ประวัติศาสตร์ใครคือผู้สืบทอดบัลลังก์ที่แท้จริงของ "คังซีฮ่องเต้" กันแน่?

ใครคือผู้สืบทอดบัลลังก์ที่แท้จริงของ “คังซีฮ่องเต้” กันแน่?

คังซีฮ่องเต้ (Kangxi Emperor) เป็นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ชิงที่คนไทยจำนวนมากรู้จักกันดี เพราะปรากฏอยู่ในซีรีส์จีนที่ถูกนำเข้ามาฉายในประเทศไทยหลายต่อหลายเรื่องด้วยกัน

ในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว คังซีเป็นฮ่องเต้ที่ยิ่งใหญ่ คังซีรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่นภายใต้ราชวงศ์ชิง ปราบกบฏอู๋ซานกุ้ย ฟื้นคืนอำนาจรัฐที่เสียไปตั้งแต่การล่มสลายของราชวงศ์หมิง และทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างมากหลังจากตกต่ำมาเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่คังซีไม่อาจจะปราบปรามได้คือการแย่งอำนาจของเหล่าองค์ชายต่างๆ เพื่อจะได้เป็นรัชทายาทสืบบัลลังก์

คังซี

การแย่งชิงตำแหน่งรัชทายาทครั้งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังในหน้าประวัติศาสตร์ไม่แพ้การแย่งชิงอำนาจที่ประตูเสวียนหวู่ในสมัยราชวงศ์ถัง และปรากฏอยู่ในซีรีส์หลายต่อหลายเรื่อง อาทิเช่น ปู้ปู้จิงซิ่น หรือ Scarlet Heart (2011) ที่คนไทยหลายคนน่าจะเคยดูมาบ้าง

เรามาดูดีกว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร

เหล่าองค์ชายแย่งชิงตำแหน่ง

การแย่งชิงตำแหน่งของเหล่าองค์ชายไม่ได้เกิดขึ้นในปีสุดท้ายของรัชกาลคังซี แต่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นนานหลายปีแล้ว

เดิมทีรัชทายาทของคังซีคือ ยิ่นเหริง โอรสคนที่สองที่เกิดกับเซี้ยวเฉิงเหรินหวงโฮ่ว พระอัครมเหสี (โอรสองค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังเล็ก)

หลังจากให้กำเนิดยิ่นเหริงไม่นาน เซี้ยวเฉิงเหรินหวงโฮ่วก็สิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นคังซีจึงประคบประหงมลูกชายคนนี้อย่างดี เพราะเป็นลูกชายคนเดียวของมเหสีที่พระองค์รัก

คังซีประกาศว่าบุตรชายคนนี้เป็นรัชทายาทตั้งแต่เขายังเป็นทารก และยังสอนบุตรชายคนนี้อ่านเขียนด้วยตนเองด้วย ต่างจากบุตรชายคนอื่นที่ให้ผู้อื่นเป็นผู้ดูแลและจัดการ

อย่างไรก็ดีการประคบประหงมคงทำให้เกิดผลเสียกับนิสัยของยิ่นเหริงไม่มากก็น้อย เพราะเมื่อเขาเติบโตขึ้น แม้ยิ่นเหริงจะเป็นคนมีความรู้ดี แต่เขาเอาแต่ใจสุดๆ เขามักจะทุบตีหรือสังหารพวกข้าราชบริพารอยู่สม่ำเสมอและชอบซื้อเด็กสาวๆ มาบำเรอความสุขของตนเองด้วย นอกจากนี้ภายในราชสำนักมีข่าวลือว่ายิ่นเหริงคบชู้กับนางในอีกต่างหาก

คังซีรู้สึกผิดหวังไม่น้อยกับพฤติกรรมของยิ่นเหริง แต่ก็ยังคงอดทนและไว้ใจให้เขาดูแลราชสำนักระหว่างที่ตัวคังซีไปทัพ อย่างไรก็ดีคังซีหมดความอดทนกับเขาในปี ค.ศ.1707 หลังจากที่อาของมารดายิ่นเหริงพยายามจะปลงพระชนม์คังซีแต่ไม่สำเร็จ ยิ่นเหริงจึงถูกปลดออกจากตำแหน่งรัชทายาท

การที่ตำแหน่งรัชทายาทว่างลงเปิดโอกาสให้เหล่าองค์ชายที่ทะเยอทะยานได้ช่วงชิงกัน ยิ่นจือ โอรสที่มีอายุมากที่สุดในเวลานั้นจึงเสนอให้คังซีแต่งตั้งองค์ชายแปดหรือยิ่นซื่อเป็นรัชทายาท และพยายามโน้มน้าวคังซีด้วยการเชิญพวกโหรมาทูลให้คังซีทราบว่ายิ่นซื่อเหมาะกับการเป็นรัชทายาท

ยิ่นซื่อ

ยิ่นซื่อเป็นองค์ชายที่ทะเยอทะยานมาตั้งแต่เดิม เขาสะสมฐานอำนาจทางการเมืองอยู่ช้านานแล้วเพื่อที่จะเป็นกำลังสนับสนุนตนเองขึ้นเป็นรัชทายาทแทนที่ยิ่นเหริง

อย่างไรก็ดีการที่ยิ่นจือเชิญพวกโหรมานั้น นอกจากจะทำให้คังซีจะไม่แต่งตั้งยิ่นซื่อแล้ว คังซียังสงสัยทั้งยิ่นจือและยิ่นซื่อว่าพยายามใส่ร้ายยิ่นเหริง รัชทายาทองค์เดิม คังซีจึงลงอาญายิ่นจือและยิ่นซื่อและมอบตำแหน่งรัชทายาทคืนให้กับยิ่นเหริง

แม้จะได้ตำแหน่งกลับคืนมาอย่างโชคช่วยสุดๆ ยิ่นเหริงกลับยังไม่เลิกนิสัยแย่ๆของตน ในปี ค.ศ.1712 ยิ่นเหริงพยายามก่อรัฐประหารล้มบิดาของตนเอง แต่คังซีทราบข่าวเสียก่อน ยิ่นเหริงจึงถูกปลดออกจากตำแหน่งและขังเอาไว้ในบ้าน

การก่อรัฐประหารของยิ่นเหริงทำให้คังซีเสียใจมาก หลังจากนั้นคังซีประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะไม่แต่งตั้งใครเป็นรัชทายาทอีก แต่คังซีจะเขียนชื่อขององค์ชายที่ได้รับเลือกแล้วเก็บไว้ในกล่อง กล่องนี้จะถูกเก็บไว้ที่ท้องพระโรงวังต้องห้าม และจะถูกเปิดหลังจากที่คังซีสวรรคตไปแล้วเท่านั้น

การตัดสินใจของคังซีที่จะไม่แต่งตั้งรัชทายาทไม่ได้ทำให้พวกองค์ชายหยุดแบ่งพรรคแบ่งพวกเพื่อแย่งชิงอำนาจกัน องค์ชายแปดยิ่นซื่อที่โดนลงอาญาหันไปสนับสนุน องค์ชายสิบสี่ (ยิ่นถี) ให้เป็นรัชทายาท

อย่างไรก็ดี ยิ่นถีไม่ได้ปราศจากคู่แข่ง ตัวเต็งที่จะแข่งกับเขาคือ องค์ชายสี่ (ยิ่นเจิน) ยิ่นถีและยิ่นเจินเป็นพี่น้องที่มีมารดาคนเดียวกันทำให้กลายเป็นศึกสายเลือดในการชิงบัลลังก์อยู่กลายๆ

ยิ่นเจิน: ม้าตีนปลาย

เดิมทีองค์ชายสี่ ยิ่นเจินไม่ได้แสดงออกมากนักว่าหวังในราชบัลลังก์ ในปี ค.ศ.1709 ยิ่นเจินเคยสนับสนุนให้คังซีคืนตำแหน่งให้กับยิ่นเหริงมาแล้ว ตัวเขาจึงไม่ได้สร้างฐานอำนาจในราขสำนักเหมือนกับองค์ชายแปด (ยิ่นซื่อ)

ยิ่นเจิน

แต่เมื่อยิ่นเหริงถูกปลดและโดนข้อหาร้ายแรง ยิ่นเจินเริ่มเข้าข่ายที่จะสืบบัลลังก์ต่อจากคังซี เพราะยิ่นเจินเป็นคนเอางานเอาการและมีความสามารถคนหนึ่ง ยิ่นเจินได้รับการสนับสนุนโดยองค์ชายสิบสาม ยิ่นเสียง ให้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากคังซี แต่ก็ไม่ได้สร้างฐานอำนาจมากมายนักเช่นเดิม

ในปี ค.ศ.1722 คังซีเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ แต่กลับสั่งให้องค์ชายสิบสี่ ยิ่นถี นำกองทัพไปทำสงครามในซินเจียง คำสั่งของคังซีถูกตีความหลายรูปแบบด้วยกัน อาทิเช่น

  1. คังซีต้องการจะมอบบัลลังก์ให้องค์ชายสี่ ยิ่นเจิน คังซีจึงสั่งให้ยิ่นถีที่มีตำแหน่งทางการทหารออกไปอยู่ที่อื่น ยิ่นเจินจะได้ขึ้นครองราชย์โดยปราศจากการขัดขวาง
  2. คังซีแสดงออกว่าบัลลังก์เป็นขององค์ชายสิบสี่ ยิ่นถี เขาจึงมอบหมายงานสำคัญให้ยิ่นถีเป็นผู้ทำ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าน่าจะเป็นข้อแรกมากกว่า เพราะว่าตามธรรมเนียมจีน (ที่ชาวแมนจูรับมา) รัชทายาทมักจะได้รับคำสั่งให้อยู่ดูแลเมืองหลวงเสมอ และถ้าไม่จำเป็นจะไม่ถูกส่งตัวออกไปที่ใดเลย เพื่อป้องกันเหตุการชิงอำนาจที่อาจจะเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ ถ้าคังซีอยากให้ยิ่นถีเป็นรัชทายาทจริงๆ ทำไมเขาถึงต้องส่งยิ่นถีไปทำสิ่งที่เสี่ยงอันตรายเช่นนั้น ฟังดูแล้วไม่เหมาะสมกับการจะเป็นรัชทายาทเลยแม้แต่น้อย

ใครเป็นรัชทายาทที่แท้จริง?

ในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1722 คังซีป่วยหนักจวนจะสวรรคต คังซีมีรับสั่งให้เรียกองค์ชายทั้งหมดที่อยู่ในกรุงปักกิ่งอันเป็นเมืองหลวงเข้ามาเฝ้า องค์ชายที่เข้ามาเฝ้าได้แก่ องค์ชายสาม สี่ แปด เก้า สิบ สิบหก และสิบเจ็ด (สิบสามไม่ได้เฝ้าเพราะถูกขังอยู่ในบ้าน ส่วนสิบสี่ไปทัพ)

ไม่ปรากฏว่าภายในห้องดังกล่าวมีการพูดคุยอะไรกัน แต่หลังจากคังซีฮ่องเต้สวรรคตไป ลองโกโด ผู้บังคับบัญชากองทหารองครักษ์ได้ประกาศว่า องค์ชายสี่ ยิ่นเจิน ได้รับเลือกให้สืบราชสมบัติ ยิ่นเจินจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิหย่งเจิ้งหรือหย่งเจิ้งฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ชิง

ตำนานเกี่ยวกับการสืบบัลลังก์มีอยู่มากมาย หนึ่งในเรื่องที่ดังที่สุดคือ ยิ่นเจินเปลี่ยนพระบรมราชโองการของคังซีภายใต้การสนับสนุนของลองโกโด

กล่าวคือในพระบรมราชโองการ คังซีจะให้ยิ่นถี องค์ชายสิบสี่ขึ้นสืบราชบัลลังก์ แต่ยิ่นเจินเปลี่ยนตัวอักษรจาก

十四

แปลว่า “สิบสี่” แปลว่าสิบ ส่วน แปลว่าสี่

กลายเป็น

于四

แปลว่า “ต่อ” หรือ “แก่” เช่นในบริบทว่า มอบให้แก่…. เป็นต้น

ทำให้กลายเป็นว่า คังซีมอบให้องค์ชายสี่ หรือตัวยิ่นเจินเองสืบราชบัลลังก์

เรื่องนี้เป็นที่เลื่องลือกันมานานหลายร้อยปี จนกระทั่งในยุคศตวรรษที่ 20 ที่มีการโต้แย้งอย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนพระบรมราชโองการตามที่ลือกันไม่สามารถทำได้ เพราะว่า

  • พระบรมราชโองการจะระบุชื่อองค์ชายหรือ “ยิ่นเจิน” ด้วย มิใช่กล่าวเฉพาะ “องค์ชายสี่” แต่เพียงอย่างเดียว ทำให้ถ้าจะแปลงจริงๆ ต้องแปลงใหม่ทั้งหมด
  • พระบรมราชโองการจัดทำในสามภาษา ได้แก่ จีน แมนจู และมองโกเลียน ซึ่งอีกสองภาษาไม่สามารถแปลงอักษรในรูปแบบที่ลือกันได้

ดังนั้นยิ่นเจิน หรือ องค์ชายสี่จึงเป็นรัชทายาทที่แท้จริงของคังซีฮ่องเต้อย่างไม่ต้องสงสัย เรื่องที่ลือๆ กันน่าจะเป็นความพยายามดิสเครดิตหย่งเจิ้งขององค์ชายคนอื่นๆ เสียมากกว่า

ยิ่นเจินหรือหย่งเจิ้งฮ่องเต้ไม่เคยไว้วางใจองค์ชายคนอื่นๆ แม้จะได้ครองราชย์แล้วก็ตาม องค์ชายคนอื่นๆ ต่างถูกกำจัดด้วยการปลดออกจากตำแหน่งและริบอำนาจไปทีละคน จนสุดท้ายอำนาจก็อยู่ในกำมือของหย่งเจิ้งโดยสมบูรณ์

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!