ตอนที่ 1 อยู่ที่นี่
ความเดิมตอนที่แล้ว พวกปาณฑพออกไปอยู่ป่ามาแล้วถึง 12 ปี และเริ่มต้นการลี้ภัยปีสุดท้ายซึ่งพวกเขาจะต้องระมัดระวังไม่ให้พวกเการพเจอตัว มิฉะนั้นจะต้องกลับไปอยู่ป่าอีก 12 ปี
ทุรโยธน์พยายามตามล่าพวกปาณฑพอย่างเต็มความสามารถ แต่ทว่าผลสุดท้ายการตามล่ากลับจบลงด้วยความล้มเหลว ทำให้พวกปาณฑพเป็นอิสระตั้งแต่บัดนั้น
หลังจากนั้นพวกเการพและปาณฑพยังตกลงกันเรื่องบัลลังก์ไม่ได้ เพราะทุรโยธน์ยืนกรานปฏิเสธข้อต่อรองของฝ่ายปาณฑพท่าเดียว สงครามเพื่อแย่งชิงบัลลังก์แห่งหัสตินาปุระจึงกำลังจะใกล้เข้ามา
กรรณะรู้ชาติกำเนิด
บรรดาผู้เฒ่าในราชสำนัก รวมไปถึงพระกฤษณะก็หาวิธีต่างๆ มายับยั้งศึกครั้งใหญ่นี้ แต่ก็ล้มเหลวไปทุกวิธี
พระกฤษณะเป็นอวตารของพระวิษณุ เพราะฉะนั้นเขารู้ทุกสิ่งในจักรวาล ทำให้เขาทราบไปถึงชาติกำเนิดของกรรณะด้วยเช่นกัน
กรรณะเดินทางมาส่งพระกฤษณะตามคำสั่งของทุรโยธน์ พระกฤษณะจึงเกิดปิ๊งไอเดียหย่าศึกมาอีกอันหนึ่งได้ เขากล่าวกับกรรณะว่า
กรรณะ ท่านต้องการรู้ชาติกำเนิดที่แท้จริงของท่านหรือไม่ ว่าบิดามารดาของท่านนั้นเป็นผู้ใด
เมื่อได้ฟังพระกฤษณะพูดเช่นนั้น กรรณะถึงตกตะลึงงัน เขาจึงถามพระกฤษณะด้วยความนอบน้อมว่า ชาติกำเนิดของเขานั้นเป็นอย่างไร พระกฤษณะตอบว่า
กรรณะ ท่านหาใช่บุตรของคนขับรถศึกไม่ บิดาของท่านคือสุริยเทพ มารดาของท่านก็คือนางกุนตี มารดาของพวกปาณฑพทั้งห้า ดังนั้นท่านคือพี่ชายคนโตของพวกปาณฑพทั้งห้านั่นเอง
เมื่อได้รับทราบความจริง กรรณะถึงกับตัวสั่นเทิ้ม เพราะศัตรูที่เขาเกลียดชังมากที่สุดกลับเป็นน้องร่วมมารดาของเขาเอง พระกฤษณะว่ากล่าวต่อไปว่า
กรรณะ ถ้าข้าเปิดเผยเรื่องชาติตระกูลของท่านให้ทุกคนบนแผ่นดินนี้ทราบ และเปลี่ยนไปอยู่ฝั่งปาณฑพเสีย ท่านก็จะได้ทุกสิ่งของพวกปาณฑพในฐานะพี่ชายคนโต บัลลังก์แห่งอินทรปัตถ์ก็จะเป็นของท่าน นางเทราปทีก็จะเป็นของท่าน ท่านจะได้อยู่กับครอบครัวที่แท้จริงของท่าน ยุธิษฐิระนั้นเล่าก็เป็นผู้ทรงคุณธรรม ถ้าเขารู้ความจริง เขาย่อมไม่ปฎิเสธเงื่อนไขนี้อย่างแน่นอน แม้แต่ทุรโยธน์เองก็คงจะดีพระทัยไม่น้อย ที่เพื่อนรักเช่นท่านได้เป็นกษัตริย์ ข้อเสนอนี้ดีหรือไม่
กรรณะกลับปฎิเสธเงื่อนไขของพระกฤษณะอย่างสุภาพ โดยเขากล่าวว่า
กฤษณะ ข้ามิอาจจะรับข้อเสนอดังกล่าวของท่านได้ ถ้าข้ายินยอมรับข้อเสนอนั้นก็เท่ากับว่า ข้าเปลี่ยนไปอยู่ฝั่งปาณฑพซึ่งเป็นศัตรูของทุรโยธน์ ข้ามิอาจจะทรยศทุรโยธน์ ซึ่งเป็นผู้ทำให้ข้ามีทุกวันนี้ได้ หากแต่ว่า กฤษณะ ข้าขอร้องให้ท่านทำสิ่งหนึ่งในข้าได้หรือไม่
สิ่งที่กรรณะขอต่อพระกฤษณะคือ ขอให้พระกฤษณะเก็บความลับนั้นเอาไว้ไม่ให้บอกต่อแก่ผู้ใด
ความรูู้สึกในใจของกรรณะในเวลานั้น ซับซ้อน หรือ อาจจะเรียกได้ว่าสับสนวุ่นวายเป็นอย่างยิ่ง
เขาดีใจที่บิดาของตนเองคือสุริยเทพ และตนเองเป็นวรรณะกษัตริย์ แต่สะเทือนใจที่ศัตรูของเขาคือน้องร่วมมารดาของเขาเอง หลังจากที่เขารู้ความจริงแล้ว ความเกลียดชังพวกปาณฑพก็ลดลงไปเกือบจนหมดสิ้น
ได้พบแม่ที่แท้จริง
ถึงแม้กรรณะจะย้ำหนักย้ำหนาไว้แล้วว่าอย่าบอกใคร แต่คนอย่างพระกฤษณะนั้นหรือจะฟัง พระกฤษณะรีบไปหานางกุนตี มารดาของพวกปาณฑพเพื่อบอกความจริงทั้งหมดให้รู้ และขอให้นางใช้ความเป็นแม่ชักนำกรรณะให้ทำตามข้อเสนอของตน
นางกุนตีเดินทางไปพบกับกรรณะที่บ้าน และบอกกรรณะว่าแท้จริงกรรณะเป็นลูกชายของนาง นางกุนตียังให้องค์สุริยเทพลงมายืนยันด้วยตนเองอีกด้วย ก่อนหน้านี้พ่อแม่ของกรรณะก็ได้บอกกรรณะอยู่แล้วว่าเก็บกรรณะได้ที่แม่น้ำ กรรณะตัวสั่นเทิ้มทันทีที่เห็นความจริงปรากฏขึ้นกับตา
นางกุนตีพยายามโน้มน้าวกรรณะให้ทำตามข้อเสนอของพระกฤษณะ แต่กรรณะกลับปฎิเสธข้อเสนอดังกล่าวไปอีกครั้ง เมื่อเห็นเช่นนั้น นางกุนตีจึงขอให้กรรณะสัญญากับนางว่าจะ
- กรรณะจะไม่สังหารพี่น้องปาณฑพผู้ใด นอกจากอรชุนผู้ซึ่งกรรณะลั่นวาจาแล้วว่าจะสังหารเท่านั้น
- เมื่อกรรณะต่อสู้กับอรชุน กรรณะจะใช้ศรศักดิ์สิทธิ์แต่ละชนิดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ข้อเสนอทั้งสองข้อทำให้กรรณะเสียเปรียบมาก โดยเฉพาะข้อ 2 ที่ให้กรรณะต่อสู้กับอรชุนโดยใช้ศรศักดิ์สิทธิ์ได้เพียงครั้งเดียว ดูเหมือนว่าถึงแม้ว่านางกุนตีจะรู้ว่ากรรณะเป็นลูกชายคนโตแล้วนางก็ยังเข้าข้างพวกปาณฑพทั้งห้าอยู่ดี
กรรณะคงไม่คิดอะไรมากนัก ชีวิตของเขาก็พบพานกับเรื่องที่ไม่ยุติธรรมเช่นนี้มากอยู่แล้วตั้งแต่เกิดมา เขาจึงตั้งหน้าตั้งตายอมรับมันไป เขาให้สัญญาดังกล่าวกับนางกุนตีแต่โดยดี
หากแต่ว่ากรรณะก็ขอให้นางกุนตีสัญญากับตนเช่นเดียวกันว่า จะไม่เปิดเผยชาติกำเนิดที่แท้จริงของตนเองจนกระทั่งสงครามสงบ กรรณะได้ขอนางกุนตีว่า
ท่านแม่ ข้าขอให้ท่านเก็บรักษาความลับนี้ไว้เถิด พวกปาณฑพนั้นมีคุณธรรม ถ้าพวกเขารู้ความจริงเขาจะไม่มีใจที่จะต่อสู้ ข้าต้องการให้พวกเขาต่อสู้อย่างเต็มที่ในมหายุทธการนี้ ข้าขอให้สัญญากับท่านว่า ก่อนสงครามจะเริ่มต้นท่านมีบุตรชายห้าคน เมื่อสงครามสงบท่านก็จะยังมีบุตรชายครบ 5 คนเหมือนเดิม
ความนัยของกรรณะคือเมื่อเริ่มต้นสงคราม นางกุนตีมีบุตรชายทั้งหมด 5 คนได้แก่พี่น้องปาณฑพทั้งห้า แต่ในสงคราม กรรณะและอรชุนจะต่อสู้กันจนเหลือเพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นนางกุนตีก็จะเหลือลูกชาย 5 คนเหมือนเดิม
ในคำพูดของกรรณะยังแฝงไว้ว่า ตนเองจะไม่ทำอันตรายแก่พี่น้องคนอื่นนอกจากอรชุนตามที่ได้สัญญากับนางไว้แล้ว
นางกุนตีเห็นกรรณะกล่าวเช่นนั้น นางจึงเดินทางกลับไปด้วยน้ำตา
เข้าสู่สงคราม
ในระหว่างนั้น พวกปาณฑพและเการพก็เตรียมการสำหรับสงครามใหญ่ ต่างฝ่ายต่างเกณฑ์ไพร่พลช้างม้า มาที่ทุ่งกุรุเกษตร (Kurushetra) ทุ่งขนาดใหญ่ที่ทั้งสองฝ่ายกำหนดไว้ว่าจะเข้าต่อสู้กันอย่างทรงเกียรติที่นี่
ทั้งสองฝ่ายได้ขอกำลังจากพันธมิตรต่างๆ ด้วย หัวเมืองต่างๆ จึงยกกำลังมาสมทบกับกองกำลังของปาณฑพและเการพตามที่แต่ใจจะปรารถนา
ปรากฏว่าทุรโยธน์กลับรวบรวมกำลังมาได้มากกว่า เขารวมกำลังมาได้ถึง 11 อักเษาหินี (Akshauhini) ส่วนพวกปาณฑพรวมมาได้ 7 อักเษาหินี
คำถามคือ 1 อักเษาหินีนี่มีกี่คน?
1 อักเษาหินีประกอบด้วย สัดส่วนต่อไปนี้
- รถศึก 21,870 คัน
- ช้าง 21,870 ตัว
- ม้า 65,610 ตัว
- ทหารราบ 109,350 นาย
โดยรวมแล้ว 1 อักเษาหินีจึงมีทหารทั้งหมด 21,870+21,870+65,610+109,350 = 218,700 นาย
ดังนั้นพวกเการพมี 11 อักเษาหินี จึงมีทหารรวมทั้งหมด 218,700*11 = 2,405,700 นาย
ส่วนพวกปาณฑพมี 7 อักเษาหินี จึงมีทหารรวมทั้งหมด 218,700*7 = 1,503,900 นาย
กำลังทหารดูเหมือนจะเวอร์ไปนิด แต่นั่นแหละครับไม่แปลกอะไร ก็มันเป็นนิยายนี่นา
ความดีของทุรโยธน์
ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมกรรณะถึงยังจงรักภักดีต่อทุรโยธน์ และเมืองต่างๆ ก็เข้าข้างทุรโยธน์มากกว่าด้วย ทำให้ทุรโยธน์รวบรวมทหารได้มากกว่าฝ่ายปาณฑพมาก ทั้งๆ ที่ทุรโยธน์ดูเหมือนจะเป็นคนชั่วใช้วิธีสกปรกต่างๆ มากมาย
เรื่องมหาภารตะเป็นเรื่องที่ตัวละครเป็นสีเทา ถึงแม้ทุรโยธน์จะทำลายพวกปาณฑพด้วยวิธีสกปรกอย่างเล่นสกา ทุรโยธน์หัวหน้าฝ่ายเการพเป็นคนที่มีความดีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเหล่ามิตรสหายที่ใกล้ชิดอย่างกรรณะ อย่างในสองเรื่องต่อไปนี้
หลังจากที่กรรณะได้เป็นกษัตริย์แห่งอังกะและเป็นขุนพลคนสำคัญของทุรโยธน์แล้ว กรรณะก็ยังถูกพวกผู้เฒ่าเหยียดหยามอย่างหนักในที่ประชุมว่าเป็นพวกต่ำต้อย ทุรโยธน์จึงกล่าวปกป้องกรรณะออกมาว่า
พระมหาฤาษี ยอดนักรบ ยอดนักปรัชญา มีผู้ใดใส่ใจกับชาติกำเนิดของคนเหล่านี้ด้วยงั้นหรือ
เราจึงเห็นได้ว่าทุรโยธน์มองคนจากความสามารถของเขา ไม่ใช่ที่ชาติกำเนิดเหมือนกับคนอินเดียโบราณ แนวคิดของเขาเหมือนกับกษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมด้วยซ้ำไป
นอกจากนี้ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงถึงความดีของทุรโยธน์
มีอยู่วันหนึ่ง กรรณะ และนางภาณุมาต (Bhanumati) มเหสีของทุรโยธน์กำลังเล่นสกากันอยู่อย่างเข้มข้น เมื่อนางภาณุมาตเห็นทุรโยธน์เดินเข้ามา นางจึงยืนขึ้นเพื่อที่จะทำความเคารพ
แต่ทว่ากรรณะเข้าใจผิด เขาคิดว่านางหมายใจจะโกง เขาจึงพยายามจะดึงลูกเต๋าไปจากมือนาง แต่ก็พลาดไปโดนเสื้อผ้านางภาณุมาตีจนหลุดรุ่ย
ทุรโยธน์ที่เดินเข้ามาจึงเห็นเพื่อนตัวเองกับภรรยาตนเองเหมือนว่ากำลังพลอดรักกัน เหมือนกับละครไทยไม่มีผิดเพี้ยน
ถ้าเอาตามความจริง ถ้าทุรโยธน์จะโกรธเคืองก็ไม่แปลก เพราะกรรณะมาเล่นสกากับมเหสีตัวเองในตำหนักใน และยังทำเสื้อผ้านางหลุดรุ่ยอีก กรรณะเองก็ทราบว่าตนเองทำผิด เขาจึงก้มหน้านิ่งรออาญาจากทุรโยธน์
ทุรโยธน์เห็นทั้งภรรยาตนเอง และเพื่อนรักก้มหน้าก็หัวเราะ และกล่าวว่า
พวกท่านต้องการให้ข้าเก็บพวกไข่มุกที่หล่นอยู่นี้อย่างไร เก็บขึ้นมาเฉยๆ หรือว่าผูกมันด้วย?
นั่นจึงแสดงให้เห็นถึงคุณธรรมของทุรโยธน์ เขาเชื่อใจเพื่อนและคนใกล้ชิดอย่างสนิทใจ เขามองทุกสิ่งด้วยความเป็นกลาง และไม่ใช้อารมณ์ ผู้คนมากมายรวมไปถึงกรรณะจึงมอบกายถวายชีวิตให้ทุรโยธน์
นอกจากนี้ทุรโยธน์จึงเอาใจใส่เหล่าประชาชนในเมืองหัสตินาปุระอย่างดี และให้ความเคารพกับเมืองอื่นๆ ด้วย ทุรโยธน์จึงเป็นผู้ที่ประชาชนในเมืองหัสตินาปุระรักมาก ราชาองค์อื่นในชมพูทวีปก็ชื่นชอบในตัวทุรโยธน์ทำให้นำกำลังมาสนับสนุนเขามากกว่า
ทุรโยธน์จึงเป็น “ตัวร้าย” ที่มีมิติมาก เขาไม่ได้เลวบริสุทธิ์เหมือนกับตัวร้ายในละครไทย นี่จึงเป็นเสน่ห์ของมหาภารตะครับ
ติดตามตอนต่อไปได้ที่นี่