ประวัติศาสตร์มุสตาฟา เคมัล อตาเติร์ก วีรบุรุษและบิดาแห่งแผ่นดินตุรกี ตอนจบ

มุสตาฟา เคมัล อตาเติร์ก วีรบุรุษและบิดาแห่งแผ่นดินตุรกี ตอนจบ

ในตอนที่แล้ว อาณาจักรออตโตมันพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษ อิตาลี และฝรั่งเศสกำลังวางแผนที่จะตัดแบ่งดินแดนของอาณาจักรแห่งนี้ออกเป็นเสี่ยงๆ ถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น ประเทศของชาวเติร์กต้องถูกลบเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์เป็นแน่แท้

สำหรับเคมัลแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่ยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ เขาจะต้องต่อต้านทุกวิธีทางเพื่อป้องกันประเทศของเขาไว้ให้ได้

มุสตาฟา เคมัล อตาเติร์ก

ต่อสู้เพื่ออิสรภาพ

เคมัลปรารถนาที่จะสร้างกองกำลังกู้ชาติที่จะต่อต้านการยึดครองของชาติมหาอำนาจ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1919 เคมัลในการประกาศที่เมือง Amasya (Amasya Circular) ว่าอิสรภาพของประเทศกำลังอยู่อันตราย ขอให้ผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมการต่อต้านมาร่วมประชุมสภาที่เมือง Sivas

การจัดตั้งกองกำลังระหว่างที่รัฐบาลออตโตมันยังอยู่ไม่ต่างอะไรกับการก่อกบฏ เคมัลลาออกจากกองทัพออตโตมันในเดือนกรกฎาคม อีกไม่กี่เดือนรัฐบาลออตโตมันที่อยู่ภายใต้อำนาจของชาติมหาอำนาจก็ประกาศว่าเคมัลขัดคำสั่งของสุลต่าน ต่อมารัฐบาลก็ได้ประกาศว่าเคมัลมีโทษถึงตาย

ไม่มีสิ่งใดขัดขวางเคมัลได้ เขาจัดประชุมสภาได้สำเร็จ และได้การรับเลือกให้เป็นหัวหน้าคณะกรรมการของสภา ภายใต้การนำของเคมัล สภาได้เรียกร้องให้ประชาชนในอาณาจักรเป็นผู้ตัดสินใจชะตากรรมของดินแดนแต่ละส่วนเอง มิใช่ให้ชาติมหาอำนาจเป็นผู้ตัดสิน นอกจากนี้สภายังได้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสภาในดินแดนออตโตมันทั้งมวล

การเรียกร้องของการประชุมที่ Sivas เป็นผล การเลือกตั้งทั่วทั้งอาณาจักรได้เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 1919 โดยผู้สมัครที่สนับสนุนเคมัลได้คะแนนเสียงล้นหลาม รัฐสภาใหม่ออตโตมันได้ประกาศยอมรับสิ่งที่เคมัลประกาศไว้ในสภาที่ Sivas นั่นก็คือ ประชาชนในดินแดนเหล่านั้นจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าจะเป็นของผู้ใด มิใช่ชาติมหาอำนาจ

จากการประกาศดังกล่าว รัฐบาลชาติมหาอำนาจโดยเฉพาะอังกฤษจึงเห็นว่ารัฐสภาใหม่ของออตโตมันมีท่าทีเป็นศัตรู กองทัพอังกฤษที่ยึดครองกรุงอิสตันบูลได้รับคำสั่งให้เข้าปิดสภาและบีบบังคับให้มีการยุบสภาเสีย การยุบสภาเป็นการละเมิดสนธิสัญญาสงบศึกเพราะชาติมหาอำนาจไม่มีอำนาจที่จะยุบสภาออตโตมัน

เมื่อสภาถูกยุบ เคมัลจึงประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง และจัดตั้งสภาใหม่ที่อังการา ที่ไม่ได้ถูกยึดครองโดยชาติมหาอำนาจ สภาใหม่ถูกจัดตั้งด้วยดีในนาม GNA (Grand National Assembly) เคมัลได้รับการประกาศให้เป็นประธานสภาดังกล่าว การสถาปนา GNA ขึ้นมาทำให้ดินแดนของอาณาจักรออตโตมันเดิมมีรัฐบาลอยู่สองแห่ง รัฐบาลเดิมที่นำโดยสุลต่านที่อิสตันบูลและรัฐบาล GNA ที่อังการา

ในปี ค.ศ.1920 ชาติมหาอำนาจยังคงพยายามที่จะตัดแบ่งดินแดนอาณาจักรออตโตมัน เคมัลยังคงประกาศก้องว่าออตโตมันเป็นชาติอิสระ ประชาชนชาวเติร์กต้องมีอิสรภาพในดินแดนของตนเอง เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว เคมัลได้ขอให้สภา GNA จัดตั้งกองกำลังกู้ชาติขึ้นเพื่อต่อต้านการคุกคามของชาติตะวันตก

สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว

สงครามเพื่อปลดปล่อยบ้านเกิดเมืองนอน

เคมัลและรัฐบาล GNA ต้องเผชิญหน้ากับศัตรูมากมายหลายกลุ่ม กลุ่มแรกที่ต้องเผชิญคือกองทัพของรัฐบาลสุลต่าน แต่กองทัพของสุลต่านจำนวนมากกลับแปรพักตร์มาเข้ากับรัฐบาล GNA ทำให้กำลังฝ่าย GNA เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

การต่อต้านกองทัพตะวันตกของเคมัล ทำให้ประชาชนชาวตุรกีเกิดสำนึกรักชาติและจับมือกันต่อต้านกองกำลังตะวันตกที่ยึดครองอยู่ในหลายเมืองด้วยกัน การต่อต้านอย่างรุนแรงทำให้กองทัพอังกฤษเห็นว่าไม่มีทางเลือกอื่นในการปราบปรามชาวเติร์กที่ต้องการอิสรภาพนอกจากการส่งทหารอาชีพเข้ามาเท่านั้น

แต่ทว่าอังกฤษเองไม่มีกำลังเพียงพอที่จะเจียดมาให้ได้ เพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 เพิ่งจะจบลงใหม่ๆ อังกฤษจึงไปทำการเจรจาให้กรีซส่งกำลังเข้ามา โดยแลกกับการที่กรีซจะได้ดินแดนในยุโรปของออตโตมัน รัฐบาลกรีซตอบตกลง และส่งกำลังเข้ามาทันที

เคมัลเองรู้ดีว่าอาวุธและกองกำลังที่มีอยู่ไม่อาจจะต่อต้านกองทัพชาติตะวันตกได้แน่ เขาจึงเจรจากับรัฐบาลโซเวียตของเลนิน ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลบอลเชวิคยินยอมให้การสนับสนุนทั้งเงินทองและอาวุธ ทำให้เคมัลได้อาวุธรัสเซียจำนวนมากมาให้กองทัพของเขา แลกกับการที่รัฐบาล GNA จะต้องยอมรับว่าดินแดนในคอเคซัสบางส่วนเป็นของรัสเซีย

อย่างไรก็ตามจุดประสงค์ลับของรัฐบาลบอลเชวิคคือ ต้องการให้พวกพันธมิตรตะวันตกเสียเวลามากๆ กับดินแดนตุรกี ทำให้ไม่มีทรัพยากรและเวลาที่จะช่วยเหลือกองทัพพวกรัสเซียขาวในสงครามกลางเมืองรัสเซีย

การสู้รบกลับเกิดขึ้นในฝั่งตะวันออกของประเทศก่อน เพราะรัฐบาล GNA ต้องปะทะกับกองกำลังของสาธารณรัฐอาร์เมเนีย การต่อสู้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นก็จบลง เพราะการยึดครองอาร์เมเนียของรัสเซีย ถึงแม้สงครามจะสั้น แต่ก็เกิดเรื่องเศร้าเกิดขึ้น เพราะทหารเติร์กได้ทำการสังหารหมู่ชาวอาร์เมเนียไปนับหมื่นคน ตัวเคมัลไม่มีส่วนรู้เห็นเพราะเขากำลังวุ่นวายอยู่กับการรุกรานของกรีซ

กองทัพกรีซได้ขึ้นบกที่เมือง Smyrna สภา GNA จึงประกาศให้เคมัลเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และนำกองทัพเข้าเผชิญหน้ากับพวกกองทัพกรีซที่รุกเข้ามาใกล้อังการาอย่างรวดเร็วที่สมรภูมิแห่ง Sakarya เคมัลได้ประกาศว่า

ที่นี่ไม่มีแนวป้องกันใดๆ มีแต่เพียงพื้นที่ที่เราต้องป้องกันให้ได้เท่านั้น พื้นที่นี้คือพื้นที่ของแผ่นดินแม่ทั้งหมด ไม่มีสักตารางนิ้วเดียวของแผ่นดินแม่ที่จะต้องถูกละทิ้ง โดยปราศจากโลหิตของลูกๆ ของเธอที่ชุ่มโชกไปทั่วบริเวณ

ผลสุดท้าย กองทัพเติร์กสามารถตั้งยันกองทัพกรีซที่มีมากกว่าไว้ได้ ทำให้การรุกของกองทัพกรีซไปยังอังการาสิ้นสุดลง ความดีความชอบนี้ทำให้สภา GNA มอบยศตำแหน่งจอมพลให้กับเขา และมอบสมญา Gazi ที่แสดงถึงความเป็นวีรบุรุษของชาวเติร์กได้อีกด้วย

เคมัลในสมรภูมิ

รัฐบาลมหาอำนาจพยายามเจรจาสงบศึก แต่เพราะข้อตกลงที่ย่ำแย่สำหรับฝ่ายเติร์ก ทำให้เคมัลปฏิเสธการสงบศึก สงครามจึงดำเนินต่อไป เคมัลโจมตีกองทัพกรีซอย่างหนักหน่วงที่ Afyonkarahisar (ปัจจุบันอยู่ในทิศตะวันตกของตุรกี) ทำให้แนวต้านทานของกองทัพกรีซแตกกระจาย ในวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ.1922 กองทัพกรีซก็พ่ายแพ้อย่างสมบูรณ์ต่อกองกำลังกู้ชาติ กรีซตกลงในการเจรจาสงบศึกในวันที่ 6 กันยายน สี่วันต่อมาทหารกรีซทั้งหมดก็ออกจากแผ่นดินตุรกี

ความพ่ายแพ้ของกรีซทำให้ชาติมหาอำนาจปรารถนาที่จะเจรจาสันติภาพ ในวันที่ 6 ตุลาคม รัฐบาล GNA ก็ได้เจรจาสงบศึกชั่วคราวกับชาติมหาอำนาจ เพื่อเปิดทางให้ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสนธิสัญญาที่จะยุติสงครามอย่างเป็นทางการต่อไป

ท้ายที่สุดแล้ว สันติภาพที่เคมัลปรารถนามานานหลายปีก็ได้มา สนธิสัญญาแห่งโลซานน์ถูกเซ็นโดยทั้งสองฝ่าย โดยชาติมหาอำนาจยอมรับว่าตุรกีเป็นประเทศอิสระ และรัฐบาล GNA เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องของแผ่นดินตุรกี กองทัพต่างชาติจะถอนกำลังทั้งหมดออกจากตุรกี อิสรภาพที่ต่อสู้มานานหลายปีก็ได้กลับคืนมาสู่ตุรกีในที่สุด

สถาปนาสาธารณรัฐตุรกี

เคมัลปรารถนาจะล้มเลิกระบอบสุลต่านมาเป็นเวลานานแล้ว เมื่อได้อิสรภาพมาแล้ว เคมัลได้ร่างกฎหมายยกเลิกระบอบสุลต่าน โดยอ้างว่าการยึดครองของกองทัพต่างชาติทำให้ระบอบสุลต่านสิ้นสุดลงไปแล้ว ท้ายที่สุดสภา GNA ได้ทำการลงคะแนนและประกาศว่าระบอบสุลต่านเป็นอันสิ้นสุดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1923

การจบลงของระบอบสุลต่านทำให้ตุรกีกลายสภาพเป็นสาธารณรัฐ โดยมีเคมัลเป็นประธานาธิบดีคนแรก และเมืองหลวงที่อังการา หลังจากที่ได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว เคมัลได้เริ่มต้นการปฏิรูปประเทศครั้งสำคัญแทบจะในทันที

เคมัลได้สร้างประเทศในรูปแบบของรัฐฆราวาส หรือรัฐโลกวิสัย (Secular State) เขาไม่สนับสนุนการใช้กฎหมายศาสนาเป็นกฎหมายของรัฐเหมือนกับหลายๆประเทศ

เคมัลพยายามอย่างหนักที่จะแยกเรื่องทางโลกและศาสนาออกจากกัน เขาได้สนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากชาติตะวันตกมาสร้างระบอบการศึกษาใหม่ที่เลิกอิงศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ยังเปลี่ยนให้นักบวชอยู่ในการควบคุมของกระทรวงความสัมพันธ์ทางศาสนา

เคมัลในเครื่องแต่งกายตะวันตก

ในปี ค.ศ.1925 เคมัลได้สนับสนุนชาวเติร์กให้ทำการสวมใส่เสื้อผ้าแบบตะวันตก และให้อิสรภาพกับผู้หญิงในการสวมใส่อะไรก็ได้ โดยเคมัลและภรรยาของเขาเริ่มสวมใส่เสื้อผ้าเป็นตัวอย่างให้กับประชาชน

หนึ่งปีต่อมา รัฐบาลตุรกีได้ประกาศว่ากฎหมายอิสลามจะถูกใช้เฉพาะในเรื่องทางศาสนาเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆ ให้ใช้กฎหมายอาญาที่ถูกร่างขึ้นตามแบบชาติตะวันตก ศาลศาสนาล้วนแต่ถูกปิดตัวลงทั้งหมด ผู้หญิงได้รับอิสรภาพเท่าเทียมกับชายในทุกๆด้าน เช่นการมีสิทธิ์ออกเสียงและการศึกษา

นอกจากนั้นเคมัลยังได้ทำการปฏิรูปอื่นๆ อีกมากมาย เกินกว่าที่จะเขียนลงได้หมดในที่นี้ อาทิเช่นเขาได้เปลี่ยนมาใช้อักษรโรมันเป็นภาษาเขียนของภาษาเตอร์กิช ปฏิรูปเศรษฐกิจและสร้างงานมากมายให้กับชาวตุรกี เขายังได้บริหารประเทศในรูปแบบทางสายกลาง ทำให้เขาไม่ได้รับแนวคิดสุดโต่งอย่างฟาสซิสต์ หรือ คอมมิวนิสต์เข้ามาในประเทศเลย

เคมัลเปลี่ยนรูปแบบตัวอักษรเติร์ก

ในปี ค.ศ.1934 รัฐบาลตุรกีได้มอบนามสกุล “อตาเติร์ก” หรือ บิดาแห่งชาวเติร์กให้กับเคมัล ตั้งแต่นั้นมาเขาจึงถูกเรียกว่า อตาเติร์ก

เสียชีวิต

เคมัลเริ่มมีสุขภาพที่ย่ำแย่ลงในปี ค.ศ.1937 ในปีต่อมาเขาก็ป่วยเป็นโรคตับ เพราะเขาดื่มเหล้าจำนวนมากแทบทุกวัน อาการของเขาแย่ลง ทำให้เขาเสียชีวิตลงในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ.1938 รัฐบาลตุรกีจัดงานศพระดับประเทศให้กับเขา ทั่วทั้งประเทศล้วนแต่มีแต่เสียงร่ำไห้ในเวลานั้น

พินัยกรรมของเคมัลได้เขียนไว้ว่า ทรัพย์สินทุกอย่างขอมอบให้กับพรรคของเขา (ที่ก่อตั้ง GNA) แต่เงินดอกเบี้ยบางส่วนขอมอบให้กับน้องสาวและบุตรเลี้ยงของเขา (เคมัลไม่มีลูกแท้ๆ) ปัจจุบันเงินส่วนนี้ได้ถูกบริจาคให้กับสถาบันภาษาเตอร์กิชและสถาบันประวัติศาสตร์

แนวทางการพัฒนาประเทศของเคมัลเป็นหลักการสำคัญที่ตุรกีใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้ตุรกีเป็นหนึ่งในประเทศมุสลิมที่ยังคงเป็นรัฐฆราวาสมาจนถึงปัจจุบัน อนุสาวรีย์จำนวนมากของเขาถูกสร้างขึ้นทั่วไปในแผ่นดินตุรกี เคมัลยังได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยองค์การสหประชาชาติและ UNSECO อีกด้วย

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!