Khodynka Tragedy หรือ โศกนาฏกรรมที่ทุ่ง Khodynka เป็นลางร้ายเรื่องแรกของซาร์นิโคลัสที่ 2 เหตุการณ์นี้ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดแล้ว มันได้สร้างหายนะแก่ราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซีย
นอกจากนี้เหตุการณ์นี้ยังเป็นเหตุการณ์เหยียบกันตายที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งด้วย
เรื่องมีอยู่ว่า
การเตรียมงานเฉลิมฉลองของซาร์นิโคลัสที่ 2
ซาร์นิโคลัสที่ 2 ตั้งใจว่าจะจัดงานเลี้ยงฉลองพิธีราชาภิเษกอันใหญ่โตขึ้นนอกเมืองมาสควา หรือ มอสโก (Moscow) เมืองหลวงเก่าแก่ของรัสเซีย (ตอนนั้นเมืองหลวงของจักรวรรดิรัสเซียอยู่ที่เซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก) ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1896
แกรนด์ดยุคเซอร์เกย์ อเล็กซานดรอวิช ผู้ว่าราชการเมืองมาสควาและประธานการจัดงาน ได้มีคำสั่งให้เตรียมพื้นที่สำหรับงานไว้ที่ ทุ่ง Khodynka สถานที่เดียวที่สามารถรองรับจำนวนคนได้มหาศาล เพราะว่าทุกคนต่างก็รู้ดีว่าประชาชนรัสเซียต่างต้องการมายินดีกับซาร์พระองค์ใหม่
ทั้งนี้ซาร์แห่งรัสเซียทรงมิใช่เป็นจักรพรรดิในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์ทั่วไป พระองค์ทรงเป็นเหมือนบิดาและผู้นำทางศาสนาด้วย ในทุกบ้านมีรูปของพระองค์ติดอยู่ทั่วไป ประชาชนจึงรักราชวงศ์มาก ผู้คนย่อมเดินทางมาอย่างมืดฟ้ามัวดิน
ฝ่ายจัดงานได้เตรียมงานทั้งหมดล่วงหน้า เบียร์หลายร้อยบาร์เรลถูกลำเลียงมายังสถานที่จัดงานเพื่อให้ประชาชนได้ดื่มกันอย่างฟรีๆ นิโคลัสต้องการมอบของที่ดีที่สุดแก่ประชาชน ดังนั้นขนมปัง ไส้กรอก อาหาร เหล้าชั้นเลิศจึงถูกเตรียมอย่างมากมาย
แต่ไฮไลท์นั้นอยู่ที่ แก้วพิเศษที่ทุกใบติดตราของราชวงศ์โรมานอฟ
ค่ำคืนแห่งการรอคอย
ประชาชนในเมืองมาสควารู้ว่านิโคลัสจะมาพบประชาชนในวันรุ่งขึ้น พวกเขาจึงพากันมาจับจองที่นั่งเพื่อชมพระบารมี ตั้งแต่คืนวันที่ 17 จำนวนคนที่อยู่ที่ทุ่ง Khodynka มากถึงห้าแสนคนแล้ว
ตอนเช้าตรู่ ขบวนรถและเกวียนที่ขนเสบียงอาหารและเหล้าก็เริ่มเข้ามาในสถานที่จัดงาน บรรดาฝูงชนชาวรัสเซียก็ตื่นเต้นกันยกใหญ่
จู่ๆ ก็เกิดข่าวลือขึ้นมาว่า เกวียนที่ขนเบียร์และแก้วมามีจำนวนน้อยกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นผู้ที่เดินทางมาช้าก็จะไม่ได้รับเบียร์ฟรี
นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าแก้วทุกใบมีเหรียญทองคำใส่ไว้ และแก้วเหล่านี้มีจำนวนจำกัด หมดแล้วหมดเลย
เพราะข่าวลือนี้เอง ผู้คนจำนวนมหาศาลที่ทุ่ง Khodynka จึงเริ่มต้นวิ่งอย่างบ้าระห่ำไปที่เกวียนขนเบียร์และแก้ว เพื่อแย่งชิงแก้วและอาหาร
เหตุการณ์อันโศกสลด
เมื่อฝูงชนพุ่งเข้ามายังขบวนรถ พวกทหารคอสแซกพยายามรักษาความเรียบร้อย แต่ก็ไม่ผล เพราะว่าพวกเขามีเพียง 1,800 คน ในขณะที่ฝูงชนมีหลายแสนคน พวกทหารเหล่านี้ถูกฝูงชนชนกระเด็นไปอย่างรวดเร็ว
เมื่อผู้คนจำนวนมากวิ่งเฮโลกันเข้าไป ทำให้มีคนจำนวนหนึ่งล้มลง คนที่ล้มลงถูกกระหน่ำเหยียบโดยคนที่วิ่งตามมา จนสุดท้ายจมูกและปากของพวกเขาจมลงไปในดิน ผู้คนที่ล้มลงต่างขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิต
กว่าตำรวจและทหารคอสแซคจะเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ ทุ่ง Khodynka ที่เป็นสถานที่จัดงานก็กลาดเกลื่อนไปด้วยศพ
โรงพยาบาลทั้งกรุงมอสโกเต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลได้รายงานว่าผู้เสียชีวิตมีมากถึง 1,389 คน และผู้บาดเจ็บมีถึง 1,300 คนเลยทีเดียว
หากแต่ว่า เชื่อกันว่าผู้เสียชีวิตอาจจะมากถึงหลักหมื่น แต่รัฐบาลซาร์พยายามปกปิดเอาไว้ งานที่ควรจะเป็นงานรื่นเริงจึงกลายเป็นงานศพไปเสีย
รูปผู้เสียชีวิตดูได้ที่นี่
ผลกระทบที่สะเทือนแผ่นดิน
เมื่อนิโคลัสและอเล็กซานดราได้รับทราบ ทั้งสองถึงกับตกตะลึงและเศร้าใจอย่างมาก นิโคลัสต้องการจะยกเลิกงานทั้งหมด รวมถึงงานเฉลิมฉลองตอนเย็นที่สถานทูตฝรั่งเศสด้วย แล้วไปสวดมนต์ขอพรให้กับผู้ที่เสียชีวิต แต่บรรดาอาหลายคนของนิโคลัสกลับคัดค้าน ทำให้นิโคลัสต้องเดินทางไปยังทุ่ง Khodynka เพื่อไปพบประชาชนอย่างไม่มีทางเลือก
นิโคลัสไปที่ทุ่ง Khodynka ในเวลาบ่ายสองโมง แน่นอนว่าอารมณ์แห่งความยินดีปรีดาไม่เหลืออีกแล้ว
แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่งานเลี้ยงตอนเย็นวันนั้นที่จะจัดขึ้นที่สถานทูตฝรั่งเศส
บรรดาแกรนด์ดยุคในราชวงศ์โรมานอฟแบ่งออกเป็นสองฝั่ง และถกเถียงกันว่านิโคลัสควรจะไปหรือไม่
กลุ่มแรกนำโดย อดีตซารินามาเรีย แม่ของซาร์นิโคลัสที่ 2 และแกรนด์ดยุคนิโคลัส มิไคโลวิช ทั้งสองพยายามยับยั้งไม่ให้นิโคลัสไปงานเลี้ยงตอนเย็นโดยเด็ดขาด เพราะว่าการไปงานเลี้ยงหลังเกิดโศกนาฏกรรมกับประชาชนจะสะเทือนถึงภาพลักษณ์ของซาร์และราชวงศ์ในสายตาของชาวรัสเซียทั่วไปอย่างมาก
กลุ่มที่สองนำโดย อาๆ ของนิโคลัส ผู้เป็นน้องชายของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 กลุ่มนี้สนับสนุนว่านิโคลัสควรจะไปงานตอนเย็น เพราะฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรสำคัญของรัสเซีย
ด้วยความที่พวกอาๆ มีอิทธิพลมาก นิโคลัสจึงไม่มีทางเลือกอื่น นิโคลัสไปงานเลี้ยงที่สถานทูตฝรั่งเศสกับอเล็กซานดรา ภายในเวลาไม่นานก็รีบกลับทันที นางสนองพระโอษฐ์ของซาริซาอเล็กซานดราเล่าว่า อเล็กซานดราต้องการจะร้องไห้อยู่ตลอดเวลาในงานเลี้ยงวันนั้น เมื่อกลับมาที่วัง ทั้งสองก็ได้สวดมนต์ให้กับผู้เสียชีวิต
ในวันรุ่งขึ้นนิโคลัสพร้อมกับอเล็กซานดราเสด็จไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยพระองค์เองในทุกโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมอบเงินส่วนพระองค์ช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต นิโคลัสโปรดให้นำศพใส่โลงอย่างดี
ถึงแม้นิโคลัสจะพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ชาวรัสเซียจำนวนมากไม่สามารถลบเลือนความเจ็บปวดในวันนั้นไปได้ พวกเขาโกรธเคืองเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์โรมานอฟที่เหมือนจะไม่แยแสและไม่มีท่าทีเสียใจเลย (เพราะให้จัดงานทั้งหมดไปโดยปกติ โดยเฉพาะงานเลี้ยงตอนเย็นที่สถานทูตฝรั่งเศส) โดยเฉพาะแกรนด์ดยุคเซอร์เกย์ ผู้เป็นประธานการจัดงาน ความโกรธนี้ทำให้เซอร์เกย์เป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของพวกนักปฏิวัติในเวลาต่อมา
ขณะเดียวกันชาวรัสเซียมากมายในเวลานั้นก็มองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นลางร้ายของรัชกาลซาร์นิโคลัสที่ 2 บ้างว่ารัชกาลนี้จะนองเลือดและปราศจากความสงบสุข ซึ่งก็แม่นอย่างไม่น่าเชื่อ
เหตุการณ์นี้ทำให้ความนิยมของราชวงศ์โรมานอฟตกต่ำลง และนำไปสู่การปฏิวัติรัสเซียในที่สุด