ประวัติศาสตร์"โจชิ" บุตรชายคนโตของ "เจงกิสข่าน" ผู้มีชาติกำเนิดที่ไม่ชัดเจน

“โจชิ” บุตรชายคนโตของ “เจงกิสข่าน” ผู้มีชาติกำเนิดที่ไม่ชัดเจน

เจงกิสข่าน (Genghis Khan) เป็นข่านมองโกลที่รวบรวมเผ่ามองโกลทั้งปวงเป็นหนึ่ง และขยายอาณาเขตไปทั่วทุกสารทิศ และเกิดเป็นจักรวรรดิมองโกลขึ้น เจงกิสข่านมีภรรยาเอกชื่อ บอร์เต และมีโอรสกับนาง 4 คน ได้แก่ โจชิ ชากาไต โอโกเต และ โตลุย

สามคนหลังไม่มีปัญหาอะไร เพราะเจงกิสข่านเป็นบิดาของพวกเขาอย่างแน่นอน

มีแต่โจชิ (Jochi) เท่านั้นที่มีปัญหา

โจชิ By Enerelt, CC BY-SA 3.0,

ปัญหาของโจชิ

ปัญหาของโจชิคือ เจงกิสข่านเป็นบิดาของเขาจริงหรือไม่?

ในช่วงปี ค.ศ.1178 เตมูจิน (เจงกิสข่านในเวลาต่อมา) แต่งงานกับบอร์เตอย่างถูกต้องตามธรรมเนียมมองโกล แต่หลังจากที่ทั้งสองแต่งงานกันได้ไม่นาน พวกเผ่าเมอร์คิทได้ลอบเข้าโจมตีเผ่าของเตมูจิน และบอร์เตก็ถูกลักพาตัวไปโดยเผ่าเมอร์คิท

พวกเมอร์คิทได้ยกบอร์เตให้กับผู้นำของพวกเมอร์คิทคนหนึ่ง บอร์เตอยู่กับเขาในฐานะ “นางบำเรอ” หรือภรรยาเป็นเวลาแปดเดือนเศษ จนสุดท้ายเตมูจินได้รวบรวมพันธมิตรมาชิงตัวเธอกลับไปได้ในที่สุด หลังจากที่กลับไปอยู่กับเตมูจินได้ไม่นาน บอร์เตก็คลอดบุตรออกมาคนหนึ่ง และบุตรคนนี้เองคือโจชิ

ในยุคที่ไม่มีการตรวจ DNA เราจึงไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วโจชิเป็นลูกของใครกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือเตมูจินเลี้ยงโจชิเหมือนกับเป็นบุตรของเขาเอง

ถึงกระนั้นในใจของผู้นำมองโกลและน้องชายของโจชิต่างทราบเรื่องนี้ดี โจชิจึงเติบโตขึ้นพร้อมกับคำถามมาโดยตลอดว่าเขาเป็นลูกของใคร พี่น้องและผู้นำมองโกลหลายคนล้วนแต่ไม่อยากให้โจชิสืบตำแหน่งข่าน เพราะเกรงว่าเขาจะไม่ใช่สายเลือดที่แท้จริงของเตมูจิน (เจงกิสข่าน) นั่นเอง

นำทัพรุกรบ

เมื่อเติบโตขึ้น โจชิเป็นแม่ทัพที่เก่งกล้าคนหนึ่ง เขาได้รับหน้าที่ให้ไปปราบปรามชนเผ่าต่างๆ ทางตอนเหนือ และปราบปรามพวกคีร์กิซได้อย่างราบคาบ

เมื่อเจงกิสข่านนำทัพเข้าโจมตีอาณาจักรควาเรสเมียในปี ค.ศ.1219 โจชิได้รับมอบหมายให้นำกองทัพสามหมื่นคนยกล่วงหน้าไปก่อน กองทัพของโจชิข้ามช่องเขาเทียนซานอย่างรวดเร็ว และมาถึงหุบเขาเฟอร์กานา (บ้านเกิดของบาเบอร์)ได้ในกลางฤดูหนาว โจชิฉวยโอกาสนั้นปล้นสะดมหัวเมืองต่างๆ ได้อย่างมากมาย ต่อมาก็ยกทัพเข้าตีเมืองต่างๆ บริเวณ Syr Darya

การรุกเร็วของโจชิทำให้ราชสำนักควาเรสเมียตกตะลึง ไม่มีใครทราบว่ากองทัพมองโกลจะบุกมาทางไหนแน่ การป้องกันจึงรวนเรไปหมด ทำให้กองทัพหลวงของเจงกิสข่านที่มาถึงภายหลังสามารถเข้าตีเมืองต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย

ขัดแย้งกับชากาไต

เจงกิสข่านได้เคยสัญญาว่าจะมอบ Urgench เมืองค้าขายที่สำคัญในเอเชียกลางและเส้นทางสายไหมกับโจชิ ดังนั้นโจชิจึงไม่ปรารถนาจะทำลายเมืองนี้เหมือนกับเมืองอื่นๆ

เมื่อการโจมตีเริ่มต้นขึ้น กองทัพมองโกลประสบปัญหาเพราะเมืองนี้มีการป้องกันที่แข็งแกร่ง แถมบริเวณรอบเมืองยังเป็นดินที่ชุ่มน้ำ การเข้าตีเมืองจึงทำได้ยาก กองทัพมองโกลที่เข้าตีต่างได้รับความเสียหายไม่น้อย ดังนั้นสถานการณ์เริ่มจะยืดเยื้อ

ในขณะนั้นไม่ใช่ว่ามีกองทัพมองโกลของโจชิเท่านั้นที่กำลังตีเมือง แต่มีกองกำลังของชากาไตอยู่ด้วย ชากาไตผู้นี้มีความทะเยอทะยานและไม่ถูกกับโจชิมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นเพราะชากาไตเป็นลูกคนที่สอง และปรารถนาสืบทอดตำแหน่งของเจงกิสข่าน

ขณะที่โจชิพยายามจะเจรจาให้ชาวเมืองยอมจำนน ชากาไตกลับส่งกองทัพเข้าตีเมืองโดยหมายใจว่าจะทำลายเมือง Urgench ให้ราบ โจชิจึงขัดเคืองเป็นอย่างยิ่ง ทั้งสองพี่น้องทะเลาะกันอย่างรุนแรงในสมรภูมิ

เมื่อเจงกิสข่านได้ทราบความ เขาจึงส่งโอโกเตมาเป็นแม่ทัพตีเมืองแทน และส่งโจชิและชากาไตให้ไปประจำการคนละที่ ปรากฏว่าเมื่อโอโกเตตีเมืองแตก โอโกเตได้สั่งให้ปล้นสะดมและสังหารชาวเมืองอย่างทารุณ โจชิที่ได้ทราบเรื่องจึงโกรธมาก เขารู้สึกว่าเขาได้รับความไม่เป็นธรรม เพราะเจงกิสข่านเคยสัญญาไว้แล้วจะให้เมืองนี้กับตน

ความสัมพันธ์ระหว่างโจชิและครอบครัวไม่เคยฟื้นคืนมาอีกเลยหลังจากเหตุการณ์นั้น แต่กลับแย่ลงตามลำดับด้วย

ในปี ค.ศ.1222 ชากาไตได้กล่าวโจมตีโจชิตรงๆ ในการประชุมสภาคูรัลไตซึ่งเป็นการประชุมสูงสุดของชาวมองโกลว่า โจชิไม่เหมาะสมกับตำแหน่งข่านคนต่อไป เพราะโจชิไม่ใช่โอรสของเจงกิสข่าน ทำให้เจงกิสข่านต้องยืนยันในสภาว่าโจชิเป็นบุตรชายของตน

การโจมตีของชากาไตทำให้สองพี่น้องมองหน้ากันไม่ติดอีกต่อไป เจงกิสข่านเกรงว่าถ้ายกตำแหน่งข่านให้กับโจชิหรือชากาไตคนใดคนหนึ่ง อีกคนจะไม่ยอมรับและทำให้เกิดสงครามกลางเมือง ด้วยเหตุนี้เจงกิสข่านจึงยกตำแหน่งให้กับโอโกเตให้เป็นข่านต่อจากตนแทน

โจชิยอมรับการตัดสินใจของเจงกิสข่าน และนำกองทัพกลับไปเอเชียกลางทางตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นดินแดนของตน นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่โจชิได้เห็นบิดาของเขา

วาระสุดท้าย

การกลับไปของโจชิทำให้ตัวเขาแยกออกจากบิดาและพี่น้องมากขึ้นตามลำดับ ในปี ค.ศ.1223 โจชิได้รับคำสั่งให้เดินทางไปเข้าประชุมสภาคูรัลไต แต่โจชิกลับไม่เดินทางไปตามคำสั่งแต่อย่างใด การแสดงออกของโจชิทำให้เจงกิสข่านเกือบจะนำกองทัพมาปราบปรามบุตรชายคนโตในฐานะกบฏอยู่แล้ว

ในปี ค.ศ.1226 โจชิจากไปอย่างปริศนาในปี ค.ศ.1226 โดยมีอายุได้เพียง 45 ปีเท่านั้น ชีวิตของโจชิไม่เคยหลุดจากปมที่ว่าเขาเป็นบุตรของเจงกิสข่านหรือไม่ ความขัดแย้งเรื่องประเด็นนี้ยังทำให้จักรวรรดิมองโกลขาดความเป็นเอกภาพ และแตกเป็นส่วนๆ ในเวลาต่อมา

การตายของโจชิไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวกลับคืนมา บุตรของโจชิอย่างบาตูข่าน (Batu Khan) ได้สร้างอาณาจักรของตนเองโดยที่ไม่ได้ใส่ใจกับการเมืองส่วนกลางของจักรวรรดิมากนัก บาตูได้ขยายอาณาจักรออกไปยังฝั่งยุโรป ทำลายคีฟสกา รุส และสถาปนาอาณาจักรโกลเด้นฮอร์ดขึ้นมาในที่สุด

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!