เทคโนโลยีซอฟต์แวร์รีวิว 6 โปรแกรมหา Keyword สำหรับการเขียน blog และโฆษณา

รีวิว 6 โปรแกรมหา Keyword สำหรับการเขียน blog และโฆษณา

โปรแกรมหา Keyword คือเครื่องมือหรือโปรแกรมที่ใช้ค้นหาคำที่มีคน search ใน search engine อย่าง Google และรายงานออกมาให้ผู้ใช้อย่างเป็นระบบ โดยในภาษาอังกฤษอาจจะเรียกว่า Keyword Tool หรือ Keyword Explorer ก็ได้ แต่จริงๆ แล้วคือเครื่องมือที่ทำหน้าที่เหมือนกันครับ

โปรแกรมเหล่านี้มีประโยชน์มาก เพราะการสรรหาคีย์เวิร์ดที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างที่ทราบกันดี คำที่ผู้ใช้งานระบุลงไปใน search engine มีมากกว่าเม็ดทรายในห้วงมหาสมุทร ผู้ใช้จะพิมพ์อะไรก็ได้เพื่อหาสิ่งที่พวกเขาต้องการ นอกจากนี้ยังเป็นหัวใจสำคัญของการทำ SEO อีกด้วย

ใช้ประโยชน์อย่างไร?

ทุกวันนี้ทั้งสองฝั่งของการตลาดออนไลน์ล้วนแต่ต้องการใช้งานโปรแกรมหา keyword ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • Blogger/Publisher – กลุ่มนี้คือผู้สร้าง content (ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น) โดยทั่วไปแล้วกลุ่มนี้จะใช้โปรแกรมหา keyword เพื่อหาตัวที่น่าสนใจและมีค่า CPC (Cost Per Click) สูงๆ เพื่อนำมาเป็นไอเดียเริ่มต้น และใช้เขียนเป็นบทความสร้างรายได้ต่อไป รวมไปถึงทำ SEO ทั่วไปให้บทความจากเว็บไซต์ของเราติดหน้าแรกของ Google
  • Advertiser – กลุ่มนี้คือผู้ต้องการโฆษณาอย่างเช่นธุรกิจทั่วไป พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ตลอดจนเว็บไซต์ e-commerce ทั้งหลาย พวกเขาใช้ Keyword Planner เพื่อหา keyword ที่มีคน search มาก แต่ CPC ต่ำ เพื่อนำไปโฆษณาผ่าน Google Ads ให้ประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด และนำไปสร้างยอดขายหรือ conversion เป็นลำดับต่อไป นอกจากนี้ยังใช้ในการทำ SEO เพื่อให้ติดอันดับสูงๆ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีโปรแกรมเหล่านี้มีทั้งดีและไม่ดี ในโพสนี้จะมีเครื่องมือทั้งหมด 6 ตัว ผมจึงจะมารีวิวคร่าวๆ ว่าตัวไหนมีคุณภาพ ใช้งานง่าย โดยจะเน้นไปที่เครื่องมือที่ให้ keyword ภาษาไทยนะครับ ส่วนภาษาอังกฤษไม่ต้องกังวล เพราะทุกตัวในที่นี้สามารถใช้หาได้อยู่แล้ว

ข้อควรทราบ: ราคาและเงื่อนไขของเครื่องมือแต่ละตัวอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ โปรดตรวจสอบกับทางเว็บไซต์โดยตรงเพื่อความชัดเจนครับ

1. KWFinder

KWFinder เป็นส่วนหนึ่งของ Mangools เครื่องมือทำ SEO ที่เป็นมีกลุ่มเป้าหมายรายย่อย KWFinder เป็นเครื่องมือที่มาแรงในระยะหลัง เพราะให้ความสำคัญกับการหาคีย์เวิร์ดแบบยาวโดยตรง ซึ่งคีย์เวิร์ดลักษณะนี้จะมีการแข่งขันที่ต่ำกว่า ทำให้เว็บไซต์ของเราทำ SEO ให้ติดอันดับที่หน้า 1 ได้ง่ายกว่านั่นเอง

ข้อมูลที่ KWFinder ให้จะมีตั้งแต่ยอด Search ในแต่ละเดือน, CPC, Trend, KD (ความยากง่ายที่จะติดอันดับต้นๆ) และยังให้ข้อมูลของเว็บไซต์ที่ติดหน้า 1 ด้วยว่ามีค่า Domain Authority เท่าไร และมี Backlink มีจำนวนมากขนาดไหนครับ คุณจะได้เข้าใจคร่าวๆ ว่า “คู่แข่งแข็งขนาดไหน”

นอกจากการใช้หาแบบทั่วไปแล้ว KWFinder ยังสามารถ search หา keyword แบบ “Autocomplete” และ “Question” ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดที่ใช้งานได้ดีมากๆครับ เพราะตรงกับกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง

โดยรวมแล้วขคุณภาพในการค้นหาจะเหนือกว่าโปรแกรมหา keyword ฟรีอย่างชัดเจนครับ (โดยเฉพาะถ้าเป็นภาษาอังกฤษ แต่ภาษาไทยก็ใช้ได้ดีครับ)

KWFinder's Keyword planner result
KWFinder เป็นหนึ่งในโปรแกรมหา keyword ซึ่งผมชอบมากที่สุดตัวหนึ่งในปัจจุบัน

จุดแข็งของ KWFinder

  • ข้อมูลที่ได้จากโปรแกรมค้นหา keyword มีคุณภาพมาก รองรับภาษาไทยได้เป็นอย่างดี
  • สามารถหาข้อมูล keyword แบบซับซ้อนได้ อาทิเช่น Long tail keywords หรือใช้ Autocomplete และ Questions ทำให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์เป็นอันดับต้นๆ
  • ตรวจสอบ keyword ของเว็บคู่แข่งได้อย่างง่ายๆ
  • User Interface สวย โหลดเร็ว และใช้งานง่าย โดยรวมแล้วผมชอบมากครับ
  • เจาะลึกจังหวัดได้ อย่างเช่นคุณสามารถเจาะหา keyword ซึ่งคนในจังหวัดเชียงใหม่หาเป็นจำนวนมากได้ ดังนั้นเหมาะต่อการโฆษณาที่เน้นเจาะเข้าถึงกลุ่มค้นหาให้ได้มากที่สุด
  • ราคาน่าคบหา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ (รายละเอียดอยู่ด้านล่าง)

ราคา

สิ่งนี้คือจุดแข็งอันดับต้นๆ ของ KWFinder เลยก็ได้ เพราะคุณจะได้โปรแกรมค้นหา keyword คุณภาพสูงในราคาที่ย่อมเยาไม่แพงจนเกินไป เรามาดูโครงสร้างราคาของ KWFinder กันดีกว่าครับ

ราคาของ KWFinder

KWFinder แบ่งระดับสมาชิกเป็น 3 แบบได้แก่

  • Mangools Basic ($29.90 หรือประมาณ 900 บาทต่อเดือนถ้าคุณจ่ายเป็นรอบปี)
  • Mangools Premium ($39.90 หรือประมาณ 1,200 บาทต่อเดือนถ้าคุณจ่ายเป็นรอบปี)
  • Mangools Agency ($79.90 หรือประมาณ 2,400 บาทต่อเดือนถ้าคุณจ่ายเป็นรอบปี)

แต่ละแพลนจะมีฟีเจอร์เหมือนกันหมด นั่นคือช่วยในการทำ SEO

  • Keyword Tool สำหรับการทำ keyword research ในทุกภาษา
  • SERP Analysis
  • Rank Tracking – ตรวจสอบ Ranking ของเว็บไซต์ว่าอยู่ในระดับไหน
  • Backlink Analysis – ตรวจสอบ Backlink ว่ามีใคร link มาหาคุณบ้าง มี Spam Link ที่ต้อง Disavow หรือไม่
  • SEO Metric & Insights

คำแนะนำ

สิ่งที่ KWFinder ให้มาแทบจะเหมือนกับที่โปรแกรมหา keyword ตัวแพงกว่าให้แทบจะทุกประการ แต่ค่าใช้จ่ายของกลับถูกกว่ามากเลยทีเดียว นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ผมบอกว่าตัวนี้เป็นเครื่องมือที่คุ้มค่าราคาครับ ซึ่งถ้าเป็นเว็บใหม่ คุณอาจจะไม่ต้องเอาเครื่องมือตัวที่แพงกว่าเลยครับ เริ่มต้นแค่นี้ก็พอแล้ว

ในแต่ละแพลนปริมาณทรัพยากรที่คุณใช้ได้จะต่างกันออกไป เช่นแบบ Basic จะใช้หาคีย์เวิร์ดได้เพียง 100 ครั้งต่อวัน แต่แบบ Premium จะเพิ่มเป็น 500 ครั้งเป็นต้น

ข้อเสียของ KWFinder ก็อยู่ตรงนี้นี่เอง เพราะโปรแกรมหา keyword ตัวอื่นนั้นให้การ search ต่อวันที่มากกว่าอย่างชัดเจน

ถ้าคุณใช้คนเดียวในส่วนนี้ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าคุณมีทีมเขียน content ที่ต้องการ keyword มากๆ ในแต่ละวันแล้ว โควตาที่ให้มาน่าจะไม่พออย่างแน่นอนครับ

ทั้งนี้ถ้าคุณสมัครสมาชิกทันทีใน 1 ชั่วโมงหลังจากที่สมัคร account เสร็จสิ้น คุณจะได้ลดค่าสมาชิกตลอดชีพอีก 10% ครับ นอกจากนี้ KWFinder ยังให้หา keyword ฟรีเป็นเวลา 10 วันอีกด้วย

2. SEMrush

ในการทำ SEO แล้ว SEMrush เป็นอีกหนึ่งเจ้าตลาดสำคัญ และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากๆ สำหรับใครที่ต้องการหาคีย์เวิร์ดครับ

SEMrush
SEMrush

ทั้งนี้ SEMrush จะรายงานข้อมูลสำคัญๆ ให้ผู้ใช้ทราบและนำไปใช้โฆษณาหรือเขียนบทความต่อไปได้อย่างง่ายดาย อย่างด้านล่างจะเห็นว่า SEMRush จะให้ข้อมูลของ keyword ภาษาไทยซึ่งผมกรอกเข้าไปอย่าง “โลโก้”

ตัวอย่างการใช้งานของ SEMRush

ข้อมูลในส่วนนี้ก็จะประกอบด้วย Search Volume (จำนวนการ search ต่อเดือน), Keyword Difficulty, CPC (Cost Per Click), Trend ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากๆ ต่อการทำ SEO ทั้งนั้นเลยครับ

นอกจากนี้ SEMRush ก็ยังจะมี Keyword Variations เพื่อหา Keyword ใกล้เคียงกันให้อีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้คุณสามารถเจาะลึกไปได้ลึกมาก โดยคุณจะสามารถเลือกรูปแบบการ Match ได้อย่างเช่น Exact Match (ตรงตามที่ระบุทั้งหมด) หรือว่า Related (มีความหมายคล้ายกัน)

ไม่เพียงเท่านั้นบนแพลตฟอร์มยังมี SERP Analysis ให้ดูอีกด้วยว่าเว็บไซต์ที่ติดอันดับบนๆ นั้นมี Backlinks เท่าไรบ้าง ฯลฯ เพื่อที่คุณจะได้นำไปวิเคราะห์ต่อไป

อย่างไรก็ดีบางครั้งผมประสบกับปัญหาบางอย่าง นั่นคือตัวโปรแกรมจะหา keyword ภาษาไทยบางคำไม่เจอเลยบ้าง ทำไปทำมาใช้ KWFinder อาจจะเร็วกว่าด้วยซ้ำไปครับ

จุดแข็งของ SEMrush

  • เป็นหนึ่งในโปรแกรมหา keyword ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในตลาด ข้อมูลทุกอย่างละเอียด ชัดเจน และเข้าใจง่าย ไม่มีการกั๊กแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังสามารถใช้หา long-tail keywords ที่มีคุณภาพได้ด้วย
  • ใช้ฟรีได้ 10 Requests ต่อวัน
  • ใช้ตรวจสอบเว็บไซต์คู่แข่งได้ โดยเป็นผู้ให้บริการ SEO service ไม่กี่แห่งที่คุณสามารถทำ Advertising Research ของคู่แข่ง รวมไปถึงภาพรวมของตลาดได้
  • รองรับภาษาไทยได้ดีในระดับหนึ่ง
  • ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ
  • การใช้งานง่าย

ราคา

SEMrush ไม่ได้ขายโปรแกรมหา keyword แต่เพียงอย่างเดียว ถ้าคุณสมัครสมาชิกกับ SEMrush คุณจะได้เครื่องมืออื่นๆ ที่ใช้ในการทำ SEO ด้วย อาทิเช่น

  • Site Audit
  • Rank Tracker
  • Traffic Analytics
  • Ad Research Tools
  • SEO Writing Assistant (ดีมากสำหรับ Blogger ต่างๆ)
  • SEO Checker
  • และอื่นๆ อีกมากมาย รวมแล้วมีเครื่องมือกว่า 40 ตัวด้วยกัน

ด้วยเครื่องมือที่มากมาย และอาจจะเรียกได้ว่าใช้งานได้ดีที่สุดในท้องตลาด นี่จึงทำให้ SEMRush เป็นหนึ่งในเครื่องมือทำ SEO อันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมครับ แต่ทั้งหมดนี้มีค่าใช้จ่าย ราคาอยู่ที่

  • Pro ($99.95 หรือประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน)
  • Guru ($199.95 หรือประมาณ 6,000 บาทต่อเดือน)
  • Business ($399.95 หรือประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน)

ถ้าคุณจ่ายเป็นรายปี ราคาต่อเดือนจะลดไป 16% ครับ สำหรับแต่ละแพลนจะแตกต่างกันที่ฟีเจอร์ครับ กล่าวถึงแพลน Guru ขึ้นไปจะใช้ content marketing platform ได้ ซึ่งจะช่วยเจาะลึกการทำ SEO ให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น

ส่วนแพลน Business จะเพิ่มทรัพยากรที่ใช้ได้ต่อเดือน อย่างเช่นในแต่ละเดือนจะ search หา keyword ได้เพิ่มมากขึ้นเป็นต้น แต่ฟีเจอร์หลักจะไม่ค่อยต่างกับแบบ Guru เท่าไร

คำแนะนำ

สำหรับเว็บไซต์หรือธุรกิจขนาดเล็ก-กลางที่ต้องการใช้โปรแกรมหา keyword เท่านั้น ผมว่าแค่แพลน Pro หรือ Guru ก็เพียงพอต่อความต้องการแล้ว เพราะฟีเจอร์การหา keyword นั้นใช้ได้สมบูรณ์อยู่แล้ว และไม่มีความจำเป็นที่ต้องการทรัพยากรของระดับ Business ครับ

ทั้งนี้ SEMRush ใจดีมาก เพราะให้ใช้ฟีเจอร์บางส่วนได้ฟรี หนึ่งในนั้นก็คือ Keyword Research ครับ คุณจะ search ได้ฟรี 10 ครั้งต่อวันหลังจากที่สมัคร account ครับ

3. Ahrefs Keyword Explorer

Ahrefs เป็นหนึ่งในผู้บริการชั้นนำในเรื่องของ SEO (Search Engine Optimization) ส่วนในเรื่องของ การค้นหา keyword นั้น Ahrefs มีแพลตฟอร์มที่เรียกว่า “Ahrefs Keyword Explorer” ซึ่งจะให้ข้อมูลคุณอย่างละเอียดไม่ว่าจะเป็น

  • Keyword Difficulty (ความยากง่ายของการ rank)
  • Search Volume (จำนวนยอด search ต่อเดือน)
  • CPC
  • Keyword Ideas (ถ้าคิดไม่ออก โปรแกรมจะไล่เรียง keyword ที่น่าสนใจให้กับคุณ)
  • ข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ อีกมากมาย
Ahref Keyword Explorer
Ahrefs keyword Explorer

จุดแข็งของ Ahrefs

  • ข้อมูลในโปรแกรมหา keyword ละเอียดครบถ้วน และมีความเที่ยงตรงเป็นอันดับต้นๆ ของตลาด
  • การแสดงผลข้อมูลต่างๆ ทำให้ผู้ใช้เข้าใจง่าย ไม่งง หรือพูดง่ายๆ คือ User Interface ดีเยี่ยมนั่นเอง
  • บริษัทเชื่อถือได้ เป็นที่ไว้วางใจมานานเกือบสิบปี
  • keyword ideas เยอะมาก
  • (แถม) Ahrefs เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการตรวจสอบ Backlink ในปัจจุบัน

ราคา

เนื่องจาก Ahrefs keyword explorer เป็นเครื่องมือหนึ่งของการทำ SEO ทั้งหมดของ Ahrefs และบริษัทไม่ได้แยกขายแพลตฟอร์มดังกล่าว ดังนั้นคุณจะต้องสมัครเป็นสมาชิกของ Ahrefs ถึงจะใช้บริการได้ครับ (เช่นเดียวกับ SEMRush)

สิ่งที่คุณจะได้จาก Ahrefs อีกนั่นก็คือ

  • Rank Tracker (ติดตาม keyword ว่ามีคน search เท่าไรอย่างไร มีแนวโน้มเป็นอย่างไร)
  • Site Audit/Content Explorer (ตรวจสอบว่าเว็บไซต์ของเรามีปัญหาในหน้าไหนบ้าง)
  • Site Explorer (เว็บไซต์ของเราได้ backlink จากที่ไหนบ้าง หรือ Ranking บน search engine ดีขึ้นหรือลดลง ฯลฯ)

รูปแบบของสมาชิกจะแบ่งออกเป็น 4 แบบด้วยกันได้แก่

  • Lite ($99 หรือประมาณ 2,970 บาทต่อเดือน)
  • Standard ($179 หรือประมาณ 5,370 บาทต่อเดือน)
  • Advanced ($399 หรือประมาณ 11,970 บาทต่อเดือน)
  • Agency ($999 หรือประมาณ 29,970 บาทต่อเดือน)

ถ้าคุณจ่ายรายปี คุณจะได้ใช้ฟรีไปอีก 2 เดือน หรือแปลว่าค่าบริการจะลดลงไป 20% ครับ

คำแนะนำ

แต่ละรูปแบบไม่มีความแตกต่างกันมากนักในเรื่องของฟีเจอร์ แต่แบบที่สูงกว่า คุณจะสามารถได้ทรัพยากรที่มากขึ้น อย่างเช่น audit ได้มากถึง 10-25 เว็บไซต์

นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลของคีย์เวิร์ดที่ลึกมากขึ้นจาก keyword planner อย่างเช่นแบบ Lite อาจจะให้ข้อมูลแค่ 30 วันหลังสุด แต่แบบ Advanced อาจจะย้อนหลังไปได้หลายปีเป็นต้น

ในส่วนนี้ผมมองว่า ถ้าคุณมีเว็บไซต์ที่เพิ่งเริ่มต้น หรือเว็บไซต์ขนาดกลางเพียงเว็บเดียว สมาชิกแบบ Lite น่าจะเพียงพอสำหรับคุณแล้วครับ

เนื่องจาก Ahrefs มีราคาค่าใช้จ่ายเท่ากับ SEMRush และฟีเจอร์คล้ายกัน ผมแนะนำให้เปรียบเทียบสองตัวนี้เข้าโดยกัน โดยวัดจากความชอบและความต้องการของคุณครับ

4. Keyword Tool

Keyword Tool หรือ Keywordtool.io เป็นโปรแกรมหา keyword อย่างเดียวเท่านั้น และไม่ได้ช่วยคุณทำ SEO ในแง่มุมอื่นอย่างเช่น Rank Tracker เลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ดีโปรแกรมของ Keyword Tool นั้นแตกต่างกับของเจ้าอื่นๆ อย่างมาก เพราะ keyword Tool จะสรรหา คีย์เวิร์ดตามระบบ Autocomplete ทำให้คุณสามารถหาคีย์เวิร์ดลับที่แอบอยู่และไม่ได้แสดงใน Google Keyword Planner ได้ครับ

นอกเหนือจาก Google แล้ว คุณยังสามารถใช้โปรแกรมตัวนี้ค้นหาคีย์เวิร์ดที่ถูก search บน Youtube, Bing, Instagram, Twitter ฯลฯ ได้อีกด้วย ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกเครื่องมือจะทำได้ครับ โดยเฉพาะ Youtube ที่เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือตัวเดียวที่ทำได้เลยก็ว่าได้

หนึ่งในข้อดีของ Keyword Tool คือคุณลองใช้งานได้ฟรี เมื่อคุณลองใช้งาน Keyword Tool ผลการค้นหาจะออกมาตามนี้ อย่างเช่นผมลอง search หาคำว่า “ข้าวผัดปู”

Keyword Tool
keyword Tool

Keyword Tool จะแสดงผลการค้นหาที่เกี่ยวกับคำว่า “ข้าวผัดปู” ทั้งหมด 184 คำ รวมไปถึง Search Volume, Trend, CPC และ Competition แต่แน่นอนว่าผมจะไม่เห็นข้อมูลดังกล่าว เพราะไม่ได้เสียเงินสมัครสมาชิกแบบพรีเมียมนั่นเองครับ

แต่ที่ดีจริงๆ คือคุณสามารถหา keyword ภาษาไทยในรูปแบบ “คำถาม” ได้ด้วย

การที่สามารถ search แบบคำถามได้ ทำให้คีย์เวิร์ดที่ได้เป็นทั้งแบบ Long-tailed ซึ่งมีคู่แข่งน้อยกว่า โอกาสที่จะได้ rank ดีๆ ย่อมมากกว่า นอกจากนี้ยังรองรับ Voice Search ซึ่งเป็น trend ที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย

ในส่วนของคีย์เวิร์ดแบบคำถามนี้ จากที่ลองมาหลายตัว ผมพบว่า Keyword Tool เป็นโปรแกรมที่หา keyword ภาษาไทยรูปแบบนี้ได้ดีที่สุดแล้วครับ

ส่วนมากแล้วการค้นหาโดยโปรแกรมตัวอื่นจะไม่เจอเท่าไร อย่างไรก็ดีความละเอียดของข้อมูลยังไม่สามารถสู้ SEMRush, Ahrefs หรือแม้กระทั่ง KWfinder ได้ครับ

จุดแข็งของ Keyword Tool

  • keyword ที่หาได้มาจากโปรแกรม มีคุณภาพและมีข้อมูลทุกอย่างที่เราจำเป็นต้องใช้
  • เป็นเครื่องมือที่หาคีย์เวิร์ดที่เป็นรูปแบบคำถามได้
  • สามารถ search หาจาก platform ได้หลากหลายโดยไม่จำกัดเฉพาะ search engine ไม่ว่าจะเป็น Youtube, Twitter, Instagram, Amazon ข้อนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นเพราะเป็น Keyword Explorer ไม่กี่ตัวที่ทำได้
  • เป็น Keyword Tool ที่ใช้กับภาษาไทยได้เป็นอย่างดี
  • ลองใช้เบี้องต้นได้ฟรี
  • ข้อมูลต่างๆ ในแบบพรีเมียมไม่ได้เป็นช่วงให้รู้สึกรำคาญใจ
  • ถ้าสมัครแล้วไม่พอใจ สามารถรับเงินคืนได้ใน 30 วัน

ราคา

Keyword Tool ขายเฉพาะโปรแกรมหา keyword เท่านั้น ไม่ได้ขาย SEO Service ทั้งหมดแบบ KWFinder หรือ SEMRush ดังนั้นคุณจะไม่ได้ Site Audit หรือ Rank Tracker แต่ก็เป็นเรื่องดีเพราะคุณไม่จำเป็นต้องเสียเงินในสิ่งที่ไม่ได้ใช้ครับ

รูปแบบสมาชิกประกอบด้วย 3 แบบได้แก่

  • Pro Basic ($89 ต่อเดือน, $69 ต่อเดือนถ้าจ่ายเป็นรายปี)
  • Pro Plus ($99 ต่อเดือน, $79 ต่อเดือนถ้าจ่ายเป็นรายปี)
  • Pro Business ($199 ต่อเดือน, $159 ต่อเดือนถ้าจ่ายเป็นรายปี)

คำแนะนำ

ในทั้งสามรูปแบบนี้ ผมแนะนำให้สมัคร Pro Plus เนื่องจาก Pro Basic คุณจะไม่ได้ข้อมูล CPC และ Competition ซึ่งสำหรับ Advertiser และ Blogger แล้วคีย์เวิร์ดที่ได้มาแทบจะไม่มีประโยชน์เลย เพราะคุณไม่รู้ข้อมูลสองตัวนี้ครับ

ส่วน Pro Business จะเหนือกว่าตรงที่สามารถใช้ API Requests ได้ และสามารถหา keyword ต่อวันได้มากกว่า Pro Plus ซึ่งในส่วนนี้ไม่จำเป็นสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป

อย่างไรก็ดีค่าใช้จ่ายถือว่าแพงไม่น้อย โดยเฉพาะถ้าพิจารณาว่าไม่ได้มี SEO service ที่ครบถ้วนเหมือนกับตัวอื่นๆ ครับ

5. Neil Patel / Ubersuggest

Neil Patel เป็นกิจการ SEO ของ “Neil Patel” ชายผู้เป็น digital marketer อันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเว็บไซต์ของเขาก็ใช้ชื่อเดียวกัน และในเว็บไซต์ของเขามีโปรแกรมหา keyword ชั้นยอดชื่อว่า Ubersuggest อยู่ครับ

Ubersuggest จะรายงานข้อมูลเกี่ยวกับ keyword ที่คุณต้องการอย่าง keyword ideas, CPC, Competition, SEO difficulty, Paid search difficulty, Trend ทั้งหมดจะรายงานเป็นเลขตรงๆ ไม่ได้เป็นช่วงเหมือนกับบางเว็บไซต์ครับ

Ubersuggest
Neil Patel/Ubersuggest

จุดแข็งของ Neil Patel/Ubersuggest

  • Ubersuggest รายงานข้อมูลเบี้องต้นอย่างละเอียดให้คุณได้ฟรีแบบไม่มีกั๊กใน keyword ที่คุณ search และอีก 9 keyword ideas ที่เกี่ยวข้อง (UPDATE: 12/2020 ก่อนหน้านี้ Ubersuggest ไม่จำกัดครั้งการค้นหาแบบฟรี แต่ในปัจจุบันจำกัดแล้วเป็นที่เรียบร้อย โดยในปัจจุบันอยู่ที่ 3 ครั้งต่อวันครับ)
  • มีการจัดลำดับให้เห็นชัดเจนว่าถ้าอยากจะได้ rank ในหน้า 1 ควรจะมี Domain score และ backlink เท่าไร
  • สามารถใช้หาคีย์เวิร์ดแบบยาวได้ รวมถึงแบบคำถามด้วย แม้ว่าจะเป็นแบบฟรีก็ตาม
  • รวบรวมไอเดียจากเว็บคู่แข่งมาให้คุณเห็นว่าเขาเขียนอะไรกันบ้าง
  • แบบ Pro ราคาถูกมาก เหมาะสำหรับเว็บหรือผู้ประกอบการที่เพิ่งเปิด และยังมีรายได้ไม่มากนัก
  • ถ้าคุณสมัครแบบ Pro คุณจะ search หา keyword เท่าไรก็ได้ ไม่มีจำกัดเหมือนบางเว็บไซต์

ราคา

ในปัจจุบัน Ubersuggest เปลี่ยนโครงสร้างราคาใหม่เป็นที่เรียบร้อย โดยราคาใหม่จะมีแบบรายเดือน (Monthly) และตลอดชีพ (Lifetime) โดยประกอบด้วย 3 แพลนได้แก่

  • Individual – $12 (360 บาท) ต่อเดือน หรือ $120 (3,600 บาท) แบบตลอดชีพ
  • Business – $20 (600 บาท) ต่อเดือน หรือ $200 (6,000 บาท) แบบตลอดชีพ
  • Enterprise/Agency – $40 (1,200 บาทต่อเดือน) หรือ $400 (12,000 บาท) แบบตลอดชีพ

คำแนะนำ

เราจะเห็นว่าแบบรายตลอดชีพนั้นมีราคาเท่ากับแบบรายเดือน 10 เดือน ดังนั้นถ้าคุณคิดว่าจะทำเว็บไซต์หรือใช้ทำโฆษณาแบบจริงจัง เลือกแบบตลอดชีพไปเลยดีที่สุดครับ

Neil Patel ให้บริการ Rank Tracking, Site Audit, Competitive Analysis, ติดตาม Backlinks รวมไปถึง keyword planner ด้วย ทำให้ดูเผินๆ แล้วคุ้มค่า

อย่างไรก็ดีจากที่ผมใช้งานแบบตลอดชีพมา ผมมองว่า Ubersuggest พอใช้ได้แค่ระดับนึงเท่านั้น อย่างเรื่อง keyword planner ไม่อาจเทียบได้กับ KWFinder หรือ SEMRush ในเรื่องความละเอียด

นอกจากนี้คุณยังต้องเผชิญปัญหาต้อง Login ใหม่ทุกครั้งที่เข้าใช้งาน แถมบางทียังค้างอีกต่างหากครับ ผมขอนิยามเลยว่าเต็มไปด้วย Bugs เลยละกัน

โดยรวมแล้วผมจึงมองว่าถ้าคุณมีงบประมาณนึง เลือกใช้งาน KWFinder จะดีกว่ามากครับ แต่แบบฟรีวันละ 3 ครั้ง ผมก็แนะนำให้ลองใช้งานครับ

6. Moz Keyword Explorer

Moz Keyword Explorer เป็นโปรแกรมหา keyword ของบริษัททำ SEO ชั้นนำอย่าง Moz ที่เป็นที่ไว้วางใจในตลาดมานานนับสิบปี

Moz จะให้ผลการค้นหาออกมาใน 4 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่

  • Monthly Volume
  • Difficulty (ความยากง่ายของการ Rank)
  • Organic CTR
  • Priority (คุณภาพของ keyword วัดโดยปัจจัยต่างๆ ของ Moz)

นอกจากนี้ยังมี keyword Suggestions และ SERP Analysis ด้วย

Moz keyword Explorer

จุดแข็งของ Moz

  • การจัดเรียงข้อมูลเข้าใจง่าย
  • SERP Analysis บอก Domain Authority (DA) และ Page Authority (PA) ของเว็บไซต์คู่แข่ง ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าคู่แข่งเราแข็งเพียงใด
  • ตัว Suggestions ละเอียดมาก เหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องการคีย์เวิร์ดที่เจาะจงมากๆ
  • มีให้ใช้ค้นหาฟรี 10 ครั้งต่อเดือน และมีให้ลองใช้แบบพรีเมียมฟรีเป็นเวลา 30 วัน

อย่างไรก็ดีจากที่ผมลองใช้มา ผมพบว่า Moz มีปัญหาที่สำคัญมากต่อการพิจารณาได้แก่

  • ไม่แสดง Monthly Volume ของ keyword ภาษาไทยบางคำ
  • ไม่แสดง CPC

จากปัญหาทั้งสอง ทำให้ผมมองว่าตัวเลือกอื่นเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าถ้าคุณต้องการใช้ keyword ภาษาไทยครับ

ราคา

เช่นเดียวกับ Ahrefs นั่นคือ Moz ไม่ได้ขาย Keyword Explorer แบบแยก ถ้าคุณต้องการจะใช้งาน คุณต้องสมัครสมาชิกที่เรียกว่า Moz Pro ซึ่งจะแบ่งออกเป็น

  • Standard ($99 หรือประมาณ 2,970 บาทต่อเดือน)
  • Medium ($179 หรือประมาณ 5,370 บาทต่อเดือน)
  • Large ($249 หรือประมาณ 7,470 บาทต่อเดือน)
  • Premium ($599 หรือประมาณ 17,970 บาทต่อเดือน)

ถ้าคุณจ่ายเป็นรายปีจะได้ส่วนลด 20%

เช่นเดียวกับ Ahrefs ถ้าคุณสมัคร Moz Pro คุณจะได้ฟีเจอร์อื่นๆ ด้วยได้แก่ Rank Tracking และ Site Crawl แต่ที่น่าสนใจคือ Page Optimization ซึ่งโปรแกรมของ Moz จะสแกนเว็บไซต์แต่ละหน้า และวิเคราะห์ว่า คุณสามารถแก้ไขอย่างไรให้ ranking สูงขึ้นได้

ระดับของ Moz Pro จะกำหนดว่าคุณสามารถใช้ทรัพยากรของ Moz ได้เท่าไร อาทิเช่น Premium จะสามารถ search หา keyword ได้เยอะกว่าแบบ Standard นั่นเอง

เลือกโปรแกรมหา Keyword ตัวไหนดี?

ในความคิดเห็นของผม ผมมองว่าโปรแกรมหา Keyword ที่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปที่สุดคือ KWFinder ครับ เพราะมีประสิทธิภาพต่างๆ นั้นช่างเกินราคา โดยรวมแล้วเหมาะกับเว็บไซต์ขนาดเล็กและกลางมากเลยทีเดียว

แต่ถ้าเว็บไซต์ของคุณเริ่มที่จะเติบโตมากขึ้น ผมมองว่าการลงทุนกับ SEMRush หรือ Ahrefs นั้นก็เป็นทางเลือกที่ไม่แย่เช่นเดียวกัน เพราะทั้งสองโปรแกรมมีฟีเจอร์ที่ดีกว่า KWfinder รวมไปถึงทรัพยากรต่างๆก็ดีกว่าด้วยครับ

งบน้อยจะทำอย่างไรดี?

ถ้าคุณกำลังเปิดเว็บไซต์ใหม่ (อย่างเช่นเว็บของผมเป็นต้น) เราคงอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน นั่นคืองบน้อย และยังไม่สามารถจ่ายเงินซื้อโปรแกรมหา keyword ที่ราคาหลายพันบาทต่อเดือนได้ แล้วเราจะหา keywords ดีๆ อย่างไรดี?

ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยครับ ลองทำตามวิธีเหล่านี้ดู

วิธีแรก

เริ่มต้นที่ใช้เครื่องมือของ Google

ตัวแรกที่ใช้คือ Keyword Planner ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่อยู่ใน Google Ads คุณสามารถใช้ฟรีหลังจากที่คุณ login เข้าไปใน Google Ads แล้ว (ไม่ต้องเสียเงินโฆษณาก็ใช้ได้ครับ)

Keyword Planner เป็นโปรแกรมหา keyword ฟรี โดยจะให้ข้อมูลที่ละเอียดประมาณนึง และให้ไอเดียกับผู้ใช้งานได้พอสมควร เช่นเดียวกับข้อมูล CPC และ Competition ซึ่งแน่นอนว่าความน่าเชื่อถือเต็มร้อยเพราะเป็นของ Google เอง

อย่างไรก็ดีตอนนี้ Google keyword planner จะไม่แสดงผลของ keyword บางคำ ทำให้การค้นหายากขึ้น แต่ก็ยังพอใช้ได้อยู่ครับ

ตัวต่อมาก็คือ Google Search Console ครับ เพราะจะแสดงให้เห็นว่าคีย์เวิร์ดไหนที่เว็บไซต์ของเรากำลัง Rank อยู่บ้าง ซึ่งคุณสามารถนำมา optimize เพื่อให้ติดอันดับดีขึ้นไปอีก

วิธีที่ 2

บางผู้ให้บริการอย่างเช่น SEMrush จะให้คุณหา keyword ฟรี 5-10 ครั้งต่อวัน ดังนั้นก็อย่าลืมใช้ครับ

เพียงเท่านี้คุณจะได้คีย์เวิร์ดในเรื่องนั้นๆ มาเป็นจำนวนมากแล้ว ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายกับธุรกิจของคุณไปมากโข แต่ถ้าเว็บไซต์ของคุณใหญ่ขึ้น หรือธุรกิจมียอดขายมากขึ้นแล้ว การลงทุนกับโปรแกรมหา keyword ที่มีคุณภาพจะช่วยเว็บไซต์ของคุณมี traffic พุ่งขึ้นเป็นจรวดเลยครับ

ดังนั้นการสมัครสมาชิกระดับพรีเมียมย่อมเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างแน่นอน

ส่งท้าย

โพสนี้จะมีการอัพเดตอยู่เรื่อยๆ นะครับ ถ้าผมเจอเครื่องมือค้นหา keyword ตัวไหนดีๆ และรองรับ keyword ภาษาไทย ผมจะนำมาแชร์เพิ่มเติมในโพสนี้ครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!