสมอต้นเสมอปลายนั่นก็คือ พวกเขาไม่บ่นเลยสักคำเดียวกับความยากลำบากที่เข้ามา

ในวันแรก หนึ่งในเส้นทางที่หฤโหดที่สุดคือ พวกเขาต้องข้ามแม่น้ำ Irtysh

แม่น่้ำ Irtysh By kikiwis, CC BY 3.0,

แม่น้ำนี้ข้ามง่ายในฤดูหนาว เพราะมันเป็นน้ำแข็ง แต่ในช่วงนั้น บางส่วนของแม่น้ำละลายแล้ว ทำให้การข้ามด้วยรถม้าเสี่ยงมาก ดังนั้นทุกคนในคณะจึงต้องเดินด้วยสองเท้าไปอย่างระมัดระวัง

หลังจากข้ามแม่น้ำ Irtysh มาได้แล้ว ทุกคนก็กลับขึ้นรถม้า ตลอดเส้นทางมีการเปลี่ยนม้าอยู่อีกหลายครั้ง ราวกับว่ายาคอฟเลฟต้องการเดินทางให้เร็วที่สุดเท่าที่จะไปได้

เรื่องน่าตลกอยู่อย่างหนึ่งคือ ตลอดเส้นทาง นิโคลัสและยาคอฟเลฟได้พูดคุยกันหลายเรื่อง เช่นเรื่องการเมืองและศาสนา สถานะในอดีตของทั้งสองช่างแตกต่างโดยสิ้นเชิง นิโคลัสเป็นซาร์และจักรพรรดิ ส่วนยาคอฟเลฟเป็นนักปฏิวัติ โจร และผู้ก่อการร้าย บัดนี้ทั้งสองต้องนั่งข้างกัน และถกเถียงกันในประเด็นต่างๆ แถมยังเถียงกันอย่างไม่ยอมกันเสียด้วย

ในเย็นของวันแรก ยาคอฟเลฟพานิโคลัส อเล็กซานดรา และมาเรีย มาถึงบ้านหลังหนึ่งริมทางที่มีขนาดใหญ่ ทั้งสามจึงได้เข้าพัก ด้วยความเหนื่อยอ่อนทำให้ทุกคนหลับไปในทันที รวมทั้งหมดแล้วทุกคนเดินทางไปเกือบ 160 กิโลเมตรในวันนั้น

แต่สำหรับยาคอฟเลฟแล้ว เขาไม่สามารถพักได้ เพราะเขามีหน้าที่อย่างหนึ่งที่ต้องไปสะสาง

ระหว่างที่เดินทางมา ยาคอฟเลฟได้ทราบว่าพวกบอลเชวิคแห่งเยกาเตรินเบิร์ก (หลังจากนี้ผมขอเรียกสั้นๆ ว่าพวกเยกาเตรินเบิร์ก) พยายามจะก่อเหตุชิงตัวนิโคลัส ยาคอฟเลฟจึงแจ้งไปให้พวกบอลเชวิคที่ Tyumen ทราบ และส่งโทรเลขไปขู่พวกเยกาเตรินเบิร์กด้วยว่าอย่าทำเรื่องโง่ๆ ถ้าไม่อยากให้มีการหลั่งเลือดเกิดขึ้น

ถึงแม้ยาคอฟเลฟจะรู้อยู่เต็มอกว่าการเดินทางครั้งนี้มีอันตราย เขาก็ไม่ให้บอกนิโคลัสที่นั่งอยู่ข้างเขาตลอดเส้นทาง เพราะเขาไม่ต้องการให้พวกโรมานอฟตื่นตระหนก

วันที่สองมาถึง

วันที่สองเริ่มต้นด้วยการออกเดินทางที่ล่าช้า เพราะว่ายาคอฟเลฟที่เหนื่อยมาทั้งคืนตื่นสาย ทั้งหมดออกจากบ้านหลังนั้นในเวลาตีห้า

สำหรับนิโคลัสแล้ว เขายังสงสัยอยู่ดีว่าเขากำลังจะไปที่ไหน นิโคลัสจึงพยายามพูดคุยกับพวกทหารม้าที่อยู่รายรอบบ้าง กับยาคอฟเลฟบ้าง แต่ก็ไม่ได้ความอยู่ดี

วันที่สองนี้อากาศดีขึ้นมาก แต่เส้นทางก็ยังย่ำแย่เหมือนเดิม ทุกคนต้องข้ามแม่น้ำ Tobol ด้วยการลงเดินเช่นเดิม

หนึ่งในสถานีเปลี่ยนม้าคือ ที่บ้านของรัสปูติน!

ครอบครัวของรัสปูตินยังอยู่ที่นั่น เพรสโคเวีย ภรรยาม่ายของรัสปูตินมองลงมาที่อเล็กซานดรา และทำสัญลักษณ์ไม้กางเขนให้กับเธอ ส่วนสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ก็โบกผ้าเช็ดหน้าสีขาวเพื่อเรียกเธอ นิโคลัสและอเล็กซานดราต่างเห็นว่าครอบครัวของรัสปูตินมองลงมา แต่ทั้งสองไม่ได้ตอบสนอง เพราะว่าถูกจับตามองอยู่โดยคนของยาคอฟเลฟ

คืนวันนั้นยาคอฟเลฟได้ทราบว่า พวกเยกาเตรินเบิร์กยังไม่ละทิ้งความตั้งใจที่จะชิงตัวหรือสังหารนิโคลัส โดยอ้างว่ายาคอฟเลฟกำลังพานิโคลัสหนีออกไปจากประเทศ ยาคอฟเลฟรู้ดีว่าวันรุ่งขึ้นไม่ใช่เรื่องง่าย เขาจึงให้ครอบครัวโรมานอฟหยุดพักผ่อน ส่วนตัวเขาเองก็เตรียมการเรียกกำลังทหารจาก Tyumen เข้ามาสมทบในวันรุ่งขึ้น

ขึ้นรถไฟ

เช้าวันที่สาม ยาคอฟเลฟสั่งให้ออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ แต่สำหรับอเล็กซานดราแล้ว เธอรู้สึกทรมานมาก เพราะเส้นทางอันยากลำบากทำให้เธอเจ็บไปทั้งตัว แถมในวันนั้นรถม้าที่เธอนั่งกับมาเรียยังเสียหายอีก จนต้องหยุดซ่อมเป็นเวลานาน

ยาคอฟเลฟสั่งให้ขบวนหยุดที่หมู่บ้าน Borki เพื่อเตรียมการสำหรับช่วงสุดท้ายก่อนถึง Tyumen เขาสั่งให้ทหารทุกนายเตรียมพร้อมให้จงดี และขอให้กองทหารจาก Tyumen เข้ามาหนุนด้วย

เมือง Tyumen ในปัจจุบัน By Igor Nikolajeviĉ Pivovarov – http://www.nashgorod.ru/foto/foto98757.html, CC BY-SA 3.0,

ท้ายที่สุดแล้วเส้นทางกลับราบรื่น ยาคอฟเลฟนำครอบครัวโรมานอฟมาถึงเมือง Tyumen ในเวลาสามทุ่มเศษของคืนนั้น ทุกคนมุ่งหน้าไปที่สถานีรถไฟทันที นิโคลัส อเล็กซานดรา และมาเรียจึงได้เห็นว่ามีรถไฟขบวนหนึ่งจอดรออยู่แล้ว ทุกคนรู้สึกโล่งใจที่ได้ลงมาจากรถม้าเสียที หลังจากนั่งขโยกไปมาเป็นเวลาถึงสามวัน

การเดินทางครึ่งแรกจึงจบลง แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่ายาคอฟเลฟจะพานิโคลัสไปที่ไหนกันแน่

อ่านตั้งแต่ตอนแรกและติดตามตอนต่อไป ได้ที่ วันสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ หรือติดตามตอนที่ 16 ได้ที่นี่

หนังสืออ้างอิงอยู่ ที่นี่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!