ประวัติศาสตร์อิบราฮิม ปาชา: มิตรภาพของทาสกับเจ้าชายที่จบลงด้วยความเศร้า

อิบราฮิม ปาชา: มิตรภาพของทาสกับเจ้าชายที่จบลงด้วยความเศร้า

ผู้เขียนได้อ่านชีวิตของอิบราฮิม ปาชา (Ibrahim Pasha) จากหนังสือประวัติศาสตร์อาณาจักรออตโตมัน แล้วรู้สึกว่าน่าสนใจจึงขอนำมาบอกเล่าให้ทุกท่านได้อ่าน

อิบราฮิม ปาชา (Ibrahim Pasha)

เมื่อทาสได้พบกับเจ้าชาย

อิบราฮิมเป็นเด็กชาวคริสต์ที่อาศัยอยู่ในกรีซ เมื่อกองทัพออตโตมันบุกปล้นบ้านเกิดของอิบราฮิมในช่วงปีค.ศ.1500-1502 (ไม่ทราบแน่ชัด) อิบราฮิมได้ถูกกวาดต้อนไปเป็นทาสโดยแม่ทัพออตโตมันชื่อ อิสเคนเดอร์ ปาชา (Iskender Pasha) ทั้งนี้คำว่า Pasha นี้เป็นชื่ออันทรงเกียรติที่มอบให้กับขุนนางระดับสูงในอาณาจักรออตโตมัน แม่ทัพผู้นี้ชื่อ อิสเคนเดอร์ เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นปาชา เลยกลายเป็นอิสเคนเดอร์ ปาชา

กองทัพออตโตมันได้ขายอิบราฮิมให้กับหญิงม่ายคนหนึ่งที่เมืองแม็กนีเซีย หญิงม่ายคนดังกล่าวดูแลอิบราฮิมราวกับว่าเป็นลูกคนหนึ่ง เธอมอบเสื้อผ้าดีๆให้เขาใส่ และให้เขาร่ำเรียนหนังสือ อิบราฮิมเป็นคนหัวไวมาก เขาจึงเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อย่างรวดเร็ว

สิบสองปีผ่านไป อิบราฮิมได้พบพระพักตร์เจ้าชายสุไลมาน (Suleiman) รัชทายาทแห่งอาณาจักรออตโตมันที่วังของ อิสเคนเดอร์ ปาชา ผู้ที่จับกุมตัวเขามา อิบราฮิมเป็นคนฉลาดเฉลียว หน้าตาดี และมีชีวิตชีวา เจ้าชายสุไลมานทรงประทับใจในตัวเขา พระองค์จึงนำอิบราฮิมมาเป็นข้ารับใช้ของพระองค์

เจ้าชายสุไลมานทรงมีอายุมากกว่าอิบราฮิมเพียงเล็กน้อย พระองค์จึงทรงอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกับอิบราฮิม สุไลมานทรงมีพระอุปนิสัยเงียบขรึม มีโลกส่วนพระองค์ แต่พระองค์ก็ไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์ในตัวอิบราฮิมซึ่งเป็นทาส พระองค์ทรงสนิทสนมกับอิบราฮิมราวกับว่าเขาเป็นเพื่อนคนหนึ่ง ในเวลาไม่นานอิบราฮิมก็กลายเป็นข้ารับใช้และเพื่อนสนิทที่สุดของเจ้าชายสุไลมาน

หกปีผ่านไป หรือว่าในปี ค.ศ 1520 สุลต่านเซลิมที่ 1 (Selim I) พระบิดาของเจ้าชายสุไลมานสวรรคต เจ้าชายสุไลมานจึงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมัน ทรงพระนามว่า สุลต่านสุไลมานที่ 1

พระสหายคนสนิท

สุลต่านพระองค์ใหม่ทรงไม่เคยลืมเลือนอิบราฮิม พระองค์แต่งตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าผู้ดูแลนกล่าเหยื่อ (Falconer, ใช้เวลาสุลต่านทรงออกล่าสัตว์) อีกไม่นานก็ทรงแต่งตั้งให้อิบราฮิมเป็นหัวหน้าผู้ดูแลพระราชฐานฝ่ายใน

สุลต่านสุไลมาน (Suleiman the Magnificent)

ชีวิตของอิบราฮิมในพระราชฐานฝ่ายในเป็นไปด้วยความสุขสบายอย่างที่เขาไม่เคยได้รับมาก่อน สุลต่านสุไลมานทรงอนุญาตให้อิบราฮิมพักอาศัยในพระราชวังได้ ร่วมโต๊ะเสวยได้ และยังเสด็จออกไปล่าสัตว์ หรือกิจกรรมต่างๆ กับอิบราฮิมอยู่บ่อยๆ

ทั้งนี้อิบราฮิมเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่สุไลมานทรงอนุญาตให้เข้ามาใน “โลกส่วนพระองค์” นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่าพระองค์ทรงพึ่งพิงอิบราฮิมในการดึงพระองค์ออกมาจากโลกส่วนพระองค์ อิบราฮิมยังช่วยเหลือพระองค์ปฏิบัติราชกิจต่างๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอีกด้วย

ด้วยความไว้พระทัย อิบราฮิมจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้พระองค์ยังพระราชทานหลานสาวของอิสคานเดอร์ ปาชา ผู้ที่เคยจับกุมเขาเมื่อยี่สิบปีก่อนให้แต่งงานกับอิบราฮิม โดยสุไลมานทรงรับเธอเป็นน้องสาวของพระองค์ก่อนแล้วจึงพระราชทานให้กับเขา เพื่อที่เธอจะได้มีสถานะเป็นเชื้อพระวงศ์ นั่นเป็นการทำให้อิบราฮิมมีสถานะสูงขึ้นด้วย

เจตนาของสุไลมานคือการดึงอิบราฮิมเข้ามาอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูงของอาณาจักร และเป็นแขนขาของพระองค์ในการจัดการเรื่องต่างๆ

การขึ้นสู่อำนาจอย่างรวดเร็วทำให้อิบราฮิมรู้สึกเกรงกลัวยิ่งนัก ในตำนานเล่าว่า อิบราฮิมทูลขอสุลต่านสุไลมานว่าอย่าทรงได้เลื่อนตำแหน่งให้กับเขาอีกเลย สุลต่านสุไลมานทรงชื่นชมในความอ่อนน้อมและไม่ทะเยอทะยานของอิบราฮิม หลังจากนั้นพระองค์ทรงสาบานว่า

ตราบใดที่ข้ายังเป็นสุลต่านอยู่ เจ้าจะไม่ถูกลงโทษจนถึงตาย ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางใดก็ตาม”

เรามาดูกันว่า สุลต่านสุไลมานจะทรงปฏิบัติตามคำสาบานได้หรือไม่

หยิ่งยโส?

ในปี ค.ศ 1523 อิบราฮิมก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแกรนด์วิเซียร์ (Grand Vizier) หรืออัครมหาเสนาบดี และยังควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกด้วย ตำแหน่งของเขาจึงเป็นรองสุลต่านสุไลมานเพียงผู้เดียวเท่านั้น ชีวิตของอิบราฮิมจึงเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากทาสผู้ต่ำต้อยสู่บุคคลที่เรืองอำนาจเป็นอันดับ 2 ของอาณาจักรที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกอาณาจักรหนึ่งอย่าง อาณาจักรออตโตมัน

หลังจากนั้นอิบราฮิมก็ได้รับคำสั่งให้ไปปราบกบฎที่อียิปต์ ซึ่งอิบราฮิมสามารถทำได้อย่างดีเยี่ยม เขาสามารถปราบปรามพวกกบฎอย่างง่ายดาย และยังได้ปฏิรูปการปกครองอียิปต์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

จากความดีความชอบที่อียิปต์ สุลต่านสุไลมานจึงมอบหมายให้อิบราฮิมเป็นผู้ว่าราชการดินแดนทั้งหมดของอาณาจักรออตโตมันในยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนมากถึงครึ่งหนึ่งของอาณาจักรทั้งหมด

ต่อมาอิบราฮิมเองก็ยังรับบทบาทเป็นผู้ต่อรองกับชาติคริสเตียนต่างๆ ทำให้อาณาจักรออตโตมันนั้นทำสนธิสัญญาที่ได้เปรียบกับนานาประเทศอีกด้วย อิบราฮิมยังได้ทำเจรจากับฝรั่งเศส ด้วยการมอบสิทธิพิเศษทางค้ากับฝรั่งเศส แลกกับการที่ฝรั่งเศสจะต้องร่วมกับอาณาจักรออตโตมันต่อสู้กับราชวงศ์ Habsburg ของออสเตรีย

อิทธิพลและอำนาจของอิบราฮิมที่มากมาย ทำให้เหล่าทูตของอาณาจักรต่างๆ จึงเริ่มขนานนามอิบราฮิมว่า Ibrahim the Magnificent ซึ่งคำว่า “The Magnificent” นั้นเป็นคำต่อท้ายของสุุลต่านสุไลมาน นี่จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าอิบราฮิมได้รับการยกย่องเทียบเท่ากับองค์สุลต่าน เจ้าเหนือหัวของเขา

อิบราฮิมดำรงตำแหน่งแกรนด์วิเซียร์อยู่ 13 ปี อาณาจักรออตโตมันรุ่งเรืองสูงสุด แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้นกับเขา อิบราฮิมเริ่มที่จะหยิ่งยโสและหลงในอำนาจ ทำให้ศัตรูของเขาในราชสำนักออตโตมันเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ในช่วงปี ค.ศ 1535 อิบราฮิมนั้นได้รับคำสั่งให้เป็นทัพหน้ายกไปโจมตีอาณาจักรเปอร์เซีย ปรากฏว่าอิบราฮิมสามารถตีได้เมือง Tabriz เมืองสำคัญของเปอร์เซียได้ก่อนที่กองทัพหลวงของสุลต่านจะมาถึง ด้วยความหยิ่งผยอง อิบราฮิมจึงตั้งตำแหน่งใหม่ให้กับตนเองว่า “Serasker Sultan”

“Serasker” แปลว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือ แม่ทัพใหญ่ ส่วน “Sultan” คือสุลต่าน การกระทำของอิบราฮิมเช่นนี้นั้นจึงเป็นการกระทำตนใกล้เคียงกษัตริย์ หลังจากนั้นเมื่อมีผู้เรียกอิบราฮิมว่า “สุลต่านอิบราฮิม” เขาก็พอใจเป็นอย่างยิ่ง

การกระทำของอิบราฮิมไปเข้าหูสุลต่านสุไลมาน ทำให้พระองค์ทรงไม่พอพระทัยอย่างมาก แต่ก็ยังไม่แสดงออกมาแต่อย่างใด

สุลต่านสุไลมานนำกองทัพมาตีเปอร์เซีย

ในกองทัพของสุลต่านสุไลมานที่ยกไปตีเปอร์เซีย พระองค์ทรงได้นำ Iskender Chelebi ศัตรูของอิบราฮิมและผู้ดูแลท้องพระคลังมาด้วย Chelebi ผู้นี้จึงเข้าไปทักท้วงอิบราฮิมให้ยกเลิกการกระทำเยี่ยงกษัตริย์เสีย อิบราฮิมกลับปฏิเสธ ทั้งสองฝ่ายจึงทะเลาะกันอย่างหนัก และเรื่องเริ่มใหญ่โตขึ้นทุกที อิบราฮิมทูลฟ้องสุลต่านสุไลมานว่า Chelebi ยักยอกเงินในคลัง และบริหารพระคลังผิดพลาด

สุลต่านสุไลมานจึงโปรดให้ประหารชีวิต Chelebi เสีย ก่อนที่ Chelebi จะตายเขาขอปากกาและกระดาษเพื่อเขียนฎีกาทูลต่อสุลต่านสุไลมานว่า เพื่อนรักของพระองค์ที่เป็นที่ไว้วางพระทัยได้วางแผนกับพวกเปอร์เซียคิดจะล้มล้างพระองค์ และสถาปนาตัวเขาเองขึ้นเป็นสุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมัน

สำหรับชาวมุสลิมอย่างชาวออตโตมัน พวกเขามีความเชื่อว่า คำพูดก่อนสิ้นชีวิตเป็นคำพูดที่เป็นจริงแท้ สุลต่านสุไลมานจึงเริ่มสงสัยในตัวอิบราฮิมขึ้นมาว่าเขาจะเป็นกบฏ

จุดจบของอิบราฮิม

สุลต่านสุไลมานทรงมีพระมเหสีชื่อว่า Roxelana พระนางทรงริษยาในตัวอิบราฮิมที่มีอำนาจทางการเมือง และมีอิทธิพลต่อสุลต่านสุไลมาน พระนางอยากจะกุมอำนาจในราชสำนักออตโตมันเช่นเดียวกับอิบราฮิม แต่ไม่ปรารถนาที่จะให้ผู้ใดมีอิทธิพลเหนือองค์สุลต่านมากกว่าพระนาง ด้วยเหตุนี้อิบราฮิมจึงเป็นศัตรูที่พระนางต้องการจะกำจัด

Roxelana ทำการยุยงให้สุลต่านสุไลมานกำจัดเขาเสีย สุดท้ายสุลต่านสุไลมานจึงทรงยอมผิดคำสาบาน พระองค์ดำริว่าจะสังหารอิบราฮิม เพื่อนรักของพระองค์ตั้งแต่พระองค์ยังเป็นวัยรุ่น

ในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ 1536 สุลต่านสุไลมานได้ทรงเชิญอิบราฮิมเข้ามาร่วมโต๊ะเสวยในวัง ซึ่งทุกอย่างก็ดูเหมือนเป็นไปตามปกติ ในวันนั้นไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ศพของอิบราฮิมแสดงร่องรอยว่าเขาถูกรัดคอจนสิ้นชีวิต ร่างกายของเขาก็มีร่องรอยการต่อสู้ แปลว่าเขาพยายามต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดด้วยเช่นกัน อิบราฮิมมีอายุได้เพียง 43 ปี

วังของอิบราฮิม ปัจจุบันได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์

ศพของอิบราฮิมถูกลากไปฝังในวิหารแห่งหนึ่งโดยไม่มีสิ่งใดบ่งบอกว่าศพของเขาฝังอยู่ที่นี่ ทรัพย์สินอันมหาศาลของเขาถูกริบเข้าเป็นของหลวงจนหมดสิ้น

นี่จึงเป็นมหากาพย์แห่งชีวิตของอิบราฮิม เรื่องของเขาแสดงให้เห็นว่า “อำนาจ” สามารถเปลี่ยนแปลงคนๆ หนึ่งได้เพียงใด ไม่ว่าจะเป็นอิบราฮิม หรือ สุลต่านสุไลมานเอง

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!