ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ดังนั้นจึงมีวีรบุรุษมากมายขึ้นมาให้ยกย่องแต่ในขณะเดียวกันก็มีพวกกังฉินที่ฉ้อฉล ปลิ้นปล้อน สูบเงินของแผ่นดินไปจนสิ้นอีกมากมายเช่นเดียวกัน
คนที่ผมจะเล่าถึงในที่นี้ก็คือ เหอเซิน (He Shen) หนึ่งในกังฉินระดับท้อปคนหนึ่ง เขามีชื่อเสียงในฐานะผู้ที่โกงกินมากที่สุดคนหนึ่งตลอดระยะเวลา 4,000 ปี ของประวัติศาสตร์จีน
ขึ้นสู่อำนาจเพราะหน้าคล้าย
เหอเซิน ผู้นี้เกิดในปี ค.ศ 1750 ในสมัยรัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลง แห่งราชวงศ์ชิง เขาเป็นบุตรชายของแม่ทัพแมนจูผู้หนึ่ง ตั้งแต่เด็กเหอเซินจึงได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนของชนชั้นสูงชาวแมนจู เหอเซินเป็นนักเรียนระดับแนวหน้า เขาสามารถพูดภาษาได้อย่างน้อย 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีนกลาง ภาษาแมนจู ภาษามองโกล และ ภาษาทิเบต
เมื่อเหอเซินอายุได้ 22 ปี เขาเริ่มเข้ารับราชการในวังหลวงในตำแหน่งทหารองครักษ์ จนกระทั่งวันหนึ่งก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่จะเปลี่ยนชีวิตของเหอเซินไปตลอดกาล
จักรพรรดิเฉียนหลงได้เสด็จประพาสไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง พระองค์ได้ตรัสถามเกี่ยวกับประโยคหนึ่งจากตำราหลุนยู่ว์ (lunyu) ของขงจื้อ ปรากฎว่าไม่มีผู้ใดในที่นั้นสามารถตอบคำถามของพระองค์ได้เลย มีแต่เพียงเหอเซินเท่านั้นที่สามารถตอบพระองค์ได้ จักรพรรดิเฉียนหลงทรงพอพระทัย จึงตรัสถามต่อไป เหอเซินก็ยังตอบได้อย่างคล่องแคล่ว
ตำนานเล่าว่าในช่วงนี้นั้น จักรพรรดิเฉียนหลงทรงนึกขึ้นได้ว่า เหอเซินนั้นมีหน้าตาละม้ายคล้ายกับนางสนมผู้หนึ่งที่ฆ่าตัวตายไปเพราะการล้อเล่นของพระองค์
เรื่องดังกล่าวมีอยู่ว่า เมื่อเฉียนหลงยังทรงเป็นเจ้าชายหนุ่มอยู่นั้น พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนางสนมผู้หนึ่งกำลังแต่งหน้าอยู่ พระองค์จึงทรงเดินเข้าไปหานางจากทางด้านหลังและแกล้งให้นางตกใจ นางสนมผู้นั้นตกใจมากจึงเผลอใช้หวีที่อยู่ในมือ ฟาดเข้าไปที่พระพักตร์ของเฉียนหลงอย่างแรง พระพักตร์ของพระองค์จึงมีพระโลหิตไหลริน
การกระทำของนางถูกพบเห็นโดยนางกำนัลคนอื่น นางจึงได้รับโทษอย่างหนักโดยการถูกถอดออกจากตำแหน่ง นางสนมคนดังกล่าวรู้สึกอับอายจึงฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอ
เมื่อเฉียนหลงได้ทราบข่าว พระองค์รู้สึกเสียพระทัยยิ่งนักที่นางสิ้นชีวิตลงเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพระองค์เอง เฉียนหลงจึงทรงกัดนิ้วของพระองค์ และใช้พระโลหิตที่นิ้วป้ายไปที่คอของนางสนมนั้น เพื่อหวังว่าในชาติหน้า พระองค์จะจดจำนางได้
ทั้งนี้เหอเซินเกิดในปีเดียวกับที่นางคนดังกล่าวสิ้นชีวิต และยังมีปานแดงที่คออีก เฉียนหลงจึงดำริว่าเหอเซินคือนางสนมคนดังกล่าวที่กลับชาติมาเกิด
ถึงแม้ว่าตำนานดังกล่าวจะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่เฉียนหลงก็โปรดปรานเหอเซินยิ่งนัก พระองค์แต่งตั้งให้เขาย้ายมาเป็นองครักษ์ประจำพระองค์ และติดตามพระองค์ไปทุกที่ทุกแห่ง เหอเซินปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็ง ทำให้เฉียนหลงทรงเลื่อนเขาเป็นนายพลอย่างรวดเร็ว
ได้รับความโปรดปราน
หลังจากนั้นภายในเพียงปีเดียว เหอเซินก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สองเดือนต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้ตรวจราชการแผ่นดิน ต่อมาเหอเซินก็ได้ควบตำแหน่งเจ้ากระทรวงวังอีกตำแหน่งหนึ่ง ในขณะนั้นเหอเซินอายุได้เพียง 27 ปีเท่านั้น
ต่อมาเหอเซินก็ได้เข้าควบคุมกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยของอาณาจักรชิงที่ยิ่งใหญ่ของเฉียนหลง ทำให้ในเวลานั้นเขามีสิทธิ์ขาดในการควบคุมด้านการเงินการคลังทั้งหมด
เฉียนหลงทรงโปรดเหอเซินมาก เขาได้รับอนุญาตให้ขี่ม้าได้ในพระราชวัง ในเวลาก็ได้รับอำนาจทางทหารจากการที่เฉียนหลงแต่งตั้งให้เขาเป็นเสนาบดีกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง
เท่านั้นยังไม่พอ เฉียนหลงยังมอบตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีให้เขาอีก เท่ากับว่าเหอเซินเป็นบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดในอาณาจักรรองจากเฉียนหลงเพียงคนเดียวเท่านั้น ในขณะที่เขามีอายุเพียง 32 ปี
สาเหตุที่เขามาถึงระดับนี้ได้ในเวลาไม่นานนั้น มาจากการที่เขา “ประจบสอพลอ” เก่งเป็นหลัก สำหรับหน้าที่การงานแล้ว เอาเข้าจริง เขาก็ไม่ได้เรื่องอะไรเท่าไร เมื่อมีกบฎในซินเจียงก็ปราบไม่ได้ แต่เฉียนหลงก็เลือกที่จะลืมๆ เรื่องเหล่านี้ไป และฟังแต่คำพูดสอพลอของเขาเท่านั้น
ในปี ค.ศ.1790 เฉียนหลงพระราชทานพระธิดากับลูกชายของเหอเซิน ทำให้เขากลายเป็นพระญาติกับฮ่องเต้ อิทธิพลของเหอเซินจึงมีอยู่ล้นฟ้า ยากที่ใครจะเทียบเทียมได้ แม้กระทั่งองค์รัชทายาทเองก็ตาม
คอรัปชั่น
เหอเซินจึงคิดจะใช้อำนาจที่เขามีนั้น หาประโยชน์เข้าตัวให้มากที่สุด ด้วยวิธีการอุบาทว์หลายหลายวิธี ซึ่งทั้งหมดนี้เหอเซินไม่ได้โกงอย่างมีชั้นเชิง แต่เหอเซินอาศัยความหน้าด้าน โกงอย่างซึ่งๆหน้า ทุกคนในราชสำนักก็ทราบกันดีแต่ไม่สามารถทำอะไรได้
1. เหอเซินมีคำสั่งให้ออกภาษีสำนึกบาป กล่าวคือเขาออกประกาศไปว่า ข้าราชการคนใดคิดว่าตนเองคดโกงก็รีบส่งค่าปรับมายังราชสำนัก แล้วจะไม่ถูกเอาความ ข้าราชการจำนวนมากที่คดโกงบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็รีบส่งค่าปรับดังกล่าวมายังส่วนกลางที่อยู่ใต้อำนาจของเหอเซิน
ส่วนใครที่ไม่ส่งเพราะไม่ได้ทำผิด เหอเซินก็จะใช้ให้คนของตนไปหาเรื่องบังคับใส่ความเพื่อเอาโทษ ข้าราชการทั้งแผ่นดินจึงต้องส่งค่าปรับนี้มายังส่วนกลางไม่ว่าจะทำผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเหอเซินก็ใช้อำนาจอันมิชอบยักยอกเงินทองมาเป็นของตนถึงร้อยละ 60
2. เวลาที่เหอเซินไปออกรบเพื่อปราบกบฎกลุ่มบัวขาว เขาพยายามถ่วงเวลาภารกิจให้นานที่สุด เพื่อที่จะดูดงบจากส่วนกลางให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงโกงเงินเดือนเหล่าทหาร และโกงเสบียง
3. โกงกินเงินต่างๆที่ใช้ปรับปรุงดูแลเขื่อนและคลอง ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำฮวงโห
4. ขึ้นราคาสินค้าต่างๆ มากมาย เช่นข้าวสาร เพื่อรับส่วนต่าง
5. ขึ้นภาษีทุกประเภท และโกงเงินภาษีเหล่านั้น
6. ยักยอกงบประมาณแผ่นดินตรงๆ
7. โกงบรรณาการจากประเทศต่างๆ
นอกจากนี้ว่ากันว่าเหอเซินยังแก้ไขดัดแปลงประวัติศาสตร์จีนด้วยอคติ บุคคลที่มีนิสัยชั่วช้าลักษณะเดียวกับเหอเซินก็เปลี่ยนให้ดูดี ส่วนบุคคลที่เป็นคนดีมีคุณธรรมก็เปลี่ยนให้ดูชั่ว
ความฉ้อฉลของเหอเซินเหล่านี้ถูกเลียนแบบโดยเหล่าข้าราชการทั่วไป การคอรัปชั่นในอาณาจักรชิงจึงเพิ่มขึ้นเป็นสิบๆ เท่า เหล่าราษฎรยากลำบากแสนสาหัส ดังนั้นองค์รัชทายาท (ในเวลาต่อมาคือ จักรพรรดิเจี๋ยชิ่ง) ทรงเกลียดชังเหอเซินยิ่งนัก ทรงตั้งพระทัยว่าเมื่อพระบิดาสวรรคตเมื่อใดจะต้องจับเหอเซินมาฆ่าเสียให้จงได้
ในปี ค.ศ.1799 จักรพรรดิเฉียนหลงสวรรคต สามวันต่อมาจักรพรรดิเจี๋ยชิ่ง จักรพรรดิพระองค์ใหม่ทรงมีรับสั่งให้จับกุมเหอเซินและพรรคพวกทันที จักรพรรดิพระองค์ใหม่มีรับสั่งให้ประหารชีวิตเหอเซินด้วยการแล่เนื้ออย่างช้าๆ แต่พระองค์ทรงเห็นแก่พระขนิษฐาต่างมารดาที่เป็นลูกสะใภ้ของเหอเซิน พระองค์จึงมีรับสั่งให้เหอเซินฆ่าตัวตายเสีย โดยพระองค์จะไว้ชีวิตครอบครัวของเหอเซิน
เหอเซินไม่มีทางเลือกนอกจากยอมฆ่าตัวตายในที่สุด จักรพรรดิเจี๋ยชิ่งทรงมีรับสั่งให้ริบทรัพย์สินของเหอเซินทั้งหมด ปรากฎว่าจำนวนทรัพย์สินของเหอเซินในวังของเขาทำให้พระองค์ทรงตกตะลึง
ทรัพย์สินของเหอเซินมีดังต่อไปนี้
- นาฬิกาชั้นเยี่ยม 460 เรือนจากยุโรป
- อาคารต่างๆที่มีมากกว่า กว่า 3,000 ห้อง รวมวังที่เหมือนกับวังที่เหมือนกับพระราชวังหลวงอีกแห่ง
- ที่ดิน 8,000 เอเคอร์
- โรงรับจำนำ 75 แห่ง
- ทองคำบริสุทธิ์ 60,000 ตำลึงทอง
- ทองคำแท่งอีก 100 แท่ง (แท่งละ 1,000 ตำลึงทอง)
- เงินแท่งขนาดใหญ่ 56,600 แท่ง (แท่งละ 100 ตำลึง)
- เงินแท่งขนาดเล็ก 9,000,000 แท่ง (แท่งละ 10 ตำลึง)
- เงินต่างประเทศจำนวน 58,000 ปอนด์
- เหรียญทองแดง 1,500,000 เหรียญ
- โสมคุณภาพดีน้ำหนัก 600 ปอนด์ (ประมาณ 300 กิโลกรัม)
- หยก 1,200 แท่ง
- สร้อยคอไข่มุกระดับดีที่สุด 230 ชิ้น
- ไข่มุกขนาดเท่าลูกแอพริคอตจำนวน 10 ชิ้น
- ทับทิมขนาดใหญ่ 10 ชิ้น
- ไพลินขนาดใหญ่ 40 ชิ้น
- ข้าวของเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากเงิน 40 ชุด (ใช้ได้ชุดละ 10 คน)
- ข้าวของเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากทอง 40 ชุด (ใช้ได้ชุดละ 10 คน)
- หินปะการัง 11 ชิ้น แต่ละชิ้นสูงกว่า 1 เมตร
- ผ้าไหม 14,300 ผืน
- หนังแกะที่เป็นเฟอร์ (Fur) อย่างดี 20,000 ผืน
- หนังสุนัขจิ้งจอก 500 ผืน
- หนังแร็คคูน 850 ผืน
- หนังวัว แกะ อื่นๆ 56,000 ผืน
- เสื้อผ้า 7,000 ชุด
- เครื่องใช้ทำจากสำริดและดีบุกอีก 361,000 ชิ้น
- เครื่องปั้นดินเผาอย่างดี 100,000 ชิ้น
- เตียงทำจากทอง 24 เตียง
- คนใช้ 606 คน และสนมในฮาเร็มอีก 600 คน
รวมทั้งหมดแล้ว ทรัพย์สินของเหอเซินมีค่ามากถึง 1.1 พันล้านตำลึงเงิน ค่าดังกล่าวเทียบได้กับงบประมาณแผ่นดินของทั้งอาณาจักรชิงถึง 15 ปีด้วยกัน การตายของเหอเซินไม่ได้ทำให้การคอรัปชั่นสิ้นสุดลง เพราะมันได้ฝังลึกลงไปแล้วในสังคมจีน ราชวงศ์ชิงที่เคยรุ่งเรืองจึงเริ่มเสื่อมลงจนพ่ายแพ้ยับเยินต่ออังกฤษในสงครามฝิ่น