ธุรกิจตลาดหุ้นเมื่อไอแซค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังของโลกเจ๊งหุ้น

เมื่อไอแซค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังของโลกเจ๊งหุ้น

ไอแซค นิวตัน (Issac Newton) เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษผู้ปราดเปรื่อง เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่มีสติปัญญามากที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยมีมา

ผลงานของนิวตันมีมากมาย เขาค้นพบแรงโน้มถ่วง เป็นคนแรกๆ ที่พัฒนาวิชาแคลคูลัส นอกจากนี้ยังได้ค้นคว้าและวิจัยทฤษฎีของแสงอีกด้วย นิวตันจึงมีคุณูปการต่อโลกอย่างที่จะหาคนเทียบได้ยากในสาขาวิทยาศาสตร์

หากแต่ท่านทราบหรือไม่ว่า นิวตันเคยลงทุนในหุ้นเช่นเดียวกับคนทั่วไป และตัวเขาก็ “เจ๊ง” ด้วย หรือเรียกได้ว่าขาดทุนยับเยิน

เรื่องมันเป็นอย่างไรกันแน่

ไอแซค นิวตัน

บริษัท South Sea

ในช่วงปี ค.ศ.1719 – ค.ศ.1720 นิวตันได้ซื้อหุ้นของบริษัทแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า South Sea Company

South Sea เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลอังกฤษในการค้าขายกับอาณานิคมต่างๆ ในทวีปอเมริกาใต้แต่เพียงผู้เดียว ตัวบริษัทก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ 1711

ตราบริษัท South Sea

ดินแดนในทวีปอเมริกาใต้ส่วนใหญ่อยู่ในการปกครองของสเปน เมื่ออังกฤษทำสงครามกับสเปนในปี ค.ศ.1718 สเปนได้ทำการริบสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท South Sea และห้ามไม่ให้อังกฤษค้าขายในทวีปอเมริกาใต้ด้วย

ดังนั้นสัมปทานของบริษัท South Sea จึงเกือบจะเรียกได้ว่าไร้ค่า เพราะไม่สามารถค้าขายได้

ผลที่ตามมาคือสถานะทางการเงินของบริษัท South Sea ย่อมไม่ดีสักเท่าไรนักจากการที่ปราศจากรายได้ และสินทรัพย์ก็ถูกยึด

การเก็งกำไร

หากแต่ว่านักลงทุนกลับมีความเชื่อว่าในอนาคต ถ้าสงครามสงบลงแล้ว การค้าขายกลับมาเป็นปกติเช่นเดิม มูลค่าของบริษัท South Sea จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นพวกเขาจึงซื้อหุ้นของ South Sea อย่างหนักเพื่อจุดประสงค์ในการเก็งกำไร

กระแสการเก็งกำไรทำให้ราคาหุ้นของบริษัท South Sea พุ่งขึ้นจาก 100 ปอนด์ต่อหุ้นเป็น 300 ปอนด์ต่อหุ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่สถานะทางการเงินไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยเลยสักนิดเดียว

อีกไม่นานการเก็งกำไรในหุ้น South Sea ก็เป็นกระแสเช่นเดียวกับ Dot-Com Bubble ผู้คนจำนวนมากแห่กันซื้อหุ้นของ South Sea หรือพูดง่ายๆ คือ ตกรถ หรือ พลาดโอกาสซื้อไว้ทำกำไร

นิวตันเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ได้เก็งกำไรในบริษัท South Sea เขาซื้อหุ้นของ South Sea เป็นจำนวนเงิน 7,000 ปอนด์ (นับว่าเป็นเงินจำนวนมากในขณะนั้น)

ภายในเวลาไม่นาน นิวตันได้กำไรมาถึง 100% รวมแล้วทั้งหมด 7,000 ปอนด์ นิวตันจึงตัดสินใจขายหุ้นบริษัท South Sea ออกไป

ว่ากันว่าในช่วงนี้ เมื่อมีผู้ถามนิวตันเรื่องการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น South Sea นิวตันตอบว่า

ผมสามารถคิดคำนวณการเคลื่อนที่ของดวงดาวต่างๆบนท้องฟ้า แต่ไม่อาจคาดเดาความบ้าคลั่งของมนุษย์ได้

หลายเดือนต่อมาหลังจากที่นิวตันขายหุ้นไปแล้ว ราคาหุ้นของบริษัท South Sea ยังคงพุ่งขึ้นไม่หยุด บรรดาเพื่อนของนิวตันที่ยังถือหุ้นอยู่ต่างได้กำไรกันเป็นจำนวนมาก นิวตันเกิดความโลภขึ้นมาและเสียดายที่ตัวเอง “ขายหมู” หรือ ขายหุ้นทิ้งเร็วเกินไป

ความโลภและความเสียดายกระตุ้นให้นิวตันทุบกระปุก เขาใช้เงินมากกว่า 20,000 ปอนด์ (มูลค่ามากถึง 4-5 ล้านปอนด์ในปัจจุบัน) ในการซื้อหุ้นบริษัท South Sea ทั้งหมด ครั้งนี้เขาหวังว่าจะได้เงินมากกว่าเดิม

เจ๊ง

นิวตันไม่ทราบเลยว่า ตนเองอยู่ในตอนท้ายๆ ของ Cycle แล้ว และราคาหุ้น South Sea กำลังทะยานจะขึ้นสู่จุดพีค

หากแต่ว่าหลังจากที่นิวตันซื้อหุ้น South Sea ครั้งใหม่ได้ไม่นาน หุ้นของบริษัท South Sea มีราคาสูงถึงประมาณ 1,000 ปอนด์ต่อหุ้น

สรุปแล้วหุ้นของ South Sea พุ่งขึ้นจาก 100 ปอนด์ต่อหุ้นเป็น 1,000 ปอนด์ต่อหุ้นในเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น ทั้งๆที่สถานะทางการเงินของบริษัท South Sea เป็นเหมือนเดิมทุกประการ

นักลงทุนอังกฤษแย่งกันซื้อหุ้นบริษัท South Sea

บริษัท South Sea ไม่มีทั้งรายได้และกำไร สิ่งที่บริษัททำคือออกหุ้นเพิ่มมาขายลงทุนที่โลภๆ เท่านั้น

อย่างที่เจสซี ลิเวอร์มอร์ได้เคยบอกไว้ ราคาหุ้นจะขึ้นไปได้จะต้องมีผู้ซื้อในราคาที่สูงกว่า และถ้าเงินของนักลงทุนอยู่ในหุ้นตัวนี้หมดแล้ว ใครจะมาซื้อต่อไปอีกกันเล่า หุ้นจะต้องลงมาสู่ความเป็นจริงของมันเท่านั้น

ภายในเวลาไม่นานราคาหุ้นจึงเริ่มทลายลงอย่างรวดเร็ว ราคาหุ้นก็ลงมาอย่างไม่หยุดจาก 1,000,900,800,700,600 ต่อหุ้น จนสุดท้ายหุ้นของบริษัท South Sea ไปหยุดที่ระดับ 60-80 ปอนด์ต่อหุ้น

นักลงทุนจำนวนมหาศาลจึงขาดทุน หนึ่งในนั้นมีนิวตันอยู่ด้วย การที่เขาซื้อหุ้นไปที่ราคาเกือบ 1,000 ปอนด์ ทำให้นิวตันขาดทุนไปถึง 90% เงินที่เขาลงทุนไป 20,000 ปอนด์เกือบจะเสียไปทั้งหมด

ราคาหุ้นบริษัท South Sea ระหว่างปี ค.ศ.1719-1721

การเจ๊งหุ้นในครั้งนั้นทำให้นิวตันเจ็บปวดมาก นิวตันสั่งว่าอย่าให้ใครพูดคำว่า “South Sea” ให้เขาได้ยินอีก

สาเหตุของการเจ๊งของนิวตันเหมือนนักลงทุนทั่วไปจำนวนมาก เขาปล่อยให้ความโลภและความเสียดายครอบงำจิตใจของเขา ตัวเขาเองก็ไม่ได้ศึกษาบริษัทอย่างจริงจัง เขาซื้อหุ้นตามกระแสเพียงเท่านั้น

เหตุการณ์พุ่งและพังของบริษัท South Sea มีชื่อเรียกในหน้าประวัติศาสตร์ว่า South Sea Bubble

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!