ประวัติศาสตร์กบฏแมนฮัตตัน: กบฏที่เริ่มต้นด้วยการจี้จอมพล ป.พิบูลสงคราม

กบฏแมนฮัตตัน: กบฏที่เริ่มต้นด้วยการจี้จอมพล ป.พิบูลสงคราม

กบฏแมนฮัตตันเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยมากที่สุดครั้งหนึ่ง และเป็นมีส่วนสำคัญยิ่งในการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปตลอดกาล

ปูมหลัง

หลังจากรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 จอมพล ป.พิบูลสงครามหวนกลับคืนสู่อำนาจ ถึงแม้จอมพล ป.พิบูลสงครามจะเคยเป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่ในเวลานั้นเขากลับปกครองประเทศไทยในลักษณะ “อำนาจนิยม” สาเหตุหนึ่งเพราะอำนาจของจอมพล ป. หลังพ.ศ. 2490 ถูกค้ำจุนโดยนายทหารรุ่นน้องที่ได้รับการศึกษาในประเทศ พวกนายทหารเหล่านี้จึงไม่ได้ซึมซับค่านิยมเสรีภาพจากประเทศตะวันตกเหมือนกับนายทหารในคณะราษฎรเดิม การที่อำนาจอยู่ในมือคนกลุ่มนี้ทำให้รัฐบาลมีลักษณะเป็นอำนาจนิยมมากขึ้นตามลำดับ

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

นายปรีดี พนมยงค์และพรรคพวกอย่างเสรีไทยที่ปรารถนาจะสร้างประเทศให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจึงพยายามแย่งชิงอำนาจกลับคืนจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ความพยายามของปรีดีนำไปสู่เหตุการณ์กบฏวังหลวง ผลที่เกิดขึ้นคือ นายปรีดีพ่ายแพ้และต้องหลบหนีออกไปนอกประเทศ หลังจากนั้นรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ทำการกวาดล้างฝ่ายนายปรีดีอย่างรุนแรง เช่น เหตุการณ์ฆ่า 4 รัฐมนตรี เป็นต้น

ถึงกระนั้นกลุ่มที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ยังมีอยู่อีกหนึ่งกลุ่มที่สำคัญ กลุ่มที่ว่าคือกลุ่มทหารเรือ กองทัพเรือนี้เคยให้กำลังนาวิกโยธินสนับสนุนปรีดีในเหตุการณ์กบฏวังหลวงมาแล้ว แต่เมื่อพ่ายแพ้ รัฐบาลจึงตัดการสนับสนุนกองทัพเรือลง และลดจำนวนของนาวิกโยธินในกองทัพเรืออีกด้วย

การกระทำของรัฐบาลยิ่งทำให้เหล่าทหารเรือไม่พอใจมากขึ้น อนึ่งเหล่าทหารเรือไม่พอใจการบริหารของจอมพล ป.มานานแล้ว เพราะเห็นว่ารัฐบาลของจอมพล ป. บริหารเพื่อผลประโยชน์ของพรรคพวกมิใช่ประโยชน์สุขของประชาชน การบริหารประเทศก็มิใช่ประชาธิปไตยอย่างที่อ้างแต่เป็นการใช้อำนาจข่มขี่ผู้เห็นต่าง การคอรัปชั่นยังปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป นาวาตรี มนัส จารุภา หนึ่งในผู้ก่อการได้อธิบายสถานการณ์ช่วงนั้นไว้ว่า

รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม พยายามสร้าง “อำนาจ” ให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นเกราะคุ้มภัย และเป็นหนักค้ำจุนฐานะของรัฐบาล และอำนาจจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องหว่านกันด้วยเงิน ด้วยตำแหน่งการงาน ดังนั้น จึงเกิดระบบอภิสิทธิ์ต่างๆ ขึ้น ตั้งแต่บุคคลในคณะรัฐบาลเอง ตลอดไปจนกระทั่งบุตรภรรยาญาติพี่น้องพวกพ้องและบริวาร การคอรัปชั่นเริ่มแทรกซึมไปในกิจการงานทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดเรื่องใหญ่ๆ เช่น การแลกเงินรูปี การซื้อรถเบรนกันแครี่เออร์ นอกจากนั้นยังหมุนเวียนของประเทศมาใช้ เพื่อพวกพ้องของตนเองหลายต่อหลายราย กิจกรรมใดที่เห็นเป็นประโยชน์ก็กันไว้สำหรับพรรคพวก ฯลฯ รัฐบาลชุดนี้ได้บริหารประเทศชาติโดยใช้อำนาจไม่เป็นธรรมตลอดมา พวกรัฐประหารส่วนมากร่ำรวยขึ้นผิดหูผิดตา แต่ประชาชนยิ่งยากจนลงไปทุกวันๆ การปกครองของประเทศไทยสมัยนั้น เป็นประชาธิปไตยเพียงแต่ชื่อ แท้จริงแล้วเราควรจะเรียกว่า “คณาธิปไตย” จึงจะเหมาะสมกว่า และตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด

มนัส จารุภา “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล ป.”

นอกจากนี้ทหารเรือจำนวนมากก็เป็นผู้สนับสนุนเก่าแก่ของนายปรีดี พนมยงค์ ดังนั้นเหล่าทหารเรือจึงเข้าหน้าไม่ติดกับฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว

การเตรียมการของผู้ก่อการ

ปัจจัยสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตายของปฏิบัติการครั้งนี้คือ ปฏิบัติการครั้งนี้ไม่ได้ทำโดยนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือ พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ ผู้ก่อการมีเพียงนายทหารสัญญาบัตรเพียงไม่กี่คน ส่วนที่เหลือเป็นทหารชั้นผู้น้อยเท่านั้น ดังนั้นในเรื่องการสื่อสารจึงประสบปัญหาตั้งแต่แรกแล้ว ผู้ก่อการนำการนัดแนะกลุ่มต่างๆ ว่าจะร่วมลงมือด้วยอาศัยการพูดคุย ไม่มีการร่วมมือกันเพื่อเตรียมการ ผู้นำสูงสุดของผู้ก่อการทั้งหมดก็ไม่มี การประสานงานที่เลวร้ายเช่นนี้เป็นสาเหตุสำคัญยิ่งที่ทำให้ฝ่ายกบฏพ่ายแพ้ต่อรัฐบาล

พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน

ผู้นำฝ่ายก่อการวางแผนว่าจะเข้าจับกุมตัว จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี แล้วนำไปกักขังในเรือรบของกองทัพเรือ หลังจากนั้นจะเคลื่อนกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ในเมืองหลวงให้ได้ ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือ กลุ่มผู้ก่อการขาดความเด็ดขาดที่จะตัดสินใจลงมือ ทำให้เกิดการเลื่อนหลายต่อหลายครั้ง กลุ่มต่างๆที่เคยให้คำมั่นว่าจะเข้าช่วยเหลือเลยเกิดความสงสัยว่าจะลงมือวันใดกันแน่ ท้ายที่สุดแล้วกลุ่มที่เคยสัญญาว่าจะสนับสนุนจึงไม่ได้ช่วยเหลือในวันที่ลงมือจริงๆ

เริ่มต้นการกบฏ

เวลาสามโมงเย็นของวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 จอมพล ป.พิบูลสงครามเดินทางมารับมอบเรือขุดสันดอนชื่อ แมนฮัตตัน จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาตามหมายกำหนดการ พิธีดังกล่าวเป็นพิธีใหญ่มีทูตต่างประเทศจำนวนมากเข้าร่วม หลังจากประกอบพิธีเสร็จ จอมพล ป.ก็ได้เดินทางไปชมเรือแมนฮัตตันตามคำเชิญ

นาวาตรี มนัส จารุภา วิ่งขึ้นเรือแมนฮัตตัน ก่อนที่จะจี้จอมพล ป.พิบูลสงคราม

การที่ผู้ก่อการลงมือในวันนี้เพราะจอมพล ป.พิบูลสงครามเข้ามาในพื้นที่ทหารเรือ ระหว่างที่จอมพล ป.อยู่ในเรือแมนฮัตตัน นาวาตรี มนัส จารุภา ได้นำกำลังทหารเรือบุกเข้าประชิดตัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม และใช้ปืนกลจี้เพื่อควบคุมตัว จอมพล ป.ถูกเหล่าทหารเรือนำตัวไปที่เรือรบหลวงชื่อศรีอยุธยา แผนการขั้นแรกของฝ่ายผู้ก่อการจึงประสบความสำเร็จแล้ว

ฝ่ายผู้ก่อการเดินหน้าตามแผนต่อไปด้วยการส่งกองทหารเรือบุกยึดพื้นที่สำคัญๆ และให้จอมพล ป.กระจายเสียงจากเรือเพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลยอมแพ้ แต่ผู้นำฝ่ายรัฐบาลอย่าง พลเอก ผิน ชุณหะวัณไม่ยินยอม ฝ่ายรัฐบาลไปตั้งกองบัญชาการที่พระราชวังอนันตสมาคมเพื่อเตรียมการปราบปรามฝ่ายกบฏ การเจรจาดำเนินต่อไปถึงราวตี 4 ของวันรุ่งขึ้น แต่ก็ล้มเหลว ทั้งสองฝ่ายไม่อาจตกลงไม่ได้ การสู้รบจึงเริ่มต้นขึ้น

การที่ฝ่ายผู้ก่อการใช้เวลาจำนวนมากเจรจากับฝ่ายรัฐบาล ทำให้สูญเสียความได้เปรียบที่เกิดขึ้นจากการ Surprise ไปจนหมด ฝ่ายรัฐบาลตั้งตัวติดและส่งกำลังทหารบกเข้ามาสนับสนุนในพระนคร กองกำลังที่เพิ่มขึ้นของฝ่ายรัฐบาลทำให้กองกำลังฝ่ายกบฏไม่อาจยึดโรงไฟฟ้าและสถานีโทรศัพท์ที่หน้าวัดราชบูรณะได้ นอกจากนี้พวกกบฏยังยึดสะพานพุทธไม่ได้อีกด้วย ทำให้เรือรบศรีอยุธยาเคลื่อนที่ไปตามแผนไม่ได้ ยุทธศาสตร์การยึดอำนาจของฝ่ายกบฏจึงปั่นป่วนไปจนหมด

การโจมตีของฝ่ายรัฐบาล

พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น) ได้รับคำสั่งให้นำกองกำลังทหารบกเข้าปราบปรามกบฏ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้สั่งให้กองทัพอากาศนำเครื่องบินเข้าทิ้งระเบิดโจมตีพวกกบฏด้วย การโจมตีด้วยระเบิดทำให้เครื่องยนต์ของเรือหลวงศรีอยุธยาเสียหาย เรือจึงไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ต่อมาเรือก็จมลงเพราะการทิ้งระเบิด จอมพล ป.พิบูลสงครามเอาชีวิตรอดมาได้จากการช่วยเหลือของทหารเรือที่มอบเสื้อชูชีพให้สวมแล้วพาว่ายน้ำออกมา แต่จอมพล ป.ยังคงอยู่ในการควบคุมของคณะผู้ก่อการอยู่

เรือหลวงศรีอยุธยาที่จอมพล ป.ถูกจี้ กำลังโดนทิ้งระเบิดอย่างหนัก

ฝ่ายทหารบกก็ได้เข้าโจมตีที่มั่นของฝ่ายทหารเรืออย่างหนักด้วยการสนับสนุนของกองทัพอากาศ ที่มั่นของฝ่ายกบฏเริ่มถูกยึดกลับคืนไปเรื่อยตามลำดับ ในเวลาห้าโมงเย็นของวันที่ 30 มิถุนายน กองทัพอากาศก็ได้ทำลายเรือหลวงคำรณสินธุ์จนจมไปอีกลำหนึ่ง

ท้ายที่สุดแล้วฝ่ายกบฏเห็นว่าไม่อาจจะต่อสู้ต่อไปได้ ฝ่ายกบฏจึงยินยอมปล่อยตัวจอมพล ป. ผ่านทางพลเรือเอกสินธุ์ ผู้บัญชาการทหารเรือที่มารับตัว จอมพล ป.จึงเดินทางกลับไปยังที่มั่นของฝ่ายรัฐบาลอย่างปลอดภัย การสู้รบจึงยุติลงในที่สุด

ผลที่ตามมา

ความเสียหายที่ปรากฏขึ้นในการกบฏดังกล่าวมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เสียชีวิตมากถึง 118 คน บาดเจ็บอีก 191 คน พิการ 9 คน ฝ่ายทหารเรือเสียชีวิต 43 คน บาดเจ็บ 87 คน ทหารบกเสียชีวิต 17 นาย บาดเจ็บ 115 นาย ส่วนตำรวจเสียชีวิต 9 นาย บาดเจ็บ 38 นาย ทรัพย์สินจำนวนมากของประชาชนและราชการยังถูกทำลายจากการยิงต่อสู้กัน

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ทำการปลดผู้นำระดับสูงของกองทัพเรือทั้งหมด พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน และผู้นำทหารเรืออื่นๆ ถึงกับต้องได้รับโทษจำคุกนานถึง 3 ปี ทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด

สำหรับผู้ก่อการแล้ว หลายคนหนีไปต่างประเทศได้เป็นผลสำเร็จ คนที่หนีไปไม่ได้ก็ถูกคุมขังและจำคุก แต่ก็ได้อภัยโทษจากการนิรโทษกรรมในปี พ.ศ.2500 กันทั้งหมด นาวาตรี มนัส จารุภา ผู้ที่จี้จอมพล ป.พิบูลสงครามก็ได้เขียนหนังสือในเวลาต่อมาชื่อ “เมื่อข้าพเจ้าจี้ จอมพล ป.”

ฝ่ายรัฐบาลได้ทำการปฏิรูปกองทัพเรือไม่ให้เป็นกองทัพที่เข้มแข็งพอที่จะท้าทายอำนาจของรัฐบาลได้อีก กองทหารนาวิกโยธินถูกยกเลิกเพราะเข้มแข็งเกินไป กองบัญชาการกองทัพเรือ และเรือรบทั้งหมดก็ให้ย้ายออกไปอยู่ต่างจังหวัดมิให้อยู่ในกรุงเทพอีก นายทหารเรืออื่นๆ ก็ถูกปลดออกหรือลดความสำคัญ ตั้งแต่บัดนั้นทหารเรือจึงอ่อนแอลงมาก และไม่มีส่วนร่วมในการเมืองไทยอีกเลย

รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามยังคงอยู่มาถึงเหตุการณ์เลือกตั้งสกปรก จนกระทั่งถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 จอมพล ป.พิบูลสงครามต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ญี่ปุ่น และถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.2507 โดยไม่ได้กลับมายังประเทศไทยอีกเลย

Cr: สถาบันพระปกเกล้า

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!