การศึกษาอ่อนเลข ไม่ชอบเรียนเลข แต่ต้องเรียนเลข เราจะทำอย่างไรดี

อ่อนเลข ไม่ชอบเรียนเลข แต่ต้องเรียนเลข เราจะทำอย่างไรดี

เลข หรือ วิชาคณิตศาสตร์เป็นอีกหนึ่งวิชาที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาของคนหลายคน แต่วิชานี้เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรการศึกษาของไทย ทำให้นักเรียนนักศึกษามากมายที่ไม่ชอบเลขต้องเรียนวิชานี้โดยเลือกไม่ได้

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมเคยเป็นนักเรียนคนหนึ่งที่ไม่ได้เก่งเลขอะไรนัก แต่ไม่ค่อยชอบวิชานี้ด้วย ตอนเรียนอยู่ ม.2 ผมได้เกรด 2 ในวิชานี้ด้วยซ้ำไป แต่ในเวลาต่อมา ผมได้เปลี่ยนแปลงตนเอง และทำให้วิชานี้เป็นหนึ่งในวิชาโปรด ในโพสนี้ผมจึงขอเล่าถึงประสบการณ์ และวิธีการในช่วงนั้นของตัวผมเอง

1. หาครูคนใหม่

จากประสบการณ์ของผม ผมพบว่าหนึ่งในสาเหตุที่เราไม่เก่งและไม่ชอบวิชานี้ เกิดจากการสอนของครูที่ไม่ดีพอ โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่น ป.5-ป.6 ไปสู่ ม.1-ม.2 ที่จะมีการปรับหลักสูตรให้มีความซับซ้อนอย่างมีนัยสำคัญ

กล่าวคือสมการและพีชคณิตจะเริ่มถูกนำมาสอนในช่วงนี้ อย่างเช่นตัวอย่างด้านล่าง

3X+27 = 81 , X=?

แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนระดับชั้นมัธยมต้น และมัธยมปลาย ถ้านักเรียนไม่สามารถแก้สมการเช่นนี้ได้ ก็อยู่ในสถานะ “หลุดยาว” เพราะเนื้อหาต่อไปล้วนแต่ใช้ความรู้ช่วงนี้ทั้งสิ้น นักเรียนจะแก้สมการสองตัวแปร หรือ สมการกำลังสองได้อย่างไร ถ้าแก้สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียวยังไม่มีปัญญา

ดังนั้นการสอนของครูช่วงนี้จึงสำคัญมาก เพื่อให้นักเรียนเข้าใจและต่อยอดได้ แต่สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ (บ่อย) คือ ครูในโรงเรียนอาจจะสอนไม่ดีบ้าง ไม่สอนบ้าง ตัวครูเองยังไม่เข้าใจสิ่งที่สอนบ้าง ทำให้ผลสุดท้ายแล้วเด็กไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ และเมื่อเด็กเรียนสูงขึ้นในระดับต่อไป เด็กย่อมทำไม่ได้ และพาลเกลียดวิชานี้ไปเลย

วิธีการที่เราควรทำคือ หาครูคนใหม่ และเรียนปรับพื้นฐานใหม่หรือพูดง่ายๆ คือ เปิดดูหนังสือเลขที่ผ่านมาแล้วหาว่าเรื่องไหนเราไม่เข้าใจ ทำไม่ได้ แล้วจึงไปลงเรียนเพิ่มกับครูสอนพิเศษหรือครูกวดวิชา หรือแม้กระทั่งเรียนฟรีผ่านออนไลน์ก็มีให้เรียนเช่นกัน

ครูที่ดีจะช่วยให้เราเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับวิชานี้เสียใหม่ และทำให้เราเข้าใจความเป็นมาแต่ละขั้นตอนของวิชาเลขว่าเป็นอย่างไร คณิตศาสตร์หรือเลขเป็นวิชาแห่งการใช้เหตุผลอยู่แล้ว เมื่อเราเข้าใจถึงรากของมันแล้ว เราจะแก้โจทย์แต่ละข้อได้ในที่สุด

จากประสบการณ์ส่วนตัว ในตอน ม.3 ผมไม่เข้าใจเรื่องเลขยกกำลังเลยสักนิดเดียว และเป็นไม้เบื่อไม้เมาเลยก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่มันเป็นเนื้อหาของ ม.1 ผมเลยไปลงเรียนพิเศษกับ ครู Sup’k ซึ่งสอนคณิตศาสตร์ในแบบที่เข้าใจง่าย ทำให้ผมเข้าใจเรื่องดังกล่าวได้ในที่สุด

2. เลือกหนังสือเลขให้ดี

การฝึกทำโจทย์เลขเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเรียนวิชาเลขให้ได้ดี วิชาเลขเป็นวิชาที่อาศัยการฝึกฝนอย่างยวดยิ่ง ถ้าเราทำมากเท่าไร เรายิ่งชำนาญมากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้นหนังสือเลขที่มีโจทย์จำนวนมากจึงเป็นสิ่งที่เราควรจะมีไว้ครอบครอง แต่ในปัจจุบันหนังสือในท้องตลาดมีจำนวนมาก แล้วเราจะเลือกเล่มไหนดี

ผมมีวิธีการเลือกหนังสือเลขง่ายๆ ดังต่อไปนี้

  1. เปิดดูส่วนเนื้อหาว่าผู้เขียนอธิบายเนื้อหาเป็นลำดับขั้นตอน และทำให้เราเข้าใจได้หรือไม่ ถ้าไม่ เลิกดูหนังสือเล่มนั้นทันที
  2. เปิดดูส่วนแบบฝึกหัดว่า มีมากน้อยเพียงใด ถ้ามีหยุมหยิมอย่างบทละ 10 ข้อ เลิกดูหนังสือเล่มนั้นทันที
  3. เปิดดูเฉลยแบบฝึกหัดว่ามีการเฉลยโจทย์ด้วยการแสดงวิธีทำอย่างละเอียดหรือไม่ ถ้าไม่ เลิกดูหนังสือเล่มนั้นทันที

หมายเหตุ: ข้อ 3 สำคัญมาก เพราะหนังสือหลายเล่ม มักจะเฉลยด้วยการให้คำตอบอย่างเดียว เช่น

34. ข

35. ง

ซึ่งการเฉลยแบบนี้ ผมบอกเลยว่าไม่ดี เพราะถ้าเราทำไม่ได้ เราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าข้อนี้มันทำยังไง นอกจากไปคลำทางเอาเอง แถมยังมีโอกาสสูงที่การเฉลยแบบนี้จะเฉลยผิดอีก

นอกเหนือจากการซื้อหนังสือเลขทั่วไปแล้ว สำหรับการสอบแข่งขันเช่น สอบเข้าเตรียมอุดม สอบเข้ามหิดลวิทยานุสรณ์ สอบ GAT-PAT หรือแม้กระทั่งสอบ SAT เราควรจะซื้อหนังสือแบบฝึกหัดที่มีแต่โจทย์อย่างเดียวมาทำด้วย เพื่อที่จะได้ฝึกฝีมือเยอะๆ ครับ

3. อย่าไปกลัวโจทย์เลข

นักเรียนหลายคนพอทำเลขไม่ได้บ่อยๆ เข้าก็จะเกิดความกลัวเมื่อเห็นโจทย์เลข หรือพูดง่ายๆ ยังไม่ทันลองทำดูเลย พอเห็นโจทย์เลขก็ตัดสินไปแล้วว่าทำไม่ได้แน่ๆ ทัศนคติลักษณะนี้มีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถเก่งเลขขึ้นมาได้

เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวมันก่อนที่จะได้ลองทำ เวลาที่เราฝึกทำอยู่ที่บ้าน ขอให้เริ่มต้นจากข้อที่ง่ายๆ ก่อน และเริ่มทำข้อที่ยากขึ้นไปตามลำดับ พอเราทำข้อที่ง่ายแล้วทำได้บ่อยๆ เราจะเริ่มมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สุดท้ายเราไม่กลัวโจทย์วิชาเลขนี้อีกต่อไป

4. ข้อยากคือความท้าทาย

การที่จะเก่งเลขได้ เราจะต้องทำข้อยากให้ได้ด้วย และทำได้ในเวลาที่กำหนดอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นการฝึกฝนการทำข้อยากจึงเป็นสิ่งที่สมควรต้องทำอย่างยิ่ง สำหรับนักเรียนวิชาเลขทุกคน

แน่นอนว่าเราไม่ควรไปกลัวมัน แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมมักจะถือว่าข้อยากเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง โจทย์ยิ่งยากเท่าไรก็ยิ่งสนุก เหมือนเล่นเกมทั่วไป ถ้าเราผ่านพวกลูกสมุนมาได้แล้ว เราก็ต้องมาเจอกับพวกบอส หรือ last boss ถ้าทำไม่ได้เราถึงไปเปิดดูเฉลยครับ แต่ขอให้ลองทำก่อน

การทำข้อยากได้ด้วยตนเองก็เหมือนกับการเอาชนะบอสเหล่านี้ได้ เมื่อเราทำได้แล้ว เราจะรู้สึกภูมิใจอย่างมากเลยทีเดียว ผมยังจำความฟินที่สามารถทำข้อยากในการสอบ summative เลขยากได้อยู่เลย 555

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!