ประวัติศาสตร์โรคระบาดแห่งจัสติเนียน โรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในยุคกลาง

โรคระบาดแห่งจัสติเนียน โรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในยุคกลาง

ถ้าพูดไปถึงโรคระบาดในยุคกลางแล้ว คนส่วนมากน่าจะคิดไปถึง การระบาดครั้งใหญ่หรือที่เรียกกันว่า Black Death ในช่วงยุคศตวรรษที่ 14 ที่มีผู้เสียชีวิตหลายสิบล้านคนทั่วโลก

หากแต่ว่าย้อนกลับไป 800 ปีก่อนที่ Black Death จะระบาด ได้มีโรคระบาดครั้งใหญ่ที่ระบาดไปทั่วทะเลเมดิเตเรเนียน โรคระบาดนี้คร่าชีวิตมนุษย์ไป 25-50 ล้านคน หรือถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของคนทั่วโลกแล้ว โรคนี้คร่าชีวิตมนุษย์ไปมากถึง 13-26% ของมนุษย์ทั้งโลกในเวลานั้น

โรคที่ว่าเรียกกันว่า โรคระบาดแห่งจัสติเนียน (Plague of Justinian)

นักบุญเซบาสเตียนสวดภาวนาให้กับผู้คนในเมืองที่ล้มตายจากโรคระบาด

เชื้อโรคนี้มาจากไหน

นักวิจัยและนักระบาดวิทยาได้ทำการวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยโรคดังกล่าวที่เขียนไว้ในเอกสารประวัติศาสตร์ และตรวจสภาพศพในสุสานโบราณ ผลสรุปออกมาว่า โรคระบาดดังกล่าวน่าจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Yersinia Pestis หรือว่าแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกาฬโรคนั่นเอง

ที่เด็ดคือ แบคทีเรียตัวนี้คือ ตัวเดียวกับที่ระบาดใน Black Death อีก 800 ปีต่อมา แต่คนละสายพันธุ์ (Strain)

จากการสำรวจพบว่า ตัวเชื้อโรคน่าจะมาจากเอเชียกลาง เพราะเชื้อที่พบในบริเวณยอดเขาเทียนซานในปัจจุบันนี้ และเชื้อในศพโบราณเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ เชื้อดังกล่าวน่าจะแพร่ไปโดยพวกชนเผ่าเร่ร่อนที่อพยพย้ายถิ่นจากเอเชียกลางไปยังเปอร์เซีย และยุโรป

ในปี ค.ศ.541 โรคระบาดดังกล่าวก็มาถึงจักรวรรดิไบแซนไทน์ และ กรุงคอนแสตนติโนเปิล (Constantinople) อันเป็นเมืองหลวง นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าโรคระบาดมาจากการขนส่งเสบียงอาหารจากอียิปต์ที่นำหนูและหมัดที่มีเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวมาด้วย

ผู้คนจำนวนมากในคอนสแตนติโนเปิลล้มป่วยลงด้วยโรคนี้ แม้กระทั่งจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 (Justinian I) ดังนั้นการระบาดครั้งนี้จึงได้ชื่อว่า การระบาดแห่งจัสติเนียน ทั้งๆ ที่จัสติเนียนที่ 1 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้โรคนี้ระบาดแต่อย่างใด

จัสติเนียนที่ 1 By Petar Milošević – Own work, CC BY-SA 4.0,

การระบาดลุกลาม

อาการของโรคไม่ปรากฏแน่ชัด แต่น่าจะคล้ายคลึงกับกาฬโรคทั่วไป อาการที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์คือ มือเท้าของผู้ป่วยจะเปลี่ยนเป็นสีดำ และล้มตายลงอย่างรวดเร็ว

หลักฐานร่วมสมัยเขียนไว้ว่าซากศพที่ล้มตายนั้นมีจำนวนมหาศาล และกลาดเกลื่อนไปทั่วเมืองจนไม่มีที่ฝัง

ทั้งกรุงคอนสแตนติโนเปิลเต็มไปด้วยกลิ่นเหม็นเน่าของศพ ในวันที่ผู้ป่วยมีจำนวนมากที่สุด จำนวนผู้เสียชีวิตมากถึง 10,000 คนต่อวันเลยทีเดียว

จักรพรรดิจัสติเนียนโชคดีที่รอดตายมาได้ เขาให้ทหารกำจัดศพทุกทางเท่าที่เป็นไปได้ ตั้งแต่ทิ้งลงแม่น้ำ โยนศพที่ตายจากโรคระบาดเข้าไปในตึกร้าง แต่กลับไม่ให้เผา ทั้งๆที่การเผาเป็นการกำจัดเชื้อโรคที่ดีที่สุด

หลังจากระบาดในอาณาจักรไบแซนไทน์ในช่วงปี ค.ศ. 541-542 แล้ว โรคระบาดยังแพร่ไปทั่วเมืองริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วยตลอดช่วงเวลา 2 ศตวรรษต่อมา แต่การระบาดช่วงหลังนี้ลดความรุนแรงลงไปมาก โรคนี้หมดสิ้นไปในช่วงปี ค.ศ.750 โดยรวมแล้วผู้คนน่าจะเสียชีวิตไปมากถึง 25-50 ล้านคน

ซากมหาวิหารที่เชื่อกันว่าถูกสั่งให้หยุดสร้าง เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือประชาชนในโรคระบาด By Carole Raddato CC BY-SA 2.0,

ผลต่อประวัติศาสตร์โลก

ก่อนการระบาดจะเกิดขึ้น อาณาจักรไบแซนไทน์ตีชิงดินแดนในคาบสมุทรอิตาลีกลับคืนมาได้เกือบทั้งหมดแล้ว การระบาดทำให้ราชสำนักไบแซนไทน์หมดสิ้นเงินทองที่จะตีชิงดินแดนที่เคยเป็นจักรวรรดิโรมันตะวันตกกลับมาได้อีก เพราะสูญเสียกำลังคนที่เคยจ่ายภาษีไปจำนวนมหาศาล ในเวลาไม่นาน ดินแดนทั้งหมดก็เสียให้กับพวกชนเผ่ากลับไปอีก

การระบาดครั้งนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความอ่อนแอของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ทำให้พวกไบแซนไทน์ไม่สามารถต้านทานการรุกรานของชาวอาหรับในอีกร้อยกว่าปีต่อมาได้อีกด้วย ดินแดนในอียิปต์และตะวันออกกลางจึงเสียให้ผู้รุกรานชาวมุสลิมอย่างที่ไม่สามารถตีชิงกลับมาได้อีกเลย

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!