ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 15 พ.ค: เมื่อนายทหารญี่ปุ่นก่อเหตุลอบสังหารนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์ 15 พ.ค: เมื่อนายทหารญี่ปุ่นก่อเหตุลอบสังหารนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์วันที่ 15 พฤษภาคม (May 15 Incident) เป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่น เพราะมันได้เปลี่ยนทิศทางของญี่ปุ่นไปสู่การทำสงคราม และก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในที่สุด

เรื่องเป็นอย่างไร เราไปดูกันเลยดีกว่าครับ

หนังสือพิมพ์โอซาก้าชิมบุนรายงานถึงเหตุการณ์วันที่ 15 พฤษภาคม

นายทหารสายเหยี่ยว

ในปี ค.ศ.1930 ญี่ปุ่นได้ลงนามในสนธิสัญญากำจัดขนาดของกองทัพเรือหรือที่เรียกกันว่า สนธิสัญญานาวีลอนดอน (London Naval Treaty) กับอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และสหรัฐอเมริกา

เจตนารมณ์ของสนธิสัญญาคือให้ทุกประเทศลดขนาดของกองทัพเรือลง เพื่อหยุดการแข่งขันพัฒนากองทัพเรือที่อาจจะนำไปสู่สงครามใหญ่อย่างที่เกิดในสงครามโลกครั้งที่ 1

รัฐบาลสายพิราบ (รักสงบ) ของญี่ปุ่นได้ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ทำให้พวกนายทหารรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดสายเหยี่ยว (สายนิยมสงคราม) ล้วนแต่ไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้พวกนายทหารสายเหยี่ยวในกองทัพต่างต้องการให้จักรพรรดิฮิโรฮิโต หรือ จักรพรรดิโชวะ (พระบิดาของจักรพรรดิอากิฮิโต) ทรงอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นบุกแมนจูเรีย ดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิญี่ปุ่นเหนือดินแดนในเอเชีย

พวกนายทหารสายเหยี่ยวได้รวมกลุ่มกันเป็นสมาคมลับเรียกว่า ซากุระไค (Sakurakai, 桜会)

พันโท ฮาชิโมโต ผู้ก่อตั้งกลุ่มซากุระไค

เจตนารมณ์ของกลุ่มนี้มีอยู่สองอย่าง นั่นก็คือ

  • คืนอำนาจให้กับจักรพรรดิและกำจัดระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในสมัยจักรพรรดิไทโช (Taicho Democracy)
  • หาเหตุขยายอำนาจของญี่ปุ่นในเอเชีย

กลุ่มซากุระไคได้หาเหตุยั่วยุจีนเป็นระยะๆ เพื่อสร้างข้อขัดแย้งที่จะนำไปสู่สงครามระหว่างญี่ปุ่นและจีน เช่นพวกเขาแอบวางระเบิดทางรถไฟของจีน หรือสังหารนายพลจางจั๋วหลิน นายพลจีนที่มีอำนาจในแมนจูเรีย (เสิ่นหยางและฮาร์บินในปัจจุบัน)

การกระทำของพวกนายทหารสายเหยี่ยวเหล่านี้เป็นไปโดยปราศจากคำสั่ง หรือ แม้กระทั่งตรงกันข้ามกับคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พวกเขาลงมือทำด้วยตัวของพวกเขาเอง เพราะทุกคนคิดว่านี่เป็นทางที่ดีที่สุดสำหรับญี่ปุ่น

แนวคิดการละเมิดคำสั่งผู้บังคับบัญชาเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า Gekokujo (下克上)

ในปลายปี ค.ศ.1931 พวกนายทหารเหล่านี้แอบวางระเบิดที่ทางรถไฟของพวกเดียวกันเอง เมื่อเกิดระเบิดทำให้ทางรถไฟเสียหาย พวกเขาจึงรีบใส่ความจีนว่าเป็นผู้ลงมือก่อการ หลังจากนั้นกองทัพญี่ปุ่นฉวยโอกาสเข้ายึดเมืองเสิ่นหยาง (มุกเด็น) ของจีน

ทหารญี่ปุ่นบุกเข้าเสิ่นหยางของจีน

รัฐบาลสายพิราบไม่ได้มีคำสั่งใดๆ ให้บุกเข้ามุกเด็น แต่พวกนายทหารทำกันเอง และเมื่อรัฐบาลสั่งให้หยุดข้อขัดแย้งกับจีน แต่พวกเขาก็ไม่ฟัง พวกเขากลับเดินหน้าต่อไปโดยละเลยคำสั่งที่ได้รับมาทั้งหมด แต่สุดท้ายแล้วรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้ประกาศสงครามกับจีนอย่างที่พวกนายทหารหวังไว้

พวกนายทหารตระหนักว่าที่พระจักรพรรดิไม่ประกาศสงครามก็เพราะพวกรัฐบาลพิราบยังอยู่ พวกเขาต้องการที่จะสื่อสารกับพระจักรพรรดิโดยตรง โดยไม่ต้องมีพวกสายพิราบมาขัดขวางอีก

ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการกำจัดรัฐบาลสายพิราบไปให้ได้เร็วที่สุด

แผนการล้มเหลว

พวกกลุ่มซากุระไคคิดว่าการจะกำจัดรัฐบาลสายพิราบ พวกเขาต้องสังหารสมาชิกคนสำคัญๆ ของรัฐบาลให้จงได้

แผนการที่พวกนายทหารคิดจะลงมือคือ พวกนายทหารประมาณ 120 คน จะบุกเข้าไปสังหารนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสายพิราบทั้งหมด ต่อมาพวกเขาจะนำความไปกราบทูลพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตที่วัง ตามมาด้วยการทำฮาราคิรีฆ่าตัวตายให้หมดทุกคน

ความลับเกิดรั่วไหล ทำให้ฝ่ายรัฐบาลจับกุมพวกนายทหารที่คิดการดังกล่าวได้เกือบทั้งหมดได้ในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ.1931 แต่เพราะแรงกดดันจากเหล่าประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มขวาจัด พวกนายทหารจึงถูกขังอยู่เพียงไม่กี่วันเท่านั้น

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เรียกว่า Brocade Flag Revolution

เริ่มต้นลงมือครั้งใหม่

ความล้มเหลวในเหตุการณ์ Brocade Flag Revolution ทำให้แนวคิดพวกนายทหารใหม่ที่เป็นสายเหยี่ยวเริ่มสุดโต่งมากขึ้นทุกที พวกเขามองว่านอกจากพวกรัฐบาลพิราบแล้ว พวกนักธุรกิจบางคนต้องถูกกำจัดเช่นเดียวกัน เพราะว่าพวกเขาฉ้อโกง และมักมากในผลประโยชน์ของตัวเอง สงครามจึงยังไม่เกิดขึ้น

ช่วงต้นปี ค.ศ.1932 พวกนายทหารชั้นผู้น้อยสายเหยี่ยว (พวกเขามียศไม่เกินพันตรี) เริ่มต้นลงมือสังหารบุคคลสำคัญในญี่ปุ่น เหยื่อรายแรกคือ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง จุนโนะสุเกะ อิโนอุเอะ บุรุษผู้เที่ยงตรง ผู้พยายามหยุดการขยายกองทัพญี่ปุ่นมาโดยตลอด หลังจากไม่กี่วันพวกนายทหารก็บุกเข้ายิง ทาคุมะ ตัน ประธานบริษัทมิตซุย ด้วยการยิงแบบเผาขน ระหว่างที่เขากำลังจะลงจากรถ

เรื่องที่น่าเศร้าคือ ประชาชนจำนวนมากในเวลานั้นกลับสงสารฆาตกรมากกว่าเหยื่อ ศาลตัดสินให้มือสังหารในทั้งสองกรณีได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ทุกคนก็รู้ว่าอีกไม่นาน ทั้งสองก็ได้ออกมาแล้วเพราะการอภัยโทษ

พวกนายทหารตกลงกันว่า พวกเขาจะลงมือครั้งใหญ่ด้วยการบุกเข้าสังหารสมาชิกระดับสูงของรัฐบาลสายพิราบในวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ.1932 หลังจากนั้นจะยึดอำนาจและตั้งรัฐบาลใหม่ที่นำโดยกองทัพ รัฐบาลใหม่จะมีรูปแบบเป็นเผด็จการทหารขวาจัด สงครามจะได้เกิดขึ้นได้

เหตุการณ์ 15 พฤษภาคม

นายทหารผู้ก่อการสิบคนได้ขึ้นแท็กซี่มาบ้านพักของ สึโยชิ อินุไค นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลสายพิราบ พวกเขาบุกผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความปลอดภัยได้สำเร็จ และเข้าไปถึงห้องของสิโยชิทันที

นายกรัฐมนตรี สิโยชิ อินุไค

สิโยชิเป็นชายร่างเล็ก และมีอายุได้ถึง 75 ปีแล้ว สิโยชิผู้นี้ต่อต้านการรุกรานแมนจูเรียของประเทศตัวเองมาโดยตลอด เพราะเขาเห็นอันตรายของญี่ปุ่นที่จะเกิดจากการทำสงครามเป็นอย่างดี สิ่งเขาเห็นเป็นสิ่งที่พวกนายทหารวัย 20 ปี ที่กำลังเลือดร้อนมองไม่เห็น

เมื่อสิโยชิพบกับพวกนายทหารเหล่านี้ เขากลับเชิญพวกเขาเข้าไปห้องแบบญี่ปุ่น และเชื้อเชิญให้เขานั่งลง

ระหว่างนั้นเอง พวกนายทหารคนหนึ่งกลับพูดขึ้นว่า

ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะคุยกันต่อไป ยิง!

นายทหารสิบคนในห้องนั้นจึงชักปืนยิงเข้าใส่สิโยชิทันที สิโนชิล้มลงจมกองเลือด เขาพูดขึ้นว่า

ถ้าฉันพูดได้ คุณจะเข้าใจ

นายทหารคนหนึ่งกลับตอบไปว่า

การพูดคุยนั้นไร้ประโยชน์

หลังจากนั้นสิโยชิก็เสียชีวิตลง

ตามแผนการของพวกนายทหารนั้น พวกเขาวางแผนจะสังหารชาร์ลี แชปลิน ดาราตลกชื่อดังชาวอเมริกันที่อยู่ในญี่ปุ่นในเวลานั้นด้วย เพื่อที่จะหาเหตุประกาศสงครามกับอเมริกา แต่แชปลินรอดชีวิตไปได้เพราะเขาไปดูการแข่งขันซูโม่พอดี

นอกจากนี้ความพยายามในการสังหารรัฐมนตรีคนอื่นก็จบลงด้วยความล้มเหลว แผนที่จะยึดอำนาจก็ไม่สำเร็จ พวกมือสังหารทุกคนจึงไปมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่โดยดี

ผลที่ตามมา

ประชาชนชาวญี่ปุ่นจำนวน 350,000 คนต่างมาลงนามที่ศาลด้วยเลือดของตนเองเพื่อขอให้ศาลผ่อนปรนการลงโทษให้กับเหล่ามือสังหารเหล่านี้

อนึ่งก็เพราะพวกมือสังหารได้โจมตีว่ารัฐบาลของสิโยชิได้ “คอรัปชั่น” มากมาย พวกเขาอ้างว่าที่พวกเขาทำไปก็เพื่อต้องการเตือนคนญี่ปุ่นทั้งปวง และต้องการให้ประเทศมีการปฏิรูป นั่นก็คือเปลี่ยนเป็นประเทศที่นำโดยทหาร ปวงชนที่สนับสนุนแนวทางเหล่านี้จึงแห่มาลงนามกันอย่างเต็มที่

ผลสุดท้ายเหล่ามือสังหารต่างได้รับโทษน้อยมากตามที่ทุกคนคาดไว้ ทุกคนถูกปล่อยออกจากคุก เพียงสามปีหลังจากสิโยชิเสียชีวิต

หลังจากนี้อำนาจของรัฐบาลประชาธิปไตยของญี่ปุ่นก็น้อยลงทุกที และไม่สามารถหยุดยั้งอำนาจของฝ่ายทหารได้อีกต่อไป เพราะประชาชนจำนวนมากไม่สนับสนุน ญี่ปุ่นถูกครอบงำโดยกองทัพ และได้รับบทเรียนราคาแพงมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!