เทคโนโลยีซอฟต์แวร์4 เครื่องมือออนไลน์ให้ข้อมูล "หุ้นญี่ปุ่น" สำหรับนักลงทุน

4 เครื่องมือออนไลน์ให้ข้อมูล “หุ้นญี่ปุ่น” สำหรับนักลงทุน

การลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Japanese stock market) เป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่านักลงทุนจำนวนมากหลายคนใ่ฝ่ฝัน เพราะประเทศญี่ปุ่นเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยจำนวนมาก นอกจากนี้บริษัทญี่ปุ่นหลายบริษัทก็เป็นบริษัทข้ามชาติที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีและที่มีพื้นฐานทางการเงินแข็งแกร่ง หรือไม่ก็เป็นบริษัทเล็กที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเติบโตได้หลายสิบเท่าในอนาคต

อย่างไรก็ดีจากประสบการณ์ส่วนตัว ผมบอกเลยว่าการลงทุนในหุ้นรายตัวของตลาดหุ้นญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีอุปสรรคอันใหญ่หลวงนั่นคือเรื่องภาษา บริษัทส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กแทบจะไม่มีรายงานเป็นภาษาอังกฤษให้อ่านเลย ส่วนมากจะเป็นเอกสารภาษาญี่ปุ่นทั้งสิ้น

ดังนั้นถ้าคุณเป็น Value Investor ที่ต้องการข้อมูลทางการเงินอย่างละเอียด คุณแทบจะหาไม่ได้เลยครับ

นั่นไม่ได้แปลว่าเราจะไม่มีหนทางเลย เรามีวิธีเข้าถึงข้อมูลทางการเงินที่เป็นภาษาอังกฤษของหุ้นญี่ปุ่นแต่ละตัวอยู่บ้างผ่านทางบริการของเว็บไซต์และซอฟต์แวร์หลายๆ ตัว ผมเองก็ได้ใช้วิธีเหล่านี้มาตลอดเวลาเกือบ 6 ปีที่ได้ลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นครับ เราไปดูกันดีกว่าครับมีตัวไหนบ้าง

ข้อควรทราบ: Ticker Symbol ของหุ้นญี่ปุ่นจะเป็นตัวเลขนะครับ อย่างเช่น Softbank จะใช้เป็น 9984 ส่วน Toyota จะใช้ 7203 เป็นต้น

1. Morningstar (Free/Premium)

Morningstar เป็นเว็บไซต์ที่นักลงทุนหลายคนน่าจะคุ้นเคยอยู่บ้าง นักลงทุนไทยน่าจะเคยได้ยินว่า Morningstar จัดอันดับกองทุนต่างๆ แต่จริงๆ แล้ว Morningstar ให้บริการข้อมูลทางการเงินของหุ้นทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงหุ้นญี่ปุ่นด้วยครับ ข้อมูลที่ Morningstar จัดมาจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ทำให้เราสามารถเข้าใจสบายๆ ครับ

ตัวอย่างแพลตฟอร์มของ Morningstar ที่แสดงฐานข้อมูลทางการเงินของหุ้นญี่ปุ่น M3 Inc. (2413)

บนแพลตฟอร์มของ Morningstar จะมีข้อมูลทางการเงินตลอดจนปัจจัยพื้นฐานของหุ้นญี่ปุ่นรายตัว ดังต่อไปนี้

  • Company Profile – รายละเอียดอย่างย่อว่าบริษัทประกอบกิจการอะไร อยู่ในอุตสาหกรรมอะไร มีพนักงานกี่คน ที่อยู่สำนักงานใหญ่ และเว็บไซต์คือที่ไหน รวมไปถึงราคาและ Volume ล่าสุด
  • Financial Statement – งบการเงินทั้ง 3 ของหุ้นญี่ปุ่นรายตัวทั้งแบบเต็มและแบบสรุป
  • Ratios – อัตราส่วนต่างๆ เช่น P/E, ROE, EPS Growth, Profit Margin
  • Dividends – ประวัติการจ่ายปันผล (ถ้ามี)
  • Ownership – ใครเป็นเจ้าของบ้าง
  • Executive – ผู้บริหารเป็นใคร มีประวัติการซื้อขายหุ้นอย่างไรบ้าง
  • Competitors – คู่แข่งมีบริษัทอะไรบ้างในตลาดหุ้น พร้อมตารางเปรียบเทียบอย่างละเอียด

หลายคนอาจจะสงสัยว่ามีแค่หุ้นใหญ่รึเปล่า จากที่ผมตรวจสอบพบว่าหุ้นเล็กก็มี หุ้นใหญ่ก็มีครับเรียกได้ว่าครบถ้วนสมบูรณ์ในระดับหนึ่งเลยทีเดียวครับ นอกจากนี้ยังมี Stock Screener ให้คุณหาหุ้นญี่ปุ่นที่คุณต้องการได้ด้วย

ตัวอย่างการแสดงงบการเงินของหุ้นญี่ปุ่น M3 Inc

โดยเบี้องต้นแล้วคุณสามารถใช้แพลตฟอร์มของ Morningstar ได้ฟรี แต่จะไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก เช่นงบการเงินคุณจะเห็นแค่ 5 ปีหลังสุด และ TTM (Trailing Twelve Months), ไม่เห็น rating ของหุ้นที่ Morningstar ให้ ตลอดจนไม่เห็นบทวิเคราะห์ครับ

ถ้าอยากจะสมัคร ราคาของสมาชิกแบบพรีเมียมมี 4 แบบด้วยกันครับ ได้แก่

  • รายเดือนอยู่ที่ $23.95 หรือ 720 บาทต่อเดือน
  • รายปีอยู่ที่ $199 หรือ 6,000 บาท เฉลี่ยแล้ว 500 บาทต่อเดือน
  • รายสองปีอยู่ที่ $339 หรือ 10,200 บาท เฉลี่ยแล้วประมาณ 424 บาทต่อเดือน
  • รายสามปีอยู่ที่ $439 หรือ 17,600 บาท เฉลี่ยแล้วประมาณ 366 บาทต่อเดือน

สรุปคือยิ่งสมัครนาน ราคาก็จะยิ่งถูกลงนั่นเอง ทั้งนี้ Morningstar ให้คุณใช้บริการพรีเมียมได้ฟรีเป็นเวลา 14 วันครับ ถ้าสนใจไปลองกันได้ที่นี่

ถ้าสมัครแล้ว ไม่ใช่ว่าคุณจะได้แค่หุ้นญี่ปุ่นนะครับ แต่คุณจะได้ข้อมูลทางการเงินของหุ้นทั่วโลกเลยที่อยู่ในสารบบของ Morningstar อย่างไรก็ดีผมมองว่าถ้าจะสมัครสมาชิกระดับพรีเมียมกับ Morningstar สมัครกับ Gurufocus หรือ Stockopedia (รายชื่อด้านล่าง) จะดีกว่า เพราะข้อมูลแน่นกว่ามากครับ

ข้อเสียของ Morningstar คือช่อง search ในเว็บไซต์ค่อนข้างแย่ครับ ทำไปทำมา search ผ่าน Google ให้เข้ามาในเว็บไซต์ของ Morningstar จะได้ผลเร็วกว่าซะงั้น เช่น 2193 Morningstar แบบนี้เป็นต้นครับ

2. Reuters (Free)

Reuters เป็นเว็บไซต์ข่าวสารทางเศรษฐกิจทางการเงินระดับโลก นอกจากข่าวสารทางการเงินแล้ว Reuters ยังให้ข้อมูลทางการเงินของบริษัททั่วโลกที่ยอดเยี่ยมมากๆ หุ้นทุกตัวของประเทศญี่ปุ่นล้วนแต่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของ Reuters ทั้งนั้นครับ

Reuters

สำหรับฐานข้อมูลของ Reuters จะให้ข้อมูลของหุ้นญี่ปุ่นดังต่อไปนี้

  • Profile – ข้อมูลทั่วไป
  • Key Metrics – ข้อมูลทางการเงินของหุ้นที่สำคัญ เช่นราคา กำไร อัตราการเติบโต ฯลฯ
  • Financial Statement – งบการเงินย้อนหลัง 5 ปี
  • News/Key Developments – ข่าวสารและพัฒนาการของบริษัทที่สำคัญ
  • People – ผู้บริหารของบริษัท

นอกจากนี้บนเว็บไซต์ Reuters ยังมี Stock Screener ที่ให้คุณ search หาหุ้นญี่ปุ่นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีตรงใจได้อีกด้วยครับ

โดยรวมแล้วผมถือว่าอยู่ในระดับใช้ได้ แต่ความละเอียดคงยากที่จะสู้กับ Morningstar และเครื่องมือระดับพรีเมียมอื่นๆ ครับ แต่ก็ดีตรงที่ใช้งานง่าย และฟรีครับ

3. Gurufocus (Premium)

Gurufocus เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลทางการเงินของหุ้นทั่วโลกเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีลูกค้าหลักคือนักลงทุนรายย่อยที่ชื่นชอบการลงทุนในหุ้นแบบ Value Investing ตามสไตล์ของ Ben Graham, Warren Buffett, และ Peter Lynch ดังนั้นถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่ลงทุนตามปัจจัยพื้นฐานของหุ้น เว็บไซต์นี้จะเป็นเว็บโปรดของคุณครับ

ตัวผมเองก็ใช้บริการ Gurufocus อยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ได้สมัครแบบยาวๆ เพราะค่าสมัครต่อปีจัดว่าสูงพอสมควร แต่ผมปฏิเสธไม่ได้เลยในเรื่องคุณภาพและความละเอียดของข้อมูลที่ทาง Gurufocus ให้มา ถ้านับแค่บริการที่นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงได้ ผมมองว่า Gurufocus น่าจะเป็นอันดับต้นๆ แล้วละครับ

Softbank report by Gurufocus สังเกตว่าด้านล่างจะเข้าถึงได้อย่างไม่สมบูรณ์

อย่างไรก็ดี Gurufocus ไม่ได้ให้สมาชิกทั่วไปที่ไม่ใช่ Premium เข้าถึงข้อมูลหุ้นญี่ปุ่นได้เลย (ตามรูปด้านบน) ดังนั้นผมจึงต้องขอประยุกต์เล็กน้อย ด้วยการใช้หุ้นอเมริกาที่มีให้ลองใช้ฟรีมาเป็นตัวอย่างครับ

ตัวอย่าง Report แบบสมบูรณ์ของบริษัท Fleetcor (Summary)

ข้อมูลหุ้นญี่ปุ่นที่ Gurufocus จะให้คุณมีอะไรบ้าง ดูเอาเองครับว่าเยอะแค่ไหน

  • ข้อมูลทั่วไป – ราคา, รายละเอียดของบริษัท, ที่อยู่ ฯลฯ
  • 30-Y Financials – ข้อมูลทางการเงินย้อนหลังไปไกลถึง 30 ปี (ถ้ามี) แถมมีฟีเจอร์ให้ปรับงบการเงินให้แบบเป็น %, per share และ %YoY ได้ด้วยครับ คุณไม่มีความจำเป็นต้องไปทำเองเลย
  • Ratios – อัตราส่วนต่างๆ (ผมบอกเลยว่ามีนับร้อย) เรียกว่าคุณเรียกหาอัตราส่วนอะไร คุณไม่จำเป็นต้องคิดเอง เพราะ Gurufocus คิดเสร็จแล้ว แถมยังเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยนอุตสาหกรรมกับค่าเฉลี่ยในประวัติศาสตร์เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นคุณพร้อมใช้ทันทีครับ
  • Analyst Estimate – ให้ข้อมูลว่านักวิเคราะห์มองงบการเงินของหุ้นตัวนี้เป็นอย่างไรในอนาคต
  • Warning Signs – ตรวจสอบว่าข้อมูลทางการเงินของบริษัทมีจุดไหนเข้าขั้นเสี่ยงรึเปล่า
  • Competitive Comparison – แสดงการเปรียบเทียบข้อมูลทางการเงินของบริษัทที่คุณเลือกกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรม
  • DCF Calculator – ตารางพิเศษที่ช่วยคุณคิดหามูลค่าที่เหมาะสมตามวิธี DCF (Discounted Cash Flow) ให้ทันที เพียงแค่คุณปรับค่าต่างๆบนแพลตฟอร์ม คุณไม่จำเป็นต้องไปสร้าง model เองแต่อย่างใด
  • กราฟ – กราฟของ Gurufocus ผมบอกเลยว่าไม่ธรรมดา เพราะจะไม่ใช่กราฟ Technical อย่างเดียว แต่จะเป็นกราฟ Fundamental! คุณสามารถสั่งให้โปรแกรม plot กราฟได้ว่า แนวโน้มปัจจัยพื้นฐานอย่างเช่น Revenue Growth เป็นอย่างไร ทำให้การวิเคราะห์ง่ายขึ้นมากเลยครับ
  • Dividend & Insider – ข้อมูลการจ่ายปันผล รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของเหล่า Insider ทั้งหลาย
  • Ownership – ตรวจสอบได้ว่าตอนนี้มีนักลงทุนสถาบันหรือ Insider มีหุ้นตัวนี้อยู่ที่ % และกองทุนไหนถือว่าบ้าง หรือแม้กระทั่งหุ้นตัวนี้ถูก short อยู่ที่ %
  • News – ข่าวต่างๆ เกี่ยวกับหุ้นตัวนี้ในโลกออนไลน์ (เป็นภาษาอังกฤษ)
  • Articles – บทความต่างๆ ที่ถูกเขียนขึ้นเกี่ยวกับหุ้นตัวนี้ (เป็นภาษาอังกฤษ)
  • Guru Trades – ตรวจสอบว่ามีนักลงทุนเก่งๆ และมีชื่อเสียงถือหุ้นตัวนี้อยู่หรือไม่
  • Valuation – Gurufocus หามูลค่าที่เหมาะสมมาให้กับคุณแล้วเรียบร้อย โดยอ้างอิงจากทฤษฎีที่ปรมาจารย์ของ Value Investing ว่าไว้เช่นวิธี Net Current Asset Value, Peter Lynch Value และอื่นๆ อีกมากมายครับ
  • Download – คุณสามารถดาวน์โหลดข้อมูลทางการเงินของหุ้นญี่ปุ่นออกไปได้ครับ
  • Stock Screener – Screener แบบสุดยอดที่คุณสามารถเลือกหุ้นตามแบบนักลงทุนเก่งๆ ก็ได้ หรือว่าจะ set เองก็ได้เหมือนกันครับ

สิ่งที่ผมชอบในตัวโปรแกรมนี้มากคือ แทบทุกอย่างจะเป็นกราฟแบบ Interactive อย่างสวยงาม (ยกเว้นตัวงบการเงินอย่างละเอียดเท่านั้น) ที่เหลือบอกเลยว่าสวยงามครับ

Financial Statement แบบย่อของ Fleetcor (หุ้นญี่ปุ่นไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยสมาชิกแบบฟรีครับ)

อธิบายคุณความดีของ Gurufocus มาถึงตอนนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าราคาสมาชิกจะอยู่ที่เท่าไรกันแน่? เราไปดูกันเลยครับ

รูปแบบสมาชิกแบบ Premium ของ Gurufocus จะแปลกๆ หน่อย นั่นคือจะแบ่งออกเป็น region ซึ่งถ้าคุณสนใจหุ้นญี่ปุ่น คุณก็จะต้องเลือก Asia นั่นเองครับ

แพลน Premium Asia นั้นนอกจากจะมีข้อมูลทางการเงินของหุ้นญี่ปุ่นแล้ว และยังมีหุ้นไทย หุ้นจีน หุ้นสิงคโปร์ หุ้นเวียดนาม หุ้นอินโดนีเซีย หุ้นฟิลิปปินส์ด้วย รวมแล้วมีถึง 20 ประเทศครับ

ราคาของแพลน Premium Asia อยู่ที่ $399 หรือ 12,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยแล้วประมาณ 1,000 บาทต่อเดือนครับ

ผมบอกเลยว่าแค่แพลน Premium Asia ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าคุณอยากจะรู้ว่านักลงทุนสถาบันแต่ละกองทุนเค้าลงทุนอะไรกันบ้าง เข้าอะไรกันตอนไหน (ให้อารมณ์ลอกการบ้าน) ทาง Gurufocus ก็สามารถจัดหามาให้คุณได้ด้วยเช่นกัน ภายใต้แพลนที่เรียกว่า “Premium Plus” แต่คุณจะต้องจ่ายเพิ่มอีก $849 หรือประมาณ 25,500 บาทซึ่งผมมองว่าเกินความจำเป็นไปครับ

Gurufocus

ถ้าสนใจแพลนระดับ Premium อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ข้อเสียของ Gurufocus ที่ผมพบก็คือ ตัวเว็บไซต์เริ่มจะดูเก่าๆ ไปบ้าง และอาจจะดูไม่ทันสมัยสำหรับหลายๆ คน เพราะหน้าเว็บไซต์แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรตั้งแต่ผมใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ.2012 นอกจากนี้การ search หาหุ้นญี่ปุ่นโดยใช้ Ticker Symbol ยังมีปัญหานิดหน่อย (ประเทศอื่นไม่มี) เพราะต้องใช้ชื่อหุ้นมา search ตรงนี้ผมสงสัยเหมือนกันว่าทำไมไม่แก้สักที

อย่างไรก็ดีผมยืนยันว่าถ้าคุณเป็นนักลงทุนรายย่อยแบบ value investor แล้ว จะหาเว็บไซต์ไหนที่จะเป็นเพื่อนคู่คิดลุยหุ้นญี่ปุ่นได้ดีกว่า Gurufocus นี่แทบไม่มีอีกแล้วครับ

ทั้งนี้ Gurufocus ให้คุณใช้แบบ Premium ฟรีเป็นเวลา 7 วัน ลองใช้ได้ที่นี่เลย และถ้าสมัครไปแล้วไม่พอใจ ทาง Gurufocus จะคืนเงินทั้งหมดในเวลา 7 วัน

4. Stockopedia (Premium)

ผมเคยอ่านเจอว่า Stockopedia คือ Gurufocus เวอร์ชันอัพเดต UI/UX ให้ทันสมัยขึ้น ผมเลยไปตรวจสอบดูด้วยการสมัคร Free Trial แบบ Premium มาลองใช้ดูครับ

Stockopedia

สิ่งที่ Stockopedia จะให้กับคุณคือ

  • Profile – ข้อมูลทั่วไปคั้งแต่ราคาหุ้น ธุรกิจของบริษัท การติดต่อ ฯลฯ
  • Financial Statement – งบการเงินของบริษัทย้อนหลัง 5 ปี
  • Valuation Score – เปรียบเทียบ Valuation ของหุ้นตัวนั้นกับกลุ่มอุตสาหกรรมและตลาด
  • Ratios – อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ คิดไว้ให้หมดแล้วเช่นกัน
  • Analyst Forecast – การคาดการณ์งบการเงินของนักวิเคราะห์
  • Dividend/Shareholder/Insider – รายละเอียดการจ่ายปันผล ผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมไปถึงการซื้อขายหุ้นของผู้บริหาร
  • News – ข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับหุ้นตัวนี้
  • Rating – ทาง Stockopedia จะให้คะแนนกับหุ้นแต่ละตัว โดยวัดจาก 3 ปัจจัย นั่นคือคุณภาพ (Quality) มูลค่าถูกแพง (Value) และ โมเมนตัม (Momentum)
  • Markets – ข้อมูลภาพรวมตลาด และแต่ละดัชนีอย่างละเอียด คุณจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าดัชนีตอนนี้ถูกแพงมากน้อยเพียงใด เหมาะสมต่อการลงทุนหรือไม่

นอกจากนี้จุดเด่นของ Stockopedia คือ Stock Screener ซึ่งสามารถหาหุ้นได้อย่างละเอียดมาก คุณสามารถเลือกได้ว่าจะเลือกหุ้นตามคำแนะนำของ Stockopedia (Stock Rank) หรือตามกูรูหุ้นสายไหนก็ได้ (Value, Growth, Momentum ฯลฯ) หรือจะตั้งค่าการ search เองก็ได้ครับ

ถัดไปเรามาว่ากันเรื่องค่าใช้จ่ายกันบ้าง

วิธีการสมัครสมาชิกของ Stockopedia จะให้คุณเลือก region คล้ายกับ Gurufocus โดยถ้าคุณต้องการหุ้นญี่ปุ่น คุณจะต้องเลือก “Developed Asia” ซึ่งจะให้ข้อมูลหุ้นของประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชีย 5 ประเทศในราคา $600 (18,000 บาทต่อปี) หรือประมาณเดือนละ 1,500 บาทครับ โดยในปีแรกจะได้ลด 25% เท่ากับว่าปีแรกจะเหลือ 13,500 บาทครับ

โดยส่วนตัวแล้ว จากที่ลองใช้มาคร่าวๆ ผมมองว่าเรื่องความสวย และความทันสมัย ผมว่า Stockopedia ชนะ Gurufocus ครับ แต่อย่างอื่นโดยเฉพาะความละเอียดของข้อมูล Gurufocus ยังกินขาด

ยิ่งลองคิดถึงเรื่องราคาด้วยแล้ว คุณเสียให้ Stockopedia 1,500 บาทต่อเดือน แต่ได้แค่ 5 ประเทศ ส่วน Gurufocus เสีย 1,000 บาท แต่ได้ถึง 20 ประเทศ และข้อมูลด้านในก็ละเอียดกว่ามากด้วย เพราะฉะนั้นถ้าให้ผมเลือกสมัครก็ยังเลือก Gurufocus ครับ

สรุป: หาข้อมูลหุ้นญี่ปุ่นอย่างไรดี?

ถ้าคุณไม่อยากเสียเงิน หรืองบมีจำกัด ผมแนะนำให้ใช้ Morningstar แบบฟรี หรือ Reuters ครับ แต่ถ้าคุณมีงบจำนวนหนึ่ง และต้องการแพลตฟอร์มที่ให้ข้อมูลดีๆ ผมแนะนำ Gurufocus ครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!