ประวัติศาสตร์นักพระสัตถา กษัตริย์กัมพูชาผู้ทำสงครามหลายครั้งกับกรุงศรีอยุธยา

นักพระสัตถา กษัตริย์กัมพูชาผู้ทำสงครามหลายครั้งกับกรุงศรีอยุธยา

ถ้าเคยอ่านประวัติศาสตร์ไทยในสมัยสมเด็จพระนเรศวร หลายท่านคงจะทราบว่านอกจากสมเด็จพระนเรศวรจะต่อสู้กับพม่าแล้ว พระองค์ยังต่อสู้กับกรุงกัมพูชาอยู่หลายครั้งด้วยเช่นกัน

ผู้ที่พระองค์ต่อสู้ด้วยคือ กษัตริย์กัมพูชา ผู้มีนามว่า นักพระสัตถา หรือ นักพระสัฏฐา พระนามอย่างเป็นทางการของพระองค์คือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4

เรามาดูกันครับว่าชีวิตของกษัตริย์พระองค์นี้เป็นอย่างไรบ้าง

ปูมหลัง

ในปัจจุบัน เราทราบเรื่องของนักพระสัตถาน้อยมาก เพราะหลักฐานประวัติศาสตร์ของประเทศกัมพูชาในช่วงคริสตศตวรรษที่ 15-16 แทบจะไม่มีหลงเหลือมาถึงสมัยปัจจุบันเลย ยุคสมัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของยุคที่เรียกว่า “ยุคมืดของประวัติศาสตร์กัมพูชา” ที่ครอบคลุมตั้งแต่ศตวรรษที่ 15-19

ดังนั้นหลักฐานที่เรามีอยู่จึงเป็นหลักฐานฝั่งไทย จดหมายเหตุของจีนและชาติตะวันตก เท่านั้น เพราะฉะนั้นเราต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง

ในช่วงก่อนศตวรรษที่ 15 อาณาจักรขอมได้เป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดินแดนของอาณาจักรครอบคลุมถึงประเทศไทย ลาว และกัมพูชาในปัจจุบันเกือบทั้งหมด ดังรูปด้านล่าง

อาณาจักรขอม (สีแดง) ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 10 (500 กว่าปีก่อนการก่อตั้งของอาณาจักรอยุธยา) Cr: Javierfv1212 

หากแต่ว่าในช่วงศตวรรษที่ 13-14 อาณาจักรขอมเสื่อมถอยลง ทำให้เสียการควบคุมดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด เปิดโอกาสให้อาณาจักรอยุธยาขึ้นมามีอำนาจ อยุธยาทวีความแข็งแกร่งและเป็นฝ่ายรุกรานอาณาจักรขอมบ้าง อยุธยาสามารถเอาชนะอาณาจักรขอม ถึงขนาดยึดอังกอร์ (Angkor) อันเป็นเมืองหลวงได้ถึงสองครั้งและกวาดต้อนผู้คนมามากมาย

ด้วยความที่ประสบปัญหาหลายประการ ในปี ค.ศ.1431 กษัตริย์กัมพูชาตัดสินพระทัยทิ้งเมืองอังกอร์ และมาตั้งเมืองหลวงและศูนย์กลางใหม่ขึ้นใกล้กับกรุงพนมเปญในปัจจุบัน ในปีนี้นักประวัติศาสตร์ถือว่าอาณาจักรขอมสิ้นสุดลง

ต่อมาในศตวรรษที่ 16 เมืองหลวงของกัมพูชาก็ย้ายต่อไปอีก โดยไปตั้งใหม่ที่เมืองลองเวก (Longvek) หรือ ละแวก ดังที่ปรากฏในพงศาวดารไทย

ในช่วงรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาและสมเด็จพระนเรศวร เมืองหลวงของกัมพูชาจึงอยู่ที่ละแวก ดังนั้นพงศาวดารไทยจึงขนามนามกองทัพกัมพูชาว่า กองทัพละแวก ส่วนกษัตริย์กัมพูชาก็เรียกว่าพระยาละแวกนั่นเอง

รุกรานอยุธยา

ด้วยความที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์มีน้อยมาก เราจึงไม่ทราบเรื่องใดๆ ที่เกิดขึ้นในรัชกาลของนักพระสัตถาจากฝ่ายกัมพูชาเลย บ้างว่าพระองค์น่าจะเป็นกษัตริย์ที่ดีและมีความสามารถพระองค์หนึ่ง พระองค์พยายามจะตีชิงดินแดนที่สูญเสียให้กับอยุธยากลับคืนมา

ในปี ค.ศ.1569 พระเจ้าบุเรงนองทรงตีกรุงศรีอยุธยาแตก พระองค์โปรดให้กวาดต้อนผู้คนไปจากอยุธยาเป็นจำนวนมาก ทำให้อยุธยาเหลือไพร่พลน้อย นักพระสัตถาเห็นเป็นโอกาสจึงส่งกองทัพเข้ามาโจมตีหัวเมืองต่างๆ ของอยุธยาเพื่อกวาดต้อนผู้คนอยู่เนืองๆ

สาเหตุที่นักพระสัตถาทำเช่นนั้นก็เพราะต้องการกำลังคนเพิ่มเติมไปอยู่อาศัยในดินแดนของกัมพูชา หลังจากที่ถูกอยุธยากวาดต้อนผู้คนมาเป็นจำนวนมากก่อนหน้านี้

เมืองละแวก

หากแต่ว่าสมเด็จพระนเรศวร พระโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ทรงมีฝีมือเข้มแข็งในการทำสงคราม พระองค์นำกองทัพอยุธยาตีกองทัพละแวกแตกไปหลายครั้ง นักพระสัตถาจึงทรงให้ทูตมาขอสงบศึกกับฝ่ายอยุธยา

ในเวลานั้นอยุธยายังไม่ต้องการทำสงครามกับละแวก เพราะว่ายังต้องการเก็บกำลังทหารเอาไว้ต่อสู้กับหงสาวดี ทั้งสองฝ่ายตกลงเป็นไมตรีกันในช่วง ปี ค.ศ.1582

หลังจากที่อยุธยาประกาศอิสรภาพจากหงสาวดี กองทัพหงสาวดีได้ยกมาตีอยุธยา นักพระสัตถาได้ทรงส่งกองทัพละแวกมาช่วยอยุธยารบด้วย แต่พระศรีสุพรรณมาธิราช พระโอรสของนักพระสัตถากลับขัดแย้งกับสมเด็จพระนเรศวรทำให้กองทัพละแวกต้องยกทัพกลับไป ความสัมพันธ์ที่เหมือนจะดีขึ้นระหว่างอยุธยาและละแวกจึงกลับไปย่ำแย่เช่นเดิม

ต่อมากองทัพกัมพูชาจึงย้อนกลับมาปล้นสะดมอีกครั้ง สมเด็จพระนเรศวรทรงโปรดให้เหล่าแม่ทัพยกไปตีให้แตกไป ตั้งแต่บัดนั้นสมเด็จพระนเรศวรทรงเล็งเห็นว่าเมื่อมีโอกาส พระองค์จะยกทัพไปตีกรุงกัมพูชาเพื่อจบปัญหาการรุกรานนี้ให้จงได้

สมเด็จพระนเรศวรทรงรุกรานละแวก

ในปี ค.ศ.1584 พงศาวดารกัมพูชาว่านักพระสัตถาทรงแต่งตั้งพระโอรสสองพระองค์เป็นกษัตริย์ร่วม ทำให้กัมพูชามีกษัตริย์พร้อมกันถึงสามพระองค์ในคราวเดียว พงศาวดารกัมพูชา (เขียนในยุคหลัง) ว่าหลังจากนั้นนักพระสัตถาทรงเสียพระสติ และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดื่มเหล้า

ไม่กี่ปีต่อมากัมพูชาก็ประสบกับการรุกรานครั้งใหญ่

สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่าอยุธยาว่างศึกหงสาวดี พระองค์โปรดให้ยกทัพไปตีกรุงกัมพูชาในปี ค.ศ.1591 นักพระสัตถาทรงส่งกำลังเข้าต่อต้าน และสามารถหยุดกองทัพอยุธยาไว้ได้ที่ป่ารานาม (Ranam) แต่สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้กองทัพหนุนเข้าตีที่มั่นของฝ่ายกัมพูชา ทำให้กองทัพละแวกต้านทานไม่อยู่ต้องถอยหนี กองทัพอยุธยารีบยกติดตามไปและยึดเมืองพระตะบองและโพธิสัตว์มาได้อย่างรวดเร็ว

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ไม่มีสิ่งใดหยุดกองทัพอยุธยาได้ สมเด็จพระนเรศวรทรงเข้าถึงเมืองละแวกราวกับลมพัด พระองค์โปรดให้กองทัพทั้งหมดเข้าโจมตี แต่นักพระสัตถาต้านทานอย่างแข็งแกร่ง ทำให้สามเดือนผ่านไป สมเด็จพระนเรศวรก็ยังทรงเข้าเมืองละแวกไม่ได้ เสบียงอาหารฝ่ายอยุธยาเริ่มร่อยหรอลง ประกอบกับว่าพระองค์ทิ้งอยุธยามาเป็นเวลานาน กองทัพหงสาวดีอาจจะยกมาตีอยุธยาได้ สมเด็จพระนเรศวรทรงจำต้องมีรับสั่งให้กองทัพทั้งหมดถอยทัพ

ถึงแม้จะทรงตีเมืองละแวกไม่สำเร็จ สมเด็จพระนเรศวรดำริแล้วว่าจะยกมาตีให้ได้ในครั้งหน้า

สำหรับนักพระสัตถาแล้ว จริงหรือที่พระองค์เสวยแต่เหล้า? ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมพระองค์ถึงทรงต้านทานสมเด็จพระนเรศวรอย่างเข้มแข็งได้เป็นเวลาถึงสามเดือน?

สงครามครั้งใหญ่

สมเด็จพระนเรศวรทรงมีชัยเหนือพระมหาอุปราชาในสงครามยุทธหัตถีในปี ค.ศ.1592 ปีต่อมาพระองค์ก็โปรดให้ยาตราทัพใหญ่ยกมาตีกรุงกัมพูชา ครั้งนี้พระองค์หมายพระทัยว่าจะตีเมืองละแวกให้จงได้

สงครามครั้งนี้เป็นสงครามใหญ่ เชื่อกันว่ากองทัพอยุธยาน่าจะมีกำลังทหารถึงหนึ่งแสนคน

สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้กองทัพอยุธยาแยกเป็นสี่ทาง โดยให้ทุกกองแยกกันตีหัวเมืองของกัมพูชาให้แตก หลังจากนั้นให้ไปบรรจบกันที่เมืองละแวก

ฝ่ายนักพระสัตถาโปรดให้เตรียมกองกำลังจำนวน 75,000 นายขึ้น กองกำลังทั้งหมดถูกส่งออกไปต้านทานกองทัพอยุธยาหลายต่อหลายแห่ง ฝ่ายกัมพูชาได้ตั้งแนวต้านทานของเข้มแข็งที่พระตะบองและโพธิสัตว์เพื่อสกัดกั้นกองทัพอยุธยา

หากแต่ว่าการต้านทานของกองทัพกัมพูชาไม่อาจต้านทานการโจมตีอย่างหนักหน่วงของทหารอยุธยาได้ เมืองแล้วเมืองเล่าถูกกองทัพอยุธยาตีแตก เจ้าชายซอร์โยพอร์ (Soryopor) ทรงพยายามต้านทานการโจมตีอย่างเหนียวแน่นที่เมือง Babaur แต่ฝ่ายอยุธยาตอบโต้ด้วยการขุดอุโมงค์ แล้วส่งกำลังทหารเข้ามา เจ้าชายสามารถเอาชีวิตรอดไปได้ แต่ทหารของพระองค์พลีชีพลงกลางสมรภูมิ

กองทัพอยุธยาทุกกองต่างเดินทัพมารวมกันที่กรุงละแวก ที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายกัมพูชา นักพระสัตถาทรงพยายามป้องกันเมืองด้วยการใช้ทหารรับจ้างชาวสเปนและโปรตุเกส รวมถึงขอความช่วยเหลือจากเวียดนาม และอุปราชสเปนที่ฟิลิปปินส์ด้วยแต่ก็ไม่ได้ผล

สมเด็จพระนเรศวรเสด็จมาถึงเมืองละแวก และโปรดให้สร้างเนินดินสูงกว่ากำแพงเมืองขึ้น หลังจากนั้นพระองค์โปรดให้กระหน่ำยิงปืนใหญ่เข้าใส่เมืองอย่างหนักหน่วงตลอดวัน เมื่อพระองค์เห็นว่าสมควรแก่เวลาที่จะโจมตีได้แล้ว กองทัพอยุธยาจึงบุกเข้ายึดเมืองละแวก

ฝ่ายกัมพูชาต่อสู้อย่างเข้มแข็ง สมเด็จพระนเรศวรยังทรงเข้าเมืองไม่ได้ พระองค์โปรดให้ช้างศึกเข้าทำลายประตูเมือง ท้ายที่สุดประตูเมืองละแวกก็แตกออก กองทัพอยุธยากรูกันเข้าไปในเมือง แต่ฝ่ายละแวกยังไม่ยอมจำนน ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันในเมืองอย่างหนัก จนสุดท้ายกรุงละแวกก็แตก สมเด็จพระนเรศวรทรงยาตราทัพเข้าเมืองได้เป็นผลสำเร็จ

ชะตากรรมของนักพระสัตถา

สมเด็จพระนเรศวรทรงโปรดให้นำชาวเมืองละแวกจำนวนมากถึงเก้าหมื่นคนไปยังอยุธยา และโปรดให้นำเชื้อพระวงศ์กัมพูชาไปประทับที่กรุงศรีอยุธยาด้วย

หากแต่ว่าในจำนวนนั้นไม่รวมถึงนักพระสัตถา

หนังสือประวัติศาสตร์ไทยในยุดหลังมักอ้างว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงโปรดให้ตัดพระเศียรนักพระสัตถาและนำพระโลหิตมาล้างพระบาท

หากแต่ว่าได้มีหลักฐานชั้นต้นของชาวต่างชาติหลายฉบับที่แย้งว่า จริงๆ แล้วนักพระสัตถาไม่ได้สวรรคตด้วยวิธีการดังกล่าว

นักพระสัตถาทรงหลบหนีไปได้ก่อนที่เมืองละแวกจะแตก พระองค์เสด็จหนีไปยังเชียงแตง หนึ่งในหัวเมืองลาว นักพระสัตถาประชวรสวรรคตที่นั่น พระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ 54 ปี

นอกจากนี้ถ้าเราดูจากปัจจัยอื่นๆ แล้ว สมเด็จพระนเรศวรเองก็ไม่ได้โปรดให้สำเร็จโทษเชื้อพระวงศ์กัมพูชาผู้ใด แม้กระทั่งพระศรีสุพรรณมาธิราช ผู้ที่เคยขัดแย้งกับพระองค์เมื่อหลายปีก่อน แล้วพระองค์จะทรงกระทำเช่นนั้นกับนักพระสัตถาเพื่ออันใด

ดังนั้นมีโอกาสสูงที่หนังสือประวัติศาสตร์ไทยในยุคหลังจะเป็นฝ่ายคลาดเคลื่อน

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์กัมพูชา เพราะว่าได้ทำลายความเข้มแข็งของกัมพูชาไปอย่างมาก กัมพูชาต้องตกอยู่ในอิทธิพลของสยามและเวียดนามอีกนานหลายร้อยปี จนกระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!