อาชีพอยากเป็น "นักเขียน" ที่ได้ตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์ต้องทำอย่างไร?

อยากเป็น “นักเขียน” ที่ได้ตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์ต้องทำอย่างไร?

นักเขียน (Writer) เป็นหนึ่งในอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝันอยากจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนนิยาย หรือนักเขียนหนังสือทั่วไป การมีชื่อของตัวเราอยู่บนหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

ก่อนที่จะมาทำเว็บไซต์ Victory Tale ผมเองก็เคยเขียนหนังสือและได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์อยู่ 2-3 เล่ม หนังสือเหล่านั้นทุกเล่มเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ทุกวันนี้ก็ยังวางขายอยู่ในท้องตลาดครับ

ผมจึงอยากแชร์ประสบการณ์ดังกล่าวให้กับผู้ที่สนใจ จะได้ทราบกันว่า หนังสือของผมได้รับการตีพิมพ์ได้อย่างไร เผื่อหลายๆ คนน่าจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ครับ

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ที่ผมพบเจอเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับนักเขียนท่านอื่นๆครับ

Image by Steve Buissinne from Pixabay

ได้ตีพิมพ์ได้อย่างไร

จากประสบการณ์ของผม ผมมองว่าการที่จะได้ตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์มีแค่ 2 ทางหลักๆเท่านั้น ได้แก่

  1. ส่งหนังสือไปให้บรรณาธิการของสำนักพิมพ์อ่าน ถ้าเค้าอ่านแล้วชอบมาก เค้าก็จะตีพิมพ์ให้คุณ
  2. คุณมีชื่อเสียงหรือ fanbase อยู่บ้างแล้ว สำนักพิมพ์จึงเข้ามาติดต่อ และนำไปตีพิมพ์

สำหรับวิธีแรกก็ไม่มีอะไรซับซ้อน คุณเขียนหนังสือออกมาจนเสร็จ หรือว่าเกือบเสร็จสมบูรณ์ หลังจากนั้นถึงส่งไฟล์ Word, pdf ให้กับสำนักพิมพ์หรือแม้กระทั่งพิมพ์ออกเป็นมาเล่มๆ แล้วส่งไปรษณีย์ไปยังออฟฟิศของสำนักพิมพ์ครับ

ส่วนวิธีที่สองคือ คุณเขียนงานออกมาเหมือนกัน แต่คุณอาจจะเขียนลงในแพลตฟอร์มต่างๆ ก่อน อย่างเช่น คุณอาจจะเปิดเพจบน Facebook หรือถ้าเป็นนิยายก็อาจจะเขียนลงธัญวลัย, จอยลดา, เด็กดี, readawrite ฯลฯ

แพลตฟอร์มเหล่านี้จะทำให้มีคนเข้ามาอ่านงานของคุณมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะถ้าคุณเขียนดี คุณจะดึงดูดความสนใจของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการเห็นเข้าก็อาจจะสนใจ และของานเขียนของคุณไปตีพิมพ์ในที่สุด

ทั้งนี้ผมได้ลองทำแล้วทั้งสองแบบ และขอเล่าถึงประสบการณ์ดังกล่าวเป็นลำดับต่อไป

1. ส่งหนังสือให้ตีพิมพ์

เมื่อช่วงปี ค.ศ.2016 ผมตัดสินใจว่าจะเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เพราะในตอนนั้นเพิ่งไปขับรถเที่ยวนิวซีแลนด์กลับมา ผมก็เลยเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ 2-3 เดือนต่อมา ต้นฉบับก็เสร็จสมบูรณ์ และเริ่มส่งต้นฉบับให้กับสำนักพิมพ์หลายแห่งด้วยกัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วจะหาสำนักพิมพ์ได้อย่างไร? ผมแนะนำให้คุณเปิดรายชื่อสำนักพิมพ์ที่มาร่วมงานหนังสือแห่งชาติ หลังจากนั้นก็ search ใน google เพื่อหาเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ที่ต้องการ หลังจากนั้นคุณสามารถติดต่อสำนักพิมพ์ได้ด้วยการโทรหรือว่าส่งอีเมล์ครับ

เชื่อหรือไม่ ผ่านไปเกือบ 6 เดือน ไม่มีสำนักพิมพ์ติดต่อกลับมาเลยสักแห่งเดียว ผมเลยคิดว่าไม่น่าจะเข้าท่าแล้วก็เลยเปลี่ยนแนว ผมจึงย้ายไปเขียนหนังสือสไตล์ที่ผมถนัดจริงๆ อย่างประวัติศาสตร์แทน

ผมเลือกที่จะเขียนหนังสือเรื่อง “ยุคชุนชิวจ้านกว๋อ” ขึ้นมา และศึกษาจากหลายบทความบน internet ว่าจะจัดรูปเล่มต้นฉบับอย่างไรให้ดูดี หลังจากนั้นก็ส่งไปอีกหลายสำนักพิมพ์ด้วยกัน เวลาทั้งหมดน่าจะใช้ไปอีก 6-8 เดือน ถ้าจำไม่ผิด

ครั้งนี้มีตอบกลับมาหลายสำนักพิมพ์ครับ ไม่ใช่ตอบรับให้ตีพิมพ์ได้นะ แต่เป็นตอบปฏิเสธ!

อย่างไรก็ดีถ้าสำนักพิมพ์ปฏิเสธคุณมา บรรณาธิการจะให้ feedback มาด้วยว่าหนังสือของคุณเป็นอย่างไร อย่างเช่นมีสำนักพิมพ์หนึ่งตอบผมมาว่างานอ่านสนุกมาก แต่ทางสำนักพิมพ์ไม่มีแผนที่จะพิมพ์หนังสือแนวนี้ แน่นอนว่าหนังสือของผมจึงต้องถูกปัดตกไป

ดังนั้นคุณควรจะศึกษาให้ดีด้วยว่า สำนักพิมพ์ที่คุณจะส่งไปตีพิมพ์หนังสือแนวที่คุณเขียนรึเปล่า ถ้าไม่มี ผมบอกเลยว่าไม่ต้องส่งไปครับ เหนื่อยเปล่าๆ

ยกตัวอย่างเช่นสำนักพิมพ์นี้ตีพิมพ์เฉพาะนิยายหรือ fiction คุณไม่ต้องส่งต้นฉบับของคุณที่เป็นหนังสือธุรกิจ (non-fiction) ไปครับ เพราะโอกาสจะได้ตีพิมพ์แทบจะเป็นศูนย์

ที่ผมสังเกตได้อีกอย่างหนึ่งคือ จริงๆ แล้วสำนักพิมพ์ไม่ได้เชื่องช้าในการพิจารณางานเขียนของคุณ เพราะสำนักพิมพ์ที่ตอบผมมาแต่ละแห่งใช้เวลาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ทั้งนั้น แต่ถ้าผ่านไปมากกว่านั้น ผมขอให้คุณทำใจไปได้เลยว่าเค้าไม่แลคุณแล้วแน่ๆ ให้หาสำนักพิมพ์ต่อไปได้เลย

อย่างไรก็ดีถ้าคุณอยากจะตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์บางแห่งจริงๆ คุณสามารถตามงานของคุณได้ถ้ายังไม่ได้ทราบคำตอบ บางครั้งการตามงานกับสำนักพิมพ์เป็นสิ่งจำเป็น เพราะผมเคยเจอเรื่องโอละพ่ออย่างเช่น บรรณาธิการลาออก ทำให้หนังสือของผมถูกดองโดยที่ยังไม่มีใครอ่าน! ผมก็เลยต้องส่งใหม่ครับ

ผมบอกเลยว่าการที่จะตีพิมพ์ด้วยวิธีนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การถูกปฏิเสธหลายครั้งทำให้คุณท้อได้ง่ายมาก ซึ่งผมขอยอมรับตรงนี้เลยว่า ผมไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จกับแนวทางนี้

ความล้มเหลวจากวิธีการนี้ได้นำผมไปสู่แนวทางที่ 2

2. สร้าง fanbase

การสร้าง fanbase เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะทำให้งานเขียนของคุณได้รับการตีพิมพ์ได้ และเป็นวิธีที่ทำให้ผมได้ตีพิมพ์หนังสือในที่สุด

ทุกวันนี้การสร้าง fanbase ด้วยตนเองโดยไม่ง้อใครไม่ใช่เรื่องยากเหมือนสมัย 30-40 ปีก่อน เพราะคุณสามารถสร้างงานเขียนลงในแพลตฟอร์ม social network อย่างเพจบน Facebook หรือถ้าเป็นนิยายก็จะเป็นเว็บเขียน/อ่านนิยายออนไลน์อย่างเช่นธัญวลัย

อย่างไรก็ดีในช่วงนั้น ผมไม่ได้ตั้งใจว่าจะสร้าง Facebook page มาเพื่อดึงดูดความสนใจของสำนักพิมพ์อะไรเช่นนั้นเลย ตอนนั้นผมแค่อยากเขียนอะไรสักอย่างแล้วมีคนมาอ่านและให้ feedback เท่านั้นเอง พอมีคนแนะนำให้เปิดเพจ ผมก็เลยเปิดตามคำแนะนำ

เมื่อมีเพจบน Facebook แล้ว ผมก็เริ่มผลิตงานเขียนต่างๆ ลงไป งานเขียนของผมจะเป็นเรื่องยาวในประวัติศาสตร์เป็นตอนๆ ปรากฏว่ากระแสตอบรับเริ่มดี แต่ไม่ได้แปลว่าเพจจะก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว จำนวนคน like เพจค่อยๆ เพิ่มช้าๆ จากหลักร้อยเป็นหลักพันภายในเวลา 3-4 เดือน

ในช่วงนั้นผมจึงตัดสินใจว่าจะสร้างโฆษณาบน Facebook และลงทุนไปประมาณ 3,000 บาท ในเวลาไม่นานผมก็มีคนติดตามประมาณ 11,000 คน

ผมเห็นว่าคนไลค์และแชร์อยู่ในหลักร้อยแล้วเมื่อผมเขียนบทความใหม่ลงไป ผมจึงตัดสินใจหยุดโฆษณา ยอดคนไลค์เพจก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆด้วยตัวของมันเอง แม้ว่าจะช้ากว่าช่วงที่ใช้เงินโฆษณามากก็ตาม

หนึ่งปีหลังจากที่เปิดเพจ สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งได้ถามผมทาง messenger ว่า ผมสามารถเขียนหนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนึ่งให้เค้าได้หรือไม่ และเค้าสนใจจะตีพิมพ์เรื่องยาวเรื่องหนึ่งที่ผมเคยเขียนลงเพจด้วย แน่นอนว่าผมตอบรับอย่างไม่ลังเล

เส้นทางการเป็นนักเขียนจริงๆ ของผมจึงเริ่มต้นแล้ว

ข้อควรทราบ: สำหรับใครที่อยากจะเปิดเพจบน Facebook คุณควรจะทราบว่าในปัจจุบันค่าโฆษณาแพงขึ้นกว่าเดิมมาก และ organic reach หรือจำนวนแฟนเพจที่เห็นโพสของคุณโดยไม่ต้องโฆษณานั้นลดลงมากกว่า 80% จากในสมัยนั้น การทำเพจจึงยากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าครับ

3. แก้ไขต้นฉบับ

ผมใช้เวลาอีกหลายเดือนในการเขียนต้นฉบับเล่มที่สำนักพิมพ์ขอให้เขียนจนเสร็จสิ้น หลังจากนั้นก็ส่งให้บรรณาธิการที่ดูแลหนังสือของเรานำไปพิจารณา

บรรณาธิการจะโทรศัพท์หรือส่งอีเมล์มาหาคุณเนืองๆ ถ้าเขาไม่เข้าใจสิ่งที่คุณเขียน หรือว่าเขาอาจจะเสนอให้ปรับแก้เพื่อความเหมาะสม แต่ถ้าคุณเขียนต้นฉบับได้ดีระดับหนึ่ง เขาจะโทรมาหาคุณแค่ 1-2 ครั้งเท่านั้นเอง

ตอนที่ผมเขียน เขาแทบจะไม่โทรมาเลย เขาแค่โทรมาขอเปลี่ยนราชาศัพท์และคำบางคำ ซึ่งผมอนุญาตให้เขาแก้ได้ตามต้องการ

อย่างไรก็ตามช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงที่ยาวนานมาก เพราะสำนักพิมพ์ไม่ได้จัดการหนังสือของเราแค่เล่มเดียว แต่ยังมีเล่มอื่นด้วย แถมบางสำนักพิมพ์อาจจะเลือกออกหนังสือใหม่เป็นบางช่วงเท่านั้น ทำให้คุณต้องรออีกหลายเดือนกว่าที่จะเห็นหนังสือของคุณเป็นรูปเป็นร่าง

เมื่อเขาจะตีพิมพ์หนังสือของคุณแล้ว เขาจะถามคุณว่าชื่อหนังสือจะใช้อะไรดี และปกที่ฝ่าย graphic ทำมาเป็นอย่างไร ผมแนะนำว่าถ้าคุณไม่พอใจ คุณควรจะบอกเขาไปเลยให้ชัดเจนครับ เพราะอย่าลืมว่านี่เป็นหนังสือที่คุณเขียน มันควรจะออกมาตามที่คุณต้องการด้วย

ถ้างานของคุณห่างหายไปนานเกินไปโดยไม่มีการตอบกลับ อย่าลืมสอบถามสำนักพิมพ์ด้วยว่า งานของคุณไปถึงไหนแล้ว เพราะอาจจะเกิดปัญหาบรรณาธิการลาออก ทำให้งานขาดช่วงได้ครับ

4. สัญญาและค่าต้นฉบับ

เรื่องสัญญาและค่าต้นฉบับเป็นเรื่องที่ซีเรียสไม่น้อย และคุณควรจะต้องพิจารณาให้ดีอย่างยิ่ง

รูปแบบค่าต้นฉบับที่ผมเคยพบเจอมีสองรูปแบบได้แก่

  1. สำนักพิมพ์จะได้สิทธิ์ในการตีพิมพ์หนังสือของคุณเป็นเวลาหนึ่งๆ (อย่างของผมเป็นเวลา 3 ปี) สำนักพิมพ์จะตีพิมพ์กี่ครั้งก็ได้ โดยสำนักพิมพ์จะให้เงินมาให้คุณเป็นค่าต้นฉบับก้อนหนึ่งอย่างเช่น 20,000 บาทเป็นต้น
  2. สำนักพิมพ์จะได้สิทธิ์ในการตีพิมพ์หนังสือของคุณในลักษณะเดียวกับแบบแรก แต่คุณจะได้ค่าต้นฉบับในสัดส่วนเป็น % ของมูลค่าของยอดที่พิมพ์ อาทิเช่น 8% ของหนังสือ 250 บาท จำนวน 2,000 เล่ม ค่าต้นฉบับก็จะเป็น 0.08*250*2,000 = 40,000 บาท ถ้าสำนักพิมพ์จะตีพิมพ์ครั้งที่ 2 จะต้องจ่ายค่าต้นฉบับครั้งใหม่

จริงอยู่ว่าถ้าคุณกำลังจะได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรก เรื่องพวกนี้อาจจะเป็นเรื่องรอง เพราะคุณน่าจะอยากได้ตีพิมพ์หนังสือสักเล่มหนึ่งก่อน เพื่อสร้างชื่อในวงการนักอ่าน

แต่ถ้าคุณตีพิมพ์หนังสือเล่มที่สองกับสำนักพิมพ์เดิม แล้วคุณรู้สึกว่าคุณควรจะได้ค่าต้นฉบับและสัญญาที่ดีกว่านี้ คุณอย่าลังเลที่จะต่อรองครับ อย่างตัวผมเองเคยต่อรองอันยาวนานกับสำนักพิมพ์จนได้ค่าต้นฉบับที่ดีขึ้นเป็นสองเท่ามาแล้ว

ทั้งนี้ค่าต้นฉบับจะจ่ายก็ต่อเมื่อหนังสือของคุณได้รับการตีพิมพ์แล้ว ว่ากันตามตรงเป็นเวลานานเกือบปีหลังจากที่ส่งต้นฉบับให้กับสำนักพิมพ์ครับ แต่มาถึงขั้นนี้แล้ว คุณจะได้เป็นนักเขียนเต็มตัวแล้วนั่นเอง

ทางเลือกอื่น

อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้คุณอาจจะไม่ต้องพึ่งสำนักพิมพ์อีกต่อไปในการเผยแพร่และสร้างรายได้จากงานเขียนของคุณ

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

  • คุณสามารถขาย e-book ของคุณได้บนแพลตฟอร์ม e-book ไทยอย่าง meb หรือ ookbee ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่วางขายง่าย มีคนซื้อจริง และได้เงินจริง คุณสามารถตั้งราคาขายของหนังสือได้เองด้วย
  • สำหรับสายนิยาย คุณสามารถขายนิยายเป็นตอนๆ ได้บนแพลตฟอร์มอย่างธัญวลัยและจอยลดา ซึ่งมีคนซื้อจริง และได้เงินจริงเหมือนกัน

ถ้าหนังสือของคุณขายดีหรือมีคนติดตามมาก รายได้จากแพลตฟอร์มเหล่านี้สามารถสูงกว่าค่าต้นฉบับที่ตีพิมพ์หลายเท่าเลยครับ แต่ถ้าขายไม่ดี รายได้ก็จะต่ำครับ

ถึงกระนั้นข้อดีหลักๆ ของแพลตฟอร์มออนไลน์คือ คุณสามารถวางขายงานของคุณได้ง่ายมาก และบางแพลตฟอร์มสามารถขายงานเป็นตอนๆ ได้ครับ ทำให้ไม่ต้องเขียนจนเสร็จสมบูรณ์แล้วถึงจะนำไปขาย

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!