ประวัติศาสตร์รัสเซียครอบครัวซาร์สองสัปดาห์สุดท้ายของครอบครัวโรมานอฟ ผ่านสายตาของยูรอฟสกี้ (24)

สองสัปดาห์สุดท้ายของครอบครัวโรมานอฟ ผ่านสายตาของยูรอฟสกี้ (24)

ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1918 นิโคลัสบันทึกไว้ในไดอารี่ว่าเบโลบาโรดอฟเดินทางมายังบ้านอิปาตเยฟ เขามาเพื่อแนะนำยูรอฟสกี้ ผู้บังคับบัญชาบ้านอิปาตเยฟคนใหม่ให้นิโคลัสทราบ ตอนแรกนิโคลัสคิดว่ายูรอฟสกี้เป็นแพทย์ แต่จริงๆ แล้ว ชายหนวดเฟิ้มผู้นี้คือผู้คุมคนสุดท้ายในชีวิตของเขาที่กำลังจะจบลงในเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์

ห้องนั่งเล่นบ้านอิปาตเยฟ

ผู้บังคับบัญชาคนใหม่

ยูรอฟสกี้เล่าในบันทึกของเขาว่า เมื่อเขาพูดคุยกับ “พวกนักโทษ” เขาสังเกตเห็นว่าพวกนักโทษมีของมีค่าจำนวนมาก ยูรอฟสกี้เกรงว่าพวกทหารที่มาใหม่จะโลภและขโมยข้าวของเหล่านั้น ตัวเขาเองเกลียดชังความวุ่นวายและความไม่เป็นระเบียบอย่างมาก

ยูรอฟสกี้จึงขอให้ครอบครัวซาร์และข้าราชบริพารนำของมีค่ามามอบให้กับเขาเพื่อทำบัญชีเอาไว้ เขาจะนำสิ่งของมีค่าไปเก็บใส่กล่อง และล็อกด้วยกุญแจอย่างแน่นหนา หลังจากนั้นเขาจะนำกล่องดังกล่าวกลับมาคืนให้นิโคลัส สิ่งของมีค่าเหล่านี้จะได้ไม่ถูกขโมยเหมือนกับสมัยที่อัฟดีฟอยู่

นิโคลัสและครอบครัวไม่มีใครโต้แย้งใดๆ นิโคลัสขอแค่ยูรอฟสกี้อย่าได้นำนาฬิกาของอเล็กเซย์ไป ส่วนอเล็กซานดราขอแค่ให้เธอเก็บกำไลข้อมือที่เธอใส่มานานกว่า 20 ปีไว้เท่านั้น ยูรอฟสกี้อนุญาตให้ตามคำขอ

หลังจากนั้นยูรอฟสกี้ก็ไม่ได้ตระบัดสัตย์ เขานำกล่องมาคืนให้กับนิโคลัสจริงๆ แต่ยูรอฟสกี้มักจะมาตรวจสอบทุกวันเพื่อตรวจเช็คดูว่าของยังอยู่ครบหรือไม่

ความซื่อสัตย์ของยูรอฟสกี้ทำให้นิโคลัสไว้ใจเขามากขึ้นทีละน้อย แต่อเล็กซานดราไม่ไว้ใจยูรอฟสกี้เลย เธอไม่เชื่อในสิ่งที่เขาพูดเลยสักคำเดียว

ผู้ช่วยของยูรอฟสกี้คือ เกรกอรี นิคูลิน (Григорий Никулин) ถ้าดูจากภายนอกแล้ว เขามีนิสัยและคำพูดคำจาเรียบร้อย นอกจากนี้เขายังสุภาพ ต่างจากผู้ช่วยของอัฟดีฟก่อนหน้านี้ ยูรอฟสกี้เลือกนิคูลินมาเป็นผู้ช่วย เพราะว่านิคูลินไม่ดื่มเหล้า และท่าทางของเขาดูเป็น “คนดี”

นิคูลิน

สำหรับพวกทหารที่รักษาการณ์ในบ้านนั้น นอกจากพวกบอลเชวิคและเชกาแล้ว ยูรอฟสกี้เลือกทหารจากพวกที่มีเชื้อสายต่างชาติทั้งหมด เช่น ลัตเวีย หรือลิทัวเนีย และอื่นๆ (หรือที่เรียกกันว่า Latvians หรือ Letts)

สาเหตุคือเขาไม่ไว้ใจชาวรัสเซียด้วยกันเอง เขากลัวว่าทุกอย่างจะลงเอยแบบสมัยอัฟดีฟ

ในเรื่องอาหารการกิน ยูรอฟสกี้อนุญาตให้ครอบครัวโรมานอฟทำอาหารได้ในบ้านอิปาติเยฟ และยังอนุญาตให้โบสถ์ใกล้ๆ ส่งอาหารการกินมาให้ครอบครัวโรมานอฟตามเดิม ยูรอฟสกี้มอบอาหารเหล่านี้แก่ครอบครัวโรมานอฟทั้งหมดโดยไม่ได้กักไว้เหมือนกับอัฟดีฟ

บ้านอิปาตเยฟ

หากแต่ว่าในเวลาต่อมายูรอฟสกี้ก็เปลี่ยนใจ เขาอนุญาตให้ครอบครัวโรมานอฟรับอาหารจากโบสถ์ได้แค่เพียงนมเท่านั้น ส่วนที่เหลือพวกเขาต้องกินเหมือนกับประชาชนชาวรัสเซียในเมืองที่กำลังปันส่วนอาหารกันในเวลานั้น

ยูรอฟสกี้เขียนไว้ว่า

ฉันคิดว่าเพราะว่าพวกนักโทษของฉันไม่ได้ทำงาน พวกเขาควรจะพึงพอใจกับการปันส่วนที่พลเมืองทุกคนได้รับ

ยูรอฟสกี้ไม่ค่อยมีปัญหาใดๆ กับครอบครัวโรมานอฟ ยกเว้นแต่เพียงอเล็กซานดราเพียงผู้เดียว อเล็กซานดราไม่ชอบที่เขาเปิดประตูห้องเข้ามาตอนเช้าๆ ระหว่างที่เธอยังไม่ตื่น ยูรอฟสกี้ตอบเธอไปว่า

ฉันไม่สนใจว่าเธอจะชอบหรือไม่ชอบอะไร แต่ฉันต้องมาตรวจสอบทุกวัน

สำหรับนิโคลัสแล้ว เขาชอบมาชวนยูรอฟสกี้คุยหลายครั้ง แต่ยูรอฟสกี้พยายามหลีกเลี่ยงการพูดคุยกับเขา ยูรอฟสกี้ยังเล่าต่อไปว่า สี่สาวโรมานอฟพยายามจะชวนพวกทหารใหม่คุย เขาเชื่อว่าสี่สาวพยายามจะชนะใจพวกเขาเหมือนที่เคยทำกับทหารของอัฟดีฟ แต่เขาว่าทหารใหม่ของเขาค่อนข้างแข็งแกร่ง ทำให้พวกเธอไม่ประสบความสำเร็จ

ผมมองต่างกับยูรอฟสกี้ ผมว่าที่พวกทหารยังไม่ใจอ่อนก็เพราะยังอยู่ไม่นาน ลองได้อยู่ใกล้ๆกันนานๆ ทหารของยูรอฟสกี้น่าจะไม่ต่างอะไรกับทหารของอัฟดีฟ

ผ่านสายตาของยูรอฟสกี้

ภายในบันทึกของยูรอฟสกี้ เขาเขียนสรุปชีวิตของครอบครัวโรมานอฟไว้อย่างน่าสนใจมาก ไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่ได้ชื่อว่าสังหารครอบครัวโรมานอฟจะมองความครัวโรมานอฟในมุมนี้

ก่อนอื่นยูรอฟสกี้เล่าถึง “สี่สาวโรมานอฟ” ว่า

เท่าที่ฉันสังเกต ครอบครัวนี้ใช้ชีวิตเหมือนชนชั้นกลางทั่วไป ในตอนเช้าพวกเขาจะดื่มชา หลังจากนั้นแต่ละคนจะทำโน่นทำนี่ – เย็บผ้า – ถักผ้า คนที่ฉลาดที่สุดคือทาเทียน่า ลูกสาวคนที่สอง โอลกาเหมือนทาเทียน่ามาก รวมไปถึงสีหน้า มาเรียแตกต่างออกไปจากพวกเธอทั้งสอง เธอค่อนข้างเงียบและดูเหมือนบุตรเลี้ยงในบ้าน อนาสตาเซียคนสุดท้องมักจะขี้อายและมีใบหน้าเล็กๆที่งดงาม อเล็กเซย์ป่วยอยู่เสมอเพราะโรคทางพันธุกรรม

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทำไมยูรอฟสกี้ถึงมองว่ามาเรียดูเงียบ และดูเหมือนลูกเลี้ยงในบ้าน

สี่สาวโรมานอฟ โอลกา ทาเทียน่า มาเรีย อนาสตาเซีย

คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ หลายคนในบ้านโกรธมากกับเหตุการณ์ที่เธออยู่สองต่อสองกับชายหนุ่มในวันนั้น ทำให้ความสัมพันธ์ยังระหองระแหงกันอยู่ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยูรอฟสกี้เข้ามาอยู่ในบ้านพอดี

สำหรับอเล็กซานดราแล้ว ยูรอฟสกี้ให้ความเห็นว่า เธอยังมีท่าทางเหมือนกับว่าเธอยังเป็นซาริซาอยู่ เขาสังเกตได้ว่าเธอกดดันนิโคลัสอย่างมาก

ยูรอฟสกี้มองนิโคลัสว่าเป็นคน

ธรรมดามากๆ และดูเรียบง่าย – ฉันว่าเขาดูเหมือนทหารชาวนาด้วยซ้ำไป

ยูรอฟสกี้ปิดท้ายด้วยการสรุปว่า

นอกจากอเล็กซานดรา ฟยอดอรอฟนา ครอบครัวนี้ไม่มีความหยิ่งยโสอยู่เลย ถ้านี่ไม่ใช่ครอบครัวของราชวงศ์อันน่าชังที่ดื่มเลือดจำนวนมากจากประชาชน ครอบครัวนี้ก็เป็นครอบครัวที่เรียบง่ายครอบครัวหนึ่ง อย่างเช่นพวกหญิงสาวมักจะวิ่งเข้าไปในครัวช่วยพ่อครัวทำแป้ง ไล่ไพ่กัน หรือช่วยกันซักเสื้อผ้า ทุกคนแต่งกายอย่างเรียบง่าย ไม่มีอะไรตื่นเต้น นิโคลัสเป็นคนจริงจัง และเป็น “ประชาธิปไตย” และแม้ว่าเขาจะมีรองเท้าบู้ตคู่ใหม่หลายคู่ เขาไม่เคยพลาดที่จะเลือกใส่คู่ที่มีรอยปะ ….. เราสามารถบอกได้ว่าพวกเขาไม่ก้าวร้าวเลย

ถ้าอ่านจากสิ่งที่เขาบันทึกไว้ เขาไม่ได้เกลียดชังครอบครัวโรมานอฟเป็นการส่วนตัวเท่าใดนัก แม้จะเป็นนักปฏิวัติมาก่อนก็ตาม แต่เขาต้องยอมทำงานนั้นเพราะหน้าที่และอุดมการณ์ของเขาเท่านั้น

มติของกรรมาธิการอูรัล

โกโลเชคินเดินทางไปยังมอสโกอีกครั้ง และกลับมาพร้อมกับความผิดหวัง เลนินและสเวียตลอฟไม่ขัดขวางถ้าคณะกรรมาธิการอูรัลจะสังหารนิโคลัส แต่พวกเขาไม่ได้ให้คำสั่งออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนอย่างที่โกโลเชคินต้องการ

นี่เป็นความฉลาดของทั้งเลนินและสเวียตลอฟที่ป้องกันไม่ให้ตนเองมีรอยด่างในประวัติศาสตร์!

สภากรรมาธิการอูรัลจึงมีการประชุมครั้งใหญ่ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1918 เพราะพวกเช็กกำลังเข้ามาใกล้ทุกที และสถานการณ์ที่แนวหน้าบ่งบอกว่าเยกาเตรินเบิร์กคงต้านทานได้อีกไม่นาน

ที่ประชุมจึงปรึกษากันจะทำอย่างไรดีกับพวกโรมานอฟ ทุกคนเห็นตรงกันว่าต้องมีการสังหารนิโคลัส เพื่อไม่ให้เขาตกไปอยู่ในมือพวกรัสเซียขาวได้

หากแต่ว่าแล้วคนอื่นจะทำอย่างไร จะสังหารใครบ้าง นี่เป็นปัญหาที่พวกกรรมาธิการอูรัลตกลงกันไม่ได้ โกโลเชคินและพวกอีกสองคนต้องการให้สังหารพวกโรมานอฟทั้งหมด แต่คนอื่นๆ เสนอว่าให้ไว้ชีวิตลูกๆ ทั้งห้าของพวกเขาเอาไว้ และให้สังหารอเล็กซานดราเพิ่มอีกคนเดียว เพราะว่าเธอเป็นผู้ชักใยนิโคลัสจากเบี้องหลัง

หลังจากการถกเถียงกันอย่างมาก สภากรรมธิการอูรัลก็ตกลงว่า พวกเขาจะสังหารพวกนักโทษทุกคนที่อยู่ในบ้านอิปาตเยฟ

รูปเก่าๆ ที่กลายเป็นความทรงจำ

คำถามต่อไปคือจะสังหารอย่างไร

เบโลบาโรดอฟเสนอว่าให้นำคนอื่นๆไปสังหารในป่า ส่วนนิโคลัสให้เก็บไว้ประหารชีวิตกลางเมือง หลังจากอ่านโทษานุโทษของเขาต่อปวงชนเสร็จแล้ว (เช่นเดียวกับหลุยส์ที่ 16 ของฝรั่งเศส)

โกโลเชคินแย้งว่าข้อเสนอของเบโลบาโรดอฟเป็นไปได้ยากเพราะอาจจะเปิดโอกาสให้นักโทษบางคนหนี เขาจึงเสนอให้สังหารครอบครัวโรมานอฟแบบที่ทำกับไมเคิล นั่นก็คือพาเข้าป่าและสังหารทิ้งเสีย หลังจากนั้นก็นำศพทิ้งไปในหลุมลึก

ผลสุดท้ายคณะกรรมการอูรัลจึงตกลงว่าจะใช้แผนการของโกโลเชคิน แต่ให้เปลี่ยนเล็กน้อย นั่นก็คือให้พวกเชกาสังหารครอบครัวโรมานอฟในบ้านอิปาตเยฟ หลังจากนั้นถึงจะนำศพไปโยนทิ้งในหลุมลึกนอกเมือง

ภายในเอกสารเขียนไว้ว่า

บัญญัติของคณะกรรมาธิการบริหารแรงงาน ชาวนา ตัวแทนกองทัพแดงแห่งสภาโซเวียตที่อูรัล เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับว่ากองทัพเช็กโกสโลวักกำลังคุกคามเมืองหลวงแดงแห่งอูรัล เยกาเตรินเบิร์ก และมีความในใจว่านักแขวนคอที่นั่งบัลลังก์สามารถหลบซ่อนและหนีการไต่สวน คณะกรรมาธิการบริหารปฏิบัติตามความต้องการของประชาชนจึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตอดีตซาร์นิโคลัส โรมานอฟ ผู้มีความผิดในการก่ออาชญากรรมนองเลือดมากมาย

คำสั่งตายของนิโคลัสและครอบครัวมาถึงแล้ว พวกเขาจะมีชีวิตอีกไม่เกิน 3 ราตรี

พิธีทางศาสนาครั้งสุดท้าย

สำหรับครอบครัวโรมานอฟแล้ว ทุกคนไม่ได้เอะใจมากนักว่าชีวิตของพวกเขาเหลือเพียงหลักวัน หากแต่ว่าในวันนั้น (วันที่ 14 กรกฎาคม) ทั้งครอบครัวเกิดอยากทำพิธีทางศาสนาขึ้นมา พวกเขาจึงขออนุญาตไปยังยูรอฟสกี้

ยูรอฟสกี้พอจะทราบว่าอีกไม่นานทุกคนจะต้องตาย แม้เขายังไม่รับคำสั่งอย่างเป็นทางการก็ตาม เขาจึงอนุญาตให้บาทหลวงเข้ามาได้แต่ห้ามไม่ให้มีการพูดคุยกันเด็ดขาด ยูรอฟสกี้จึงไปเชิญบาทหลวงและเดียคอนมาทำพิธีศาสนาให้กับครอบครัวโรมานอฟ

พิธีครั้งนั้นจะเป็นพิธีครั้งสุดท้าย บาทหลวงที่ทำพิธีให้กับครอบครัวโรมานอฟชื่อ คุณพ่อสโตโรเชฟ พิธีกรรมที่เขาทำให้กับครอบครัวโรมานอฟคือ พิธี obednitza พิธีนี้เป็นพิธีทางศาสนาอย่างย่อที่ทำขึ้นสำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำพิธีเต็มๆได้

คุณพ่อสโตโรเซฟ Cr: theRomanovfamily

ถ้าดูจากภายนอก พิธีดำเนินไปอย่างปกติ เมื่อครอบครัวโรมานอฟทั้งเจ็ดคนจูบลงที่ไม้กางเขนแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี บาทหลวงและเดียคอนก็กลับไป

เมื่อพ้นจากบ้านอิปาตเยฟ เดียคอนรีบดึงบาทหลวงสโตโรเชฟเข้ามาใกล้และถามว่ามีอะไรแปลกๆ หรือไม่เมื่อกี้นี้ ตัวเขารู้สึกได้ว่ามีอะไรแปลกๆ จะเกิดขึ้นกับครอบครัวโรมานอฟในบ้านหลังนั้น

บาทหลวงสโตโรเชฟจึงให้เขาอธิบาย เดียคอนจึงว่า ระหว่างที่เขากำลังทำพิธีอยู่ มีอะไรสักอย่างที่ทำให้เขาเลือกที่จะร้องบท “at rest with Saints” ซึ่งเป็นบทสวดให้คนตายออกมาแทนที่จะอ่านธรรมดา ครอบครัวโรมานอฟไม่มีใครร้องตามเขาเลยสักคนเดียว ทุกคนสวดภาวนาไปเงียบๆ แถมทุกคนยังคุกเข่าลงอีก

ตามธรรมเนียมแล้ว การที่ไม่ร้องเพลงนี้และคุกเข่าลงมาด้วยล้วนแต่ไม่ใช่สิ่งที่ “คนเป็น” จะทำ พิธีทางศาสนาที่เพิ่งทำไปจึงดูเหมือนว่าเป็นพิธีศพให้กับครอบครัวโรมานอฟทั้งๆ ที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่!

พระเจ้าคงจะทราบว่าจะไม่มีใครจัดพิธีทางศาสนาให้กับครอบครัวโรมานอฟหลังจากที่ตายไปแล้ว นี่อาจจะเป็นสิ่งที่พระองค์มอบให้กับครอบครัวโรมานอฟ ผู้มีศรัทธาในศาสนาเสมอมา!

อ่านตั้งแต่ตอนแรก และติดตามตอนต่อไปในที่ วันสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ ติดตามตอนที่ 25 ได้ที่นี่

หนังสืออ้างอิงอยู่ ที่นี่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!