ประวัติศาสตร์กบฏวังหลวง: ความพยายามครั้งสุดท้ายของนายปรีดี พนมยงค์

กบฏวังหลวง: ความพยายามครั้งสุดท้ายของนายปรีดี พนมยงค์

กบฏวังหลวงเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ปรารถนาจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นในแผ่นดินไทย ความล้มเหลวในเหตุการณ์นี้เป็นการปิดฉากอิทธิพลของกลุ่มสองกลุ่มได้แก่ คณะราษฎรสายพลเรือน และเสรีไทยไปอย่างถาวร

ปรีดี พนมยงค์

ปรีดี พนมยงค์

ในปี ค.ศ.2490 กลุ่มนายทหารที่นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณได้ทำรัฐประหารต่อรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐประหารดังกล่าวได้ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ และคนสนิทต้องหลบหนีออกจากกรุงเทพมหานครด้วยการช่วยเหลือของทหารเรือ ท้ายที่สุดแล้วนายปรีดีได้หลบหนีไปยังประเทศจีนในปี พ.ศ.2491

คณะทหารได้ให้ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อีกไม่นานก็บังคับให้ควงลาออก และเชิญจอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน คณะทหารได้พยายามทำทุกวิธีทางเพื่อกวาดล้างฝ่ายของปรีดีให้หมดสิ้นไปจากการเมืองไทย ด้วยการใส่ความต่างๆ นาๆ ข้อกล่าวหาปรีดีแต่ละข้อล้วนแต่ร้ายแรงทั้งสิ้น

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

การกวาดล้างของคณะทหารทำให้ปรีดีและพรรคพวกเห็นว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป ความฝันของพวกตนที่จะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงในประเทศไทยคงจะหลุดลอยไปทุกที ปรีดีจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องยึดอำนาจรัฐกลับคืนมาให้ได้เสียก่อน

แผนการของปรีดีคือ เขาจะใช้ทหารเรือและเสรีไทยซึ่งเป็นสองกลุ่มผู้สนับสนุนที่สำคัญที่สุดเป็นหัวหอก และจะพยายามดึงทหารบกบางส่วนเข้าร่วม เมื่อร่างแผนการได้พร้อมแล้ว การเชิญชวนก็ได้เริ่มต้นขึ้น ปรากฏว่าปรีดีได้รับตอบรับจากทหารหลายกลุ่ม ทำให้เขาและพรรคพวกมั่นใจมากขึ้นว่ารัฐประหารจะประสบความสำเร็จ

การกลับมาของปรีดี

ปรีดีได้เดินทางกลับมายังสิงคโปร์และพำนักอยู่ที่นั่นประมาณ 7 เดือน และได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยอย่างเงียบๆ ผ่านทางการช่วยเหลือของทหารเรือ ในช่วงนี้ปรีดีตั้งใจว่าเขาจะรวบรวมกำลังที่เหนือกว่าเพื่อบังคับให้ฝ่ายจอมพล ป.พิบูลสงครามยอมแพ้ และยอมรับเงื่อนไขของฝ่ายตนอย่างสันติวิธี

สันติวิธีเป็นสิ่งที่ปรีดีสนับสนุนมาตลอดในชีวิตของเขา แต่มันมีส่วนสำคัญให้เขาต้องพบกับความล้มเหลวในบั้นปลาย เพราะฝ่ายตรงข้ามไม่ได้มีแนวคิด “สันติวิธี” อะไรแบบปรีดี เห็นได้จากที่จอมพล ป. พิบูลสงครามได้พูดเป็นนัยๆ ไว้หลายครั้งว่าจะต้องมีการปราบปรามเพื่อรักษาความสงบผ่านทางวิทยุกระจายเสียง และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ล่วงหน้าเป็นที่เรียบร้อยทั้งๆ ที่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากนี้จอมพล ป. ยังสั่งให้ทหารบกซ้อมรบด้วยกระสุนจริงเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมอีกด้วย

หากแต่ว่าปรีดีเองไม่ทราบเลยว่าฝ่ายรัฐบาลได้ทราบแล้วว่าปรีดีได้กลับมายังประเทศไทย และอยู่ในการคุ้มกันของทหารเรือ ปรีดีได้เตรียมแผนการยึดอำนาจต่อไป จนกระทั่งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 การยึดอำนาจก็เริ่มต้นขึ้น

กบฏวังหลวง

สองทุ่มของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปรีดีและพรรคพวกได้ขนอาวุธขึ้นมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และขึ้นฝั่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-ท่าพระจันทร์ กองกำลังเสรีไทยและส่วนอื่นๆ ที่นัดหมายก็เริ่มเคลื่อนกำลังเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญ กองกำลังฝ่ายปรีดีส่วนหนึ่งได้เข้ายึดพระบรมมหาราชวังได้สำเร็จ และตั้งเป็นศูนย์บัญชาการ (และที่มาของชื่อเหตุการณ์ครั้งนี้)

สถานการณ์ทั้งหมดดูเหมือนว่าฝ่ายปรีดีจะเป็นต่อ เพราะที่มั่นสำคัญและสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์พญาไทตกอยู่ในมือของฝ่ายปรีดีทั้งหมด ผู้นำของฝ่ายรัฐบาลเองก็อยู่คนละที่ และไม่สามารถติดต่อกันได้เลย ปรีดีรีบชิงประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ด้วยการประกาศให้ดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยที่ทั้งสองไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการก่อการครั้งนี้เลย

แต่แล้วปัญหาของฝ่ายปรีดีก็เริ่มต้นขึ้น กองทหารนาวิกโยธินที่นัดหมายว่าจะยกเข้ามาสนับสนุนกลับไม่สามารถเคลื่อนเข้ามาช่วยเหลือได้ เพราะว่าติดน้ำลงอยู่ที่ท่าข้ามแม่น้ำบางปะกง (น่าสงสัยว่าเป็นเพราะความผิดพลาดในการวางแผนหรือโชคร้าย) ทำให้ฝ่ายของนายปรีดีโดดเดี่ยวและไม่ได้รับกำลังสนับสนุนอย่างที่ควรจะเป็น

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เมื่อขาดกำลังในการยึดสถานที่ต่างๆ ซึ่งตามแผนจะต้องเป็นหน้าที่ของทหารเรือที่ยกมาหนุน ทำให้ฝ่ายรัฐบาลตั้งตัวติด จอมพล ป.พิบูลสงครามได้ให้พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น) เป็นผู้อำนวยการในการปราบปรามพวกกบฏ ทหารฝ่ายรัฐบาลได้เข้าโจมตีที่มั่นของฝ่ายกบฏอย่างรุนแรงด้วยกระสุนจริง ทำให้ประชาชนโดนลูกหลงเสียชีวิตไปหลายคน

การสู้รบดำเนินต่อไปจนกระทั่งช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น พลตรีสฤษดิ์ได้นำทหารเข้ายึดพระบรมมหาราชวังคืนจากฝ่ายกบฏและนำกำลังเข้าต่อสู้กับกำลังของฝ่ายนายปรีดีหลายจุดในกรุงเทพ ฝ่ายรัฐบาลจึงได้จุดยุทธศาสตร์สำคัญคืนมาตามลำดับ

ในช่วงกลางวันของวันที่ 27 ฝ่ายรัฐบาลที่คุมสถานการณ์ไว้ได้เกือบหมดแล้วจึงใช้วิธีประนีประนอมกับทหารเรือ ทำให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงในที่สุด เหตุการณ์ทั้งหมดสิ้นสุดลงในเย็นวันที่ 27 นั้นเอง

ผลที่ตามมา

ความพยายามยึดอำนาจของปรีดี พนมยงค์จึงล้มเหลวลง ปรีดีจำต้องหนีออกนอกประเทศไปอีกครั้งหนึ่ง และไม่ได้กลับเข้ามาในประเทศไทยอีกเลย ปรีดีได้หลบหนีไปยังประเทศจีนเป็นเวลานานถึง 21 ปี ในเวลาต่อมาก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ปรีดีจึงไม่มีอิทธิพลใดๆ ในการเมืองไทยอีกต่อไป ปรีดีใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ จนเสียชีวิตในปี พ.ศ.2526 อายุได้ 82 ปี

ความล้มเหลวของกบฏวังหลวงทำให้ฝ่ายรัฐบาลกวาดล้างกลุ่มของปรีดีอย่างรุนแรง เช่น เหตุการณ์สังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีฝ่ายนายปรีดี และการสังหารคนสนิทของนายปรีดีหลายคน บทบาททางการเมืองของคณะราษฎรสายพลเรือนและเสรีไทยจึงหมดสิ้นไปอย่างถาวร และประเทศไทยก็ตกอยู่ในอุ้งมืออำนาจนิยมจนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516

กลุ่มทหารเรือที่ช่วยเหลือนายปรีดีก็ยังมีความคิดต้องการจะทำรัฐประหารรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามอยู่ ต่อมาทหารเรือบางส่วนได้พยายามทำรัฐประหารอีกครั้งในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน แต่ก็ล้มเหลวอีกเช่นเดียวกัน รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามจึงได้ทำการลดบทบาทของทหารเรือไปอย่างถาวร ทำให้อิทธิพลทางการเมืองของทหารเรือจบสิ้นไปตั้งแต่บัดนั้น

ถึงแม้จอมพล ป. และปรีดีจะเป็นศัตรูกันในช่วงนี้ แต่หลังจากที่จอมพล ป.โดนทำรัฐประหารและลี้ภัยไปยังญี่ปุ่น เขาได้ติดต่อกับปรีดีที่อยู่จีนหลายครั้ง และมีความคิดว่าจะกลับมาเป็นพันธมิตรกันเพื่อชิงอำนาจรัฐกลับคืนมา แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้นเมื่อ จอมพล ป.เสียชีวิตเสียก่อนในปี พ.ศ.2507

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!