ประวัติศาสตร์"กามิกาเซ่" วิธีรบแบบพลีชีพของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

“กามิกาเซ่” วิธีรบแบบพลีชีพของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

กามิกาเซ่ (神風) เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่า สายลมศักดิ์สิทธิ์ หรือ สายลมแห่งจิตวิญญาณ ในหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น พายุไต้ฝุ่นที่ทำลายกองเรือมองโกลที่รุกรานญี่ปุ่นถูกเรียกว่าเป็นกามิกาเซ่ เพราะมันได้ปกป้องแผ่นดินแม่เอาไว้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมากามิกาเซ่ได้กลายเป็นคำที่ใช้กล่าวถึง ปฏิบัติการรบแบบพลีชีพที่กองทัพญี่ปุ่นใช้ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งส่วนมากแล้วจะใช้เครื่องบิน แต่ก็มีปฏิบัติการพลีชีพแบบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่นจรวดโอกะ หรือจรวดมนุษย์เป็นต้น

เรามาดูกันดีกว่ากามิกาเซ่นี้มีที่มาอย่างไร

กามิกาเซ่ในจังหวะพุ่งเข้าหาเรือรบสหรัฐ

ปูมหลัง

ในช่วงปี ค.ศ.1942-1943 สถานการณ์การรบในสงครามแปซิฟิกเลวร้ายลงเรื่อยๆสำหรับฝ่ายญี่ปุ่น กองทัพอเมริกันได้รับชัยชนะเด็ดขาดในยุทธการมิดเวย์และกัวดัลคะแนล และกำลังไล่บดขยี้กองกำลังญี่ปุ่นไปทีละเกาะ

แม้กองทัพอเมริกันจะได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจทางด้านอุตสาหกรรม ทำให้สามารถผลิตเครื่องบินและเรือจำนวนมากขึ้นมาทดแทนอย่างรวดเร็ว อาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังคนจำนวนมหาศาลถูกส่งมาสนับสนุนที่สมรภูมิแปซิฟิกเพื่อทำลายกองทัพญี่ปุ่นให้สิ้นซากไป

ญี่ปุ่นไม่มีความสามารถในการผลิตเท่ากับสหรัฐอเมริกา ผู้นำญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้เตรียมการสำหรับการสู้รบแบบยืดเยื้อด้วย ทรัพยากรของญี่ปุ่นเริ่มร่อยหรอลงไปทุกทีทั้งเรือและเครื่องบิน

นอกจากนี้ฝ่ายอเมริกันยังมีระบบการฝึกนักบินที่ดีกว่าญี่ปุ่น หลังจากที่ต่อสู้ในสมรภูมิไปได้สักพักหนึ่ง นักบินที่มีประสบการณ์และฝีมือจะถูกส่งตัวกลับประเทศแม่ เพื่อกลับไปฝึกสอนและถ่ายทอดวิธีรบให้กับนักบินหน้าใหม่ ทำให้นักบินอเมริกันมีหน้าใหม่ที่มีฝีมือเข้าประจำการรบอยู่โดยตลอด

แต่ญี่ปุ่นไม่มีแนวทางเช่นนั้น นักบินญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์และฝีมือมักจะถูกใช้ให้รบอยู่ที่แนวหน้าจนกระทั่งตัวตาย ทำให้นักบินญี่ปุ่นหน้าใหม่ไม่ได้รับการสอนจากครูที่เก่งพอ ฝีมือของนักบินญี่ปุ่นจึงอ่อนด้อยลงไปตามลำดับ

“Hellcat”

ในปี ค.ศ.1944 กองทัพอเมริกันได้ส่งเครื่องบินรบแบบใหม่เข้าประจำการไม่ว่าจะเป็น “Grumman F6F Hellcat” หรือ “Vought F4U Corsair” เครื่องบินทั้งสองเป็นเครื่องบินขับไล่ที่เหนือกว่าเครื่องบินขับไล่ของญี่ปุ่นทุกรูปแบบ อาจจะยกเว้น “Zero” ของญี่ปุ่นแค่ชนิดเดียวเท่านั้น

เครื่องบินที่สมรรถภาพสูงกว่า และฝีมือของนักบินที่ต่างกันสุดขั้วเริ่มส่งผลต่อผลงานในสมรภูมิ ในปีนั้น โดยเฉลี่ย แล้วญี่ปุ่นเสียเครื่องบินมากถึง 5-6 ลำต่อเครื่องบินอเมริกัน 1 ลำ ทำให้ทหารอเมริกันเยาะเย้ยว่าฝีมือนักบินญี่ปุ่นกระจอกมาก เพราะฝ่ายอเมริกันยิงเล่นอย่างสนุกมือเหมือนกับการล่าไก่งวงที่บ้าน

ภายในกองบัญชาการญี่ปุ่นจึงต้องคิดวิธีใหม่ที่จะต่อกรกับกองทัพอเมริกันที่แข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อการรบดำเนินไป

กำเนิดกามิกาเซ่

กองทัพญี่ปุ่นเริ่มประสบปัญหาใหญ่หลวงในปี ค.ศ.1944 เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ขาดแคลนอย่างหนัก การรุกของกองทัพอเมริกันได้ตัดญี่ปุ่นออกจากแหล่งเชื้อเพลิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ญี่ปุ่นต้องจำกัดการใช้น้ำมันให้น้อยลงอย่างมาก

ปัญหาหลายด้านทำให้กองทัพอากาศญี่ปุ่นหวนคิดว่าจะมีวิธีใดที่จะประหยัดเชื้อเพลิงและทำลายข้าศึกได้มากที่สุด

นายทหารญี่ปุ่นบางคนเริ่มเสนอให้ใช้วิธีการพลีชีพในการโจมตีกองทัพอเมริกัน โดยเครื่องบินญี่ปุ่นจะบรรทุกระเบิดให้เติมลำ และไม่ต้องเผื่อน้ำมันขากลับ นักบินจะขับเครื่องบินชนเป้าหมายให้ย่อยยับไปด้วยกัน

จริงๆแล้ววิธีการรบแบบพลีชีพไม่ใช่เรื่องใหม่ เหล่านักบินรบทั่วไปไม่ว่าจะญี่ปุ่นหรืออเมริกันก็ใช้กัน เช่นในสถานการณ์ที่เห็นว่าตนเองไม่รอดแล้ว และต้องการจะสร้างความเสียหายให้กับศัตรูมากที่สุด

แต่วิธีนี้จะใช้เมื่อจวนตัวเท่านั้น ไม่ใช่จะใช้เป็นวิธีหลักแบบจงใจเพื่อโจมตีศัตรูแบบที่ญี่ปุ่นได้ทำ

กองทัพญี่ปุ่นได้ศึกษาตัวอย่างเก่าๆนักบินญี่ปุ่นเคยใช้เครื่องบินเข้าโจมตีศัตรูแบบพลีชีพ (แบบไม่ตั้งใจ) และพบว่าวิธีนี้ได้สร้างความเสียหายอย่างมากแก่กองทัพอเมริกัน ทำให้วิธีนี้เริ่มถูกยอมรับมากขึ้นตามลำดับ สุดท้ายกองทัพญี่ปุ่นจึงอนุญาตให้เข้าโจมตีศัตรูด้วยวิธีการนี้ได้

แม้ว่ากองทัพญี่ปุ่นจะอนุญาตให้โจมตีด้วยวิธีการดังกล่าว แต่ไม่ใช่ว่านักบินญี่ปุ่นทุกคนจะเห็นด้วย ขนาดเรืออากาศเอก ยูกิโอ เซกิ ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้บังคับบัญชาฝูงบินกามิกาเซ่ฝูงแรกในประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้เห็นด้วย เขากล่าวว่า

อนาคตของญี่ปุ่นจะมืดมัวถ้าเราถูกบังคับให้สังหารนักบินที่ยอดเยี่ยมที่สุดเช่นนี้ ฉันไม่ได้ไปปฏิบัติภารกิจเพื่อองค์จักรพรรดิและจักรวรรดิของเรา ….. แต่ฉันไปเพราะฉันได้รับคำสั่งให้ไป

เซกิยังกล่าวด้วยว่า เขาสามารถนำเครื่องบินไปทิ้งระเบิดใส่เรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกัน และนำตัวเองกลับมาได้ โดยไม่ต้องพุ่งชนให้ตายเปล่า

คำกล่าวของเซกิแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เขาไม่เห็นด้วยกับวิธีการรบเช่นนี้ แต่เขาเป็นทหารที่ดี ดังนั้นเมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งอะไร เขาย่อมต้องทำตาม

ในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ.1944 เซกินำฝูงบินกามิกาเซ่เข้าโจมตีกองเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันในการปะทะกันที่อ่าวเลย์เต แต่การจะเข้าถึงเป้าหมายไม่ใช่เรื่องง่าย กองเรืออเมริกันกระหน่ำยิงเครื่องบินญี่ปุ่นด้วยปืนต่อสู้อากาศยาน อย่างหนักหน่วง เครื่องบินขับไล่อเมริกันก็ระดมยิงด้วยกระสุนใส่เครื่องบินญี่ปุ่น

แต่เซกิก็เข้าถึงเป้าหมายของเขาได้สำเร็จ เขาและเพื่อนร่วมฝูงบินสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันได้ 1 ลำ และสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับเรือบรรทุกเครื่องบินอีก 7 ลำ พร้อมกับเรืออื่นๆ อีก 40 ลำด้วย

วิธีรับมือกามิกาเซ่

ความสำเร็จของเซกิและฝูงบินฝูงแรกทำให้กองบัญชาการญี่ปุ่นใช้การโจมตีแบบกามิกาเซ่เพิ่มมากขึ้น นอกจากจะใช้โจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินและกองเรืออื่นๆ แล้ว ญี่ปุ่นยังพยายามใช้วิธีเดียวกันกับเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนักอย่าง B-29 ด้วย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เพราะเครื่องบินอเมริกันบินเร็ว และไม่ได้เคลื่อนที่ช้าเหมือนกับเรือ

อย่างไรก็ตามกองทัพเรืออเมริกันถือว่าได้รับความเสียหายอย่างหนักจากกามิกาเซ่ ทำให้กองทัพอเมริกันต้องหาวิธีใหม่ในการรับมือเครื่องบินพลีชีพเหล่านี้

วิธีการใหม่ที่ได้รับการคิดค้นขึ้นมาคือ “Big Blue Blanket”

วิธีการที่ว่าคือ

ให้จัดกระบวนเรือใหม่ โดยเรือบรรทุกเครื่องบินอยู่ตรงกลางกองเรือ แต่ละด้านจะมีกองเรือพิฆาตตั้งห่างออกไป 50-100 กิโลเมตร เพื่อที่เรดาร์จะได้จับสัญญาณกามิกาเซ่ได้หลายร้อยกิโลเมตรก่อนที่มันจะมาถึงเรือบรรทุกเครื่องบิน

กองเรือแต่ละกองจะมีเครื่องบินขับไล่คอยลาดตระเวนอยู่ตลอดเวลา ถ้ากามิกาเซ่บินเข้ามาใกล้ก็เข้าโจมตีได้ทันที นอกจากนี้ยังให้ทิ้งระเบิดสนามบินญี่ปุ่นให้พังพินาศมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ วิธีการใหม่ทำให้กองเรืออเมริกันปลอดภัยขึ้นและความสูญเสียเริ่มลดลง

ในปี ค.ศ.1945 กองทัพอเมริกันนำปืนต่อสู้อากาศยานแบบใหม่เข้าประจำการ ปืนเหล่านี้สามารถยิงกามิกาเซ่จนแตกเป็นชิ้นๆ กลางอากาศได้ ต่อมากองทัพอเมริกันนำกระสุนชนิดใหม่ที่เรียกว่า proximity fuze เข้ามาใช้ ทำให้กามิกาเซ่ญี่ปุ่นถูกทำลายก่อนที่จะเข้าถึงเป้าหมายมากขึ้นตามลำดับ

ปืนต่อสู้อากาศยานเผชิญหน้ากับกามิกาเซ่

บั้นปลาย

ภายในญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า นักบินกามิกาเซ่ทุกคนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเลือก และยินยอมที่จะพลีชีพเพื่อประเทศและจักรพรรดิ แต่นั่นเป็นความจริงแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น

ซูเนโอะ วาตานาเบ้ แห่งหนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุน เคยวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่่า

มันเป็นเรื่องโกหกทั้งเพที่บอกว่าพวกเขาขึ้นบินด้วยความกล้าหาญ และความสุข และร้องว่า พระจักรพรรดิจงเจริญ จริงๆ แล้วพวกเขาเหมือนเป็นแกะในโรงฆ่า ทุกคนมองพื้นและเดินไปอย่างเศร้าสร้อย บางคนถึงกับยืนขึ้นไม่ไหว จนถูกนำตัวและผลักขึ้นเครื่องบินไปโดยพวกช่างเครื่อง

ยามาโซโนะ อดีตนักบินกามิกาเซ่ที่รอดตายจากสงคราม เพราะไม่ได้ปฏิบัติภารกิจ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า ไม่มีพวกนายทหารสักคนเดียวที่อาสาบินไปตาย ยามาโซโนะเล่าว่าพวกนายทหารบังคับให้นักบินประมาณ 100 คนยอมเป็นนักบินกามิกาเซ่ แต่เมื่อมี 3 คนที่ไม่ยอมเป็น ทั้งสามกลับถูกซ้อมอย่างหนักหน่วง

นักบินกามิกาเซ่แต่ละคนได้รับการฝึกที่น้อยและแย่มาก ในฐานะผู้บังคับบัญชาฝูงบินกามิกาเซ่คนหนึ่ง ยามาโซโนะกล่าวกับนักบินในบังคับบัญชาว่า

พวกแกมันห่วยมาก ถ้าฉันพาพวกแกออกไป พวกอเมริกันคงจะดีใจที่ได้เจอพวกแก ญี่ปุ่นพร้อมที่จะส่งนักบินหนุ่มทุกคนไปตาย ทุกคน! มันเป็นเรื่องน่าอัปยศจริงๆ

ข้อเท็จจริงจากฝั่งอเมริกันพิสูจน์ว่าคำกล่าวของยามาโซโนะเป็นจริง กามิกาเซ่ในช่วงปลายสงครามทำผลงานได้แย่ลงมาก กองเรืออเมริกันที่พัฒนาอาวุธและยุทธวิธีใหม่ไม่มีปัญหากับกามิกาเซ่อีกต่อไป กามิกาเซ่จึงไม่อาจช่วยปกป้องญี่ปุ่นไว้ได้

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง กองทัพอเมริกันรายงานว่าได้สูญเสียเรือไป 34 ลำ และกะลาสีเรือ 4,900 คน ส่วนเรืออีก 368 ลำได้รับความเสียหาย เช่นเดียวกับกะลาสีเรืออีกเกือบ 5,000 คนที่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนญี่ปุ่นเสียนักบินไปประมาณ 4,000 คน อัตราการโจมตีสำเร็จของกามิกาเซ่อยู่ที่ 14% เท่านั้น

Sources:

  • Toland, The Rising Sun: The Decline and Fall of the Japanese Empire
  • LA Times, They’ve Outlived the Stigma
  • Axell and Kase, Kamikaze – Japan’s Suicide Gods

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!