การเป็นนักเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย นักเรียนหลายคนถูกกดดันจากหลายๆ แห่งเช่น พ่อแม่ หรือ เพื่อน ให้เรียนให้ได้เกรดดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่จะได้เข้าโรงเรียนมัธยมอันดับต้นๆ และต่อมาก็เป็นคณะดีๆ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ
อย่างไรก็ดี การที่มีคนเรียนได้ดีก็ต้องมีคนเรียนไม่ดีเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แล้วคนเรียนไม่ดีจะแก้ไขสถานการณ์ได้หรือไม่
คำตอบคือ เป็นไปได้! เพราะมันเกิดกับตัวผมเอง
ชีวิตการเรียนของผมเป็นลักษณะแบบรถไฟเหาะ นั่นคือผมเคยเรียนดีมาก่อนตอนเด็ก แต่ตอนมัธยมต้น ผมกลายเป็นเด็กเรียนไม่ดี เกรดของผมตกวูบเหมือนดิ่งพสุธา ก่อนที่จะฟื้นคืนอย่างก้าวกระโดดในมัธยมปลาย
ผมจึงขอแชร์วิธีแก้ไขของผมให้ได้อ่านกันครับ
1. ตรวจสอบตัวเอง
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะผมเชื่อว่าการที่ใครสักคนหนึ่งเรียนไม่ดีย่อมมีสาเหตุ ดังนั้นผมอยากจะให้ลองนั่งพิจารณาสิ่งที่ผ่านมาด้วยตัวของเราเองก่อน โดยไม่ต้องนำแนวคิดของคนอื่นเข้ามาสอดแทรก
ยกตัวอย่างเช่น
ในตอนที่ผมเรียนไม่ดี ผมพบว่าสาเหตุที่เกรดของผมตกต่ำมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ได้แก่
- ไม่ตั้งใจเรียนในห้อง ชอบคุย
- ติดเกม
- ไม่ชอบครูทั้งตัวครู และการสอนของครู
- ขี้เกียจอ่านหนังสือ หรืออ่านแบบไม่มีประสิทธิภาพ
- พื้นฐานบางวิชาอ่อนมาก หรือ เกลียดบางวิชา
ผมเชื่อว่าสาเหตุของการที่เด็กคนหนึ่งเรียนไม่ดีคงหนีไม่ไกลจากกรณีของผมสักเท่าใดนัก แต่บางคนอาจจะมีปัญหาส่วนตัวเข้ามาด้วย ทำให้การเรียนเลวร้ายลง
หลังจากที่ได้สาเหตุมาคร่าวๆ แล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะคิดวิธีจัดการกับปัญหาเหล่านี้ไปทีละข้อครับ
2. สร้างความมุ่งมั่นให้ตัวเอง
ผมเชื่อว่าการเรียนให้ดี เรียนให้สำเร็จ เราจะต้องมี “ความมุ่งมั่น” ในตัวของเรา หรือพูดง่ายๆ เราจะต้องอยากมุ่งมั่นที่จะเรียนให้ดี และกำจัดเกรดห่วยๆ ออกไป
ความมุ่งมั่นนี้มีประโยชน์มากนะครับ ถ้าเรามีความมุ่งมั่น เราจะกำจัดความขี้เกียจ ความเฉื่อย ความเหนื่อย และทำให้เรามีสมาธิในการเรียนด้วย
แล้ววิธีสร้างความมุ่งมั่นทำอย่างไรดี?
สำหรับผมแล้ว ผมใช้วิธีสร้างเป้าหมายที่มันโอเวอร์มากๆ ขึ้นมาครับ เช่น ตอน ม.2 ผมได้ที่โหล่ และได้เลขเกรด 2 อีกต่างหาก แต่ผมตั้งเป้าหมายว่าตอน ม.3 ผมจะได้เกรด 4 ทั้งสองเทอมให้ได้ พร้อมกับสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาให้ได้ด้วย พอตั้งเป้าหมายเท่านั้นแหละ ความมุ่งมั่นที่จะทำให้มันเป็นจริงก็จะมาทันที
การที่มีความมุ่งมั่นทำให้ผมกำจัดปัญหาไปหลายอย่างเลยครับ เพราะมันทำให้ผมตั้งใจเรียนขึ้นในเวลาเรียนในห้อง ไม่คุยเล่นอีกต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นคนขยันไม่ขี้เกียจอีกต่อไป
3. มีวินัย
ผมเชื่อว่าเด็กส่วนใหญ่น่าจะชอบเล่นเกม หรือทำกิจกรรมหลายๆ อย่างที่สนุกสนานและผ่อนคลาย เช่น อ่านการ์ตูน ดู Youtube, Netflix และอื่นๆ อีกมากมาย
สำหรับกิจกรรมพวกนี้ ผมก็ชอบครับ อย่างเช่นตอนนี้ผมก็ยังเล่นเกมอยู่ และไม่เคยคิดจะเลิกเล่นเกมแต่อย่างใด
แต่ผมเปลี่ยนจากการ “ติดเกม” มาเป็น “การเล่นเกมอย่างมีวินัย”
ตอนที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองนี่ ผมเล่นเกมบ่อยมาก และเวลาเล่นแล้วก็มักจะเอามาพูดคุยกับเพื่อนเรื่องเกมด้วย หลังจากนั้นก็ยาวไปถึงการซื้อหนังสือเกมมาอ่านอีก ทำให้ติดเกมกันยาวๆ เลยทีเดียว สมองมีแต่การเล่นเกมเลยก็ว่าได้
หมายเหตุ: แต่ตอนนั้นยังไม่มีอาชีพสตรีมเมอร์ หรือ เกมเมอร์มืออาชีพนะ ไม่งั้นผมอาจจะผันตัวไปทางนั้นจริงๆ ก็ได้
ถึงจุดๆ หนึ่ง ผมได้ตระหนักว่าสภาพนี้มันดำเนินต่อไปไม่ได้ เพราะผลการเรียนมันแสดงให้เห็นว่ามันเป็นขาลงสุดๆ เลยทีเดียว ถ้าเล่นต่อไป ชีวิตการเรียนอาจจะพังพินาศ
พูดง่ายๆ คือ ผมเริ่มห้ามใจตัวเองไม่ให้เล่นเกมได้สำเร็จ หลังจากนั้นผมตั้งกฎของตัวเองขึ้นมานั่นคือ
ผมจะเล่นเกมเพียง 1 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ละครั้งไม่เกิน 2 ชั่วโมง และจะเล่นหลังจากอ่านหนังสือทบทวนเสร็จแล้วเท่านั้น
กฎข้อใหม่ทำให้ผมเสียเวลาไปกับเกมน้อยลง และนำเวลาที่มีค่าไปใช้กับการเรียนมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ได้มากเกินไปจนถึงกับไม่มีเวลาผ่อนคลายครับ
4. จัดระเบียบการอ่านหนังสือใหม่
ผมพบว่าการที่ผมเรียนไม่ค่อยดีส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจาก การอ่านหนังสือโดยไม่มีสมาธิ ทำให้เวลาผมอ่าน สมองไม่รับอะไรที่อ่านเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นไม่แปลกเลยที่ผมจะทำข้อสอบไม่ได้
วิธีแก้ไขมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน บางคนอาจจะไปนั่งอ่านในห้องสมุดบ้าง ที่เงียบๆส่วนตัวบ้าง เปิดเพลงฟังบ้าง ทำสมาธิก่อนอ่านบ้าง ซึ่งวิธีเหล่านี้ไม่มีถูกมีผิดครับ เพราะมันต่างกันไปในแต่ละคน
ในส่วนนี้เราก็ต้องลองหลายๆ วิธีดูครับ เพื่อหาว่าวิธีไหนเราจะอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
5. เรียนพิเศษในวิชาที่ไม่เข้าใจ
หลายคนอาจจะมีอคติกับการเรียนพิเศษ หรือ การกวดวิชา แต่สำหรับผมแล้ว ผมเห็นตรงกันข้าม
ผมเชื่อว่าการเรียนพิเศษ และการกวดวิชามีส่วนช่วยให้นักเรียนคนหนึ่งพัฒนาความรู้ให้ทันเพื่อนได้รวดเร็วที่สุดแล้ว เพราะครูที่สอนพิเศษบางคนมีทักษะการถ่ายทอดที่ดีเยี่ยม และยังสามารถเปลี่ยนทัศนคติของนักเรียนต่อวิชานั้นๆ จากลบเป็นบวกด้วย
ดังนั้นถ้าใครไม่เข้าใจวิชาอะไร หรืออ่อนวิชาไหนเป็นพิเศษ ผมแนะนำให้เรียนกวดวิชาเป็นอย่างยิ่งครับ
นอกจากนี้คนที่มีปัญหากับความรู้พื้นฐานในวิชาอย่างคณิตศาสตร์ ยิ่งสมควรเรียนอย่างมาก
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
สาเหตุเป็นเพราะคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่อาศัยความรู้บทที่ 1 มาต่อยอดบทที่ 2 และบทที่ 3 ไปเรื่อย ถ้าเราไม่รู้เรื่องบทที่ 1 เราจะไม่เข้าใจเนื้อหาบทต่อมาเลยครับ เพราะฉะนั้นมันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะย้อนไปเรียนพิเศษตั้งแต่เนื้อหาบทที่ 1 และไล่มาจนถึงบทที่กำลังเรียนอยู่ในปัจจุบัน
ยกเว้นตัวอย่างเช่น คุณจะเข้าใจแคลคูลัสได้อย่างไร ถ้าคุณยังมีปัญหากับพีชคณิตทั่วไป!
อย่างไรก็ดี ถ้าคิดจะเรียนพิเศษ ไม่ควรเรียนให้มากเกินไป การเรียนพิเศษมากเกินไปนอกจากจะไม่ช่วยเรื่องผลการเรียนแล้ว อาจจะทำให้แย่ลงเสียอีก แถมยังเสียเงินอีกด้วย
6. ขอให้เพื่อนและครูช่วยเหลือ
หนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การขอให้เพื่อนและครูช่วยเหลือในเรื่องการเรียนของเราครับ
ช่วยเหลืออย่างไรดี?
ในช่วงที่ผมมีปัญหากับวิชาใดวิชาหนึ่ง ผมมักจะขอให้เพื่อนที่เก่งๆ อธิบายให้ฟังเสมอ เชื่อหรือไม่ครับ เพื่อนเราบางคนที่เก่งๆ เนี่ยมันอธิบายได้ดีกว่าครูเสียอีก คือมันอธิบายโดยใช้ภาษาที่นักเรียนแบบเราๆ ใช้กัน ไม่ได้ใช้ภาษาซับซ้อนเหมือนกับที่ครูใช้
พอฟังเพื่อนอธิบายแล้วก็รู้สึกว่าแบบ เออจริงว่ะ หลังจากนั้นก็เข้าใจสิ่งที่เคยงงในบัดดล
สำหรับครูแล้ว ผมก็เคยไปขอความช่วยเหลืออยู่บ่อยๆ ตั้งแต่ตอนอยู่ ม.ต้น ไปจนถึงมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว ผมมักจะไปถามเวลาพักเที่ยง หรือหลังเลิกเรียนที่ครูอนุญาตให้ไปพบไปถามได้ ซึ่งแน่นอนครับว่าการให้ครูอธิบายตัวต่อตัว มันย่อมดีกว่าการที่ครูอธิบายที่หน้าห้องอยู่แล้ว
บางคนอาจจะรู้สึกอายเวลาไปถามเพื่อนหรือครู แต่ผมบอกเลยว่าอย่าไปอายครับ จำสุภาษิตไทยเอาไว้ “ด้านได้อายอด” 555
7. ไม่จำเป็นต้องถนัดทุกวิชา
หลายคนอาจจะคิดว่า เราต้องทำคะแนนให้ได้ดีทุกวิชา เก่งวิชา ถนัดทุกวิชา หรือชนะคนอื่นทุกวิชา
โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่ามันไม่จำเป็นครับ
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ผมอยู่สายวิทย์และปรารถนาจะเข้าคณะนิติศาสตร์ ความรู้วิชาเคมีของผมย่อมไม่ได้ใช้เป็นประโยชน์ในอนาคตอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้หมายความว่าให้ทิ้งวิชาเหล่านี้โดยไม่เหลียวแล แต่ผมหมายถึงว่า เราไม่ควรจะไปซีเรียสกับวิชาที่เราไม่ถนัด ไม่ได้ใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย และไม่ได้ใช้ในการประกอบอาชีพมากนัก ผมจะพยายามทำวิชาเหล่านี้ให้อยู่ในเกณฑ์พอใช้ก็เพียงพอแล้ว
หรือพูดง่ายๆ เราไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องทำตัวแบบ perfectionist หรือเก็บเกรด 4 รวดทุกวิชา แล้วทำให้ตัวเองเครียดเพียงเพราะวิชาที่ไม่ถนัดและไม่ใช้ในอนาคตได้เกรด 3.5
8. อย่าล้มเลิกความพยายามก่อนเวลา
ในช่วงเวลาที่เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง และทำคะแนนให้ดีนั้น เราอาจจะยังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ของความพยายามของเราเลยก็ได้ แม้จะผ่านไปหลายเดือนแล้วก็ตาม
อย่างในเทอมแรกที่ผมพยายามแก้วิชาเลขให้ดีขึ้น คะแนนสอบกลางภาคของผมก็ยังเท่ากับตอนที่ยังไม่ได้เปลี่ยนตัวเอง หรือเรียกได้ว่าไม่มีอะไรดีขึ้นเลย
ถึงขั้นนี้ หลายคนอาจจะเริ่มท้อ เลิกล้มความพยายาม และคิดว่าเราคงเก่งขึ้นไม่ได้แน่ๆ
สำหรับผมแล้ว นั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องสักเท่าใดนัก เพราะการเรียนเป็นการสะสมครับ กว่ามันจะเปล่งประกายออกมาได้ มันต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าคุณทำตามวิธีทางด้านบนแล้วจะได้ผลในเวลาอันสั้น
แทนที่เราจะเลิกล้มความตั้งใจ เราควรคิดว่าเราต้องยิ่งอ่านหนังสือให้มากขึ้น ตั้งใจเรียนให้เพิ่มขึ้นอีก ผมคิดแบบนั้นจริงๆ ตอนที่ผมอยู่ ม.3
ผลที่ออกมาคือ แม้ผมจะทำคะแนนเลขตอนกลางภาคได้แย่ แต่คะแนนปลายภาคของผมดีมาก ทำให้ผมได้เกรด 4 วิชานี้สมใจ!
9. อย่าเครียดจนเกินไป
ข้อนี้เป็นข้อสำคัญมากอีกข้อหนึ่ง ตลอดเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงตนเองให้เก่งขึ้น เราจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ความเครียดย่อมจะมาเยี่ยมเยือนเราอย่างแน่นอน
เวลาที่รู้สึกเครียด ผมแนะนำว่าให้หาวิธีระบายมันออกไปครับ อย่างเช่น
- คุยกับเพื่อน หรือพ่อแม่
- ทำสิ่งที่ชอบบ้าง (เล่นเกม ดู Youtube ดูซีรีส์ ไปคอนเสิร์ต Blackpink ฯลฯ)
- นอน
- ออกกำลังกาย
- ทำสมาธิ
- หาอะไรอร่อยๆ กิน
ทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเครียดให้น้อยลง และทำให้เราสามารถอ่านหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ
ส่งท้าย
สำหรับใครที่มีปัญหาอื่นๆ ที่เป็นปัญหาส่วนตัว ผมแนะนำให้ใจเย็นๆ และค่อยๆหาทางออกทีละทาง ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วทุกคนจะสามารถหาทางออกได้ในที่สุดครับ
อย่างไรก็ดี การเรียนในโรงเรียนไม่ใช่ทุกสิ่งของชีวิต มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ผู้ที่ประสบความสำเร็จไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เรียนดีเสมอไป บางคนเรียนได้ธรรมดา หรือเรียนไม่ได้เลยก็มี
ยกตัวอย่างเช่น เอดิสัน นักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกันเองก็เคยโดนครูด่าว่าโง่ หัวทึบ ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้มาแล้ว
บุคคลเหล่านี้แสดงความสามารถด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนออกมาอย่างเช่น การประดิษฐ์ ทำอาหาร การแสดง หรือแม้กระทั่งค้าขาย ทำให้พวกเขาหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง และประสบความสำเร็จในชีวิตได้ในที่สุด