ประวัติศาสตร์สู้ตายเพื่อแผ่นดิน: การรุกรานเวียดนามของกองทัพมองโกล (1)

สู้ตายเพื่อแผ่นดิน: การรุกรานเวียดนามของกองทัพมองโกล (1)

เจงกิสข่านได้สถาปนาอาณาจักรมองโกลขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 13 หลังจากนั้นพวกมองโกลก็ได้ใช้ศักยภาพทางกองทัพของตนเองชนะศัตรูทุกหนทุกแห่ง หลังจากเจงกิสข่านสวรรคต บุตรหลานของเขาก็ได้สืบทอดเจตนารมณ์ “พิชิตโลก” ต่อมา

ในช่วงปี ค.ศ.1250 บัลลังก์ข่านสูงสุดอยู่ที่เหมิ่งเกอข่าน พระเชษฐาของคูบิไล (กุบไลข่านในเวลาต่อมา) พระองค์ทรงมีความปรารถนาที่จะเข้าทำลายราชวงศ์ซ่งใต้ ราชวงศ์จีนที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี กองทัพมองโกลที่นำโดยคูบิไลได้เข้าทำลายอาณาจักรต้าหลี่ที่ตั้งอยู่ในยูนนานก่อนเพื่อที่จะเข้าโจมตีราชวงศ์ซ่งได้จากสามทาง

กุบโลข่าน

หลังขากพิชิตต้าหลี่ได้แล้ว แม่ทัพมองโกลได้ส่งทูตมายังได่เหวียด (Dai Viet) อาณาจักรของชาวเวียดนามให้ยอมจำนนเสีย

ในเวลานั้นได่เหวียดอยู่ในการปกครองของราชวงศ์จัน (Nhà Trần) ราชสำนักจันเล็งเห็นว่าพวกมองโกลต้องการใช้เวียดนามเป็นแหล่งเสบียงเพื่อเข้าตีราชวงศ์ซ่ง และจะเป็นฐานในการตีอาณาจักรอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไปอีก ถ้ายอมแพ้ต่อพวกมองโกล ราษฎรได่เหวียดก็จะได้รับความยากลำบาก

ด้วยเหตุนี้ราชสำนักจันกลับปฏิเสธที่จะยอมจำนน และยังจับทูตชาวมองโกลไว้อีก ทำให้อูริยังคาได แม่ทัพมองโกลโกรธมาก เขาจึงนำกำลังทหารทั้งหมดห้าหมื่นคนยกมาตีได่เหวียดทันที

สงครามมองโกล-ได่เหวียดครั้งที่หนึ่งจึงเริ่มต้นขึ้นแล้ว

ดินแดนในการครอบครองของราชวงศ์จันแห่งได่เหวียด Cr: TRMC

มองโกลบุก

ราชิด อัลดิน นักประวัติศาสตร์ชาวเปอร์เซียที่รับราชการอยู่ในราชสำนักมองโกลเล่าว่ากองทัพมองโกลที่ยกไปตีได่เหวียดมีจำนวนสี่หมื่นคนประกอบด้วยทหารม้าถึงสามหมื่นคน ส่วนอีกหนึ่งหมื่นคนเป็นทหารเดินเท้าชาวต้าหลี่ที่สวามิภักดิ์หลังจากที่กองทัพมองโกลพิชิตอาณาจักรของพวกตนได้

บางหลักฐานเวียดนามว่ากองทัพมองโกลมีมากถึงสองแสนคน ซึ่งจำนวนนี้น่าจะมากเกินไปมาก เพราะว่ากองทัพมองโกลส่วนใหญ่ยังวุ่นอยู่กับการตีราชวงศ์ซ่งใต้ กองทัพที่ยกมาตีได่เหวียดครั้งนี้จึงน่าเป็นกองทัพย่อยเสียมากกว่า

อูริยังคาได แม่ทัพมองโกลเป็นบุตรชายของแม่ทัพมองโกลชื่อก้องโลกอย่างสุโบไต (Subotai) ถึงแม้จะไม่ได้มีชื่อเสียงเท่าพ่อ แต่ว่าเขาก็เอาชนะกองทัพศัตรูมาแล้วครั้งแล้วครั้งเล่า

กองทัพของราชวงศ์จันมีทหารประจำการประมาณหนึ่งหมื่นคน แต่ทหารจำนวนนี้ต้องรักษาการณ์ชายแดนด้านอื่นด้วย ทำให้ไม่สามารถยกต้านทานกองทัพมองโกลทั้งหมดได้ จำนวนทหารได่เหวียดที่มีพร้อมรับศึกจึงมีประมาณเจ็ดหมื่นคน

ในปี ค.ศ.1257 อูริยังคาไดแบ่งกองทัพของตนออกเป็นสองส่วน แล้วยกเข้าตีได่เหวียดจากสองทาง ในเวลาไม่นานกองทัพมองโกลก็ตีหัวเมืองชายแดนของได่เหวียดได้และยกมาถึงบินห์เล ฝ่ายได่เหวียดเห็นศัตรูยกมาใกล้จึงส่งกองกำลังออกไปรับมือ

กษัตริย์จันถายตองแห่งได่เหวียดทรงนำกองทัพออกมารับศึกด้วยพระองค์เอง กองทัพได่เหวียดใช้ช้างศึกจำนวนมากเข้าโจมตีกองทัพมองโกล ตัวกษัตริย์จันถายตองก็ประทับอยู่บนหลังช้างด้วย

อาจู (Aju) แม่ทัพมองโกลกลับสั่งให้ทหารม้าของเขาระดมยิงธนูเข้าใส่เท้า (บ้างว่าดวงตา) ของช้างศึกได่เหวียด ทำให้พวกมันตื่นตระหนก ช้างศึกของได่เหวียดจึงหันกลับหลังและวิ่งหนีไปอย่างชุลมุน เหยียบทหารได่เหวียดล้มตายลง กองทัพมองโกลจึงฉวยโอกาสเข้าโจมตี ทหารได่เหวียดจึงเริ่มแตกพ่าย ทหารมองโกลเข้าใกล้ตัวกษัตริย์จันถายตองเข้ามาทุกที

ในเวลานั้นมีแม่ทัพคนหนึ่งได้เตือนให้กษัตริย์จันถายตองถอยทัพก่อนที่กองทัพของพระองค์จะพินาศทั้งหมด กษัตริย์จันถายตองจึงสั่งให้กองทัพที่เหลืออยู่ถอยทัพไปขึ้นเรือที่จอดอยู่ริมแม่น้ำแดง กองทัพมองโกลยกไล่ติดตามไปอย่างไม่ลดละ แต่กองเรือของได่เหวียดแข็งแกร่งมาก ทำให้กองทัพม้ามองโกลไม่อาจเอาชัยได้

การถอยทัพของได่เหวียดจึงประสบความสำเร็จ กองกำลังส่วนใหญ่ของได่เหวียดถอยหนีมาได้ทันเวลา กองกำลังที่เสียไปถือว่าไม่มากนัก ถึงแม้การรบครั้งแรก ได่เหวียดจะพ่ายแพ้ แต่ได่เหวียดก็เหลือกำลังทหารที่มีค่าไว้สู้ต่อไป

อูริยังคาไดโกรธมากที่จับกษัตริย์จันถายตองไม่ได้ เขาจึงสั่งให้สังหารเชลยศึกได่เหวียดเสียสิ้นเพื่อระบายอารมณ์

ทิ้งเมืองหลวง

วันต่อมากองทัพมองโกลติดตามกองทัพได่เหวียดมาถึงที่สะพาน Phu Lo ฝ่ายได่เหวียดได้ทำการทำลายสะพานทิ้งไว้ล่วงหน้า แต่กองทัพม้ามองโกลก็ข้ามแม่น้ำได้สำเร็จอยู่ดี และเข้าโจมตีกองทัพได่เหวียดอย่างหนัก ฝ่ายกษัตริย์จันถายตองเห็นว่ากองทัพของพระองค์กำลังจะพ่ายแพ้ พระองค์จึงสั่งให้ถอยทัพอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้ถอยไปไกลถึงทังลอง เมืองหลวงของได่เหวียด (ปัจจุบันคือ ฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม) เลยทีเดียว

ความพ่ายแพ้ติดๆ กันทำให้ราชสำนักได่เหวียดเห็นว่าคงจะรักษาเมืองหลวงไว้ไม่ได้ กษัตริย์จันถายตองและเหล่าขุนนางจึงทิ้งเมืองหลวงและอพยพผู้คนบางส่วนไปอยู่ที่อื่น กองทัพมองโกลจึงเข้าทังลองได้สำเร็จ อูริยังคาไดมีคำสั่งให้ปล้นทังลองเพื่อสรรหาทรัพย์สินของมีค่าอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่ได้อะไรมากนัก เพราะฝ่ายได่เหวียดขนของมีค่าออกไปจากเมืองจนหมดแล้ว

หากแต่ว่าปัญหาก็เริ่มเกิดขึ้นกับกองทัพมองโกล เนื่องด้วยกองทัพมองโกลรุกเร็วเกินไป และไม่ได้ตีเมืองอื่นๆ ของได่เหวียดที่อยู่รายรอบเมืองหลวง ทำให้เสบียงอาหารเริ่มจะขาดแคลน พวกมองโกลพยายามแก้ปัญหาด้วยการปล้นชิงเสบียงจากชาวบ้าน แต่พบว่าเสบียงที่ได้เหลือน้อยเต็มทีเพราะฝ่ายได่เหวียดให้เมืองต่างๆ ช่วยกันทำลายนาข้าวและทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเสบียงแก่พวกมองโกลได้ทั้งหมด ทหารมองโกลจึงขาดแคลนเสบียงอาหารอย่างมาก และบรรดาทหารยังเจ็บป่วยลงจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ได่เหวียดรุกกลับ

กษัตริย์จันถายตองทรงเห็นเช่นนั้น พระองค์จึงโปรดให้กองทัพได่เหวียดล่องเรือตามแม่น้ำยกไปโจมตีกองทัพมองโกลในกลางดึกของวันที่ 28 มกราคม ค.ศ.1258 พวกมองโกลไม่คิดว่ากองทัพได่เหวียดที่พ่ายแพ้ไปสองครั้งจะมาโจมตี ดังนั้นพวกมองโกลจึงไม่ได้เตรียมตัวไว้เลย ทำให้กองทัพมองโกลแตกยับเยิน ทหารมองโกลล้มตายจำนวนมาก

ฝ่ายได่เหวียดไล่ตามทหารม้ามองโกลที่แตกพ่ายไปไม่ทัน แต่กองทัพมองโกลกลับถูกสกัดโดยกองทัพของชาว Tay ชนเผ่าที่เพิ่งจะถูกพวกมองโกลไล่สังหารมา กองทัพนี้จึงเข้าโจมตีพวกมองโกลและสังหารพวกมองโกลไปได้อีกเป็นจำนวนมาก

กองทัพของชาว Tay เข้าซุ่มโจมตีกองทัพมองโกลที่ถอยหนี Cr: Daderot

อูริยังคาไดเห็นว่าไม่สามารถรักษาทังลองต่อไปได้ เขาจึงสั่งให้ทหารทั้งหมดถอยทัพทั้งหมดกลับไปยังดินแดนจีนอย่างรวดเร็ว เพราะว่าเกรงว่ากองทัพราชวงศ์จันจะตามมาโจมตีอีก หลังจากนั้นอูริยังคาไดถูกปลดออกจากตำแหน่งทางทหารจนหมดสิ้น

ด้วยเหตุนี้สงครามครั้งแรกระหว่างมองโกลและได่เหวียดจึงสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของได่เหวียด

ถึงแม้ได่เหวียดจะชนะสงคราม แต่เป็นชัยชนะที่ได้มาด้วยความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ทังลองอันเป็นเมืองหลวงถูกปล้นสะดมและทำลาย และเรือกนาไร่สวนพินาศยับเยินจากไฟสงคราม ได่เหวียดเองก็สูญเสียประชากรไปเป็นจำนวนมาก

ราชสำนักจันจึงเริ่มตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของพวกมองโกล ราชวงศ์ซ่งใต้ที่เคยปกป้องได่เหวียดก็อ่อนแอจวนจะถูกทำลายอยู่แล้ว ถ้ากองทัพมองโกลยกมาอีกครั้ง ได่เหวียดซึ่งเป็นอาณาจักรเล็กจะต้านทานการรุกรานได้อีกหรือไม่ก็ไม่อาจจะรู้ได้ อาณาจักรอื่นๆ อย่างเช่น โกคูรยอก็เป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้วว่าสงครามที่ยืดเยื้อไม่เป็นผลดีต่ออาณาจักรเล็กๆ เลย

ด้วยเหตุนี้ในปี ค.ศ.1260 ราชสำนักจันจึงส่งทูตไปยังเป่ยจิงเพื่อยอมรับในอำนาจของพวกมองโกล และยินยอมเป็นรัฐบริวารของจักรวรรดิมองโกลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การยอมรับของมองโกลซื้อเวลาได้กับได่เหวียดหลายสิบปี แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอนที่กองทัพมองโกลจะมารุกรานได่เหวียด สงครามครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในอีกหลายสิบปีต่อมา

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!