การศึกษาเลือก "คอร์สเรียนออนไลน์" อย่างไรให้คุ้มค่าและไม่โดนหลอก

เลือก “คอร์สเรียนออนไลน์” อย่างไรให้คุ้มค่าและไม่โดนหลอก

ปัจจุบันการเรียนออนไลน์เป็นที่นิยมขึ้นมาก เรียกได้ว่าผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มไทยและเทศ รวมไปถึงคอร์สที่ครูผู้สอนสร้างขึ้นและขายเองในเว็บไซต์ส่วนตัว, Facebook หรือ Line

เมื่อคอร์สเรียนออนไลน์เหล่านี้ได้รับความนิยม สิ่งที่ตามมาควบคู่กันก็คือการเข้ามาของนักฉวยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นคอร์สเรียนที่ไร้คุณภาพ ไม่สมราคา หรือแม้กระทั่งการหลอกลวงผู้เรียนซึ่งหน้า

เรียนออนไลน์ Image by Tumisu from Pixabay

ดังนั้นในโพสนี้ ผมจะมาแนะนำว่าคุณควรจะเลือกคอร์สเรียนออนไลน์อย่างไรให้คุ้มค่าและไม่โดนหลอกครับ

1. มีหรือไม่มีแพลตฟอร์ม

สิ่งแรกที่คุณต้องพิจารณาก็คือ “ความน่าเชื่อถ” ของผู้สอน และหนึ่งในสิ่งที่สำคัญมากในการพิจารณาก็คือแพลตฟอร์มที่ผู้สอนเหล่านี้ใช้

ปัจจุบันแพลตฟอร์มที่มีใช้งานแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  1. ตลาดคอร์สเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่ที่มีคอร์สหรือครูนับพันนับหมื่น – อย่างเช่น Udemy หรือ Coursera สำหรับคอร์สต่างประเทศแบบวีดิโอ, Preply สำหรับการเรียนตัวต่อตัวกับครู และ Skilllane สำหรับแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ไทย แพลตฟอร์มเหล่านี้ทำหน้าที่เป็น “ตลาด” หรือ “คนกลาง” ที่เปิดให้ครูผู้สอนนำคอร์สมาวางขายได้
  2. เว็บไซต์ของผู้ให้บริการ – ส่วนมากจะเป็นสถาบันรายใหญ่ที่มีทุนทรัพย์มากถึงขนาดที่จะสร้างแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ของตัวเอง แต่ในปัจจุบันผู้บริการรายเล็กก็สามารถสร้างคอร์สบนเว็บไซต์ได้อย่างง่ายดาย ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์อย่าง Thinkific เป็นต้น
  3. ไม่มีแพลตฟอร์ม – ผู้สอนขายคอร์สโดยการเผยแพร่คอร์สใน Private Facebook Group เป็นต้น

กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่เชื่อถือได้ เพราะมีกฎระเบียบ เงื่อนไข ตลอดจนระบุราคาไว้อย่างชัดเจน ก่อนที่จะซื้อคอร์สจะมีรีวิวให้อ่านอย่างละเอียดตามจริง และผู้สอนไม่สามารถควบคุมรีวิวได้ เพราะไม่ใช่เจ้าของแพลตฟอร์ม

Udemy

นอกจากนี้มีการตรวจสอบ background ของครูหรือสถาบันที่นำคอร์สมาวางขาย และถ้าบางแพลตฟอร์มขายคอร์สแบบซื้อขาด (Lifetime Access) ครูไม่สามารถลบคลิปออกไปจากแพลตฟอร์มได้ และถ้ามีปัญหาหรือเรียนแล้วไม่ชอบ คุณสามารถขอคืนเงินได้ในเวลาที่กำหนด การพูดคุยต่อรองก็จะมีความเป็นมืออาชีพมากกว่ามากครับ

อย่างไรก็ดีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่เพิ่งจะเปิดไม่นานนักก็ต้องระวังเช่นเดียวกัน เพราะการรักษาคุณภาพและมาตรฐานของคอร์สอาจจะไม่เท่ากับแพลตฟอร์มที่เปิดมานานเป็นสิบปีแล้วครับ

สำหรับกลุ่มที่ 2 ทั่วไปแล้วกลุ่มนี้น่าเชื่อถือไม่แพ้กลุ่มแรก โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่สร้างโดยสถาบันการศึกษาใหญ่ๆ (อย่างเช่นในไทยก็จะเป็น Chula MOOC Achieve) แต่ถ้าจะเรียนคอร์สกลุ่มนี้ ผมแนะนำให้อ่านรีวิวจากบุคคลที่สามก่อนทุกครั้ง เพราะผู้สอนซึ่งก็คือเจ้าของแพลตฟอร์มสามารถควบคุมรีวิวได้ อย่างเช่นลบรีวิวที่ให้คะแนนห่วยๆ ออกหมดเป็นต้น

วิธีการหารีวิวจากบุคคลที่ 3 คือลอง search google อย่างเช่น ชื่อสถาบันและตามด้วย reviews หรือ “รีวิว” ถ้าเป็นคอร์สไทย ครับ ส่วนมากเว็บไซต์ที่ให้รีวิวจากบุคคลที่สามเยอะๆคือ Trustpilot ครับ

Verbling โรงเรียนสอนภาษาที่มีแพลตฟอร์มของตัวเอง

อย่างไรก็ดีกลุ่มนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงราคาและเงื่อนไขได้อย่างฉับพลันตามใจของสถาบันหรือผู้สอน หรือแม้กระทั่งมีเงื่อนไขที่ไม่ค่อยเป็นธรรมแฝงอยู่ ซึ่งเราไม่มีคนกลางในการดูแลเรื่องนี้เหมือนกับกลุ่มที่ 1 เลย การพิจารณาจึงต้องถี่ถ้วนและตรวจสอบให้ดีมากกว่าแบบแรกครับ

แต่จากประสบการณ์ของผม คอร์สของกลุ่มนี้จะละเอียด เจาะลึก และเข้าถึงครูผู้สอนได้มากกว่าแบบแรกอย่างมาก เพราะไม่มีข้อจำกัดเหมือนกับแบบแรก แถมมีฟีเจอร์หลากหลายในการเรียน อย่างเช่นการเรียนสดและถามคำถามครูได้ หรืออาจมีโปรเจคอย่างซับซ้อนให้ทำด้วย นอกจากนี้บางแห่งจะมีทีมงานคอยดูแลอย่างใกล้ชิดอีกต่างหาก

ดังนั้นถ้าคุณเลือกเรียนกับแพลตฟอร์มกลุ่มที่ 2 ที่ไว้ใจได้ คอร์สเรียนออนไลน์ของกลุ่มนี้จะให้ประสบการณ์การเรียนที่ดีที่สุดครับ แต่มีข้อเสียคือแพงกว่านั่นเอง

เทคนิคที่ผมใช้เวลาเลือกคอร์สจากกลุ่มนี้คือ ผมจะทดลองเรียน (Free Trial) ก่อนทุกครั้ง เพราะส่วนมากแล้วกลุ่มนี้จะให้เรียนฟรีเป็นเวลา 7-30 วัน (แล้วแต่สถาบัน) ครับ

สำหรับกลุ่มที่สาม หรือกลุ่มไม่มีแพลตฟอร์ม เป็นกลุ่มที่ความน่าเชื่อถือต่ำที่สุด และเป็นกลุ่มที่เกิดปัญหามากที่สุดไม่ว่าจะเป็นไทยหรือเทศ

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะใครๆ ที่ขายคอร์สได้ ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพของคอร์สที่มักเป็นคลิปวีดิโอ หรือ background ของครูผู้สอนใดๆ ทำให้เป็นไปได้ที่จะเกิดการโฆษณาเกินจริง การซื้อคอร์สจึงเหมือนกับการเสี่ยงดวง ถ้าได้คอร์สดีตรงตามโฆษณาก็ดีไป แต่ถ้าได้คอร์สไม่ดี คุณจะเสียเงินและเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ต่างอะไรกับการโดนโกงครับ

ในบรรดาคอร์สที่แย่นั้น ไม่ได้มีอะไรมากกว่าการนำเนื้อหาที่หาได้ตาม Google มารวมกันให้ดูเป็นคอร์สแล้วอ่านให้ฟัง บ่อยครั้งราคาของคอร์สเหล่านี้ยังสูงมากถึงระดับที่เรียกว่า “ไม่น่าเชื่อว่าจะแพงได้ขนาดนี้”

นอกจากนี้ครูผู้สอนยังสามารถลบคอร์สหรือปิดกั้นการเข้าถึงคอร์สของคุณเมื่อใดก็ได้ รวมไปถึงการโดน Facebook ลบคลิปเพราะละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ การรีวิวบน Facebook Page เองก็เชื่อถือได้ยาก เพราะผู้สอนควบคุมได้ สรุปคือทุกอย่างขึ้นอยู่กับจริยธรรมของตัวครูผู้สอนล้วนๆ นั่นเอง

สำหรับใครที่อยากอุดหนุนผู้สอนทั่วไปที่ไม่ใช่สถาบัน ผมมองว่าควรจะอุดหนุนผู้สอนที่จัดทำคอร์สออนไลน์ที่ได้มาตรฐานจนสามารถขายในแพลตฟอร์มกลุ่มที่ 1 หรือคนที่ลงทุนทำแพลตฟอร์มจนน่าเชื่อถืออย่างกลุ่มที่ 2 มากกว่าครับ

สรุปแล้วผมจึงไม่แนะนำให้คุณสมัครเรียนออนไลน์กับกลุ่มนี้เท่าไรนัก เพราะคุณสามารถหาคอร์สที่น่าเชื่อถือกว่าได้จากแพลตฟอร์มกลุ่มที่ 1 และ 2 แต่ถ้าถามผมว่ามีโอกาสหรือไม่ที่คุณภาพคอร์สออนไลน์ของกลุ่ม 3 จะดีกว่ากลุ่ม 1 หรือ 2 คำตอบคือ “มี” ครับ แต่ว่าอาจจะมีน้อยเท่านั้นเอง

2. คอร์สภาษาไทย vs ภาษาอังกฤษ

สำหรับคอร์สออนไลน์ที่มีขายในปัจจุบันมีทั้งคอร์สบนแพลตฟอร์มไทยที่สอนโดยครูคนไทยและใช้ภาษาไทย (อย่างเช่นบน Skilllane) และคอร์สบนแพลตฟอร์มต่างชาติที่สอนโดยการใช้ภาษาอังกฤษ (อย่างเช่นบน Udemy)

จริงอยู่ว่าคอร์สเรียนออนไลน์ของไทยมีคอร์สที่ดีเป็นจำนวนมาก แต่บางคอร์สกลับมีราคาสูงเมื่อเทียบกับเนื้อหาที่ได้ โดยเฉพาะถ้าเทียบกับคอร์สต่างชาติที่มีราคาถูกกว่าหรือใกล้เคียงกัน

คุณอาจจะไม่เชื่อว่าคอร์สต่างชาตินี่แหละครับที่ถูกและดีมีอยู่จริง อย่างตอนที่ผมเปิดเว็บไซต์ใหม่ๆ ผมซื้อขาดคอร์ส SEO จาก Udemy ด้วยเนื้อหากว่า 10 ชั่วโมงในราคาประมาณ 300-400 บาทเท่านั้นเอง ทุกวันนี้ผมยังกลับไปเปิดคลิปวีดิโอบนแพลตฟอร์มเรียนใหม่อยู่บ่อยๆ เลยครับ

ตัวอย่างคอร์ส Entrepreneurship บน Udemy

สิ่งที่ทำให้คอร์สออนไลน์ของต่างชาติบนแพลตฟอร์มบางแห่งถูกมากคือการมีโปรโมชั่นที่บ่อยและแรงมาก โดยเฉพาะ Udemy ที่ตัวคอร์สจะลดราคาได้มากกว่า 90% เลยทีเดียวครับ

ดังนั้นถ้าคุณไม่มีปัญหากับการเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ผมแนะนำให้ตรวจสอบคอร์สเรียนออนไลน์ของต่างประเทศ โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มอย่าง Udemy และ Coursera ด้วยทุกครั้ง เพราะคุณอาจจะได้คอร์สที่มีเนื้อหาดีมากในราคาที่ถูกกว่าคอร์สออนไลน์ในแพลตฟอร์มไทยครับ

3. ระบบ “การซื้อ” คอร์สออนไลน์

ในปัจจุบันรูปแบบ “การซื้อ” หรือ “การจ่ายค่าเรียน” คอร์สออนไลน์แบ่งได้เป็น 4 ระบบใหญ่ๆ ได้แก่

  • ซื้อขาด
  • สมัครสมาชิก
  • ฟรีแต่มีเงื่อนไข
  • จ่ายรายชั่วโมง

เรามาดูกันครับว่าแต่ละแบบเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่คุณควรทราบคือ บางสถาบันหรือแพลตฟอร์มอาจจะไม่ได้ใช้แค่ระบบเดียว เพราะฉะนั้นต้องตรวจสอบให้ดีครับว่าคอร์สที่คุณต้องการจะใช้วิธีการซื้อแบบใด นอกจากนี้ผมขออนุญาตไม่กล่าวถึงแบบฟรี 100% นะครับ เพราะในส่วนนั้นน่าจะไม่มีข้อสงสัยกันอยู่แล้ว

“ซื้อขาด”

การ “ซื้อขาด” นั้นไม่มีอะไรซับซ้อน นั่นคือคุณจ่ายเงินค่าคอร์สออนไลน์ในราคาหนึ่ง หลังจากนั้นคุณจะเข้าถึงคอร์สได้อย่างไม่จำกัดบนแพลตฟอร์มนั้นๆ ตลอดชีพ

พูดง่ายๆ คือ คุณจะกลับมาเรียนกี่ครั้งก็ได้ตราบใดที่แพลตฟอร์มนั้นยังอยู่ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา และไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม และถ้ามี content ใหม่ที่ครูผู้สอนเพิ่มเข้ามาหรือมีการอัพเดต content ใหม่ คุณจะได้ content ที่เพิ่มเข้ามาอย่างอัตโนมัติ นอกจากนี้ครูผู้สอนไม่สามารถลบคอร์สออกจากแพลตฟอร์มได้ สิ่งที่ทำได้มากที่สุดคือ ปิดการขายให้กับผู้เรียนรายใหม่ครับ

การซื้อคอร์สลักษณะนี้ แพลตฟอร์มที่คุณซื้อจะต้องมั่นคง ไม่ใช่ว่าคุณซื้อไปแล้ว ตัวแพลตฟอร์มเกิดมีปัญหาทางการเงินแล้วต้องปิดตัวครับ ความน่าเชื่อถือจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการพิจารณาการซื้อคอร์สแบบซื้อขาดครับ

คอร์สแบบซื้อขาดจึงเหมาะกับผู้เรียนที่ต้องการความยืดหยุ่นในการเรียน เช่นมีความสนใจในคอร์ส แต่มีงานยุ่ง มีเวลาว่างไม่แน่นอน หรือไม่ต้องการถูกกดดันว่าต้องเรียนให้จบในช่วงเวลาที่กำหนดครับ

ถึงกระนั้นจุดอ่อนของคอร์สแบบนี้ก็มี นั่นคือตัวคอร์สจะเรียบง่าย ส่วนใหญ่จะเป็นแบบวีดิโอ และไม่ได้มีฟีเจอร์หลากหลายให้ใช้งานอย่างเช่นมีติวเตอร์ส่วนตัวเหมือนกับคอร์สที่ต้องสมัครสมาชิกของบางสถาบันครับ นอกจากนี้แทบทั้งหมดจะไม่มีการทดลองเรียน (Free Trial) เหมือนกับแบบสมัครสมาชิก

แพลตฟอร์มชั้นนำที่ขายคอร์สแบบซื้อขาดคือ Udemy (ต่างชาติ) และ Skilllane (ไทย)

“สมัครสมาชิก”

การ “สมัครสมาชิก” (Subscription) เป็นอีกแบบหนึ่งของการซื้อคอร์สออนไลน์ที่หลายสถาบันนิยมนำมาใช้งาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีแพลตฟอร์มของตัวเอง กล่าวคือคุณจ่ายค่าเรียนเป็นรายเดือนหรือรายปี หลังจากนั้นคุณจะเข้าถึงคอร์สได้ในเวลาที่จำกัด

จุดแข็งของการซื้อคอร์สแบบนี้คือ ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำในการเข้าถึงคอร์สจะไม่สูง เพราะแบ่งจ่ายเป็นรายเดือน (เหมือนกับผ่อนค่าเรียน) และถ้าคุณเรียนเร็ว คุณจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนเท่ากับแบบซื้อขาด เนื่องจากคุณอาจจะจ่ายค่ารายเดือนแค่ 1-2 เดือนก็เรียนจบแล้ว ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้รวมแล้วจะต่ำกว่าการซื้อขาดครับ

PluralSight

นอกจากนี้บางแพลตฟอร์มที่ใช้ระบบนี้จะมีคลังของคอร์สที่ใหญ่มาก อย่างเช่น PluralSight ที่มีคอร์สมากถึง 7,500 คอร์สให้คุณได้เรียนเลยทีเดียว ซึ่งมากกว่าสิ่งที่คุณต้องการเรียนอย่างแน่นอนครับ การซื้อคอร์สแบบนี้จึงเหมาะกับคนที่อยากเรียนเนื้อหาหลายสิ่งที่ต่างกันด้วยครับ

แต่ข้อเสียก็คือ คุณจะเรียนได้ในเวลาที่กำหนดเท่านั้น หลังจากที่คอร์สหมดอายุ เพราะคุณไม่ต่อสมาชิก คุณอาจจะเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่ใช้ในการเรียนไม่ได้อีกเลย ทำให้คุณเผชิญกับความกดดันว่าจะต้องเรียนให้จบในเวลาที่กำหนด ไม่งั้นก็เสียเงินฟรีครับ

ส่วนนี้คุณจะต้องวางแผนให้ดีครับ ดังนั้นผมแนะนำให้คุณเข้าไปเรียนฟรีก่อน หลังจากนั้นลองพิจารณาดูว่าคุณจะใช้เวลาเรียนเท่าไรถึงจะเรียนหลักสูตรที่คุณสนใจจนจบ ถ้าคิดว่าใช้เวลาประมาณ 1 ปี ผมแนะนำให้สมัครแบบรายปีไปเลย เพราะถ้าสมัครรายปี คุณจะได้ส่วนลดถ้าเทียบกับรายเดือนครับ

อีกสิ่งที่คุณจะต้องพิจารณาให้ดีอย่างยิ่งคือ เงื่อนไขในการสมัครสมาชิกต่างๆ ซึ่งแต่ละสถาบันจะแตกต่างกันออกไป เช่นถ้าต้องการโน่นนี่จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม หรือว่ามีการกำหนดจำนวนชั่วโมงได้ที่เรียนได้ เพราะคุณอาจจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในภายหลังแบบไม่รู้ตัวก็ได้ครับ

ในปัจจุบันคอร์สเรียนออนไลน์ระดับพรีเมียมทั้งหลายล้วนแต่ใช้ระบบนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนผ่าน PC หรือ app ครับ ดังนั้นถ้าคุณต้องการจะเรียนคอร์สออนไลน์ระดับคุณภาพ คุณจะต้องเจอกับระบบสมาชิกอย่างแน่นอน

ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ใช้งานระบบสมัครสมาชิกคือ Coursera, PluralSight ฯลฯ

ฟรีแต่มีเงื่อนไข

“ฟรีแต่มีเงื่อนไข” เป็นรูปแบบการซื้อคอร์สออนไลน์ที่ใช้กันบ่อยไม่แพ้แบบแรก พูดง่ายๆ คือการเข้าถึงคอร์สจะฟรีทั้งหมด แต่จะมีเงื่อนไขอยู่ด้วย ถ้าคุณต้องการสิ่งที่ไม่อยู่ในเงื่อนไข คุณจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งอาจจะเป็นแบบซื้อขาดหรือสมัครสมาชิกก็ได้

คอร์ส Critical Thinking บน edX

ยกตัวอย่างเช่น edX จะให้คุณเรียนคอร์สส่วนใหญ่ฟรีทั้งคอร์ส แต่ถ้าคุณต้องการประกาศนียบัตรว่าคุณจบคอร์สแล้ว คุณจะต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่ง หรือ FutureLearn ที่ให้เรียนฟรี แต่ให้เรียนฟรีแค่ 4 สัปดาห์เท่านั้น ถ้าต้องการเรียนนานกว่านั้นจะต้องเสียค่าเรียนเป็นซื้อขาดหรือสมัครสมาชิกครับ

จ่ายรายชั่วโมง

“จ่ายรายชั่วโมง” เป็นรูปแบบการซื้อคอร์สออนไลน์ที่ใช้โดยแพลตฟอร์มที่ให้คุณเรียนกับครูหรือติวเตอร์ตัวต่อตัว อย่างเช่น Preply เป็นต้น ในส่วนนี้ไม่ต่างกับการจ่ายเงินให้ติวเตอร์รายชั่วโมงที่สยามเท่าไร แต่แค่เปลี่ยนมาจ่ายทางออนไลน์เท่านั้นเองครับ รูปแบบจึงน่าจะชัดเจนในตัวอยู่แล้วครับ

ว่าด้วยประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรทางออนไลน์

คำถามสำคัญที่มีการถามกันบ่อยคือ ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรที่ได้จากการเรียนคอร์สออนไลน์จนจบ และผ่านการประเมินผลทุกอย่างนั้นมีประโยชน์หรือไม่ หรือว่าใช้ทำอะไรได้บ้าง?

คำตอบคือ “ขึ้นอยู่กับสถาบันที่ออกประกาศนียบัตรและวุฒิบัตรดังกล่าว” ครับ

ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น

ถ้าคุณเรียนหลักสูตร Online MBA ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักรจนจบและได้ปริญญาโทจากสถาบัน ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลา 2-3 ปี ปริญญาบัตรเหล่านี้จะได้รับการยอมรับและพิจารณาแทบไม่ต่างอะไรกับปริญญาโทที่ได้จากการเรียนที่มหาวิทยาลัย ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าสามารถนำไปใส่ใน Resume และใช้ประโยชน์ในการสร้าง profile หรือสมัครงานได้แน่ๆ

แต่ถ้าคุณเรียนคอร์สของ Udemy จนจบและได้ประกาศนียบัตร สิ่งที่คุณได้มาจะมีค่าน้อยกว่ามาก เพราะ Udemy ไม่ใช่สถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับและควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐ แน่นอนว่าคุณนำไปใช้สร้าง Profile ของคุณได้เช่นกัน แต่จะไม่ได้มีผลอะไรมากนักเท่ากับคุณวุฒิ วุฒิบัตร หรือปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยชั้นนำครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!