ประวัติศาสตร์มุสตาฟา เคมัล อตาเติร์ก: วีรบุรุษและบิดาแห่งแผ่นดินตุรกี ตอนแรก

มุสตาฟา เคมัล อตาเติร์ก: วีรบุรุษและบิดาแห่งแผ่นดินตุรกี ตอนแรก

อตาเติร์ก (Atatürk) เป็นนามสกุลที่แปลว่า “พ่อของชาวเติร์ก” นามสกุลนี้รัฐบาลตุรกีมอบให้เป็นการพิเศษแก่ มุสตาฟา เคมัล (Mustafa Kemal) ประธานาธิบดีผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการสถาปนาสาธารณรัฐตุรกี ปกป้องตุรกีจากการยึดครองจากต่างชาติ และวางรากฐานสำคัญของประเทศตุรกีที่สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

เคมัลเป็นคนที่มีความสามารถหลายอย่าง เขาเป็นทั้งนักการเมือง นักปฏิวัติ ทหาร และนักเขียนในคนเดียวกัน ตลอดชีวิตเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปประการที่สูงส่งกว่าตัวเขาเอง แต่เขาก็ไม่เคยยอมแพ้แต่อย่างใด

วัยเยาว์และการศึกษา

เคมัลเกิดในปี ค.ศ.1881 ที่เมืองซาโลนิกา (ปัจจุบันอยู่ในประเทศกรีซ) ซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมัน อาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่เมื่อหลายร้อยปีก่อน แต่เมื่อเคมัลเกิดขึ้นมานั้น ออตโตมันเป็นเหมือนกับผู้ป่วยที่อ่อนแอลงไปทุกที กระแสคลั่งศาสนาและอนุรักษ์นิยมกำลังครอบงำอาณาจักร ทำให้ความพยายามปฏิรูปของสุลต่านไม่เป็นผลมากนัก

จากซ้าย: น้องสาว มารดา และตัวเคมัลเอง

เขาเกิดมาในครอบครัวมุสลิมที่พูดภาษาเตอร์กิช ถึงแม้ว่าจะอาศัยอยู่ในส่วนที่เป็นทวีปยุโรปของอาณาจักรก็ตามที ชื่อของเขาคือ อาลี ริซา โอกลู มุสตาฟา ส่วนเคมัลเป็นชื่อรองของเขา ครอบครัวของเคมัลเป็นชนชั้นกลาง พ่อของเขาเป็นเสมียนและพ่อค้าไม้ ส่วนแม่ของเขาน่าจะเป็นแม่บ้านคอยอยู่ดูแลลูกๆ (มีหลายคนแต่เสียชีวิตทั้งหมด เหลือแต่เพียงเคมัลและน้องสาวของเขาเท่านั้น)

ในวัยเยาว์ แม่ของเขาซึ่งเป็นสตรีที่เคร่งศาสนาสนับสนุนให้เคมัลเข้าเรียนในโรงเรียนศาสนา เคมัลเข้าไปเรียนอย่างไม่เต็มใจเลยแม้แต่น้อย ในเวลาไม่นานเขาก็ลาออก เคมัลได้เข้าเรียนในโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีหลักสูตรการสอนแบบปกติตามที่บิดาของเขาหามาให้ หลังจากที่เคมัลเรียนที่โรงเรียนแห่งนั้น บิดามารดาของเขาก็หวังว่าลูกชายคนนี้จะเป็นพ่อค้าในอนาคต แต่เป็นเรื่องเศร้าที่บิดาของเขาจากไปเมื่อเขาอายุได้เพียง 6 ขวบเท่านั้น

แม่ของเขาเป็นแม่ม่ายวัยสาวเพราะมีอายุได้เพียง 31 ปี เธอจึงแต่งงานใหม่กับพ่อม่ายอีกคนหนึ่ง เคมัลรู้สึกไม่สบายใจจึงออกไปอาศัยอยู่กับญาติ

เคมัลมีความสนใจในเรื่องอื่นนอกจากการค้าขายอยู่แล้ว เขาชื่นชอบเครื่องแบบทหารแบบตะวันตกมาก และปรารถนาที่จะเป็นทหาร ด้วยเหตุนี้เคมัลจึงแอบไปสมัครเข้าโรงเรียนทหารโดยไม่ปรึกษาใคร เขาสอบติดอย่างง่ายดาย เคมัลเข้าเรียนที่โรงเรียนทหารออตโตมันในปี ค.ศ.1899 เคมัลจบการศึกษาในอีกสามปีต่อมา และเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยทหารออตโตมันที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล จนกระทั่งจบการศึกษาในปี ค.ศ.1905

ชีวิตทหารผู้ต้องการการเปลี่ยนแปลง

หลังจากเคมัลจบการศึกษา กระแสต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์กำลังมาแรง เคมัลเคยถูกจับกุมเป็นเวลาสั้นๆ จากข้อหาต่อต้านสุลต่าน เราไม่แน่ชัดว่าในช่วงเวลานี้เขาร่วมการต่อต้านแล้วจริงๆ หรือไม่ แต่ในปีเดียวกัน เขาได้เข้าร่วมกลุ่มต่อต้านสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์ที่เรียกว่ากลุ่ม Vatan ve Hürriyet ซึ่งเป็นกลุ่มของนายทหารที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต่อมาก็เข้าร่วมแนวร่วมสหพันธ์และการพัฒนา (Committee of Union and Progress, CUP) เพื่อเรียกร้องการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ถึงแม้เคมัลจะร่วมกลุ่มดังกล่าว เคมัลยังคงปฏิบัติหน้าที่ทหารต่อไป เขาได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นร้อยเอก และมีหน้าที่ตรวจสอบทางรถไฟในย่านรูเมเลียตะวันออก

ในปี ค.ศ.1908 เคมัลได้มีส่วนในการปฏิวัติยังเติร์ก (Young Turk Revolution) ที่ประชาชนและนายทหารรุ่นใหม่ร่วมมือกันเปลี่ยนการปกครองของอาณาจักรออตโตมันจากสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ สุลต่านอับดุลฮามิตที่สองพยายามปราบปรามพวกนักปฏิวัติแต่ก็ไม่เป็นผล เพราะเหล่าทหารชั้นผู้น้อยต่างสนับสนุนการปฏิวัติ

การปฏิวัติยังเติร์ก

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เคมัล ซึ่งในขณะนั้นเป็นนายทหารหนุ่มวัย 27 ปี ได้พยายามเสนอให้นำกองทัพออกจากการเมือง แต่เหล่าผู้นำของ CUP ปฏิเสธในข้อเสนอของเขา เคมัลจึงถูกสั่งตัวไปประจำการที่ลิเบีย ซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมันอยู่ (บ้างว่าเคมัลเสนอตัวไปเอง) เพื่อปราบกบฏ เคมัลร่วมปราบกบฏได้สำเร็จและเดินทางกลับมายังอิสตันบูลในต้นปี ค.ศ.1909

วันที่ 31 มีนาคม ค.ศ.1909 กลุ่มทหารที่สนับสนุนสุลต่านได้พยายามก่อการกบฏเพื่อคืนอำนาจให้กับสุลต่าน เคมัลได้มีส่วนร่วมในการปราบกบฏครั้งนี้ด้วย เขาเป็นผู้บังคับบัญชากองพลสำรองที่ 11 กองกำลังของเขาร่วมกับทหารกองอื่นกวาดล้างพวกกบฏได้เป็นผลสำเร็จ

ออกรบ

สองปีต่อมา สงครามอิตาโล-เตอร์กิช ปะทุขึ้นในปี ค.ศ.1911 เคมัลถูกสั่งให้เดินทางไปที่ลิเบียอีกครั้งหนึ่งเพื่อควบคุมกำลังต่อต้านกองทัพอิตาเลียน แต่ทว่ารัฐบาลอังกฤษไม่อนุญาตให้ทหารออตโตมันไปยังลิเบียโดยผ่านทางอียิปต์ เคมัลและทหารของเขาจึงต้องแยกกันไปลิเบีย ด้วยการใช้เรือ และปลอมตัวเป็นชาวอาหรับผ่านดินแดนภายใต้บังคับอังกฤษ

เคมัล ชุดดำคนซ้ายและทหารของเขาในลิเบีย

ถึงแม้จะยากลำบากแต่เคมัลและกองกำลังออตโตมันก็มาถึงลิเบียจนได้ เคมัลนำกองกำลังต่อต้านกองทัพอิตาเลียนอย่างเต็มความสามารถจนได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาข้างซ้าย การมองเห็นด้านซ้ายของเขาจึงลดน้อยลงตั้งแต่บัดนั้น เคมัลนำทหารป้องกันเมืองเดอร์นาเอาไว้ได้หลายเดือน

แต่ทว่าสงครามบอลข่าน (Balkan Wars) กลับปะทุขึ้นมาในเดือนตุลาคม ค.ศ.1912 ออตโตมันจึงไม่มีทรัพยากรที่จะทำสงครามในดินแดนที่ห่างไกลอย่างลิเบียได้อีกต่อไป รัฐบาลออตโตมันจึงทำสนธิสัญญาสงบศึกด้วยการตัดดินแดนลิเบียให้กับอิตาลีในปี ค.ศ.1912 เคมัลถูกเรียกตัวกลับมายังดินแดนออตโตมันในยุโรปทันทีเพื่อรับมือกับศัตรูหน้าใหม่

เคมัลเข้าร่วมการต่อสู้ในบอลข่านหลายครั้ง แต่ทว่าสถานการณ์การต่อสู้ของออตโตมันเลวร้ายลงทุกที กองทัพเติร์กที่อ่อนแอและล้าสมัยไม่อาจจะเอาชนะกองกำลังพันธมิตรในบอลข่านได้ นายทหารธรรมดาอย่างเคมัลจึงไม่อาจจะทำอะไรได้ ออตโตมันต้องตัดดินแดนจำนวนมากให้เป็นประเทศเกิดใหม่เหล่านี้

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะปะทุขึ้นมาไม่กี่เดือน เคมัลได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพันเอกแห่งกองทัพออตโตมัน

ชื่อเสียงโด่งดัง

ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ถึงแม้เคมัลจะทำความดีความชอบหลายครั้ง แต่เขาก็ยังไม่มีชื่อเสียงเท่าใดนัก บทบาททางการเมืองของเขาก็ยังมีน้อย จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

เคมัลต่อสู้อยู่ที่แนวหน้าร่วมกับทหารของเขา

เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1915 กองทัพพันธมิตรของอังกฤษและฝรั่งเศสพยายามยกพลขึ้นบกที่กัลลิโปลี เพื่อที่จะบุกเข้ายึดเมืองอิสตันบูล เมืองหลวงของออตโตมันในเวลานั้น ที่กัลลิโปลี เคมัลได้ทำหน้าที่บัญชากองพลที่ 19 ที่แนวหน้า เขาคุ้นเคยกับสมรภูมิเป็นอย่างดี เขาจึงคาดเดาได้ถูกต้องว่ากองทัพพันธมิตรจะขึ้นบกที่ใด เคมัลและกองทหารของเขาสู้รบอย่างเข้มแข็งและกล้าหาญอย่างไม่กลัวตายอยู่นานถึงแปดเดือน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาเคยสั่งการกองพันที่ 57 ว่า

ฉันไม่ได้สั่งการให้พวกคุณต่อสู้ ฉันสั่งให้พวกคุณตาย เมื่อพวกเราตายไปแล้ว ทหารและแม่ทัพกองอื่นจะได้เข้ามาสานต่อหน้าที่ของเราต่อไป

ท้ายที่สุดแล้วเคมัลและทหารสามารถผลักดันกองทัพพันธมิตรออกไปได้เป็นผลสำเร็จ โดยที่ไม่ได้สูญเสียที่มั่นให้กับศัตรูแต่อย่างใด

ชัยชนะที่กัลลิโปลีทำให้ชื่อเสียงของเคมัลโด่งดัง หลังจากนั้นเคมัลก็ได้เลื่อนตำแหน่ง เคมัลยังคงต่อสู้ในสงครามต่อไป จนกระทั่งเขาได้รับคำสั่งให้เดินทางไปกับมงกุฎราชกุมารเมห์เมดไปยังเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เคมัลได้ไปสังเกตการณ์แนวหน้าของเยอรมนีและวิเคราะห์ว่าพวกฝ่ายมหาอำนาจกลาง (รวมถึงออตโตมันด้วย) จะแพ้สงครามอย่างแน่นอน

หลังจากนั้นไม่นาน เมห์เมดก็ได้ขึ้นเป็นสุลต่าน พระองค์ส่งเคมัลไปควบคุมกองทัพที่ 7 ที่ต่อสู้อยู่ในปาเลสไตน์ เขาป้องกันแนวต้านทานเหนือเมือง Aleppo อย่างแข็งแกร่ง หลักฐานตะวันตกรายงานว่าเคมัลเป็นคนเดียวที่ไม่ได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพพันธมิตร

เคมัลในชุดแม่ทัพ ประดับด้วยเครื่องยศที่แสดงให้เห็นว่าเป็นที่ปรึกษาของสุลต่านแห่งออตโตมัน

แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายมหาอำนาจกลางอย่างที่เคมัลคาดไว้ กรุงอิสตันบูล เมืองหลวงของอาณาจักรออตโตมันอยู่ในเงี้อมมือของศัตรู กองทัพพันธมิตรยังได้เข้ายึดอนาโตเลียอันเป็นดินแดนแม่ของออตโตมัน พวกชาติมหาอำนาจที่ชนะสงครามกำลังปรึกษากันว่าจะแบ่งพื้นที่ของอาณาจักรออตโตมันอย่างไรกันดี

สถานการณ์เช่นนี้จึงคับขันสำหรับออตโตมันและชนชาติเตอร์กิชอย่างยิ่ง เคมัลจะทำอย่างไรต่อไปกันแน่?

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!