ประวัติศาสตร์อินเกอ อีบาฮาร์ต (Inge Eberhard) มหาเทวีฝรั่งกับชีวิตในพม่าของเธอ

อินเกอ อีบาฮาร์ต (Inge Eberhard) มหาเทวีฝรั่งกับชีวิตในพม่าของเธอ

อินเกอ อีบาฮาร์ต (Inge Eberhard) เป็นผู้หญิงที่มีชีวิตที่ไม่เหมือนใคร ในบรรดามหาเทวี (เทียบเท่ากับราชินี) ของเมืองต่างๆ ในรัฐฉาน เธอน่าจะเป็นมหาเทวีคนแรกและคนเดียวที่เป็นชาวตะวันตก

บางคนกล่าวว่าชีวิตของเธอเหมือนกับเทพนิยาย แต่ผมมองว่าชีวิตของเธอเป็นชีวิตที่ผ่านการต่อสู้อันเจ็บปวดรวดร้าว อินเกอจึงเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่งอย่างยิ่งที่สามารถผ่านเรื่องราวทั้งหมดมาได้

อินเกอ อีบาฮาร์ต (Inge Eberhard)

สงครามโลกครั้งที่ 2

อินเกอเกิดในปี ค.ศ.1932 ที่ประเทศออสเตรีย เมื่อเธออายุได้เพียง 6 ขวบ ฮิตเลอร์และพวกนาซีก็ผนวกออสเตรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี หรือที่เรียกกันว่า Anschluss

ในช่วงเวลานั้น อินเกอเล่าว่าชีวิตของเธอลำบากมาก พวกนาซีบุกมาที่บ้านเธอและจับมารดาของเธอไปถึงสามครั้ง โชคยังดีที่มารดาของเธอไม่ถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกัน

อินเกอเป็นคนเรียนเก่งมาก ในปี ค.ศ.1951 เธอได้รับทุนฟูลไบรท์ (Fulbright Scholarship) จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ไปศึกษาต่อในสาขาวรรณกรรมอังกฤษ เธอตอบรับทันทีด้วยความดีใจ พี่ชายของเธอเล่าว่า

ฉันอยู่ในกองทัพเมื่อรู้ข่าว ครอบครัวของเราเป็นกังวลเพราะว่าลูกสาวคนโตของบ้านจะต้องเดินทางไปไกลมาก แต่ทุกคนก็ภูมิใจเหลือเกิน โดยเฉพาะตัวฉันเอง เพราะอเมริกาเป็นความฝันของฉันเหมือนกัน

Gerd Eberhard

ในยุคที่การสื่อสารทำได้ยากลำบาก อินเกอกล้ามากที่เดินทางไปศึกษาในประเทศที่ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนมากด้วยตัวคนเดียว ตอนนั้นเธออายุเพียง 19 ปีเท่านั้น

พบกับหนุ่มพม่า

อินเกอได้ศึกษาต่อที่วิทยาลัยหญิงแห่งโคโลราโด (Colorado Women’s College) ในสาขาวรรณกรรมอังกฤษ มีอยู่วันหนึ่ง เธอได้ไปเข้าร่วมงานเลี้ยงของเหล่านักเรียนต่างชาติ เธอได้พบกับชายคนหนึ่ง ผู้ที่จะเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

เขาเป็นชายหนุ่มเอเชียจากประเทศที่พึ่งได้รับอิสรภาพมาไม่นานอย่าง พม่า เขาบอกเธอว่า เขาชื่อ เสาขยาเสง (Sao Kya Seng) เขาเป็นนักเรียนของวิทยาลัยเหมืองแร่แห่งโคโลราโด (Colorado School of Mines) ที่อยู่ใกล้กัน

เสาขยาเสงอายุมากกว่าอินเกอถึง 8 ปี แต่เขาเป็นชายหนุ่มผู้เรียบร้อย มารยาทดี ให้เกียรติเธอ อินเกอเล่าว่าเขามีรอยยิ้มที่มีเสน่ห์มาก

หลังจากนั้นไม่นานทั้งสองก็สนิทสนมกันมากขึ้น ทั้งสองไปชมภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ และเดินเล่นด้วยกัน สุดท้ายความสัมพันธ์ดังกล่าวได้แปรเปลี่ยนเป็นความรักในที่สุด ในปี ค.ศ.1952 เสาขยาเสงได้ขอเธอแต่งงาน อินเกอได้ขอผัดผ่อนไปก่อน เพราะเธอรับปากพ่อไว้ว่าจะแต่งงานเมื่อมีอายุ 21 ปีขึ้นไปเท่านั้น

ชายหนุ่มพม่าผู้นี้จึงต้องรอไปอีกปีหนึ่ง เขาได้ขอเธอแต่งงานอีกครั้งหนึ่งในอีกปีต่อมา ครั้งนี้เธอตอบรับด้วยความดีใจ

ทั้งสองได้สมรสกันอย่างเรียบง่ายในปี ค.ศ.1953 ที่บ้านของเพื่อนคนหนึ่งใกล้กับวิทยาลัยที่ทั้งสองเรียนอยู่ โดยที่ครอบครัวของอินเกอไม่ทราบเรื่องเลย

ในปีเดียวกัน เสาขยาเสงเรียนจบ เขาขอให้อินเกอกลับพม่ากับเขาด้วย แต่ก่อนที่จะเดินทางไปยังพม่า อินเกอได้พาสามีของเธอไปแนะนำให้ครอบครัวของเธอรู้จักก่อน ครั้งนั้นน่าจะเป็นครั้งเดียวที่ครอบครัวของเธอได้เห็นเสาขยาเสง สามีของบุตรสาวคนโต หลังจากนั้นเสาขยาเสงและอินเกจึงได้เดินทางไปยังพม่า

ความแตก

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เสาขยาเสงได้เก็บงำความลับสำคัญไว้อย่างหนึ่งที่ไม่เคยบอกภรรยาของเขาให้ทราบเลย

ความลับที่ว่าคือ เขาไม่ใช่สามัญชนคนธรรมดา!

ความมาแตกเมื่อ เสาขยาเสงและอินเกอเดินทางมาถึงย่างกุ้ง เมืองหลวงของพม่า เธอเห็นผู้คนจำนวนนับร้อยยืนรอสามีของเธออยู่ที่ท่าเรือ ทุกคนแต่งตัวสวยงามมาก พวกเขาโปรยปรายดอกไม้จำนวนมากลงมาในน้ำ

เมื่อสามีของเธอเดินลงมาจากเรือ ดนตรีท้องถิ่นแบบฉานก็ดังขึ้น เหล่าราษฎรในที่แห่งนั้นต่างโบกมือให้เขาทุกคน ในเวลานั้นเสาขยาเสงจึงบอกกับเธอว่า จริงๆแล้วเขาเป็นเจ้าฟ้าแห่งสีป่อ (Hsipaw) รัฐสำคัญรัฐหนึ่งในดินแดนฉานของพม่า เพราะฉะนั้นอินเกอจึงเป็นมหาเทวีของเขา

อินเกอเล่าว่า เธอบอกสามีว่า

ฉันหวังว่าคุณจะบอกฉันก่อนหน้านี้ ฉันจะได้ใส่ชุดที่ต่างจากนี้

อินเกอโกรธไม่น้อยที่สามีไม่เคยบอกเรื่องนี้กับเธอเลย เสาขยาเสงอธิบายว่าเขาต้องการที่จะได้รับการปฏิบัติเหมือนกับคนธรรมดาเมื่ออยู่ “ในประเทศของโทมัส เจฟเฟอร์สัน” นอกจากนี้เขายังอยากให้ภรรยาของเขารักเขาที่ตัวเขาเอง มิใช่ในฐานันดรศักดิ์ของเขา ท้ายที่สุดอินเกอจึงเข้าใจและคลายความโกรธลง

ชีวิตที่สีป่อ

อินเกอเดินทางไปยังเมืองสีป่อ เมืองของสามีของเธอ เธอได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวเมือง เธอเล่าว่าชีวิตในสีป่อเป็นชีวิตที่มีความสุขมาก ผืนแผ่นดินสีป่ออุดมสมบูรณ์มาก ไม่ว่าจะปลูกอะไรลงไปก็ได้ผลผลิตที่ดีเยี่ยม

ถึงแม้จะเป็นถึงมหาเทวี แต่อินเกอไม่ต้องการนอนอยู่เฉยๆ เธอร่ำเรียนภาษาพม่าและภาษาฉานจนสามารถสื่อสารกับผู้ใต้ปกครองของเธอได้อย่างคล่องแคล่ว หลังจากนั้นเธอเริ่มทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรร่วมกับสามีของเธออย่างแข็งขัน

อินเกอเล่าว่า เสาขยาเสงไม่เคยหวังประโยชน์ใดๆ ให้กับตนเอง ในชีวิตของเขา เขาต้องการอยู่อย่างเดียวคือพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสีป่อให้ดีขึ้น เขามอบนาข้าวจำนวนมากให้กับราษฎรไปทำมาหากิน เสาขยาเสงซื้อรถแทรกเตอร์ที่ทันสมัยมาให้พวกเขาใช้เพื่อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้มีการนำพันธุ์พืชใหม่ๆ มาลองปลูกเช่น สัปปะรด กาแฟ ขิง และผลไม้รสเปรี้ยวอื่นๆ

เสาขยาเสง อินเก และบุตรสาวทั้งสองคน

นอกจากนี้เสาขยาเสงยังเป็นคนที่เชื่อมั่นในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เขาพยายามจะให้ชาวสีป่อมีสิทธิ์มีเสียงและกำหนดชีวิตของตัวเองมากยิ่งขึ้น เสาขยาเสงปรารถนาว่าในอนาคต เขาจะยกเลิกตำแหน่งเจ้าฟ้าแห่งสีป่อของเขาเสีย (เขาทำได้จริงในปี ค.ศ.1959) เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันให้ประชาชนอย่างแท้จริง เหล่าชาวสีป่อจึงรักเสาขยาเสงมาก

อินเกอช่วยเหลือเขาด้วยการเปิดคลีนิคสำหรับคลอดบุตรที่ทันสมัย (เพราะอัตราการตายของเด็กเกิดใหม่ในสีป่อมีมากถึง 75%) เธอสอนเหล่าชาวบ้านให้เข้าใจถึงหลักโภชนาการ และยังได้เปิดโรงเรียนสอนภาษาเพื่อเพิ่มความรู้ให้กับพวกเขา ในเวลาไม่นานอินเกอก็เป็นที่รักยิ่งในหมู่ชาวบ้านไม่ต่างอะไรกับเสาขยาเสง สามีของเธอ

ช่วงเวลาเกือบเก้าปีที่อยู่ที่สีป่อนั้น เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขอย่างแท้จริง เธอให้กำเนิดบุตรสาวที่น่ารักสองคนให้กับ เสาขยาเสง ทั้งสองมีชื่อว่า เสามายารี และเสาเคนนารี ทุกอย่างที่สามีและเธอสร้างกำลังผลิออกออกผลอย่างที่มันควรจะเป็น

หยาดน้ำตาแห่งความเศร้า

แต่แล้วก็ได้มีสิ่งหนึ่งที่หยุดความสุขนี้ของเธอไปตลอดกาล

ในปี ค.ศ.1962 ได้มีเหตุการณ์ผันแปรทางการเมืองครั้งใหญ่ในพม่า นายพลเนวินได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล และมีคำสั่งให้ทำการจับกุมสมาชิกสภารัฐฉานที่กระด้างกระเดื่อง ซึ่งรวมไปถึงเสาขยาเสง อดีตเจ้าฟ้าผู้เป็นสมาชิกสภาของรัฐฉานในฐานะตัวแทนของสีป่อด้วย เขาถูกจับกุมไปขังไว้ในคุกไม้ไผ่ในป่าแห่งหนึ่ง

มีเรื่องเล่าว่า เสาขยาเสงเคยได้รับคำทำนายที่เจดีย์ซูเลที่ย่างกุ้งว่า ตัวเขาจะพบกับมหันตภัยหลังจากที่เขาอายุมากกว่า 30 ปี ในครั้งนี้เสาขยาเสงจึงคิดว่ามหันตภัยที่ว่าได้มาถึงแล้ว เขาให้ข้าราชบริพารที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งนำจดหมายไปมอบให้กับอินเกอ ผู้เป็นภรรยาของเขา

จดหมายฉบับนั้นเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่อินเกอได้รับจากสามีของเธอ

อินเกอถูกคุมขังอยู่ในบ้านเป็นเวลานานเกือบสองปี เพราะนายพลเนวินเกรงว่าเธอจะเป็นสายลับ อินเกอได้พยายามเรียกร้องต่อรัฐบาลว่าให้เธอได้เยี่ยมสามีของเธอ เธอเชื่อว่าเขายังถูกคุมขังในคุก แต่รัฐบาลทหารกลับบอกเธอว่า พวกเขาไม่ได้จับกุมสามีเธอแต่อย่างใด

วัง(บ้าน) ของเจ้าฟ้าแห่งสีป่อ อินเกและเสาขยาเสงเป็นมหาเทวีและเจ้าฟ้าคนสุดท้ายที่ได้ใช้วังนี้ Cr: Clay Gilliland

เหล่าสถานทูตและเพื่อนของเธอต่างแนะนำให้เธอและลูกสาวทั้งสองเดินทางออกจากพม่า รัฐบาลออสเตรียเองก็เสนอให้เธอและลูกเดินทางกลับไปยังออสเตรีย บ้านเกิดเมืองนอนของเธอ แต่อินเกอยังปฏิเสธ เธอยังหวังว่าเธอจะได้พบกับสามีของเธออีกครั้งหนึ่ง

อินเกอได้พยายามสืบเสาะหาความจริงว่าอะไรเกิดขึ้นกับสามีเธอ สุดท้ายเธอก็พบว่า สามีของเธอได้จบชีวิตลงแล้วในคุก และตัวเธอและลูกสาวอาจจะมีอันตรายด้วย เธอจึงเดินทางกลับไปยังออสเตรียพร้อมกับบุตรสาวทั้งสองคนด้วยความช่วยเหลือจากสถานทูตออสเตรีย

ไม่มีใครพบเห็นเสาขยาเสงอีกเลย เขาถูกพบเป็นครั้งสุดท้ายที่จุดตรวจของทหารในปี ค.ศ.1962 เขามีอายุได้เพียง 37 ปีเท่านั้นเมื่อหายตัวไป

หลังจากนั้น

อินเกอไม่ได้กลับมายังพม่าอีกเลย เธอใช้ชีวิตอยู่ในออสเตรียอีกสองปี หลังจากนั้นเธอย้ายกลับไปอยู่ที่โคโลราโด สถานที่ที่เธอพบรักกับเสาขยาเสง สามีของเธอผู้จากไป อินเกอได้เป็นครูสอนภาษาเยอรมันที่โรงเรียนมัธยมจนกระทั่งเกษียณอายุ

หลังจากกลับไปอเมริกาได้หลายปี เธอได้พบรักกับชายหนุ่มอเมริกันชื่อ แทต ซาร์เจน และได้แต่งงานกัน เขาได้สนับสนุนให้เธอเขียนชีวิตของเธอในพม่าออกเป็นหนังสือในนามว่า Twilight Over Burma ซึ่งได้กลายเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ.2015

อินเกอและสามีใหม่ได้ร่วมกันตั้งกองทุนการกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยพม่า ปัจจุบันอินเกอยังมีชีวิตอยู่ เธออายุได้ 87 ปีและยังมีสุขภาพแข็งแรงดี นอกจากความทรงจำแล้ว สิ่งที่หลงเหลือจากพม่าในตัวเธอ คือ ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท เธอได้เปลี่ยนศาสนาเป็นพุทธตั้งแต่ครั้งยังอยู่พม่า และยังคงนับถือมาจนถึงทุกวันนี้

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!