ประวัติศาสตร์ขงเบ้งปะทะสุมาอี้ ดุเดือดในนิยายสามก๊ก จืดชืดในหน้าประวัติศาสตร์

ขงเบ้งปะทะสุมาอี้ ดุเดือดในนิยายสามก๊ก จืดชืดในหน้าประวัติศาสตร์

การต่อสู้ระหว่างจูกัดเหลียง ขงเบ้งและสุมาอี้ เป็นการต่อสู้ที่มีชื่อเสียงที่สุดในนวนิยายสามก๊กของหลอกว้านจง ในนิยายมีการชิงไหวชิงพริบมากมาย เพื่อให้ได้ชัยชนะ อาทิเช่นขงเบ้งตั้งค่ายกลปักกัวติ๋นเพื่อเอาชนะสุมาอี้ หรือขงเบ้งล่อสุมาอี้เข้าไปในเฮาโลก๊ก แล้วจุดไฟเผารอบด้าน แต่สุมาอี้กลับรอดตัวไปได้เพราะฝนที่ตกหนัก

หากแต่ว่าในหน้าประวัติศาสตร์แล้วนั้น การต่อสู้ของทั้งสองจืดชืดกว่านั้นมาก ไม่ต้องสงสัยว่าการที่ในนิยายสนุกเช่นนั้นมาจากปลายปากกาอันสุดยอดของหลอกว้านจงที่นำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จีนยุคโน้นยุคนี้มาใส่ ดังเช่นที่เขาเคยทำในลักษณะเดียวกันกับวีรกรรมของขงเบ้งหลายๆ อย่างมาแล้วตลอดเรื่อง

สงครามระหว่างจ๊กก๊กกับวุยก๊ก

ศึกเกเต๋งและเสเสีย

ในนิยายสามก๊กเล่าว่า การปะทะของสุมาอี้และขงเบ้งเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อขงเบ้งบุกวุยครั้งที่ 1 สุมาอี้เป็นผู้นำทัพมาตีเกเต๋ง จุดยุทธศาสตร์สำคัญของฝ่ายจ๊กก๊ก และเอาชนะม้าเจ๊กได้สำเร็จ เพราะม้าเจ๊กไปตั้งค่ายอยู่บนยอดเขา

ต่อมาสุมาอี้ก็ยกทัพมาตีเสเสีย เมืองที่ขงเบ้งเก็บสะสมเสบียงอาหารเอาไว้ แต่การโจมตีล้มเหลว เพราะขงเบ้งหลอกสุมาอี้ด้วยการเปิดประตูเมืองไว้รอรับกองทัพวุย สุมาอี้รู้สึกเกรงกลัวจึงไม่กล้าโจมตี ทำให้กองทัพจ๊กก๊กถอยหนีไปได้อย่างปลอดภัย

ทั้งหมดล้วนแต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในหน้าประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น

พงศาวดารยุคสามก๊กของเฉินโซ่วเขียนไว้ชัดเจนว่า แม่ทัพผู้ยกไปตีเกเต๋ง (เจียถิง) คือ เตียวคับ (จางเหอ) ไม่ใช่สุมาอี้ พงศาวดารราชวงศ์จิ้นรายงานว่าในเวลานั้นสุมาอี้อยู่ที่เกงจิ๋ว (จิงโจว) เพื่อดูแลราษฎรแถวนั้นและจัดระเบียบเรื่องการเกษตรอยู่ การที่สุมาอี้จะไปโผล่ที่เกเต๋งที่ห่างออกไปนับพันกิโลเมตรจึงเป็นไปไม่ได้

ในเมื่อสุมาอี้ไปโผล่ที่แนวรบกับจ๊กก๊กไม่ได้ นั่นแสดงว่าการที่ขงเบ้งเปิดประตูเมืองลวงสุมาอี้ที่เสเสียจึงเกิดขึ้นไม่ได้ด้วย มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่มีพงศาวดารใดๆ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวไว้เลย

ศึกเขากิสาน

ประเด็นศึกเขากิสานนี้ หลอกว้านจงแต่งให้มันซับซ้อนขึ้นมากและบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างสิ้นเชิง หลอกว้านจงเล่าว่าขงเบ้งบุกวุยก๊กทั้งหมดหกครั้ง (รวมครั้งที่บุกเกเต๋งด้วยด้านบน) และทุกครั้งขงเบ้งจะเคลื่อนทัพผ่านเขากิสาน

แต่ในหน้าประวัติศาสตร์ ขงเบ้งบุกวุยก๊กเพียงห้าครั้งเท่านั้น และมีเพียงสองครั้งเท่านั้นที่เคลื่อนทัพผ่านเขากิสาน เท่ากับว่ามีสงครามหนึ่งครั้งที่หลอกว้านจงแต่งขึ้นมาเอง 100% ซึ่งเขาก็คงแต่งให้นิยายสนุก และอวยขงเบ้งไปด้วย เพราะแทบทุกการต่อสู้ในสงครามที่หลอกว้านจงแต่งขึ้นมาเอง ขงเบ้งเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ และสุมาอี้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้

กว่าที่ขงเบ้งและสุมาอี้จะได้ปะทะกันจริงๆ ก็เป็นครั้งที่สี่แล้วที่ขงเบ้งบุกวุยก๊ก และเป็นครั้งที่สองที่ขงเบ้งเดินทัพผ่านเขากิสาน

หลอกว้านจงบรรยายการปะทะไว้อย่างดุเดือด มีการตั้งค่ายกลพยุหะที่ทำให้สุมาอี้ตกหลุมพราง และขงเบ้งได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นตรงกันข้าม สุมาอี้แทบจะหดหัวอยู่ในกระดองตลอดเวลา กองทัพของเขาแทบไม่ได้ปะทะกับขงเบ้งเลย การต่อสู้แบบพยุหะนี้หลอกว้านจงคงได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องของซุนปิ้นกระมัง

การยุยงของเหล่าทหาร ทำให้สุมาอี้ส่งเตียวคับออกไปรบครั้งหนึ่ง แต่กลับพ่ายแพ้ทหารของอุยเอี๋ยน ทำให้หลังจากนั้นสุมาอี้สั่งให้ทหารอยู่ในค่ายอย่างสมบูรณ์ ตัวสุมาอี้รู้ดีอยู่แล้วว่าเส้นทางเสบียงของฝ่ายจ๊กก๊กกันดารมาก ขงเบ้งอยู่ได้ไม่นานย่อมต้องถอยทัพ แล้วเขาจะออกไปรบทำไม

ภายในเวลาไม่นาน จ๊กก๊กต้องถอยทัพเพราะการขาดเสบียงอาหาร เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะลิเงียมส่งจดหมายไปลวงขงเบ้งที่แนวหน้าว่าเล่าเสี้ยนสั่งให้กองทัพทั้งหมดถอยทัพ ในส่วนนี้ทั้งนิยายและประวัติศาสตร์ตรงกัน

อย่างไรก็ตามด้วยความที่หลอกว้านจงแต่งเนื้อหาสงครามขึ้นมาเองทั้งหมดครั้งหนึ่ง ทำให้ในนิยายสามก๊กมีการถอยทัพสองครั้งที่ขงเบ้งใช้แผนการเทพๆ

สองครั้งที่ว่าคือ

  1. ขงเบ้งเพิ่มเตาไฟ
  2. ขงเบ้งซุ่มโจมตีเตียวคับจนตาย

ครั้งแรกไม่ได้เกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆ ที่ให้ข้อมูลว่าขงเบ้งทำเช่นนั้น ส่วนนี้เห็นได้ชัดว่าหลอกว้านจงได้แรงบันดาลใจจากซุนปิ้นที่เคยลดเตาไฟลวงผังเจวียน แต่เอามาเปลี่ยนใหม่ให้เป็นแบบตรงกันข้าม เพื่อให้มีความออริจินอล หลังจากนั้นจึงใส่มันลงไปในสงครามครั้งที่หลอกว้านจงแต่งขึ้นมาเอง

แต่ครั้งที่สองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในสงครามครั้งที่ 4 นี้ นั่นคือสุมาอี้ส่งเตียวคับไล่ตามกองทัพที่กำลังถอยของขงเบ้งไป ขงเบ้งได้ซุ่มทหารรอไว้ที่ช่องเขามู่เหมิน ทำให้เตียวคับถูกสังหารในที่สุด

ศึกทุ่งราบหวู่จ้าง

ศึกทุ่งราบหวู่จ้าง เป็นศึกสุดท้ายในชีวิตของขงเบ้ง และเป็นการบุกวุยก๊กครั้งที่ 5 ของเขาในหน้าประวัติศาสตร์ แต่เป็นครั้งที่ 6 ในนิยายสามก๊ก

หลอกว้านจงเล่าว่าขงเบ้งตั้งใจกับสงครามครั้งนี้มาก และเคยเอ่ยปากว่าถ้าไม่ชนะจะไม่ยกทัพกลับมาจ๊กก๊กอีก ในประวัติศาสตร์เองก็อธิบายไว้คล้ายกันว่า ขงเบ้งเตรียมพร้อมการรุกรานครั้งนี้เป็นอย่างดี นอกจากจะใช้วิทยาการวัวยนต์ในการขนเสบียงแล้ว เขายังเตรียมให้พวกทหารเตรียมทำไร่ทำนาเพื่อหาเสบียงในดินแดนของศัตรูด้วย

ในนิยายสามก๊ก ขงเบ้งพยายามล่อสุมาอี้ให้ออกมาจากค่ายเพื่อต่อสู้กันให้รู้แพ้รู้ชนะ แต่สุมาอี้ก็เฉยเสีย สุดท้ายขงเบ้งจึงให้ทหารแกล้งแพ้ จนสุมาอี้ยกกองทัพใหญ่ออกมาตีค่าย ขงเบ้งล่อสุมาอี้และกองทัพวุยทั้งหมดไปที่ช่องเขาเฮาโลก๊กได้สำเร็จ และจุดไฟเผา ทำให้ทหารวุยล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่สุมาอี้กลับไม่ตายเพราะว่าฝนตกลงมาพอดี

พงศาวดารทั้งหลายอย่างพงศาวดารราชวงศ์จิ้นและพงศาวดารสามก๊กไม่ได้กล่าวถึงการต่อสู้ครั้งดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย สุมาอี้ยังคงหดหัวอยู่ในค่ายเช่นเดิม ไม่มีการหลอกไปเผาทัพใดๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น ทั้งหมดจึงเป็นสิ่งที่หลอกว้านตงแต่งขึ้นมาเอง

อย่างไรก็ตาม ขงเบ้งได้ส่งเสื้อผ้าผู้หญิงไปให้สุมาอี้จริงๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ สุมาอี้ทำเป็นโกรธแต่ก็ไม่ออกรบอยู่ดี เขาอ้างกับทหารของเขาว่ามีพระบรมราชโองการจากฮ่องเต้ไม่ให้ออกรบ

เช่นเดียวกับในนิยาย สุมาอี้ได้สอบถามวิถีชีวิตขงเบ้งจากทูต ซึ่งทูตได้บอกไปตามจริง สุมาอี้จึงพูดขึ้นว่าขงเบ้งทำทุกอย่างด้วยตนเองเช่นนี้ เขาคงจะอยู่ได้อีกไม่นาน

รวมแล้วทั้งสองฝ่ายตั้งทัพยันกันถึงร้อยวันโดยไม่มีการสู้รบเกิดขึ้นเลย สุดท้ายเป็นอย่างที่สุมาอี้คิดไว้จริงๆ ขงเบ้งสิ้นชีวิตจากอาการป่วยในค่าย กองทัพจ๊กก๊กทั้งหมดจึงถอยทัพกลับดินแดนของตน

หลอกว้านจงเล่าเรื่องการถอยทัพไว้อย่างพิสดาร นั่นคือขงเบ้งสั่งให้สร้างหุ่นรูปตนเองไว้ก่อนตาย เพื่อหลอกสุมาอี้ว่าตนเองยังไม่ตาย สุมาอี้ตกใจกลัวจึงรีบถอยหนีไป

แต่ในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว ไม่มีอะไรแบบนั้นเกิดขึ้น สุมาอี้ที่ยกกองทัพไล่ตามไปเห็นกองทัพของเอียวหงีและเกียงอุยถอยทัพไปอย่างเป็นระเบียบและพร้อมจะต่อสู้ สุมาอี้จึงให้กองทัพทั้งหมดถอยกลับค่าย

หลายวันต่อมา สุมาอี้ทราบว่ากองทัพจ๊กก๊กถอยไปอย่างรวดเร็วเพราะขงเบ้งตายแล้ว สุมาอี้จึงยกทัพไล่ตามไปอีกครั้งหนึ่ง แต่ช้าไปเสียแล้ว กองทัพจ๊กก๊กได้ถอยไปไกลจนยากที่จะไล่ตามได้ทัน สุมาอี้ได้แต่ไปตรวจดูค่ายที่ขงเบ้งทิ้งไว้ และชื่นชมขงเบ้งว่าเป็นอัจฉริยะคนหนึ่ง

พงศาวดารราชวงศ์จิ้น (จิ้นซู) ได้อธิบายว่าพวกชาวบ้านเห็นสุมาอี้ไม่กล้าโจมตีกองทัพจ๊กก๊กในครั้งแรก จึงพากันพูดกันว่า “จูเก๋อผู้ตายแล้วทำให้จงต๋าผู้มีชีวิตหวาดกลัว” สุมาอี้ได้ทราบเรื่องก็หัวเราะและกล่าวว่าเขาไม่อาจจะทำนายความคิดของคนตายได้

สรุป

การปะทะกันระหว่างขงเบ้งและสุมาอี้ในหน้าประวัติศาสตร์จึงจืดชืดต่างกับนิยายโดยสิ้นเชิง ทั้งสองฝ่ายเคยต่อสู้กันจริงๆ เพียงสองครั้งเท่านั้น และทั้งสองครั้งสุมาอี้ตั้งรับอยู่ในค่ายเกือบจะตลอดเวลา เพราะสุมาอี้รู้ดีว่าเขาสามารถเอาชนะขงเบ้งได้โดยที่ไม่ต้องรบ

ยุทธศาสตร์ของสุมาอี้ถูกต้อง เพราะขงเบ้งไม่สามารถเอาชนะการตั้งรับอันเหนียวแน่นของเขาได้ ทำให้วุยก๊กเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในบั้นปลาย

Sources:

  • Chen Shou, Sanguozhi
  • Book of Jin, Fang Xuanling

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!