ประวัติศาสตร์วาระสุดท้ายของ "อาณาจักรเหลียว" คู่ศึกของราชวงศ์ซ่ง

วาระสุดท้ายของ “อาณาจักรเหลียว” คู่ศึกของราชวงศ์ซ่ง

อาณาจักรเหลียว หรือว่าต้าเหลียว (Liao Dynasty,大遼) เป็นชื่อที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในซีรีส์จีนที่คนไทยนิยม ไม่ว่าจะเป็นขุนศึกตระกูลหยาง และเปาบุ้นจิ้นล้วนแต่กล่าวถึงต้าเหลียวในฐานะคู่ศึกของราชวงศ์ซ่ง หนึ่งในราชวงศ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์จีน

อย่างในเรื่องขุนศึกตระกูลหยางจะกล่าวถึงอาณาจักรเหลียวเป็นพิเศษ เพราะว่าเป็นอาณาจักรที่เหล่าขุนศึกตระกูลหยางทำศึกด้วยโดยตรง และพลาดพลั้งถูกสังหารโดยกองทัพเหลียวไปหลายคน

จริงๆ แล้วอาณาจักรแห่งนี้ไม่ใช่อาณาจักรของคนจีนฮั่น แต่เป็นอาณาจักรที่ก่อตั้งโดยชาวชี่ตัน (Khitan) ที่อาศัยอยู่ในทางตอนเหนือนอกกำแพงเมืองจีนออกไป ชาวชี่ตันเหล่านี้เริ่มเรืองอำนาจขึ้นในศตวรรษที่ 10 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนแตกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ หลังการล่มสลายของราชวงศ์ถัง ทำให้ไม่มีกำลังเพียงพอจะสยบชาวชี่ตันเหล่านี้

เจดีย์เทียนหนิงที่สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรเหลียว By BabelStone , CC BY-SA 3.0,

อาณาจักรเหลียวจึงกลายเป็นมหาอำนาจทางตอนเหนือ และมีอำนาจปกคลุมแมนจูเรีย มองโกเลีย และบางส่วนของรัสเซียในปัจจุบัน ด้วยพรมแดนที่ติดกันทำให้อาณาจักรเหลียวทำศึกกับราชวงศ์ซ่งหลายครั้ง โดยส่วนมากฝ่ายเหลียวจะเป็นฝ่ายรุกราน และฝ่ายซ่งจะเป็นฝ่ายตั้งรับ และมักจะใช้กลยุทธ์ประนีประนอมกับฝ่ายเหลียวเพื่อไม่ให้ยกกองทัพมารุกราน

อย่างไรก็ดีในช่วงต้นศตวรรษที่ 12 ผู้รุกรานอย่างอาณาจักรเหลียวกลับเป็นฝ่ายถูกรุกรานบ้าง และเพียงเวลาไม่กี่ปี อาณาจักรเหลียวที่มีอายุเกือบ 200 ปีก็ถึงกับราพณาสูร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นกันแน่?

อากูตา: วีรบุรุษของชาวหนี่ว์เจิน

ลึกขึ้นไปตอนเหนือของอาณาจักรเหลียวมีเชื้อชาติอีกเชื้อชาติหนึ่งชื่อว่า หนี่ว์เจิน (Jurchen, Jusen) ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำยาลู ในอดีตชนกลุ่มนี้อยู่ในอำนาจของอาณาจักรเหลียวและอาณาจักรโครยอ (Goryeo) ของเกาหลีสลับไปมา โดยแต่ละเผ่าจะมอบบรรณาการให้กับสองอาณาจักรอยู่อย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ดีอาณาจักรเหลียวของชาวชี่ตันมักอาศัยที่ตนเองเป็นอาณาจักรใหญ่กดขี่พวกหนี่ว์เจินอยู่สม่ำเสมอ โดยสิ่งที่พวกหนี่ว์เจินโกรธแค้นมากที่สุดคือ พวกหนี่ว์เจินต้องส่งบรรณาการเป็นหญิงสาวให้กับราชสำนักเหลียวทุกปี

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 12 วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ได้ถือกำเนิดขึ้นในหมู่ของพวกหนี่ว์เจิน เขาคืออากูตา (Aguda) บุตรชายคนที่สองของหัวหน้าเผ่าหนึ่งของพวกหนี่ว์เจิน

อากูตา

อากูตานั้นมีชื่อเสียงขึ้นมาหลังจากที่ปฏิเสธที่จะเต้นรำให้กับจักรพรรดิของพวกเหลียวดูในงานเลี้ยง ทำให้พวกหนี่ว์เจินเห็นว่าเขากล้าหาญจึงมาสวามิภักดิ์มากมาย แต่เหนือจากความกล้าหาญแล้ว อากูตายังเป็นคนฉลาด มีเมตตา และบารมี ในช่วงที่ชาวหนี่ว์เจินขาดแคลนอาหารอย่างหนัก เขาได้เสนอให้บิดาของเขารับพวกชนเผ่าอื่นที่หิวโหยเข้ามาไว้ ทำให้ผู้คนจำนวนมากรักใคร่ในตัวอากูตา

ในปี ค.ศ.1113 อากูตาขึ้นเป็นหัวหน้าเผ่า และได้เริ่มการปราบปรามเผ่าหนี่ว์เจินเผ่าอื่นเพื่อรวมพวกหนี่ว์เจินให้เป็นหนึ่งเดียว และก็ทำได้สำเร็จในเวลาไม่นาน แต่อากูตาไม่ได้ยินดีกับความสำเร็จนั้นเพราะสิ่งที่เขาต้องการอย่างเดียวก็คือกำจัดพวกเหลียวให้สิ้นซากไป

เดือนกันยายนของปีต่อมา อากูตาและพวกหนี่ว์เจินตั้งตัวเป็นกบฎต่ออาณาจักรเหลียว กองทัพหนี่ว์เจินจำนวน 2,500 คนมีชัยเหนือกองทัพเหลียวจำนวน 7,000 คนในจี๋หลิน ทำให้ขวัญของพวกหนี่ว์เจินดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

หลังจากนั้นเราไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น แต่อากูตาตีกองทัพเหลียวแตกไปกองแล้วกองเล่า ทหารเหลียวที่ถูกส่งมาล้วนแต่แตกฉานไปอย่างง่ายดายด้วยฝีมือของอากูตา ราชสำนักเหลียวจึงส่งกองทัพใหญ่ขนาด 700,000 คนเข้ามารบกับอากูตา แต่กลับถูกอากูตาตีแตกอย่างไม่น่าเชื่อด้วยกองทหารม้าเพียง 20,000 นาย

เราไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ที่น่าจะเป็นไปได้คือกองทัพเหลียวนั้นไม่มีศักยภาพเหมือนกับแต่ก่อน โดยอาจจะเป็นการเกณฑ์ทหารใหม่ที่อ่อนประสบการณ์เข้ามารบ ทำให้เมื่อถูกโจมตีโดยกองทัพหนี่ว์เจินที่มีประสบการณ์มากกว่าจึงแตกหนีโดยฉับพลัน นอกจากนี้ตัวเลข 700,000 คนอาจจะเป็นตัวเลขที่เกินจริงเช่นเดียวกัน

ชัยชนะครั้งใหญ่เปิดโอกาสให้อากูตาตีชิงเมืองต่างๆ ของอาณาจักรเหลียว ภายในปี ค.ศ.1116 คาบสมุทรเหลียวตงก็อยู่ในกำมือของอากูตาทั้งหมด

โจมตีราวกับพายุ

อากูตาได้ราชาภิเษกตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ โดยใช้ชื่อราชวงศ์ว่าราชวงศ์จิน ส่วนเมืองหลวงตั้งอยู่ที่ฮุ่ยหนิง (ใกล้กับฮาร์บินในปัจจุบัน)

หลังจากสถาปนาราชวงศ์แล้ว อากูตาจึงเข้าตีอาณาจักรเหลียวต่อไป ในช่วงเวลานี้เองราชสำนักซ่งที่ต้องการดินแดนคืนจากอาณาจักรเหลียวจึงส่งทูตข้ามทะเลมาหาอากูตาเพื่อเจรจาเป็นพันธมิตร โดยมีข้อตกลงว่ากองทัพซ่งจะเข้าโจมตีภาคใต้ของอาณาจักรเหลียว แลกกับดินแดน 16 จังหวัดที่ราชวงศ์โฮ้วจิ้นเคยมอบให้อาณาจักรเหลียว

ฝ่ายจินตอบรับพันธมิตรดังกล่าวเอาไว้ก่อน ส่วนหนึ่งเพราะฝ่ายซ่งยอมจ่ายค่าบรรณาการเป็นเงินมากถึง 200,000 ตำลึง และผ้าไหมคุณภาพเยี่ยมอีกถึง 300,000 ชุด ดังนั้นจึงไมมีเหตุใดๆ ที่จะปฏิเสธ

ชาวชี่ตัน

ในความเป็นจริงแล้วอากูตาไม่จำเป็นต้องทำสัญญากับพันธมิตรกับอาณาจักรซ่งเลยแม้แต่น้อย เพราะลำพังกองทัพจินเองก็เหลือกำลังที่ฝ่ายเหลียวจะต้านทานได้อยู่แล้ว กองทัพจินตีซ่างจิง เมืองหลวงของอาณาจักรเหลียวได้ในปี ค.ศ.1120 และต่อมาก็ตีจงจิง เมืองหลวงอีกแห่งหนึ่งในปี ค.ศ.1122 ทำให้จักรพรรดิเหลียวต้องหนีลงใต้ไปตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ปักกิ่ง (ในเวลานั้นเป็นเมืองหลวงใต้ของอาณาจักรเหลียว)

สาเหตุที่อาณาจักรเหลียวอ่อนแอถึงเพียงนั้นน่าจะเกิดจากความวุ่นวายในอาณาจักรเอง จักรพรรดิเทียนจั้วแห่งเหลียวนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ เหล่าแม่ทัพนายกองพยายามที่จะก่อรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนจักรพรรดิ แต่เรื่องกลับเป็นว่าล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง พวกแม่ทัพที่ก่อรัฐประหารต่างเกรงความผิด พวกเขาจึงพากันไปยอมจำนนต่อฝ่ายจินจนหมดสิ้น ทำให้การป้องกันอาณาจักรเหลียวอ่อนแอลงไปอีก

ความฝันที่จะทำลายอาณาจักรเหลียวของอากูตากำลังจะเกิดขึ้นอยู่มะรอมมะร่อ แต่อากูตากลับสวรรคตเสียก่อนในปี ค.ศ.1123 บัลลังก์จินจึงตกอยู่กับน้องชายของเขาที่ได้ราชาภิเษกตนเองขึ้นเป็นจินไท่จง จักรพรรดิแห่งอาณาจักรจิน

จินไท่จงดำเนินการโจมตีอาณาจักรเหลียวต่อไป กองทัพจินบุกลงใต้ราวกับการผ่าไม้ไผ่ และเข้าใกล้ปักกิ่งเข้ามาตามลำดับ ในปี ค.ศ.1125 กองทัพจินตีกรุงปักกิ่งแตกและจับจักรพรรดิเทียนจั้ว จักรพรรดิองค์สุดท้ายของอาณาจักรเหลียวได้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้อาณาจักรเหลียวที่เคยยิ่งใหญ่จึงถึงกาลอวสาน

หลังจากที่ฝ่ายจินพิชิตอาณาจักรเหลียวได้แล้ว จินไท่จงเห็นว่าราชวงศ์ซ่งอ่อนแอจึงเข้าตีด้วย ส่งผลให้ราชวงศ์ซ่งพ่ายแพ้ยับเยิน เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ทุกขภัยแห่งจิ้งคัง

อาณาจักรคาราคิไต

ในปี ค.ศ.1124 เยหลี่ว์ต้าฉือ หนึ่งในราชนิกูลเหลียวเห็นว่าอาณาจักรเหลียวไม่รอดแล้ว เขาจึงรีบนำไพร่พลจำนวนสองหมื่นคนหนีไปทางชายแดนตะวันตกของอาณาจักร โดยหมายใจว่าจะใช้ดินแดนแห่งนี้เป็นที่มั่นกอบกู้อาณาจักรเหลียว

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เยหลี่ว์ต้าฉือเห็นว่าการกอบกู้อาณาจักรของตนคงเกิดขึ้นไม่ได้อีกแล้ว หลังจากที่พยายามเข้าโจมตีอาณาจักรจินและพ่ายแพ้ยับเยินในปี ค.ศ.1134 เขาจึงสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิและสร้างอาณาจักรใหม่ขึ้นชื่อว่าอาณาจักรคาราคิไต (Qara-Khitai) อาณาจักรแห่งนี้มีเมืองหลวงอยู่ในประเทศคีร์กิซสถานในปัจจุบัน และอยู่อย่างสงบจนกระทั่งเจงกิสข่านทำลายอาณาจักรแห่งนี้ทิ้งเสียในปี ค.ศ.1218

ความแปลกของอาณาจักรคาราคิไตคือ เป็นอาณาจักรที่มีความเป็นจีนสูงมาก (พวกชี่ตันรับวัฒนธรรมจีนเข้าไปอย่างมากตั้งแต่สมัยเหลียว) แต่กลับตั้งอยู่ในเอเชียกลาง นักประวัติศาสตร์จีนบางคนมักถือว่าอาณาจักรแห่งนี้เป็นหนึ่งในอาณาจักรของจีนด้วย แม้ว่าในทางทฤษฎีและปฏิบัติแล้ว ตั้งแต่ผู้นำไปจนถึงประชาชนทั้งหมดของอาณาจักรคาราคิไตล้วนแต่ไม่ใช่คนจีนเลยสักคนเดียวก็ตาม

อย่างไรก็ดีคำกล่าวถึงประเทศจีนในภาษาตะวันตกอย่างเช่น “China” หรือว่า “Китай” ในภาษาตระกูลสลาฟอย่างภาษารัสเซียล้วนแต่มีรากศัพท์มาจากคำว่า “Khitai” หรืออาณาจักรคาราคิไตทั้งสิ้นครับ

Sources:

  • Mote, Imperial China: 900-1800
  • Biran, The Empire of the Qara Khitai in Eurasian History: Between China and the Islamic World

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!