ประวัติศาสตร์ทุกขภัยแห่งจิ้งคัง ความอัปยศครั้งสำคัญของราชวงศ์ซ่งและชาวจีน

ทุกขภัยแห่งจิ้งคัง ความอัปยศครั้งสำคัญของราชวงศ์ซ่งและชาวจีน

ทุกขภัยแห่งจิ้งคัง หรือความอัปยศแห่งจิ้งคัง (จิ้งคังจือฉื่อ, 靖康之恥) เป็นเหตุการณ์สำคัญมากในประวัติศาสตร์จีน เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ราชวงศ์หลักของจีนเสียเมืองหลวงให้กับพวกอนารยชน ถูกปล้นสะดม เชื้อพระวงศ์ฝ่ายในแทบทุกคนถูกจับกุมเป็นเชลยศึก และถูกส่งไปให้ได้รับความอัปยศในเมืองหลวงของศัตรู

เหตุการณ์นี้มีความเป็นมาอย่างไรกันแน่?

ราชวงศ์ซ่งเหนือ

ราชวงศ์ซ่งเหนือ (คนไทยมักจะรู้จักจากนิยายกำลังภายในและซีรีส์ต่างๆ ว่าราชวงศ์ซ้อง) เป็นราชวงศ์ที่ตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ.960 และสามารถรวบรวมแผ่นดินได้เกือบจะสมบูรณ์ ขาดแต่เพียง 16 จังหวัดบริเวณชายแดนเท่านั้นที่อยู่ในกำมือของอาณาจักรเหลียวของชาวชี่ตัน

นับตั้งแต่บัดนั้นราชวงศ์ซ่งทำสงครามกับอาณาจักรเหลียวอยู่เสมอมา ทำให้เกิดวีรกรรมของเหล่าขุนศึกตระกูลหยางขึ้น แต่ราชวงศ์ซ่งก็ไม่เคยประสบความสำเร็จในการตีชิงจังหวัดดังกล่าวกลับคืนมาได้สำเร็จ เพราะการทหารของราชวงศ์ซ่งอ่อนแอเกินไป ทำให้พ่ายแพ้บ่อยครั้ง

ชาวชี่ตัน

ความอ่อนแอของราชสำนักซ่งมาจากการที่ไม่เคยให้อำนาจฝ่ายทหารอย่างจริงจัง เพราะเกรงว่าจะซ้ำรอยราชวงศ์ถังที่ให้อำนาจพวกทหารมากเกินไปจนแข็งข้อต่อราชสำนัก นอกจากนี้ฮ่องเต้ราชวงศ์ซ่งมักจะหวาดระแวงพวกแม่ทัพอยู่เสมอ (เย่ว์เฟยเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีในประเด็นนี้)

การทหารของราชวงศ์ซ่งจึงไม่เคยแข็งแกร่ง แม้กองทัพซ่งจะคิดค้นอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นมาใหม่มากมายก็ตาม ดังนั้นเมื่อเกิดสงคราม ราชวงศ์ซ่งมักจะซื้อสันติภาพด้วยการส่งบรรณาการให้กับศัตรู

ในช่วงศตวรรษที่ 12 ชาวหนี่ว์เจินเข้มแข็งขึ้นมาและได้สถาปนาราชวงศ์จินขึ้น ต่อมาราชวงศ์จินเริ่มคุกคามอาณาจักรเหลียว ราชสำนักซ่งที่ต้องการ 16 จังหวัดกลับคืนจึงผูกมิตรกับราชวงศ์จินเพื่อร่วมมือกันโจมตีอาณาจักรเหลียว ตามแผนการที่วางไว้ราชวงศ์จินจะโจมตีอาณาจักรเหลียวจากทางเหนือ ส่วนราชวงศ์ซ่งจะยกทัพขึ้นจากทางใต้ตี 16 จังหวัดกลับคืน

เรื่องกลับเป็นว่า ระหว่างที่กองทัพจินตีเมืองในอาณาจักรเหลียวได้เมืองแล้วเมืองเล่า กองทัพซ่งกลับเชื่องช้าเพราะต้องเสียเวลาไปกับการปราบกบฏฟางล่า แถมเมื่อกองทัพซ่งยกไปถึงเยียนจิง (ปักกิ่งในปัจจุบัน) กองทัพซ่งแสดงความกระจอกให้กองทัพจินเห็นด้วยการถูกกองทัพเหลียวที่กำลังจะสิ้นชาติอยู่แล้วตีแตก ทำให้สุดท้ายแล้ว 16 จังหวัดที่ราชวงศ์ซ่งอยากได้ถูกกองทัพจินที่เข้ามาทำลายกองทัพเหลียวยึดไว้จนหมด

ด้วยความที่กองทัพซ่งไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลยในการศึก อากูตา จักรพรรดิของราชวงศ์จินจึงให้ราชสำนักซ่งส่งเครื่องบรรณาการจำนวนมหาศาลมาแลกกับ เยียนจิง และอีก 6 จังหวัดไป ราชสำนักซ่งไม่มีทางเลือกจึงยอมให้ตามคำขอ

ความกระจอกของราชวงศ์ซ่งในทางการทหารทำให้ราชสำนักจินเริ่มใคร่ครวญถึงการตีราชวงศ์ซ่งเป็นเป้าหมายถัดไป

จินบุกซ่ง

ปัญหาชายแดนโดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งเรื่อง 16 จังหวัด ทำให้ความสัมพันธ์จิน-ซ่งย่ำแย่ลง จินไท่จง จักรพรรดิองค์ใหม่ของราชวงศ์จินตัดสินใจให้กองทัพใหญ่ยกไปตีราชวงศ์ซ่งในปี ค.ศ.1125

กองทัพจินมีสองกอง กองแรกออกทัพทางตะวันตกออกจากต้าถงเข้าตีไท่หยวน เมืองสำคัญของราชวงศ์ซ่ง ส่วนอีกกองหนึ่งเดินทัพทางตะวันออก เข้าตีไคเฟิง เมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งโดยตรง

ไท่หยวนเป็นป้อมปราการสำคัญมาตั้งแต่ยุคชุนชิวจ้านกว๋อ เพราะฉะนั้นการจะตีให้แตกไม่ใช่เรื่องง่าย กองทัพซ่งที่อ่อนแอกลับป้องกันไท่หยวนเอาไว้ได้ กองทัพตะวันตกของฝ่ายจินจึงหยุดลง

หากแต่ว่าในด้านตะวันออก กองทัพจินกลับเดินทัพอย่างสะดวกโยธิน เมืองทั้งหลายต่างทิ้งอาวุธยอมจำนน ทำให้กองทัพจินแทบไม่ถูกต่อต้านเลย กองทัพจินจึงมาถึงไคเฟิงอย่างง่ายดายในปี ค.ศ.1126

ซ่งฮุยจง ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ซ่งเป็นกวีและรักในศิลปะ (ทำนองเดียวกับเฉินซูเป่า) แต่ไม่ใช่คนที่เก่งกาจด้านการทำสงคราม ความสามารถในการรบ การปกครอง และความเป็นผู้นำของเขาเป็นศูนย์ ทันทีที่ทราบว่ากองทัพจินมาถึง ซ่งฮุยจงปรารถนาจะทิ้งไคเฟิง และหนีลงใต้ตามแบบอย่างราชวงศ์จิ้น

ผลงานภาพเขียนของซ่งฮุยจง

พวกขุนนางทั้งหลายต่างทัดทานอย่างเต็มที่ แต่พวกเขากลับไม่สามารถสยบความกลัวของซ่งฮุยจงได้ ทำให้พวกเขาเสนอให้ซ่งฮุยจงสละราชสมบัติให้รัชทายาท ซ่งฮุยจงเองไม่ชอบการบริหารอยู่แล้วจึงสละราชสมบัติ

รัชทายาทที่ขึ้นครองบัลลังก์แทนนามว่าซ่งชินจง หลังจากนั้นซ่งฮุยจงและข้าราชบริพารจำนวนหนึ่งจึงหนีออกนอกเมืองเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

ซ่งชินจงพยายามเจรจาสันติภาพกับราชสำนักจิน แต่แม่ทัพจินยื่นข้อเสนอที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ต่อราชสำนักซ่ง เพราะฝ่ายจินต้องการเครื่องบรรณาการจำนวนมหาศาล และมอบหัวเมืองมากมายด้วย

อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้ได้ทำให้ราชสำนักแตกออกเป็นสองฝ่าย ระหว่างฝ่ายที่ให้สู้ กับฝ่ายที่ให้ยอมแพ้

หลี่กังเป็นเสนาบดีชั้นดีคนเดียวของราชวงศ์ซ่งที่เหลืออยู่ เขาสนับสนุนให้สู้ต่อไป กองทัพจินยกทัพมาอย่างรวดเร็วคงจะมีเสบียงไม่มากนัก กองทัพซ่งจะปล้นสะดมค่ายฝ่ายจินทุกวันให้สิ้นเสบียงเร็วขึ้น หากแต่ว่าข้อเสนอนี้กลับถูกกลบโดยฝ่ายที่เรียกร้องให้ยอมแพ้ ซ่งชินจงจึงยอมรับข้อเสนอของอาณาจักรจินในที่สุด ทั้งๆที่ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปไม่ได้

เมื่อราชสำนักซ่งตอบรับข้อเสนอ กองทัพจินจึงเร่งถอยไป หารู้ไม่ว่าซ่งชินจงกำลังทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด

กองทัพจินหวนกลับมา

ซ่งชินจงรวบรวมกองทัพได้สองกอง และส่งทั้งสองกองเข้าโจมตีกองทัพจิน กองหนึ่งเข้าโจมตีกองทัพจินที่ไท่หยวน อีกกองหนึ่งเข้าเสริมแนวป้องกัน แต่กองทัพซ่งก็แสดงความอ่อนด้อยอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการถูกตีแตกอย่างยับเยิน

แม้จะพ่ายแพ้ ราชสำนักซ่งกลับไม่ได้ปฏิบัติตามที่สัญญาไว้กับกองทัพจิน ทำให้จินไท่จงปรารถนาจะยกกองทัพเข้ามาตีราชวงศ์ซ่งอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้กองทัพจินจะมีขนาดใหญ่กว่าเดิม และจะตีเมืองไคเฟิง (เรียกว่าเปียนจิงในเวลานั้น) เมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งให้ได้

ขณะเดียวกันภายในราชสำนักซ่ง ดูเหมือนว่าความพ่ายแพ้ติดๆ กันของกองทัพจะทำให้ซ่งชินจงเริ่มหวนกลับไปสนับสนุนฝ่ายต่อต้านสงคราม เสนาบดีที่สนับสนุนให้สู้กับกองทัพจินอย่างเช่นหลี่กังจึงถูกปลดและย้ายออกไปที่อื่น

นอกจากนี้ซ่งชินจงยังไม่ยอมสนับสนุนการป้องกันเมืองหลวงและด่านสำคัญต่างๆ ด้วย กองทัพซ่งที่เจนศึกจึงไม่ได้ถูกสั่งให้เตรียมพร้อมล่วงหน้าแต่อย่างใด กองทัพแต่ละกองกระจัดกระจายไปทั่ว และอยู่แต่ในจุดที่ไม่สำคัญ

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจจะเพราะว่าซ่งชินจงไม่ต้องการยั่วยุราชวงศ์จิน แต่ที่แน่ๆ คือมันเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะกองทัพจินเข้าโจมตีราชวงศ์ซ่งในปี ค.ศ.1126

ในครั้งนี้กองทัพจินแบ่งเป็นสองกองตามเดิม แต่ด้วยจำนวนที่มากกว่าเดิม ทำให้กองทัพจินตีเมืองไท่หยวนแตกอย่างรวดเร็ว เมืองอื่นๆ ต่างทิ้งอาวุธยอมจำนน กองทัพขนาดใหญ่ของฝ่ายจินจึงมาถึงหน้าเมืองไคเฟิง เมืองหลวงของราชวงศ์ซ่ง

ซ่งชินจงพยายามจะเจรจาสันติภาพเช่นเดิม แต่กองทัพจินปรารถนาดินแดนเหนือแม่น้ำเหลืองทั้งหมด ทำให้ซ่งชินจงไม่สามารถมอบให้ได้

การสัประยุทธ์ดำเนินไปเกือบหนึ่งเดือน กองทัพจินก็เข้าทำลายการป้องกันของกองทัพซ่งได้สำเร็จ และยาตราเข้าเมืองไคเฟิง ซ่งชินจงต้องยอมจำนนต่อกองทัพจินในที่สุด

ความย่อยยับ

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเมืองแตกคือความย่อยยับ ถ้าเปรียบกันแล้ว การที่ไคเฟิงแตกในปี ค.ศ.1127 อาจจะย่อยยับกว่าคอนสแตนติโนเปิลแตกในปี ค.ศ.1453 หรือกรุงโรมแตกในปี ค.ศ.410 ด้วยซ้ำไป

กองทัพจินได้เข้าปล้นสะดมของมีค่าทุกอย่างในเมืองไม่ว่าจะอยู่ในท้องพระคลังและของราษฎร เชื้อพระวงศ์และนางในทุกคนถูกจับกุม หลายคนเลือกที่จะฆ่าตัวตายดีกว่าตกเป็นเชลยของชาวจิน ส่วนผู้คนในเมืองถูกจับไปเป็นทาส

เชลยศึกทั้งหมดตั้งแต่ซ่งฮุยจง (ครั้งนี้หนีไม่ทัน) ซ่งชินจง เชื้อพระวงศ์อื่นๆ ชนชั้นสูง ตลอดจนประชาชนทั่วไปถูกบังคับให้เดินเท้าขึ้นเหนือไปยังเมืองหลวงของอาณาจักรจิน หลายคนที่แก่ชราไม่สามารถทนกับความยากลำบากเช่นนี้ได้จึงสิ้นใจระหว่างทางมากมาย

หอเหล็กที่ไคเฟิงที่รอดพ้นทุกขภัยแห่งจิ้งคังมาได้ By Gisling – Own work, CC BY-SA 3.0,

เมื่อถึงเมืองซ่างจิง (ฮาร์บิน) เมืองหลวงของราชวงศ์จิน เชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงทั้งชายหญิงถูกบังคับให้สวมใส่เฉพาะหนังสัตว์ และถวายความเคารพต่อสุสานของจักรพรรดิจิน ทำให้เชื้อพระวงศ์หญิงจำนวนมากรวมไปถึงหวงโฮ่วของซ่งฮุยจงถึงกับฆ่าตัวตายเพื่อหลบหนีความอัปยศ

หลังจากทำพิธีเสร็จสิ้นแล้ว เชื้อพระวงศ์ซ่งทุกคนถูกลดฐานะลงเป็นคนธรรมดา เจ้าหญิงและชนชั้นสูงชาวซ่งถูกขายให้เป็นสนมและนางบำเรอของชาวจิน เจ้าหญิงบางคนถูกซื้อไปเป็นนางในคอยรับใช้ภายในบ้านของชนชั้นสูงจิน ส่วนเหล่าชายฉกรรจ์ถูกขายไปเป็นทาสในราคาที่ถูกสุดๆ เช่น ม้า 1 ตัวซื้อทาสซ่งได้ 10 คน

อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมา จินไท่จงได้แต่งตั้งให้ซ่งฮุยจงและซ่งชินจงเป็นอภิสิทธิ์ชน ทั้งสองรับเงินเบี้ยหวัดจากศัตรูจนสิ้นชีวิต และไม่เคยได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนอีกเลย

ผลที่ตามมา

ทุกขภัยแห่งจิ้งคังเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์จีน เพราะเมืองหลวงที่เป็นหนึ่งในเมืองหลวงเก่าทั้งห้าถูกตีแตกและปล้นสะดมในระดับที่เรียกว่าพังพินาศ ทรัพย์สิน ผลงานศิลปะ โบราณวัตถุ และของมีค่าต่างๆ สูญหายไปอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเป็นครั้งแรกด้วยที่กองทัพราชสำนักล้มเหลวขนาดที่เมืองหลวงถูกตีแตกในเวลาไม่ถึงเดือน

ความอัปยศที่เชื้อพระวงศ์ซ่งได้รับก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์จีน ชาวมองโกลและชาวแมนจูที่ครอบครองดินแดนจีนในเวลาต่อมาก็ไม่ได้เหยียดหยามเชื้อพระวงศ์จีนมากเท่ากับครั้งนี้

อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของราชวงศ์ซ่ง เชื้อพระวงศ์ซ่งบางส่วนหนีรอดลงใต้ และตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้นในนามราชวงศ์ซ่งใต้

ราชวงศ์จินพยายามส่งกองทัพเข้ารุกรานราชวงศ์ซ่งใต้ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะการต่อต้านอันแข็งแกร่งของชาวจีนฮั่น รวมไปถึงความอ่อนแอที่เริ่มเกิดขึ้นในราชสำนักจิน สุดท้ายแล้วเมื่อชาวมองโกลภายใต้เจงกิสข่านเรืองอำนาจ ราชวงศ์จินจึงถูกทำลายสูญสิ้น ก่อนที่พวกมองโกลจะเข้าตีราชวงศ์ซ่งใต้เป็นลำดับถัดไป

Sources:

  • Franke, The Cambridge History of China: Volume 6, Alien Regimes and Border States, 710–1368
  • Lorge, Peter (2005). War, Politics and Society in Early Modern China, 900–1795
  • Levine, The Cambridge History of China: Volume 5, The Sung dynasty and Its Precursors, 907–1279
  • Account of Jingkang

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!