ประวัติศาสตร์เจียวอ้วน บิฮุย และตังอุ๋น สามเสาหลักแห่งจ๊กก๊กในวันที่ขงเบ้งจากไป

เจียวอ้วน บิฮุย และตังอุ๋น สามเสาหลักแห่งจ๊กก๊กในวันที่ขงเบ้งจากไป

ก่อนที่ขงเบ้งจะจากไปที่ทุ่งราบอู่จั้ง หลี่ฝู ทูตของเล่าเสี้ยนได้ถามขงเบ้งว่าจะให้ใครสืบต่อตำแหน่งมหาอุปราชต่อหลังจากที่ล่วงลับไปแล้ว ขงเบ้งได้กล่าวว่าให้เจียวอ้วน และให้บิฮุยสืบต่อจากเจียวอ้วนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งทั้งเจียวอ้วนและบิฮุยนั้นมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อแผนยุทธศาสตร์ทางการเมืองของจ๊กก๊ก แม้ว่าในนิยายสามก๊กจะไม่ได้ลงรายละเอียดเสียเท่าใดนัก

อีกหนึ่งขุนนางที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในจ๊กก๊กก็คือตังอุ๋น เขาผู้นี้เป็นข้าราชการคนสำคัญที่ทำให้ราชสำนักจ๊กก๊กเป็นระเบียบเรียบร้อย ด้วยอุปนิสัยที่เที่ยงตรงอย่างหาที่เปรียบมิได้ ทำให้พวกขุนนางกังฉินนั้นหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่ง

ในบทความนี้ผมจะมาเล่าชีวิตของทั้งสามโดยคร่าวๆ โดยจะเน้นไปที่บทบาทของพวกเขาหลังจากที่ขงเบ้งเสียชีวิตแล้ว (ซึ่งเป็นส่วนที่นิยายสามก๊กไม่ได้กล่าวถึงครับ)

เจียวอ้วน

เจียวอ้วน หรือเจี๋ยงหว่านในภาษาจีนกลางนั้นมีชาติกำเนิดที่ธรรมดา พงศาวดารสามก๊กระบุว่าเขาเคยรับราชการเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยมาก่อนในสมัยที่เล่าปี่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ด้วยความที่เป็นคนฉลาดมาก งานบริการตำบลต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ง่ายเกินไป เจียวอ้วนจึงรู้สึกเบื่อหน่ายและใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดื่มเหล้าตลอดวัน

พอเล่าปี่ได้ทราบก็โกรธมากเลยจะเอาโทษเจียวอ้วน แต่ขงเบ้งทัดทานเอาไว้ โดยได้อธิบายว่าเจียวอ้วนมีสติปัญญาเกินกว่าจะบริหารงานง่ายๆ เช่นนี้ และขอให้เล่าปี่ไตร่ตรองให้ดี ด้วยความที่เกรงใจขงเบ้ง เล่าปี่จึงไม่ได้ลงโทษ แต่ก็ให้ปลดออกจากตำแหน่งเอาไว้ก่อน แล้วค่อยคืนตำแหน่งให้ในภายหลัง

ในช่วงที่เล่าปี่สถาปนาตนเองเป็นฮันต๋งอ๋อง (ฮั่นจงหวาง) เจียวอ้วนได้ถูกเรียกตัวเขามาในวัง โดยทำหน้าที่เป็นเสมียนคนหนึ่ง หลังจากที่เล่าปี่สิ้นชีวิต ขงเบ้งได้ขึ้นเป็นมหาอุปราช เขาจึงได้ยกตำแหน่งเจียวอ้วนให้สูงขึ้นอีก โดยให้เจียวอ้วนดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของเขา

ตลอดที่ขงเบ้งนำกองทัพไปทำสงครามภาคเหนือ ด้วยความที่ขงเบ้งไว้ใจเจียวอ้วนมาก เขาจึงได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นมหาอุปราชเงา โดยคอยบริหารราชการแผ่นดินในจ๊กก๊กแทนขงเบ้งเกือบทั้งหมด ซึ่งก็ทำหน้าที่ได้ดีอย่างมาก ทำให้จ๊กก๊กไม่มีปัญหาใดๆ เลยในช่วงที่ขงเบ้งนำทัพไปทำศึก

ก่อนที่ขงเบ้งจะล่วงลับ เขาได้ขอให้เล่าเสี้ยนแต่งตั้งให้เจียวอ้วนสืบต่อตำแหน่งของตน ซึ่งเล่าเสี้ยนก็ปฏิบัติตาม เจียวอ้วนจึงขึ้นเป็นมหาอุปราชและขึ้นบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการ ภายในเวลาไม่ช้าชาวจ๊กก๊กก็ประทับใจการบริหารงานของเจียวอ้วน ไม่ต่างอะไรกับสมัยที่ขงเบ้งยังมีชีวิตอยู่

สิ่งหนึ่งที่เจียวอ้วนทำได้ดีเป็นอย่างยิ่งคือการควบคุมอารมณ์ เจียวอ้วนนั้นแทบจะไม่แสดงออกทางสีหน้า หรือโต้ตอบในเวลาที่ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังเป็นคนที่มีเหตุผลและมีตรรกะการคิดที่ดีอีกด้วย

ก่อนที่เจียวอ้วนจะเสียชีวิตไม่นานนั้น หลังจากที่เกียงอุยพ่ายแพ้ในการบุกวุยก๊กครั้งแรก เขาเสนอแผนการโจมตีวุยก๊กต่อเล่าเสี้ยนด้วยการรุกทางน้ำ โดยกองเรือจะล่องไปตามแม่น้ำฮั่น แทนที่จะข้ามเทือกเขาฉินหลิ่งที่สูงชัน แต่เล่าเสี้ยนเห็นว่ายุทธศาสตร์ของเจียวอ้วนสุ่มเสี่ยงเกินไปจึงไม่ได้นำมาใช้ ตัวเจียวอ้วนเองก็สุขภาพทรุดโทรมตั้งแต่ปี ค.ศ.243 เขาจึงมอบอำนาจทั้งหมดให้กับบิฮุยเป็นผู้สืบต่อก่อนที่จะล่วงลับในอีกสามปีต่อมา

บิฮุย

บิฮุย หรือเฟ่ยอี เป็นอีกขุนนางที่มีชาติกำเนิดธรรมดา เขาได้สูญเสียบิดามารดาตั้งแต่ยังเด็ก บิฮุยจึงถูกเลี้ยงดูมาโดยญาติผู้หนึ่งที่ได้นำเขามาพำนักอาศัยอยู่ที่ดินแดนเสฉวนของเล่าเจี้ยง และได้กลายเป็นปัญญาชนที่มีชื่อเสียงเรื่องสติปัญญาของดินแดนแห่งนี้ เล่าปี่จึงแต่งตั้งให้เขาเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของเล่าเสี้ยน รัชทายาทแห่งจ๊กก๊ก

บทบาทของบิฮุยในช่วงที่เป็นข้าราชการหนุ่มนั้นมักจะถูกส่งให้เป็นทูตไปยังง่อก๊กอยู่บ่อยๆ ซึ่งซุนกวนมักจะหาเรื่องกลั่นแกล้งบิฮุยอยู่เสมอ แต่บิฮุยตอบสนองได้อย่างนุ่มนวลและเยือกเย็น ทำไห้ซุนกวนยอมรับในตัวเขาเป็นอย่างยิ่ง

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของบิฮุยคือ เขาเป็นตัวระงับความขัดแย้งระหว่างอุยเอี๋ยนกับเอียวหงี และสามารถทำได้ทั้งสองทำงานด้วยกันได้ แต่หลังจากที่ขงเบ้งเสียชีวิตนั้น อุยเอี๋ยนปฏิเสธที่จะถอยทัพกลับจ๊กก๊ก บิฮุยจึงเข้าข้างเอียวหงี และแสร้งทำเป็นช่วยเหลืออุยเอี๋ยนจนหลงกล ทำให้ตกเป็นเหยื่อของม้าต้ายในที่สุด

อย่างไรก็ดีเมื่อเอียวหงีผิดหวังที่ไม่ได้สืบต่ออำนาจจากขงเบ้ง เขาได้บรรยายความในใจให้กับบิฮุยฟังว่าในตอนนั้นน่าจะไปยอมจำนนกับวุยก๊ก ซึ่งบิฮุยไม่ได้เห็นแก่เพื่อนและปกปิดเรื่องดังกล่าวไว้ เขารีบรายงานเรื่องนี้ต่อราชสำนักทันที เอียวหงีจึงถูกเนรเทศไปในที่สุด

ในช่วงที่เจียวอ้วนเป็นมหาอุปราชนั้น บิฮุยได้รับตำแหน่งเป็นช่างชูลิ่ง ซึ่งคอยจัดการงานเอกสารต่างๆ ปรากฏว่าบิฮุยเป็นคนฉลาดมาก เขาจึงจัดการงานทุกอย่างเสร็จสิ้นตั้งแต่ช่วงเช้า และใช้เวลาช่วงบ่ายไปกับการสังสรรค์และพบปะผู้คน พงศาวดารว่าไว้ว่าเขามีความจำแบบ photographic memory นั่นคือแค่เปิดอ่านแบบเร็วๆ ก็สามารถจดจำทุกสิ่งในเอกสารได้ทันที

ตังอุ๋นซึ่งสืบต่อตำแหน่งนี้จากบิฮุยนั้นเคยปรารภไว้ว่าตัวเขาใช้เวลาทั้งวันก็ไม่สามารถทำงานให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยได้ดีเท่าบิฮุย ดังนั้นเราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าบิฮุยนั้นมีสติปัญญาเหนือคนทั่วไปครับ

หลังจากที่เจียวอ้วนเริ่มเจ็บป่วย เขาได้มอบอำนาจทั้งหมดในการปกครองจ๊กก๊กให้กับบิฮุย โดยในช่วงเวลานี้เองโจซองได้ยกกองทัพมาตีจ๊กก๊ก แต่เพราะยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดของอองเป๋ง และการยกกองทัพไปช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีของบิฮุย ทำให้กองทัพวุยก๊กทั่งหมดแตกยับเยิน และวุยก๊กไม่มีกำลังเพียงพอที่จะรุกรานจ๊กก๊กไปนานอีกนับสิบปี

บิฮุยได้ขึ้นเป็นมหาอุปราชอย่างเป็นทางการในช่วงปี ค.ศ.246 ซึ่งการปกครองในยุคของบิฮุยนั้นก็เป็นการสานต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยมาจากขงเบ้งและเจียวอ้วน แผ่นดินจ๊กก๊กสงบสุขและไม่มีแย่งชิงอำนาจกันในวุยก๊กและง่อก๊ก

จริงอยู่ว่าจ๊กก๊กกลับเสียกำลังคนไปกับการโจมตีวุยก๊กของเกียงอุยถึงห้าครั้งในช่วงปี ค.ศ.247-253 แต่ในหน้าประวัติศาสตร์นั้นบิฮุยไม่ได้มอบกำลังทหารให้เกียงอุยมากมายนัก เพราะตระหนักดีว่าจ๊กก๊กนั้นไม่มีอะไรที่จะเทียบวุยก๊กได้ แต่การรบกวนวุยก๊กไม่ให้ยกมาตีจ๊กก๊กได้นั้นก็ยังเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ดังนั้นความพ่ายแพ้ของเกียงอุยจึงส่งผลต่อจ๊กก๊กในจุดที่บิฮุยยังควบคุมได้

อุปนิสัยของบิฮุยนั้นเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีเมตตาและเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย เขาจึงไม่เคยคิดหวาดระแวงภัยที่จะมาจากบุคคลใกล้ตัว เตียวหงี แม่ทัพคนสำคัญของจ๊กก๊กเคยเตือนบิฮุยให้ระวังถึงการลอบสังหาร เพราะบิฮุยมีอำนาจมากในแคว้น แต่บิฮุยก็ไม่ได้เอาใจใส่กับคำเตือนของเตียวหงีมากนัก

คำเตือนของเตียวหงีเป็นจริงในปี ค.ศ.253 เพราะบิฮุยถูกแม่ทัพวุยก๊กนามว่ากัวซิวสังหารบิฮุยด้วยการใช้มีดแทง ซึ่งเดิมทีนั้นกัวชิวหมายใจจะสังหารเล่าเสี้ยน แต่ทหารองครักษ์สงสัยจึงไม่เปิดโอกาสให้เขาเข้าใกล้ตัวฮ่องเต้ได้ กัวชิวจึงเปลี่ยนเป้าหมายไปยังบิฮุย ซึ่งไม่ได้ระวังตัวอะไรไว้แทน บิฮุยจึงถูกสังหารสิ้นชีวิตในที่สุด ส่วนกัวชิวก็ถูกรุมสังหารตามไปในที่เกิดเหตุเช่นเดียวกัน

การสูญเสียบิฮุยส่งผลอย่างยิ่งยวดต่อจ๊กก๊ก เพราะหลังจากบิฮุยสิ้นชีวิต อำนาจในจ๊กก๊กได้อยู่ในกำมือของแม่ทัพที่บ้าสงครามอย่างเกียงอุย และกังฉินอย่างฮุยโฮ ความแข็งแกร่งของจ๊กก๊กจึงถูกลดทอนอย่างรวดเร็ว ทูตของง่อก๊กที่ได้เห็นจ๊กก๊กหลังจากที่บิฮุยจากไปแล้วได้ให้ข้อมูลว่า ขุนนางจ๊กก๊กมีแต่พวกประจบประแจง ส่วนราษฎรก็หิวโหย ภายในเวลาสิบปีหลังจากที่บิฮุยจากไป จ๊กก๊กก็สิ้นชื่อ

ตังอุ๋น

ตังอุ๋น หรือ ต๋งยวิน ดำรงตำแหน่งที่ต่างกับเจียวอ้วนและบิฮุย นั่นคือเขาไม่เคยดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราช แต่เขาเป็นขุนนางกรมวัง ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญมาก เพราะเขาจะมีหน้าที่ดูแลฮ่องเต้ ตลอดจนจัดการกองทหารองครักษ์ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือคอยจัดการฮ่องเต้ให้อยู่กับร่องกับรอย

ทั้งนี้ตังอุ๋นเข้ารับราชการโดยการเลือกสรรของเล่าปี่ที่จะหาคนมาเป็นที่ปรึกษาให้กับบุตรชายของตน ซึ่งเล่าปี่ก็เลือกได้ดี เพราะตังอุ๋นมีสติปัญญา และเหนือสิ่งอื่นใดคือมีความเที่ยงตรง และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตนเองเห็นว่าไม่ถูกต้อง

ตลอดช่วงเวลาที่ตังอุ๋นทำงานอยู่ในวังนั้น เหล่าขุนนางกังฉินโดยเฉพาะอย่างยิ่งฮุยโฮ ล้วนแต่หวาดกลัว และไม่สามารถใช้อำนาจได้โดยมิชอบ เพราะตังอุ๋นพร้อมที่จะเข้าไปจัดการและแย้งฮ่องเต้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเสมอ ดังนั้นตังอุ๋นจึงช่วยให้เจียวอ้วนและบิฮุยนั้นทำงานของตนง่ายยิ่งขึ้น ระเบียบราชการแผ่นดินจึงยังไม่ถูกทำลายโดยพวกขันที และเหล่าขุนนางกังฉิน

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ตังอุ๋นถึงแก่กรรมในปี ค.ศ.246 นับตั้งแต่บัดนั้นไม่มีใครผู้ใดที่คอยทัดทานเล่าเสี้ยนอีกต่อไป อำนาจของฮุยโฮจึงยิ่งสูงขึ้นทุกที และสูงเสียดฟ้าหลังจากที่บิฮุยจากไปอีกคนในปี ค.ศ.253 จ๊กก๊กจึงเข้าสู่ช่วงวิปริตที่ไม่มีใครหยุดความเสื่อมโทรมได้ จนสุดท้ายก็ล่มสลายในที่สุด

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!