ประวัติศาสตร์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตา"เคเดอร์" อุบัติเหตุในโรงงานครั้งใหญ่ของไทย

ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตา”เคเดอร์” อุบัติเหตุในโรงงานครั้งใหญ่ของไทย

เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงาน “เคเดอร์” เป็นอุบัติเหตุครั้งหนึ่งของไทยที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด และหนึ่งในสาเหตุก็ไม่ได้ไปไกลกว่าความประมาทของผู้เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับเหตุการณ์คล้ายกันอย่าง ไฟไหม้โรงแรมรอยัลจอมเทียน หรือ แก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรี

เรามาดูกันครับว่าเกิดอะไรขึ้น

เพลิงเผาผลาญโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์

ปูมหลังของอุบัติเหตุ

ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตหลักของโลก มีบริษัทต่างชาติมากมายเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย และจ้างคนไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้ว

ช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจไทยจึงเติบโตดีมาก และรัฐบาลก็ส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจรับจ้างผลิตของเด็กเล่น โรงงานจำนวนมากผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ผู้ประกอบการแย่งกันเปิดเพื่อเร่งผลิตสินค้าให้กับลูกค้า ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มจากประมาณ 50 ล้านบาทเป็นประมาณ 7,800 ล้านบาท ในเวลาแค่ 10 ปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การที่โรงงานถูกสร้างอย่างรวดเร็วทำให้เรื่องความปลอดภัยของเหล่าแรงงานถูกละเลยไปด้วย

บริษัทเคเดอร์อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ Kader Industrial Thailand บริษัทแห่งนี้บริษัทที่ร่วมทุนโดยกลุ่ม CP กลุ่มธุรกิจที่ทรงอิทธิพลในประเทศไทย และนักลงทุนชาวไต้หวันและฮ่องกง บริษัทเคเดอร์รับออเดอร์จากบริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง Tyco, Kenner และ Arco ให้ผลิตของเล่นและส่งออกไปยังต่างประเทศ

โรงงานของบริษัทเคเดอร์เป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครปฐม โรงงานมีอาคารทั้งหมด 4 อาคาร แต่ละอาคารมี 5 ชั้น รวมแล้วพนักงานที่โรงงานแห่งนี้มีมากถึง 6,000 คน ทุกคนทำงานกันอย่างแออัดในโรงงานที่พวกเขาไม่รู้เลยว่าไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย

ก่อนที่จะเกิดเหตุ โรงงานแห่งนี้เคยเกิดเพลิงไหม้มาแล้ว 3 ครั้ง โดยสาเหตุเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร นั่นแสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้มีสูงมาก แต่ผู้ประกอบการไม่เคยที่จะแก้ไขมันให้เรียบร้อย ส่วนหนึ่งสันนิษฐานว่าผู้ประกอบการตั้งใจให้โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานชั่วคราวเท่านั้น

เพลิงไหม้โรงงานตุ๊กตา

วันนั้นเป็นวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993)

พนักงานมาทำงานตามปกติจำนวน 3,283 คน โดยมีพนักงานอยู่ในอาคารหลังที่ 1 จำนวน 1,431 คน ทุกอย่างเรียบร้อยดีจนกระทั่งเวลาสี่โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่พนักงานใกล้จะเลิกงานแล้ว

จู่ๆ ไฟลุกไหม้ขึ้นที่บริเวณชั้น 1 ของอาคาร 1 ไฟลามไปอย่างรวดเร็วเพราะว่าในโรงงานเป็นโรงงานตุ๊กตา ดังนั้นวัสดุไวไฟอย่างเศษผ้าจึงกระจัดกระจายอยู่ไปทั่ว

ในเวลาไม่นานไฟเริ่มลามสู่ชั้นสองและชั้นสาม พนักงานบางส่วนเพิ่งจะรู้ตัวว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้เพราะว่าโรงงานแห่งนี้ไม่มีระบบเตือนภัย พนักงานเองไม่เคยซ้อมหนีไฟมาก่อน ทำให้การอพยพดำเนินไปอย่างล่าช้าและโกลาหล

เมื่อไฟเข้ามาใกล้ตัว พนักงานพันกว่าคนเบียดเสียดกันเพื่อที่จะเอาชีวิตรอด แต่การเอาตัวรอดออกจากโรงงานแห่งนั้นกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

บันไดหนีไฟของโรงงานไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย บันไดที่มีอยู่ไม่สามารถเรียกว่าเป็นบันไดหนีไฟได้ เพราะตัวบันไดแคบเกินไปและในโรงงานไม่มีบันไดสำรอง (ไม่ต่างอะไรกับเคสไฟไหม้รอยัลจอมเทียน)

นอกจากนี้ยังมีกระแสว่ายามของโรงงานได้รับคำสั่งให้ปิดประตูโรงงานเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานถือโอกาสขโมยสินค้าที่กำลังผลิตให้ลูกค้าไป! ภายในโรงงานยังปราศจากอุปกรณ์ดับเพลิงใดๆ ที่ควรจะมีอย่างเช่นถังดับเพลิงและที่ฉีดน้ำดับเพลิงด้วย

พนักงานจำนวนมากจึงหลบหนีไม่ทันและไม่มีอะไรที่หยุดการลามของไฟได้ พวกเขาถูกไฟล้อมเอาไว้และไม่สามารถหลบหนีออกมาได้ บางคนตัดสินใจกระโดดลงมาเบี้องล่าง น้อยคนที่จะรอดชีวิตจากการกระโดดดังกล่าวไปได้

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ผู้เสียชีวิตจำนวนมากกลับไม่ใช่ไฟคลอก แต่เป็นการถล่มลงมาของอาคาร 1 ที่กำลังไหม้ไฟ

ด้วยความที่มันถูกสร้างขึ้นอย่างเร่งรีบและไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง อาคาร 1 ที่เป็นต้นเพลิงได้ถล่มลงมาทับพนักงานที่หลบหนีไม่ทันจนเสียชีวิตอีกมากมาย

เจ้าหน้าที่ดับเพลิงพยายามช่วยเหลือผู้รอดชีวิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพยายามดับไฟให้เร็วที่สุด แต่พวกเขาต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะควบคุมเพลิงได้สำเร็จ

หลังจากไฟดับสนิท ภาพที่น่าโศกสลดก็ปรากฏแก่สายตาของผู้พบเห็น ภายในกองเหล็กที่เคยเป็นโรงงานมีร่างจำนวนมากที่ปราศจากลมหายใจนับร้อย

ผู้จากไป

จำนวนผู้เสียชีวิตในวันนั้นมีมากถึง 188 คน ส่วนผู้บาดเจ็บอีกถึง 469 คน ทำให้เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์เป็นหนึ่งในอุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่

การสอบสวนเริ่มต้นอย่างเข้มงวด ผลสุดท้ายเจ้าหน้าที่พบว่าอุบัติเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของคนหลายคน

ต้นเพลิงมาจากพวกพนักงานเองที่สูบบุหรี่แล้วทิ้งโดยไม่ดับก้นบุหรี่ให้เรียบร้อย ทำให้เชื้อไฟไปติดกับวัสดุไวไฟในโรงงานทำให้เกิดไฟลุกไหม้อย่างรวดเร็ว

ผู้ประกอบการอย่างบริษัทเคเดอร์ประมาทอย่างยิ่งยวดตั้งแต่การสร้างโรงงานแล้ว ตัวโรงงานสร้างขึ้นจากเหล็กไร้คุณภาพที่ไม่ทนไฟ ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่ามันจึงถล่มลงมาอย่างรวดเร็วเมื่อเผชิญกับความร้อน และไม่ต้องพูดถึงโรงงานที่ปราศจากระบบเตือนภัย บันไดหนีไฟ และอุปกรณ์ดับเพลิงอีก

ส่วนเจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลเรื่องนี้กลับไม่ได้ทำอะไรมากนัก นอกจากส่งหมายมาแจ้งให้แก้ไข เมื่อมาถึงโรงงาน พวกเขาจะเข้าไปนั่งพักในห้องแอร์แล้วก็กลับ

เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการเรียกร้องให้จ่ายค่าเสียหายอย่างมากมาย กระแสสังคมเองก็ช่วยกดดันผู้ประกอบการด้วย ท้ายที่สุดบริษัทเคเดอร์และ CP ตัดสินใจชดใช้เงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

ถึงแม้จะได้รับการชดใช้ แต่เงินจำนวนดังกล่าวไม่มากอะไรนัก มันจึงไม่อาจเยียวยาความเจ็บปวดที่เกิดกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้รอดชีวิต และครอบครัวของผู้รอดชีวิตได้

ผู้เสียชีวิตหลายคนเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำให้ครอบครัวของพวกเขาประสบปัญหามากมาย เช่นเดียวกับผู้รอดชีวิตที่ต้องพิการตลอดชีวิตเพราะเหตุการณ์ในครั้งนั้น

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมไทยตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยของแรงงานมากขึ้น คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี หรือวันที่เกิดเหตุเป็น วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น

แม้มาตรฐานความปลอดภัยในประเทศไทยจะดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่สิบกว่าปีต่อมา เหตุการณ์คล้ายกันอย่าง ไฟไหม้ซานติก้าผับกลับเกิดขึ้นอีก!

Sources:

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!