ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1918 หลังจากที่โอลกา ทาเทียน่า อนาสตาเซีย และอเล็กเซย์มาถึงเยกาเตรินเบิร์ก พวกบอลเชวิคได้แบ่งพวกข้าราชบริพารเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ
กลุ่มที่ผมจะกล่าวถึงในโพสนี้ คือ กลุ่มแรก หรือ กลุ่มที่ถูกส่งตัวเข้าคุกไปได้แก่ โดลโกรูคอฟ ทาทิชเชฟ ชไนเดอร์ และเกนดริโควา
ทั้งสี่จะไม่ได้เห็นนิโคลัสและครอบครัวอีกต่อไป
โดลโกรูคอฟ
โดลโกรูคอฟ (หรืออ่านแบบรัสเซียว่า โดลการูคอฟ) มีชื่อเต็มๆ ว่า วาซิลี อเล็กซานดรอวิช โดลการูคอฟ (Васи́лий Алекса́ндрович Долгору́ков) โดลโกรูคอฟเป็นตระกูลชนชั้นสูงระดับสูงสุดในจักรวรรดิรัสเซีย สถานะของเขาจริงๆ แล้วเป็นคเนียส (Князь) หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่าเจ้าชาย
อเล็กซานเดอร์ บิดาของโดลโกรูคอฟเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย เคานท์แบงค์เคนดอร์ หัวหน้าผู้ดูแลรักษาพระองค์จึงรับเข้าเป็นลูกบุญธรรม
โดลโกรูคอฟจบการศึกษาจากโรงเรียน Corps des pages หรือ Пажеский корпус (Pazhesky korpus) โรงเรียนทหารที่ดีที่สุดในจักรวรรดิรัสเซีย โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนที่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถและนายพุ่ม สาคร จบการศึกษาเช่นเดียวกัน
หลังจากจบการศึกษาแล้ว เขาได้ประจำการเป็นนายทหารม้า และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพันเอก โดลโกรูคอฟเป็นทหารม้าอยู่นานถึง 16 ปี
ในปี ค.ศ.1896 โดลโกรูคอฟในวัย 38 ปีได้เข้ารับตำแหน่งเป็นนายทหารรักษาพระองค์ โดลโกรูคอฟรับราชการด้วยความซื่อสัตย์มาตลอด นิโคลัสและอเล็กซานดราใกล้ชิดและสนิทสนมกับเขามาก ทั้งสองมักเรียกเขาว่า วัลยา (Валя)
โดลโกรูคอฟติดตามนิโคลัสไปทุกหนทุกแห่ง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาติดตามนิโคลัสไปยังกองบัญชาการใหญ่ (Stavka) เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจอมพลแห่งราชสำนัก (Marshal of the Court)
หลังการปฏิวัติ โดลโกรูคอฟปฏิเสธที่จะทิ้งครอบครัวโรมานอฟไปเหมือนกับข้าราชบริพารบางคน เขาติดตามนิโคลัสไปยังทาบอสค์ ระหว่างที่อยู่ที่นั่น โดลโกรูคอฟพยายามปกป้องนิโคลัสจากพวกผู้คุม และเป็นเพื่อนให้กับอดีตซาร์ เมื่อเขาตัดไม้ กวาดหิมะ และขุดดิน โดยที่ไม่เคยบ่นสักคำเดียว
เนื่องจากเป็นผู้ที่นิโคลัสไว้ใจมากที่สุด เขาจึงได้รับเลือกให้เดินทางไปเยกาเตรินเบิร์กกับนิโคลัส หากแต่ว่าเมื่อมาถึงเยกาเตรินเบิร์ก พวกบอลเชวิคกลับพบสิ่งของหลายอย่างที่มีพิรุธ อาทิเช่น เงินสดจำนวนมาก แผนที่เมืองเยกาเตรินเบิร์ก แผนที่ไซบีเรียทั้งหมดที่แสดงถึงเส้นทางทางน้ำ พวกตำรวจลับ (เชกา, Cheka) จึงจับกุมตัวเขาไว้ในข้อหา “ศัตรูของการปฏิวัติสังคมนิยม”
ระหว่างที่อยู่ในคุก โดลโกรูคอฟกลับไม่คิดถึงชะตากรรมของตัวเอง เขากลับใช้เวลาที่เหลืออยู่พยายามช่วยเหลือครอบครัวโรมานอฟ โดลโกรูคอฟใช้ดินสอที่หามาได้ในคุกเขียนข้อความส่งไปยังสถานทูตอังกฤษในเยกาเตรินเบิร์กเพื่อให้พวกเขาช่วยเหลือ แต่ก็ไม่เป็นผล
ในวันที่ 10 กรกฏาคม (1 สัปดาห์ก่อนที่ครอบครัวโรมานอฟจะถูกสังหาร) พวกบอลเชวิคนำตัวโดลโกรูคอฟและทาทิชเชฟไปสังหารในป่าใกล้กับสุสานอีวาโนโว โดลโกรูคอฟจึงสิ้นชีวิตลง เขามีอยู่ได้ 49 ปีเศษ
ร่างของถูกพบโดยกองทัพรัสเซียขาวในเวลาต่อมา เหล่าแม่ชีที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ ได้ฝังร่างของเขาในสุสานของวิหาร หากแต่ว่าในสมัยโซเวียตมีการทำลายวิหาร ทำให้สถานที่ฝังศพของโดลโกรูคอฟสูญหายไป
ศาสนจักรรัสเซียนออโธดอกซ์ได้สถาปนาโดลโกรูคอฟขึ้นเป็นนักบุญในปี ค.ศ.1981
ทาทิชเชฟ
ทาทิชเชฟ หรือ เคานท์อิลยา เลออนิดอฟวิช ทาทิชเชฟ (Илья Леонидович Татищев) ตระกูลของเขาเป็นชนชั้นสูงของรัสเซียถึงแม้จะไม่สูงศักดิ์เท่าโดลโกรูคอฟก็ตาม
บิดาของทาทิชเชฟเป็นนายทหารระดับสูง ส่วนแม่ของเขาเป็นข้าราชบริพารเก่าแก่ให้กับราชสำนักรัสเซียมาอย่างยาวนาน ทาทิชเชฟจึงจัดว่าเป็นผู้ที่เกิดมาที่ตระกูลที่ดี เขาเรียนจบจากโรงเรียนทหาร Corps des Pages ในปี ค.ศ.1879
หลังจากจบการศึกษา ทาทิชเชฟเข้ารับราชการเป็นทหารม้าฮุสซาร์ ต่อมาก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของแกรนด์ดยุควลาดิเมียร์ อาของนิโคลัส ในปี ค.ศ.1905 เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพลโท และได้เข้ารับใช้ใกล้ชิดกับราชสำนัก
ในปี ค.ศ.1914 นิโคลัสขอให้ทาทิชเชฟเป็นตัวแทนของเขาในราชสำนักเยอรมัน ทาทิชเชฟอยู่ในเยอรมันจนกระทั่งสงครามปะทุขึ้น เขาจึงเดินทางกลับมารัสเซีย และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับนิโคลัสในช่วงสงคราม
ทาทิชเชฟไม่ได้ทิ้งครอบครัวโรมานอฟไปในช่วงหลังการปฏิวัติ เมื่อเคานท์แบงค์เคนดอร์ไม่สามารถเดินทางไปยังทาบอสค์ได้ นิโคลัสจึงขอให้ทาทิชเชฟไปแทน ทาทิชเชฟตอบตกลงด้วยความยินดียิ่ง
ระหว่างที่อยู่ที่ทาบอสค์ เขาคอยช่วยเหลือนิโคลัสในเรื่องต่างๆ และเป็นกันชนระหว่างครอบครัวโรมานอฟและพวกทหารรักษาการณ์ เขาและโดลโกรูคอฟเคยค้ำประกันเงินกู้ให้ครอบครัวโรมานอฟเมื่อพวกเขามีปัญหาเรื่องการเงิน และต้องการเงินมาใช้จ่ายระหว่างที่อยู่ที่ทาบอสค์
อเล็กซานดราขอให้ทาทิชเชฟอยู่ดูแลลูกๆ ที่เหลือที่ทาบอสค์ ทาทิชเชฟจึงทำทุกอย่างอย่างดีที่สุด และพยายามปกป้องสามสาวและอเล็กเซย์ให้พ้นจากการคุกคามของพวกบอลเชวิค ทาทิชเชฟเสียเองกลับถูกหาเรื่องบ่อยครั้งโดยราดิโอนอฟ เจ้าหน้าที่ที่พวกบอลเชวิคส่งมาควบคุมครอบครัวโรมานอฟ
ทาทิชเชฟดูแลสามสาวและอเล็กเซย์มาจนถึงเยกาเตรินเบิร์ก หลังจากที่ทุกคนเข้าสู่บ้านอิปาตเยฟไปแล้ว ทาทิชเชฟก็ถูกส่งตัวเข้าไปในคุกที่เดียวกับโดลโกรูคอฟ
ตลอดเวลาที่ผ่านมาทาทิชเชฟไม่เคยกลัวความตาย ทาทิชเชฟเคยกล่าวที่ทาบอสค์ว่า เขารู้ตัวดีว่าการที่เขาติดตามครอบครัวโรมานอฟมาเช่นนี้ เขาคงไม่รอดกลับไปแล้ว เขาหวังว่าเขาจะได้ตายพร้อมกับนิโคลัส ซาร์ที่เขารักและจงรักภักดี
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ทาทิชเชฟไม่ได้ถูกเลือกให้ตายพร้อมกับนิโคลัส เขาและโดลโกรูคอฟถูกพวกบอลเชวิคนำตัวไปสังหารในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ.1918 ทาทิชเชฟมีอายุได้ 58 ปี
ร่างของเขามีชะตากรรมเดียวกับร่างของโดลโกรูคอฟ นั่นก็คือถูกพบโดยกองทัพรัสเซียขาว แต่หายไปในเวลาต่อมา
ทาทิชเชฟได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นนักบุญในปี ค.ศ.1981 โดยคริสตจักรรัสเซียนออโธดอกซ์
ชไนเดอร์
แคทเทอรีน ชไนเดอร์ หรือ เยกาเตอรินา อดอลฟอฟนา ชไนเดอร์ (Екатерина Адольфовна Шнейдер) เธอมีชื่อเล่นว่า ทรินา (Trina)
ชไนเดอร์มีเชื้อสายเยอรมันบอลติก (ชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ในดินแดนบอลติกของรัสเซีย) ครอบครัวของเธอมีฐานะปานกลาง บิดาของเธอเป็นที่ปรึกษาในราชสำนักรัสเซียชื่อ อดอล์ฟ ชไนเดอร์
เธอเป็นคนที่เรียนเก่ง เธอจบการศึกษาจากโรงเรียนครูในปี ค.ศ.1880 หลังจากนั้นเธอทำหน้าที่เป็นครูประจำบ้านให้กับลูกๆ ของชนชั้นสูงหลายคน ในเวลาต่อมาเธอก็สมัครเป็นครูสำหรับเด็กกำพร้าที่มอสโก
ด้วยเหตุผลที่ไม่ทราบแน่ชัด ชไนเดอร์ถูกจ้างให้มาสอนภาษารัสเซียให้แกรนด์ดัชเชสเอลิซาเบธ หรือ เอลลา ที่เพิ่งจะแต่งงานกับแกรนด์ดยุคเซอร์เกย์มาหมาดๆ เธอสอนได้ดีเยี่ยม เอลลาสามารถใช้ภาษารัสเซียได้อย่างคล่องแคล่ว
งานต่อมาที่ชไนเดอร์ได้รับคือ การสอนภาษารัสเซียให้กับเจ้าหญิงอลิซ (ซาริซาอเล็กซานดรา) ผู้ที่กำลังจะได้ตำแหน่งซาริซาแห่งรัสเซีย ชไนเดอร์ทำได้ดีระดับหนึ่ง อเล็กซานดราสามารถเข้าใจภาษารัสเซียพอสมควร แต่เธอไม่เคยใช้มันได้คล่องแคล่วเท่ากับเอลลา นั่นเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการเข้าสังคมของซาริซาคนใหม่
อเล็กซานดรารู้สึกผูกพันกับชไนเดอร์ เธอจึงขอให้ชไนเดอร์อาศัยอยู่กับเธอในพระราชวังเป็นการถาวร แต่ไม่ใช่ในฐานะคนรับใช้หรือข้าราชบริพาร เธอยกมอบตำแหน่งพิเศษให้กับชไนเดอร์เรียกว่าตำแหน่ง hoflectrix (гофлектриссы) และมอบห้องถึงหกห้องที่พระราชวังอเล็กซานเดอร์ให้เธออาศัยเป็นการส่วนตัว
ชไนเดอร์ไม่มีครอบครัวเป็นของตนเอง ครอบครัวโรมานอฟจึงรู้สึกว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เพราะว่าลูกๆ ทุกคนต่างเห็นชไนเดอร์ตั้งแต่เกิดมา และเธอยังเป็นครูให้กับสี่สาวด้วย
ชไนเดอร์เองก็รักและผูกพันกับครอบครัวโรมานอฟมาก พวกเขาและเธอกลายเป็นทุกสิ่งในชีวิตของชไนเดอร์
รวมแล้วชไนเดอร์ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวโรมานอฟนาน 23 ปี เธอจึงไม่สามารถทิ้งนายหญิง เพื่อน และน้องสาวอย่างอเล็กซานดราได้เมื่อเกิดการปฏิวัติ เธอติดตามไปทาบอสค์และแบ่งปันความยากลำบากที่ครอบครัวโรมานอฟต้องเผชิญ
ระหว่างที่อยู่ที่ทาบอสค์ ชไนเดอร์มีอาการซึมเศร้าปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งภายในจดหมายที่เธอเขียนถึงเพื่อนของเธอ
ฉันไม่เชื่อว่ามีอนาคตที่ดีกว่านี้ – ฉันคงไม่มีชีวิตอยู่ที่จะได้เห็นมัน มันห่างไกลเกินไป
ชไนเดอร์เป็นผู้ติดตามที่อเล็กซานดราไว้ใจมากที่สุดคนหนึ่ง เธอจึงขอให้ชไนเดอร์ช่วยดูแลลูกๆ ของเธอที่เหลืออยู่ ชไนเดอร์เป็นหนึ่งในผู้ติดตามที่ช่วยสามสาวเย็บเพชรและทับทิมเข้ากับเสื้อผ้าของพวกเธอ เพื่อหลบหลีกการตรวจค้นของพวกบอลเชวิค
หลังจากมาถึงเยกาเตรินเบิร์ก ชไนเดอร์ถูกส่งตัวเข้าคุกพร้อมกับเกนดริโควา น่าสงสัยว่าทำไมพวกบอลเชวิคถึงเลือกจับชไนเดอร์ อาจจะเพราะเธอมีเชื้อสายเยอรมันก็เป็นได้
ต่อมาทั้งสองก็ถูกส่งตัวไปยังเมือง Perm เมืองที่แกรนด์ดยุคไมเคิลเสียชีวิต และใช้ชีวิตอยู่ในคุกตามเดิม
ในช่วงเดือนกันยายน ค.ศ.1918 (สองเดือนหลังจากที่ครอบครัวโรมานอฟถูกสังหาร) เลนินประกาศให้มีการกวาดล้างศัตรูของการปฏิวัติ หรือที่เรียกกันว่า Red Terror ชไนเดอร์เป็นเหยื่อรายแรกๆ ที่สิ้นชีวิต เธอถูกนำตัวไปสังหารในคืนวันที่ 3 กันยายน ร่างของเธอถูกโยนลงไปในหลุมแห่งหนึ่งในป่าแถบนั้น เธอมีอายุได้ 62 ปี
ในเวลาต่อมาร่างของชไนเดอร์ได้ถูกพบ และได้รับการทำพิธีศาสนาและฝังใหม่ที่สุสานออโธดอกซ์
คริสตจักรรัสเซียนออโธดอกซ์ได้ประกาศให้เธอเป็นนักบุญในปี ค.ศ.1981 แต่มีเสียงคัดค้านพอสมควร เพราะว่าชไนเดอร์นับถือศาสนาคริสต์นิกายลูเธอรันไม่ใช่ออโธดอกซ์
เกนดริโควา
เกนดริโควา หรือ เคานท์เตส อนาสตาเซีย วาซิลเยฟนา เกนดริโควา (Анастаси́я Васи́льевна Ге́ндрикова) เธอเป็นชนชั้นสูงคนหนึ่งที่มีเชื้อสายของซาริซาแคทเทอรีนที่ 1 พระมเหสีของซาร์ปีเตอร์มหาราช
ในปี ค.ศ.1910 เกนดริโควาได้เข้ารับใช้เป็นนางสนองพระโอษฐ์ของซาริซาอเล็กซานดรา ในเวลานั้นเธอมีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น
อเล็กซานดราไว้ใจเกนดริโความาก เธอมอบหมายให้เกนดริโควาเป็นผู้ดูแลแกรนด์ดัชเชสทั้งสี่ เกนดริโควาปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เธอเป็นทั้งพี่สาว เพื่อน และข้าราชบริพารที่สนิทสนมที่สุดของพวกเธอ
มีอยู่ครั้งหนึ่งอเล็กซานดราพยายามจะชักชวนให้เกนดริโควาให้มาศรัทธาในตัวเกรกอรี รัสปูติน เกนดริโควาเป็นคนฉลาด เธอไม่ปฏิเสธซาริซาของเธอตรงๆ แต่เธอแสดงออกอย่างอ้อมๆ ว่าเธอไม่เชื่อในชายผู้นี้เลย ทำให้อเล็กซานดราเลิกที่จะชักชวนเธอมาศรัทธารัสปูตินในที่สุด
ความจงรักภักดีของเกนดริโควาเรียกได้ว่าแข็งแกร่ง ในช่วงการปฏิวัติกุมภาพันธ์ เกนดริโควากำลังดูแลพี่สาวของเธอที่กำลังป่วยด้วยวัณโรค แต่เมื่อเธอทราบว่ามีการปฏิวัติและครอบครัวโรมานอฟกำลังอยู่ในอันตราย เธอรีบกลับไปยังพระราชวังอเล็กซานเดอร์ทันที เพื่ออยู่เคียงข้างนายหญิงของเธอ
การปฏิวัติได้ทำให้ข้าราชบริพารจำนวนมากหวั่นไหว แต่ไม่ใช่สำหรับเกนดริโควา เธอยืนกรานที่อยู่กับครอบครัวโรมานอฟต่อไป เธอติดตามครอบครัวโรมานอฟมายังทาบอสค์ และเป็นกำลังสำคัญในการสรรหาสิ่งของต่างๆ ที่ขาดแคลนในบ้านอิสรภาพ เพื่อทำให้ชีวิตของครอบครัวโรมานอฟสบายขึ้น
บรรยากาศที่กดดันในบ้านอิสรภาพทำให้ข้าราชบริพารจำนวนมากหวั่นกลัว เกนดริโควายอมรับว่าเธอมีลางว่าชีวิตของเธอและคนอื่นๆจะอยู่ได้ไม่นาน แต่ Buxhoeveden นางกำนัลอีกคนหนึ่งเล่าว่าเกนดริโควาไม่รู้สึกกลัวความตายเลยแม้แต่น้อย เธอยอมรับการมาของมันอย่างเต็มใจ
เกนดริโควาอยู่ที่ทาบอสค์กับสามสาวและช่วยเหลือพวกเธอในการติดเพชรและทับทิมเข้ากับเครื่องแต่งกาย เธอดูแลพวกเธอไปจนถึงเยกาเตรินเบิร์ก เมื่อสามสาวไปที่บ้านอิปาติเยฟแล้ว เธอกับชไนเดอร์จึงถูกพวกบอลเชวิคจับไปขังคุก และถูกส่งตัวไปขังต่อที่เมือง Perm
ระหว่างที่อยู่ที่เมือง Perm พวกเชกาได้สอบสวนเธอ ในขณะที่คนอื่นเกรงกลัวพวกเชกามาก เกนดริโควากลับไม่กลัวพวกเขาแต่อย่างไร
พวกเชกา: คุณอาสาติดตามพวกโรมานอฟไปยังทาบอสค์ใช่หรือไม่
เกนดริโควา: ใช่
พวกเชกา: ถ้าคุณอุทิศตนเองต่อพวกเขาขนาดนั้น จงบอกพวกเรามาว่า ถ้าพวกเราปล่อยตัวคุณไปตอนนี้ คุณจะกลับไปหาและรับใช้พวกเขาต่อไปหรือไม่
เกนดริโควา: ใช่ จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตฉัน
การสอบสวนมีขึ้นในเดือนสิงหาคม เกนดริโควาไม่รู้เลยว่าในเวลานั้นครอบครัวโรมานอฟได้สิ้นชีวิตไปหมดแล้ว
ในคืนวันที่ 3 กันยายน ค.ศ.1918 เกนดริโควา ชไนเดอร์ โวลคอฟ และนักโทษคนอื่นๆ ได้ถูกนำตัวออกนอกคุกเพื่อที่จะไปสังหาร โวลคอฟเล่าว่าเกนดริโควาทำสัญญาณมือเป็นรูปไม้กางเขน ในเวลานั้นเขาเข้าใจว่าเธอน่าจะหมายความว่า พวกเชกาคงจะไม่ได้นำทุกคนออกไปสังหาร
ระหว่างที่ทุกคนกำลังเดินอยู่ที่ถนน โวลคอฟคาดว่าพวกเชกากำลังจะนำทุกคนไปยิงทิ้ง โวลคอฟตัดสินใจวิ่งหนีอย่างสุดกำลัง พวกเชกายิงปืนไล่หลังเขา แต่เคราะห์ดีที่เขาไม่โดนกระสุนเลยสักนัดเดียว โวลคอฟเล่าว่าระหว่างที่วิ่งอยู่ เขาได้ยินเสียงปืนที่เขาเชื่อว่าได้สังหารเหล่านักโทษที่เหลือซึ่งรวมไปถึงชไนเดอร์ และเกนดริโควาไปแล้ว
เกนดริโควาอายุได้ 30 ปีเท่านั้น เมื่อเธอจากไป
ร่างของเธอถูกพบโดยกองทัพรัสเซียขาว และได้รับการทำพิธีทางศาสนาและฝังใหม่ในปี ค.ศ.1919
คริสตจักรรัสเซียนออโธดอกซ์ได้สถาปนาเธอเป็นนักบุญในปี ค.ศ.1981
อ่านตั้งแต่ตอนแรก และตอนต่อไปได้ที่ วันสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ หรือติดตามตอนที่ 20 ได้ที่นี่
หนังสืออ้างอิงอยู่ ที่นี่