ประวัติศาสตร์อินเดียและปากีสถานขัดแย้งอะไรกัน ตอนจบ: บังกลาเทศ

อินเดียและปากีสถานขัดแย้งอะไรกัน ตอนจบ: บังกลาเทศ

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงปีค.ศ. 1947-1965 ล้วนแต่เกิดจากปัญหาแคชเมียร์ แต่ความขัดแย้งในปี ค.ศ.1971 กลับไม่เป็นเช่นนั้น ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานครั้งใหม่นี้เกิดขึ้นจากความวุ่นวายในดินแดนปากีสถานตะวันออก หรือ ประเทศบังกลาเทศ ในปัจจุบันนี้นั่นเอง

เบงกอล หรือ ปากีสถานตะวันออก

เรื่องมีอยู่ว่าหลังจากการมอบเอกราชให้กับทั้งอินเดียและปากีสถานในปี ค.ศ.1947 ดินแดนเบงกอลที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของอินเดียที่มีชาวมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่ได้รวมเข้ากับปากีสถาน ดังนั้นประเทศปากีสถานจึงมีดินแดนสองส่วนที่แยกออกจากกันโดยมีอินเดียอยู่คั่นกลาง

ดินแดนปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออก Cr: Green Giant/English Wikipedia

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ถึงแม้ว่าทั้งพลเมืองในปากีสถานทั้งสองส่วนจะเป็นชาวมุสลิมเหมือนกัน แต่ทั้งสองมีวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ชาวปากีสถานตะวันตกพูดภาษาเออร์ดูร์ (Urdu) ส่วนชาวปากีสถานตะวันออกพูดภาษาเบงกาลี (Bengali) ต่างฝ่ายต่างมีวัฒนธรรมเป็นแบบเฉพาะของตนเอง เพราะดินแดนทั้งสองอยู่ห่างกันถึง 1,600 กม.

ในปี ค.ศ. 1948 ชาวเบงกอลพยายามผลักดันให้ภาษาเบงกาลีเป็นภาษาราชการ แต่กลับไม่เป็นผล รัฐบาลปากีสถานตอบสนองด้วยการลบภาษาเบงกาลีออกจากสแตมป์และธนบัตรทั้งหมด ชาวเบงกอลรู้สึกโกรธเคืองรัฐบาลมากเพราะคิดว่ารัฐบาลพยายามทำลายวัฒนธรรมของพวกตน พวกเขาจึงทำการประท้วง รัฐบาลปากีสถานทำการปราบปรามอย่างรุนแรงทำให้มีคนตายไปหลายคน กระแสต้องการแยกตัวเป็นอิสระจึงเพิ่มขึ้นอย่างเงียบๆ

นอกจากนี้งบประมาณที่รัฐบาลปากีสถานเจียดมาให้ส่วนตะวันออกของประเทศมีเพียง 30% เท่านั้นของทั้งหมด เศรษฐกิจของปากีสถานส่วนตะวันตกและตะวันออกจึงยิ่งแตกต่างกันไปทุกที ชาวเบงกอลเริ่มรู้สึกว่าพวกตนได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมจากรัฐบาลกลางที่ตั้งอยู่ที่ปากีสถานส่วนตะวันตก

ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ ชาวเบงกาลีไม่ปรารถนาที่จะรับแนวคิดอิสลามสุดโต่งของปากีสถานตะวันตก พวกเขาต้องการสร้างประเทศให้เป็นแบบประชาธิปไตยและเสรีนิยมที่ปราศจากการครอบงำของศาสนา แนวคิดเช่นนี้ทำให้ชนชั้นนำของปากีสถานมองว่า พวกฝั่งตะวันออกเป็นพวกที่ถูกอิทธิพลฮินดูครอบงำ พวกเขาจึงยิ่งต้องการทำการทำลายวัฒนธรรมและแนวคิดฝั่งตะวันออกมากขึ้น ความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1970 พายุไซโคลนโพลาได้พัดเข้าใส่ปากีสถานฝั่งตะวันออก ความเสียหายดังกล่าวรุนแรงมากทำให้มีผู้เสียชีวิต 300,000-500,000 คน ประชาชนเบงกอลในฝั่งตะวันออกยิ่งโกรธแค้นรัฐบาลกลางที่ฝั่งตะวันตกมากขึ้นไปอีก เพราะการช่วยเหลือล่าช้า ความโกรธแค้นดังกล่าวทำให้ประชาชนเบงกอลเห็นว่าการอยู่ร่วมเป็นประเทศกับปากีสถานตะวันตกเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

บังกลาเทศประกาศอิสรภาพ

หนึ่งเดือนต่อมา ความขัดแย้งเหล่านี้มาปริแตกในที่สุด พรรคอาวามิลีค (Awami League) ที่มีพิ้นเพมาจากฝั่งตะวันออกได้รับชัยชนะการเลือกตั้งครั้งใหญ่ เพราะว่าได้เสียงจากฝั่งตะวันออก 167 เสียงจาก 169 เสียง ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาที่มีจำนวน 313 เสียง (รวมฝั่งตะวันตกแล้ว) พรรคนี้จึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะจัดตั้งรัฐบาลปกครองปากีสถานทั้งสองฝั่ง

หากแต่ว่าชนชั้นนำของปากีสถานตะวันตกกลับไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ซัลฟีคาร์ อาลี บุตโต หนึ่งในผู้นำของพรรคประชาชนปากีสถานเสนอให้ประเทศมีนายกรัฐมนตรีสองคน โดยแต่ละคนดูแลแต่ละฝั่ง ข้อเสนอดังกล่าวทำให้ประชาชนในเบงกอลหรือปากีสถานฝั่งตะวันออกโกรธแค้นมาก

ชีค มูร์จิบูร์ ราห์มาน ผู้นำพรรคอาวามิลีคจึงเรียกร้องให้ชาวเบงกอลในฝั่งตะวันออกออกมาประท้วงครั้งใหญ่ อาลี บุตโตเกรงว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองเลยเสนอข้อตกลงลับว่าเขาและราห์มานจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน โดยราห์มานเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนบุตโตเป็นประธานาธิบดี ราห์มานยอมรับข้อเสนอโดยไม่มีข้อกังขา

ชีค มูร์จิบูร์ ราห์มาน Cr: Wikipedia

หากแต่ว่าประธานาธิบดี ยายา ข่าน (Yayah Khan) กลับเลื่อนการประชุมรัฐสภาออกไป ทำให้ราห์มานและประชาชนในฝั่งตะวันออกล้วนแต่ไม่พอใจ เพราะต่างเห็นว่าเป็นวิธีการของฝั่งตะวันตกที่จะหยุดยั้งไม่ให้ผู้นำจากฝั่งตะวันออกได้ขึ้นครองอำนาจ ในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ.1971 ราห์มานจึงเรียกร้องให้เบงกอลประกาศอิสรภาพจากปากีสถาน และขอให้เหล่าประชาชนจัดตั้งกำลังอาวุธเพื่อต่อต้านกองกำลังปากีสถาน

ประธานาธิบดี ยายา ข่านจึงมีคำสั่งให้กองทัพจับกุมราห์มานและสมาชิกพรรคอาวามิลีคทั้งหมด และกวาดล้างกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ในเบงกอล การกวาดล้างกองกำลังติดอาวุธได้กลายสภาพไปเป็นการสังหารหมู่ขนาดใหญ่ที่ทำให้ประชาชนชาวเบงกอลตายไปอย่างน้อย 250,000 คน บ้างว่ามากถึง 3,000,000 คน

การสังหารหมู่ทำให้ชาวเบงกอลจับอาวุธขึ้นต่อสู้ ตำรวจและทหารชาวเบงกอลต่างลุกฮือขึ้นและไม่ฟังคำสั่งรัฐบาลกลางอีกต่อไป ประชาชนร่วมกลุ่มกันเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลปากีสถาน คำประกาศอิสรภาพของราห์มานถูกประกาศอย่างเป็นทางการว่า หลังจากนี้ปากีสถานตะวันออกหรือ เบงกอล จะเป็นประเทศอิสระในนาม บังกลาเทศ รัฐบาลชั่วคราวได้ถูกจัดตั้งขึ้นที่บริเวณพรมแดนติดกับอินเดีย

สงครามอินเดีย-ปากีสถานแห่งปี 1971

กองกำลังบังกลาเทศได้รวมตัวกันเพื่อต่อสู้แบบกองโจรกับรัฐบาลปากีสถาน โดยมีอินเดียให้การสนับสนุน ต่อมามีข่าวแพร่สะพัดว่าทหารรัฐบาลปากีสถานได้ทำการสังหารหมู่ชาวบังกลาเทศเชื้อสายฮินดู ประธานาธิบดีอินทิรา คานธี จึงประกาศว่าเธอจะหนุนประชาชนชาวบังกลาเทศในการต่อสู้กับปากีสถาน กองทัพอินเดียถูกสั่งให้เตรียมการเข้าแทรกแซงทันที

ขณะเดียวกันกระแสต้องการสงครามก็พุ่งขึ้นในปากีสถานฝั่งตะวันตก ชาวปากีสถานบางส่วนเรียกร้องให้รัฐบาลของตน “บดขยี้” อินเดีย ประธานาธิบดียาย่า ข่านจึงสั่งให้ประชาชนปากีสถานเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม ในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1971 กองทัพอากาศปากีสถานได้เข้าโจมตีฐานทัพของฝ่ายอินเดีย โดยไม่ประกาศสงคราม สถานะสงครามระหว่างสองประเทศจึงเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ

กองทัพอินเดียเคลื่อนทัพเข้าไปในบังกลาเทศอย่างรวดเร็ว เพื่อกวาดล้างกองทัพปากีสถานที่อยู่ภายในดินแดนดังกล่าว ปรากฏว่ากองทัพอินเดียสามารถเอาชนะกองกำลังปากีสถานได้อย่างง่ายดาย ภายในสิบกว่าวัน กองกำลังปากีสถานก็ยอมจำนนทั้งหมด ทหารปากีสถานมากถึง 93,000 นายวางอาวุธต่อกองทัพอินเดีย

แม่ทัพปากีสถานลงนามยอมแพ้ต่ออินเดีย Cr: Indian Navy

การยอมแพ้ของกองกำลังปากีสถานในบังกลาเทศทำให้สงครามสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว ปากีสถานยอมให้บังกลาเทศเป็นประเทศเอกราชโดยแลกกับการปล่อยเชลยศึกทั้งหมดโดยอินเดีย ความพ่ายแพ้ของปากีสถานภายในเวลา 13 วันเป็นที่ตกตะลึงของชาวปากีสถานทั้งประเทศ

หลังจากนั้น

สงครามในปี 1971 จบลงด้วยชัยชนะของอินเดีย หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายพยายามปักปันเขตแดนระหว่างกัน แต่แล้วสงครามสั้นๆ ในปี 1999 เพื่อแย่งชิงพิ้นที่เมือง Kargil ก็เกิดขึ้นมาอีก เมื่อกองกำลังปากีสถานบุกเข้ายึดครองพื้นที่ฝั่งอินเดีย กองทัพอินเดียจึงต้องใช้เวลาหลายเดือนเพื่อขับไล่กองกำลังปากีสถานออกไป ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ

พรมแดนระหว่างอินเดีย-ปากีสถานนั้นไม่เคยที่จะสงบลง มีการยั่วยุให้เกิดการต่อสู้มีแทบทุกสามสี่ปี ตราบเท่าถึงทุกวันนี้ กรณีที่เกิดขึ้นปีนี้คงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!