ตำนานกรรณะ วีรบุรุษผู้ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อโชคชะตา (2): นางเทราปที

กรรณะ วีรบุรุษผู้ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อโชคชะตา (2): นางเทราปที

หลังจากเจอสาปไปสามครั้งในตอนที่1 กรรณะก็ดำรงตำแหน่งเป็นกษัตริย์แห่งอังกะขึ้นต่อต่อทุรโยธน์ที่หัสตินาปุระโดยตรง

ทุรโยธน์ผู้นี้เป็น Antagonist หรือพูดง่ายๆ ของตัวร้ายของเรื่องมหาภารตะ เขาจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากต่อชีวิตของกรรณะมาก

อย่างไรก็ดีต่างกับตัวร้ายในละครไทยทั่วไป ทุรโยธน์ผู้นี้เป็นบุคคลที่มีลักษณะเทาๆ เขามีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็มีข้อเสียหลายอย่างด้วยเช่นกัน

หนึ่งในข้อเสียอันร้ายแรงของทุรโยธน์คือ เขาเกลียดชังพวกปาณฑพมากเสียจนยอมทำทุกวิธีทางไม่ว่าจะดำมืดแค่ไหนเพื่อกำจัดพวกพี่น้องปาณฑพทั้งห้า

ทำไมทุรโยธน์ถึงเกลียดชังพวกปาณฑพ

ธฤตราษฎร์ บิดาของทุรโยธน์เป็นพระเชษฐาต่างมารดาของปาณฑุ ทั้งคู่ได้รับการร่ำเรียนวิชาต่างๆ ตั้งแต่วัยเยาว์ด้วยกัน แต่ธฤตราษฎร์เกิดมาตาบอดทั้งสองข้าง ราชสมบัติแห่งเมืองหัสตินาปุระจึงตกเป็นของปาณฑุ

แต่ทว่าอย่างที่เล่าไปแล้ว ปาณฑุกลับไปถูกพระฤาษีสาป ทำให้ปาณฑุจึงถวายราชสมบัติให้พระเชษฐาตามเดิมและไปอยู่ป่า ธฤตราษฎร์จึงขึ้นปกครองเมืองหัสตินาปุระสืบต่อมา

ท้าวธฤตราษฎร์

หลังจากพวกพี่น้องปาณฑพทั้งห้าเจริญวัยเป็นหนุ่ม ปาณฑุกลับพลาดเพราะพยายามไปมีอะไรกับนางมาตรี มเหสีคนที่สอง ทำให้ปาณฑุสิ้นชีวิตในทันที มเหสีคนที่ 2 นั้นทรงรู้ดีว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระสวามีจากไป นางจึงโยนตัวเองเข้าในกองไฟไปอีกคน ทำให้เหลือแต่เพียงนางกุนตีเลี้ยงดูพระกุมารทั้ง 5 เท่านั้น

เมื่อธฤตราษฎร์ทราบข่าวร้าย พระองค์จึงมีรับสั่งให้นางกุนตีมาบุตรทั้งห้ากลับมาเมืองหัสตินาปุระ และทรงปรารถนาจะเวนคืนราชสมบัติให้กับบุตรคนโตของปาณฑุนั่นก็คือยุธิษฐิระ

หากแต่ว่าเรื่องก็ไม่ง่ายนัก ธฤตราษฎร์มีโอรสองค์โตชื่อ ทุรโยธน์ เขาเองก็หวังในราชสมบัติและคิดว่าตนเองต่างหากควรจะขึ้นครองบัลลังก์สืบต่อจากธฤตราษฎร์ไม่ใช่พวกปาณฑพ

พอพวกปาณฑพทั้งห้ากลับมาอยู่ที่เมืองหัสตินาปุระ พวกเขาได้ร่ำเรียนศิลปศาสตร์กับโทรณะอาจารย์คนเดียวกัน พวกเขาเป็นคู่แข่งกับทุรโยธน์และน้องอีก 100 คน

ทุรโยธน์จึงเกลียดชังพวกปาณฑพมากเพราะเป็นหอกข้างแคร่ของตน เขารู้ดีว่าสักวันหนึ่ง เขาต้องทำสงครามชี้เป็นชี้ตายกับพวกปาณฑพ ดังนั้นเมื่อเขาเห็นกรรณะที่เก่งกล้าถูกพวกปาณฑพเหยียดหยามเช่นนั้น เขาจึงไม่ลังเลที่จะมอบไมตรีให้กับกรรณะ

กรรณะกับพิธีสยมพร

หลังจากวันที่ทุรโยธน์ช่วยเหลือกรรณะไว้ ทั้งสองกลายเป็นมิตรสหายที่สนิทสนมกันมาก

กรรณะยังเป็นขุนศึกให้กับทุรโยธน์อีกด้วย เขาออกปราบปรามดินแดนต่างๆมากมายเพื่อให้ทุรโยธน์เป็นจักรพรรดิ กรรณะจึงดูเหมือนว่าตามใจทุรโยธน์ไปหมดทุกสิ่ง

สิ่งเดียวที่กรรณะขัดใจทุรโยธน์คือ เขาไม่สนับสนุนให้ทุรโยธน์ใช้วิธีสกปรกสังหารพวกพี่น้องปาณฑพ ถึงแม้เขาจะเกลียดชังพวกปาณฑพอย่างมาก แต่กรรณะมองว่าการใช้กลลวงไม่เหมาะกับวรรณะกษัตริย์ที่เป็นนักรบ เขาต้องการเอาชนะพวกปาณฑพได้ในสมรภูมิมากกว่า

ความเกลียดชังพวกปาณฑพครอบงำจิตใจของทุรโยธน์ เขาจึงไม่ฟังคำทัดทานของกรรณะ ทุรโยธน์เลือกใช้กลอุบายของศกุนิ (Shakuni) ในการลอบสังหารพวกปาณฑพทั้งห้า แต่พวกปาณฑพสามารถเอาตัวรอดหนีไปได้อย่างหวุดหวิด

เมื่อเวลาผ่านไป ท้าวเทราปัต (Draupada) ได้จัดให้มีพิธีสยมภูวนาถ (เลือกคู่แต่งงาน) ของนางเทราปที พระธิดา กรรณะก็เป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่เข้าร่วมพิธีดังกล่าว

กติกามีอยู่ว่า ผู้ที่สามารถยกธนูขึ้นได้ และสามารถยิงธนูห้าดอกติดกันผ่านห่วงที่กำลังหมุนได้นั้นจะได้นางเทราปทีไปครอบครอง บรรดากษัตริย์ที่เข้าร่วมพิธีไม่สามารถยกธนูขึ้นได้เลยสักคนเดียว มีแต่เพียงกรรณะเท่านั้นที่สามารถยกคันธนูขึ้นอย่างง่ายดาย และยิงธนูอย่างแม่นยำผ่านห่วงได้อย่างแม่นยำทั้งห้าดอก

ตามกฎแล้วนางเทราปทีจึงควรจะเป็นของกรรณะ

แต่เรื่องกลับเป็นว่า

นางเทราปทีปฎิเสธกรรณะอย่างเสียๆ หายๆ นางบอกต่อหน้าที่ประชุมว่ากรรณะเดิมเป็นพวกวรรณะศูทร เป็นแค่บุตรของคนขับรถ ดังนั้นนางจึงไม่อาจแต่งงานด้วยได้

เมื่อเห็นเช่นนั้น บรรดากษัตริย์ต่างถือโอกาสเหยียดหยามกรรณะกันยกใหญ่ว่าเป็นพวกชั้นต่ำ กรรณะจำต้องเดินออกจากพิธีดังกล่าวไปด้วยความอับอาย

ภายหลังอรชุน หนึ่งในพวกปาณฑพ คู่ปรับของกรรณะก็สามารถยิงธนูได้แบบกรรณะเช่นกัน นางเทราปทีดีใจยิ่งนัก เพราะนางหลงรักอรชุนตั้งแต่แรกพบ นางจึงเลือกอรชุนเป็นคู่ครอง

การที่นางเทราปทีทำต่อกรรณะเช่นนี้ทำให้กรรณะขุ่นเคืองนางเทราปทีมาก และเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ต่อไปในภายภาคหน้า

สุดท้ายแล้วใช่ว่า นางเทราปทีจะเป็นของอรชุนแต่เพียงคนเดียวเสียเมื่อไร นางเทราปทีกลับตกเป็นมเหสีของพี่น้องปาณฑพทั้งห้า!

ถึงแม้นางเทราปทีจะรับได้กับการมีสามี 5 คนพร้อมกัน แต่ในใจลึกๆ ได้เกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งขึ้นมาที่นางไม่เคยบอกใคร

นั่นก็คือจริงๆ แล้วนางไม่ต้องการจะมีสามีพร้อมกันถึงห้าคน นายเสียดายที่ปฏิเสธกรรณะไปเพราะเรื่องวรรณะ ซึ่งนางเองก็มารู้ทีหลังว่ากรรณะเป็นวรรณะกษัตริย์ และเป็นพี่ชายของพี่น้องปาณฑพทั้งห้า

เรื่องความรู้สึกภายในใจของนางเทราปทีได้ถูกถ่ายทอดออกมาในส่วน Side Stories ของมหาภารตะด้านล่าง

ความในใจที่ถูกเปิดเผย

ในปีที่ 13 ของการถูกเนรเทศของพวกปาณฑพนั้น พวกปาณฑพและนางเทราปทีได้ไปลักลอบเด็ดผลไม้ของพวกฤาษีโดยไม่ตั้งใจ ทุกคนเกรงกลัวจะถูกสาป นางเทราปทีจึงภาวนาให้พระกฤษณะ (Krishna) อวตารของพระวิษณุมาช่วยเหลือ

เมื่อมาถึง พระกฤษณะกล่าวว่า ผลไม้นี้เป็นผลไม้ทิพย์ การจะผูกผลไม้กลับไปที่ต้นของมันจะต้องอาศัยความสัตย์ พวกปาณฑพทั้งห้าและนางเทราปทีจะต้องพูดความลับที่พวกตนมีออกมาจนสิ้นต่อหน้าต้นไม้นี้

พวกปาณฑพทั้งห้าไม่มีปัญหาใดๆ อยู่แล้ว พวกเขาพูดความลับออกมาจนหมดสิ้น ผลไม้ห้าลูกจึงกลับไปที่ต้นอย่างง่ายดาย

แต่ของนางเทราปทีกลับตรงกันข้าม ไม่ว่านางเทราปทีจะกล่าวความจริงต่อหน้าต้นไม้ว่าอย่างไร ผลไม้ก็ยังไม่กลับสู่ที่เดิม

พระกฤษณะจึงเดินเข้ามาหานาง และกล่าวว่า นางคงจะมีความลับอะไรสักสิ่งที่ยังไม่พูดออกมา นางเทราปทีจำใจต้องกล่าวออกมาว่า

ข้าเสียใจที่ข้าไม่ได้เลือกกรรณะในวันนั้นเพียงเพราะชาติกำเนิดของเขา กรรณะมีข้อดีทั้งหมดของพวกท่านรวมกัน ถ้าข้าแต่งงานกับเขา ข้าก็คงจะไม่ต้องเป็นสิ่งของมาให้พวกท่านใช้ในการพนัน ข้าคงไม่ต้องอับอายต่อหน้าผู้คนนับพัน สุดท้ายข้าคงไม่ต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นโสเภณี เพราะมีสามีพร้อมกันถึงห้าคน

เมื่อนางกล่าวเช่นนี้ ผลไม้ก็กลับไปผูกติดกับต้นตามเดิม

การเลือกคู่ชีวิตของนางเทราปทีจึงส่งผลใหญ่หลวงอย่างมากต่อชีวิตของนางอย่างที่นางโพล่งออกมา แต่ชีวิตของผู้กล้าของกรรณะยังต้องเดินต่อไป

กรรณะแต่งงานกับผู้หญิงในวรรณะศูทรตามคำขอของบิดา ทั้งๆที่ตนเองเป็นกษัตริย์แห่งอังกะแล้วก็ตาม ซึ่งเขาก็ไม่ได้น้อยใจในชะตาชีวิตแต่อย่างใด กรรณะยังคงเป็นกษัตริย์ที่ดี เป็นสามีที่ดี และเป็นพ่อที่ดีต่อไป

ติดตามต่อไปในตอนหน้า

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!