ประวัติศาสตร์รัสเซียปฏิวัติรัสเซียนิโคไลย์ กาลิตซิน นายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของจักรวรรดิรัสเซีย

นิโคไลย์ กาลิตซิน นายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของจักรวรรดิรัสเซีย

นิโคไลย์ ดมิทรีเยวิช กาลิตซิน (Николай Дмитриевич Голицын, Nikolai Dmitrievich Golitsyn) เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของจักรวรรดิรัสเซีย ตลอดชีวิตของเขา กาลิตซินเป็นคนง่ายๆ และไม่เป็นศัตรูกับใคร แต่เขากลับต้องใช้ช่วงชีวิตสุดท้ายของเขาอย่างน่าสงสารที่สุด

ชาติกำเนิด

ตระกูลกาลิตซินเป็นหนึ่งในตระกูลชนชั้นสูงที่มีอิทธิพลและความร่ำรวยที่สุดในรัสเซีย นิโคไลย์ กาลิตซินเกิดในปี ค.ศ.1850 ในช่วงปลายรัชกาลของซาร์นิโคลัสที่ 1

ชีวิตของกาลิตซินดำเนินไปด้วยความเรียบง่ายตามแบบอย่างของชนชั้นสูงในเวลานั้น เขาได้รับการศึกษาอย่างดีจากโรงเรียนหลวงที่ดีที่สุดของชนชั้นสูงชื่อ Tsarskoye Selo Lyceum เพื่อเตรียมการสำหรับเข้ารับราชการต่อไป

นิโคไลย์ กาลิตซิน

ในปี ค.ศ.1871 กาลิตซินเรียนจบจากโรงเรียนดังกล่าวและเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย กาลิตซินรับราชการด้วยความซื่อสัตย์และขยันขันแข็งทำให้เขาได้รับหน้าที่ที่สำคัญมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมือง Arkhangelsk, Kaluga และ Tver ตามลำดับ

เมื่อถึงตอนกลางของรัชกาลของซาร์นิโคลัสที่ 2 กาลิตซินกลายเป็นข้าราชการผู้เฒ่าไปแล้ว เขามีประสบการณ์ในการปกครองเมืองต่างๆ มาอย่างเต็มเปี่ยม แต่ไม่มีประสบการณ์เรื่องการเมืองในสภาเท่าใดนัก ถึงกระนั้นกาลิตซินได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาและองคมนตรีในเวลาต่อมา ผลงานสำคัญของกาลิตซินคือการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในช่วงภัยแล้งใหญ่แห่งปี ค.ศ.1907-1908

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กาลิตซินมีอายุมากถึง 64 ปีแล้ว ทำให้กาลิตซินมักจะนั่งหลับอยู่ระหว่างประชุมสภาบ่อยครั้ง เขาไม่รู้เลยว่าเขากำลังจะต้องรับหน้าที่สำคัญที่สุดในจักรวรรดิในไม่ช้า

นายกรัฐมนตรี

การสังหารรัสปูตินที่พระราชวังยูซูป็อพทำให้ซาริซาอเล็กซานดราโกรธมาก และต้องการให้เปลี่ยนคณะรัฐมนตรีใหม่ เพราะเธอเห็นว่าพวกเขาเป็นศัตรูของรัสปูตินผู้จากไป

ด้วยแรงกดดันจากอเล็กซานดรา ทำให้นิโคลัสต้องเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีใหม่ นิโคลัสปรารถนาจะให้กาลิตซินรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะกาลิตซินเป็นคนนิ่มนวล ไม่มีศัตรู และน่าจะต่อรองกับสภาดูมาได้ดี

กาลิตซินปฏิเสธตำแหน่งดังกล่าว โดยอ้างว่าไม่พร้อม ในเวลานั้นกาลิตซินก็ไม่พร้อมจริงๆ สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมตรี แต่จริงๆแล้ว กาลิตซินรู้ดีว่า ถ้าเขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาน่าจะเป็นเพียงหุ่นเชิดให้กับอเล็กซานเดอร์ พราตาโปปอฟ (Алекса́ндр Дми́триевич Протопо́пов, Alexander Protopopov) รัฐมนตรีมหาดไทย ผู้ที่รัสปูตินเคยสนับสนุน

พราตาโปปอฟผู้นี้กำลังก่อเรื่องวุ่นวายมากมาย เช่นอนุญาตให้พวกนายธนาคารซื้อขนมปังทั้งหมดและนำไปหากำไรกับประชาชน แถมยังสั่งไม่ให้องค์กรต่างๆของประชาชนประชุมกันด้วย ประชาชนจึงโกรธแค้นรัฐบาลอย่างมาก ความโกรธเกรี้ยวที่มีต่อพราตาโปปอฟกำลังระเบิดเป็นการชุมนุมอยู่แล้ว

เมื่อนิโคลัสยืนกรานจะให้กาลิตซินรับตำแหน่ง กาลิตซินจึงร้องขอให้นิโคลัสปลดพราตาโปปอฟเสีย แต่นิโคลัสปฏิเสธ และขอให้กาลิตซินรับตำแหน่งเช่นเดิม

อเล็กเซย์ ทาทิชเชฟ ข้าหลวงคนหนึ่งในราชสำนัก (คนละคนกับทาทิชเชฟที่พลีชีพที่เยกาเตรินเบิร์ก) เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า

ปลายปีนั้น เตรปอฟถูกไล่ออก เจ้าชายนิโคไลย์ ดมิทรีเยวิช กาลิตซิน ชายผู้น่ารักที่สุด แต่ไม่ใช่นักปกครองที่มีความสามารถสูงนัก ได้รับตำแหน่งเป็นผู้สืบทอดของเขา เขาทราบเรื่องนี้และขอร้องให้จักรพรรดิยกเลิกการแต่งตั้ง โดยอ้างว่าเขาไม่พร้อมสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ทว่า ในฐานะข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ เขาปฏิบัติตามและเข้าไปสู่ตำแหน่งที่ ,ตามจริงแล้ว, ไม่มีอำนาจใดๆ

ด้วยเหตุนี้กาลิตซินจึงได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมกราคม ปี ค.ศ.1917 โดยที่ไม่มีอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น

นิโคไลย์ กาลิตซิน

การปฏิวัติกุมภาพันธ์

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 นิโคลัสกลับมายังกรุงเปโตรกราด และเผชิญหน้ากับแรงกดดันหลายด้าน สภาดูมาและสมาชิกราชวงศ์อย่างซานโดร ต้องการให้นิโคลัสนำอเล็กซานดราและพรรคพวกของเธออย่างพราตาโปปอฟออกไปจากด้านการเมืองเสีย ก่อนที่การปฏิวัติจะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกันอเล็กซานดราเองก็พยายามกดดันสามีให้ปลดรัฐมนตรีและเสนาบดีคนต่างๆ ที่เธอเห็นว่าเป็นศัตรูกับเธอเช่นเดียวกัน

ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายใดจึงเรียกร้องมายังนิโคลัสผู้อ่อนแอ ทำให้นิโคลัสประสบปัญหาความเครียดและกดดันอย่างมากมาย (นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นิโคลัสมีความสุขในที่คุมขัง เพราะไม่ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันอีกแล้ว)

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ นิโคลัสเรียกตัวกาลิตซินที่พึ่งจะกลับมาจากพักผ่อนมาพบตอนเช้า และแจ้งให้ทราบว่า นิโคลัสจะเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีให้ตอบโจทย์ปวงชนของชาวรัสเซีย แต่ในตอนเย็นนิโคลัสกลับบอกกาลิตซินว่าตัวเขากำลังจะกลับไปที่กองบัญชาการใหญ่ในทันที และจะไม่มีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีอะไรทั้งนั้น

ไม่ต้องสงสัยว่าในช่วงสายและบ่ายของวันนั้น นิโคลัสได้พูดคุยกับอเล็กซานดรา และเธอคัดค้านไม่ให้นิโคลัสปลดพวกที่รัสปูตินเคยสนับสนุนออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตามคำแนะนำของสภาดูมา ซึ่งสาเหตุคืออเล็กซานดราไม่ต้องการให้นิโคลัสยอมพวกเสนาบดีเหมือนกับในปี ค.ศ.1905 อีกแล้ว

นิโคลัสทนไม่ไหวกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เขาไม่พอใจที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้เสียที นิโคลัสรู้สึกว่าตนเองทำอะไรก็แย่ไปหมด อย่างเคสพราตาโปปอฟนี้ พวกสภาดูมาเองก็เคยสนับสนุนพราตาโปปอฟมาก่อน และเปลี่ยนเป็นต่อต้านเมื่อทราบว่ารัสปูตินและอเล็กซานดราให้การสนับสนุนเขา

ความวุ่นวายเกี่ยวกับพราตาโปปอฟทำให้นิโคลัสผู้อ่อนโยนและไม่ค่อยแสดงความโกรธถึงกับทุบโต๊ะ และกล่าวขึ้นว่า

ก่อนฉันแต่งตั้งเขา เขาถือว่าใช้ได้สำหรับพวกเขา (สมาชิกสภาดูมา) แต่ตอนนี้ เขาใช้ไม่ได้แล้ว คงเป็นเพราะฉันแต่งตั้งเขากระมัง

นิโคลัสตัดสินใจหลบเรื่องดังกล่าวด้วยการ “หนี” ไปยังกองบัญชาการใหญ่ เพราะเขาทนไม่ไหวกับแรงกดดันจากอเล็กซานดรา สภาดูมา อดีตซาริซามาเรีย แม่ของเขา ซานโดรเพื่อนรัก และเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ อีก

กาลิตซินจึงนำเรื่องนี้ไปแจ้งแก่สมาชิกสภาดูมา ทำให้พวกสมาชิกสภาดูมาตกใจยิ่งนัก ทุกคนรู้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวรอไม่ได้อีกแล้ว

หลังจากนั้นไม่ถึงสิบวัน การลุกฮือก็เริ่มต้นขึ้นในวันสตรีสากล โดยเริ่มต้นโดยกลุ่มแม่บ้าน และเริ่มลามเป็นการชุมนุมใหญ่ กาลิตซินรีบแจ้งสถานการณ์ฉุกเฉินให้นิโคลัสทราบในทันที แต่นิโคลัสกลับตอบสนองอย่างล่าช้าเพราะเขาอยู่ที่กองบัญชาการใหญ่

ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ รอซิอันโก ประธานสภาดูมาได้มาหากาลิตซินและเรียกร้องให้เขาลาออก กาลิตซินตอบสนองด้วยเอกสารการยุบสภาดูมาที่มีลายเซ็นของนิโคลัสไว้อยู่แล้ว แต่รอซิอันโกไม่เชื่อฟังเพราะในเวลานั้นอำนาจของรัฐบาลแทบไม่มีอยู่แล้ว

วันต่อมาทหารแต่ละกรมกองต่างแปรพักตร์ไปเข้ากับประชาชน ทำให้กรุงเปโตรกราดทั้งหมดอยู่ในมือของกลุ่มม็อบ กาลิตซินไม่มีทางออกอื่นใดอีกนอกจากการลาออก

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1917 เป็นวันประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวันสุดท้ายที่คณะรัฐมนตรีของจักรวรรดิรัสเซียได้เข้าประชุม กาลิตซินและคณะรัฐมนตรีทั้งหมดเห็นว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ไม่มีทางออกได้อีกต่อไป พวกเขาทุกคนจึงตัดสินใจลาออก ยกเว้นพราตาโปปอฟแต่เพียงผู้เดียวที่ยังพยายามปราบปรามผู้ชุมนุม

ภายในไม่กี่วันทุกอย่างก็จบลง คณะรัฐบาลชั่วคราวได้ถูกจัดตั้งขึ้น กาลิตซินถูกรัฐบาลใหม่จับกุมและส่งตัวไปยังป้อมปีเตอร์แอนด์พอลเพื่อคุมขัง

วาระสุดท้าย

กาลิตซินใช้ชีวิตอยู่ในคุกตลอดช่วงเวลาของรัฐบาลชั่วคราว จนกระทั่งพวกบอลเชวิคก่อการปฏิวัติตุลาคม และยึดอำนาจได้สำเร็จ กาลิตซินจึงได้รับการปล่อยตัว แต่ถูกบังคับให้ใช้ชีวิตอยู่ในรัสเซีย ไม่ให้เดินทางไปยังต่างประเทศ

การปฏิวัติของพวกบอลเชวิคได้ริบทรัพย์สินของชนชั้นสูงทั้งหมด สมาชิกในตระกูลกาลิตซินของเขาต่างหนีไปคนละทิศละทาง ทำให้ครอบครัวของเขาบ้านแตกสาแหรกขาด เงินทองก็ไม่มี และไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากันด้วย ไม่ปรากฏว่ากาลิตซินพยายามหนีออกจากรัสเซียหรือไม่ แต่อาจจะไม่ เพราะเขาอายุมากแล้ว

กาลิตซินในวัย 70 ปีใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากด้วยการซ่อมแซมรองเท้า และเป็นยามดูแลสวนสาธารณะเพื่อประทังชีวิตไปวันๆ ไม่มีใครคาคคิดว่าอดีตนายกรัฐมนตรีแห่งจักรวรรดิรัสเซียต้องมาตกระกำลำบากเช่นนี้

ถึงแม้กาลิตซินจะตกต่ำสุดขีด ตำรวจลับโซเวียตอย่าง OGPU ยังหาเหตุจับกุมกาลิตซินไปถึงสองครั้ง เพราะสงสัยว่าเขาอาจจะติดต่อกับพวกที่คิดต่อต้านการปฏิวัติอย่างนักเรียนเก่าโรงเรียน Tsarskoye Selo Lyceum ที่กาลิตซินจบมา สุดท้ายเขาถูกปล่อยตัวเพราะข้อกล่าวหาไม่มีมูลใดๆ

แต่แล้วในปี ค.ศ.1925 พวก OGPU ปลอมแปลงข้อมูลว่ามีความพยายามต่อต้านรัฐบาลโซเวียตโดยศิษย์เก่าโรงเรียน Tsarskoye Selo Lyceum ในคืนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ของปีนั้น พวก OGPU จึงจับกุมศิษย์เก่าโรงเรียนดังกล่าวถึง 150 คน หนึ่งในนั้นมีกาลิตซินรวมอยู่ด้วย

กาลิตซินจึงถูกจับกุมตัวเป็นครั้งที่สาม และถูกคุมขังไว้เป็นเวลานานหลายเดือน จนกระทั่งในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1925 กาลิตซินเป็นหนึ่งในผู้คุมขังที่ถูกตัดสินให้รับโทษยิงเป้าด้วยข้อหาร่วมในองค์กรที่ “ต่อต้านการปฏิวัติ”

ด้วยเหตุนี้กาลิตซิน ผู้รับใช้ซาร์แห่งรัสเซียมาถึงสามรัชกาลด้วยความซื่อสัตย์จึงจากโลกนี้ไปด้วยวัย 75 ปี

ในปี ค.ศ.2004 รัฐบาลรัสเซียได้ประกาศว่ากาลิตซินเป็นผู้บริสุทธิ์ กาลิตซินจึงได้รับการกอบกู้ชื่อเสียงกลับมาโดยสมบูรณ์

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!