ประวัติศาสตร์โกคูรยอล่มสลาย (4): ยุทธศาสตร์ใหม่ การรุกรานครั้งใหม่

โกคูรยอล่มสลาย (4): ยุทธศาสตร์ใหม่ การรุกรานครั้งใหม่

จากสามตอนที่ผ่านมา ราชวงศ์สุยและถังของจีนพยายามรุกรานโกคูรยอมาหลายครั้ง ตั้งแต่ในสมัยของสุยเหวินตี้ สุยหยางตี้ และ ถังไท่จง การรุกรานทั้งหมดล้วนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ทหารจีนล้มตายมากมาย

จนกระทั่งมาถึงสมัยของฮ่องเต้พระองค์ใหม่ ถังเกาจง หลังจากที่ปัญหาภายในระหว่างพวกหัวเก่าและหัวใหม่เริ่มสงบลงแล้ว ถังเกาจงปรารถนาจะยกไปตีโกคูรยออีกครั้งหนึ่ง การรุกรานครั้งนี้จะเป็นการรุกรานโกคูรยอครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ 4 (ก่อนหน้านี้คือ ค.ศ. 598, 612, 645)

แต่ในครั้งนี้ราชสำนักถังเรียนรู้จากความพ่ายแพ้ครั้งก่อนจึงได้ยุทธศาสตร์ใหม่ในการโจมตีโกคูรยอ

ยุทธศาสตร์ใหม่

ในตอนที่แล้ว ผมได้เล่าถึงการเจริญสัมพันธไมตรีเป็นพันธมิตรกันของราชวงศ์ถังกับชิลลาไปแล้วในปี ค.ศ.645 แต่เมื่อราชวงศ์ถังรุกรานโกคูรยอในปีเดียวกัน ชิลลากลับไม่ได้เข้าร่วมสงครามทั้งๆ ที่ชิลลาตั้งอยู่ทางใต้ของโกคูรยอ สามารถตีกระหนาบโกคูรยอจากอีกด้านหนึ่งได้

สาเหตุที่ว่าก็คือ แพ็คเจ อีกอาณาจักรหนึ่งที่อยู่ทางใต้ของคาบสมุทรเกาหลีและเป็นพันธมิตรของโกคูรยอได้เข้าโจมตีชิลลา และยึดเมืองของชิลลาไปเจ็ดหัวเมือง ทำให้ชิลลาไม่สามารถเคลื่อนทัพช่วยเหลือกองทัพถังในการตีโกคูรยอในที่สุด

วัด Mireuksa สร้างก่อนการสิ้นชาติของแพ็กเจเล็กน้อย

ในปี ค.ศ. 659 ชิลลาที่โดนโกคูรยอและแพ็กเจรุกรานจึงเสนอให้ราชวงศ์ถังส่งกองทัพเรือเข้ารุกรานแพ็กเจโดยตรง ส่วนชิลลาจะตีกระหนาบแพ็กเจอีกด้านหนึ่ง ถ้าแพ็กเจพินาศไปแล้ว ชิลลาจะสามารถเข้าโจมตีโกคูรยอจากทางด้านหลังได้อีกด้วย

ข้อเสนอนี้ทำให้ราชสำนักถังรู้สึกสนใจ เพราะกองทัพที่เพิ่งส่งไปในปี ค.ศ.658 กำลังถูกโกคูรยอตีพ่ายกลับมา ดังนั้นการลองวิธีใหม่ดูก็ไม่เสียหายอะไร

ในปี ค.ศ.660 ถังเกาจงโปรดให้กองทัพถังขนาดใหญ่จำนวน 130,000 นายข้ามทะเลเหลืองบุกตรงเข้าตีแพ็กเจทางด้านตะวันตก ส่วนชิลลาก็ส่งกำลังทหารจำนวน 50,000 นาย เข้าตีแพ็กเจจากทางด้านตะวันออก

แพ็กเจล่มสลาย

แพ็กเจเป็นอาณาจักรเล็กๆ ที่มีผู้คนไม่มากนัก แพ็กเจมีทหารทั่วทั้งอาณาจักรแค่หลักหมื่นเท่านั้น มิหนำซ้ำอาณาจักรยังอยู่ในความขัดแย้งที่มีมานานหลายปีระหว่างชนชั้นสูงอีกด้วย

กองทัพชิลลามาถึงแพ็กเจก่อน เพราะว่าไม่ต้องข้ามทะเลมาเหมือนกองทัพถัง กองทัพชิลลามีกำลังทหารห้าหมื่นคน นำโดยแม่ทัพคิมยูชิน (Kim Yu-shin) ที่ชิลลารีบยกมาก่อนก็เพื่อจะเร่งตีดินแดนแพ็กเจให้ได้มากที่สุด ก่อนที่กองทัพถังจะมาและเขมือบดินแดนแพ็กเจไปทั้งหมด

อนุสาวรีย์ คิมยูชิน Cr: Alain Seguin

กษัตริย์อึยจาแห่งแพ็กเจทรงรวบรวมกำลังทหารได้เพียงห้าพันคนเท่านั้น พระองค์โปรดให้ยกไปต้านทานกองทัพของชิลลา ถึงแม้กองทัพของแพ็กเจจะต่อสู้อย่างเข้มแข็ง และรักษาที่มั่นเอาไว้ได้นาน แต่กองทัพของชิลลามีมากกว่ามาก กองทัพของแพ็กเจจึงแตกกระจัดกระจายไปในที่สุด

อีกไม่นานกองทัพของราชวงศ์ถังก็มาถึง และพุ่งตรงไปยังเมืองหลวงของแพ็กเจในทันที แต่การต่อต้านของแพ็กเจไม่อาจจะทำได้อีกแล้ว ซาบิ เมืองหลวงของแพ็กเจแตกในเวลาอันรวดเร็ว กษัตริย์อึยจาทรงถูกจับเป็นเชลยและส่งตัวไปยังแผ่นดินถัง

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมโกคูรยอถึงไม่ให้การช่วยเหลือ คำตอบคือโกคูรยอไม่อาจจะกระทำได้ เพราะว่าระหว่างโกคูรยอกับแพ็กเจมีหุบเขาและแม่น้ำฮั่นกั้นอยู่ และดินแดนส่วนนี้ในเวลานั้นอยู่ในมือชิลลาครึ่งหนึ่ง และมีการป้องกันอย่างเข้มแข็งอีกด้วย กองทัพของโกคูรยอจึงไม่อาจไปถึงแพ็กเจได้ทันเวลา

หลังจากนั้นดินแดนแพ็กเจจึงแบ่งออกเป็นสามส่วนได้แก่ ส่วนของชิลลา ส่วนของถัง และส่วนของกบฏแพ็กเจ (พวกกบฏแพ็กเจได้ส่งทูตไปขอให้อาณาจักรญี่ปุ่นช่วยเหลือ ในปี ค.ศ.663 กองทัพเรือญี่ปุ่นจำนวน 42,000 นายได้เดินทางมายังคาบสมุทรเกาหลีเพื่อช่วยแพ็กเจ แต่กลับถูกทหารเรือชิลลาและถังจำนวน 7,000 คนตีแตกพ่าย)

ถึงแม้ว่าดินแดนแพ็กเจจะยังไม่สงบราบคาบ แต่ราชสำนักถังก็ได้กำจัดพันธมิตรของโกคูรยอไปได้ ทำให้โกคูรยอโดดเดี่ยว ด้วยเหตุนี้ในปี ค.ศ.661 ถังเกาจงจึงให้กองทัพใหญ่ยกไปตีโกคูรยอ ในครั้งนี้เป็นการรุกรานโกคูรยอครั้งใหญ่ครั้งที่ 4 (แต่ถ้านับรวมครั้งย่อยด้วย น่าจะมากกว่าสิบครั้งแล้ว)

กลยุทธ์ใหม่

กองทัพของราชวงศ์ถังในครั้งนี้มีกำลังไม่น้อยกว่า 350,000 นาย บ้างว่ามากถึง 440,000 นาย แบ่งออกเป็นหกกองทัพ ในครั้งนี้กองทัพถังได้เลือกใช้เส้นทางน้ำเป็นเส้นทางหลัก กองทัพเรือถังจะนำกำลังทหารสี่กองทัพข้ามทะเลเหลืองไปยังเปียงยาง เมืองหลวงของโกคูรยอโดยตรง เพื่อที่จะได้ข้ามแนวป้องกันอันแข็งแกร่งของโกคูรยอที่เหลียวตงไปทั้งหมด ส่วนอีกสองกองทัพให้บุกเข้าทางเส้นทางเดิม แต่ที่จะล่อหลอกทหารโกคูรยอไปอยู่ที่ด้านนั้น

กลยุทธ์นี้ราชวงศ์ถังใช้กับแพ็กเจมาแล้วได้ผล นั่นคือพุ่งตรงไปที่เมืองหลวงโดยตรง และตีเมืองหลวงให้ได้เร็วที่สุด ครั้งนี้ฝ่ายถังเลยคิดจะนำมาใช้กับโกคูรยอบ้าง ส่วนชิลลาได้รับคำขอให้ส่งแต่เสบียงเท่านั้น กองทัพไม่ต้อง เพราะถ้าแผนการ Blitzkrieg ที่เปียงยางได้ผล กองทัพของชิลลาก็ไม่จำเป็น

ปลายปี ค.ศ.661 กองทัพถังก็ยาตราทัพขึ้นบกใกล้กับแม่น้ำยาลู การขึ้นบกครั้งนี้เป็นครั้งที่ใหญ่กว่าครั้งที่แมคอาเธอร์ขึ้นบกที่อินชอนในสงครามเกาหลีเสียอีก

การใช้กองทัพเรือทำให้กองทัพถังมาถึงแม่น้ำยาลูได้อย่างรวดเร็วกว่าครั้งใดที่ผ่านมา กองทัพถังที่มากกว่าเป็นฝ่ายตีกองทัพโกคูรยอที่รักษาการณ์อยู่แตกกระเจิง ทหารโกคูรยอตายไปถึงสามหมื่นคน ทหารที่เหลืออยู่หนีตายไปอย่างไม่คิดชีวิต กองทัพถังเร่งฉวยโอกาสนั้นเข้าประชิดเปียงยาง เมืองหลวงของโกคูรยอ

การที่กองทัพถังเข้ามาใกล้เปียงยางได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้ และยังตีกองทัพโกคูรยอแตกพ่ายทำให้ราชสำนักโกคูรยอตกตะลึง แต่คนอย่างยอน เกะโซมึน ไม่ได้รู้สึกหวั่นเกรงแต่ประการใด เขาสั่งให้ทุกคนอยู่ในความสงบ และให้เมืองต่างๆ ส่งกำลังมาช่วย พร้อมกับกองทัพเจนศึกของเขาที่อยู่ที่เหลียวตง

สถานการณ์พลิกกลับ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์กลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะเกิดกบฏของพวกชนเผ่าทางตอนเหนือของอาณาจักรถัง กองทัพจำนวนหนึ่งจึงต้องถูกเรียกกลับไปยังอาณาจักรเพื่อปราบกบฏ กองกำลังฝ่ายถังจึงมีจำนวนลดน้อยลง

ในเดือนธันวาคม ค.ศ.661 ฤดูหนาวในปีนั้นหนาวกว่าปกติ แต่กองทัพถังก็ยังพยายามเข้าโจมตีเปียงยาง เมืองหลวงของโกคูรยออย่างสุดกำลัง แต่ตีอย่างไรก็ตีไม่ได้ เพราะทหารโกคูรยอต่อสู้อย่างเข้มแข็ง

ทหารถัง Cr: Qiushufang

เมื่อตีไม่ได้ กองทัพถังที่ไม่ได้ยึดที่มั่นใดๆ (เพราะมาทางเรือ เร่งมายังเมืองหลวงโดยตรง) เลยจึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ทหารโกคูรยอที่อยู่นอกเปียงยางต่างร่วมกันตัดเสบียงอาหารของฝ่ายถัง ทำให้ฝ่ายถังขาดเสบียงอาหารอย่างรวดเร็ว

เสบียงอาหารที่ชิลลาช่วยเหลือเองก็ทำได้ไม่มากนัก ชิลลาเป็นอาณาจักรเล็กๆ ที่ไหนเลยจะให้การสนับสนุนกองทัพหลายแสนคนของกองทัพถังได้ ทหารถังจำนวนมากต้องทรมานด้วยความหนาวเหน็บและหิวโหย

ในขณะนั้นยอน เกะโซมึนได้เรียกกองทัพที่มีฝีมือลงมาจากภาคเหนือ กองทัพหนุนของโกคูรยอขนาดใหญ่จึงมาถึงเปียงยาง และพร้อมที่จะตีกองทัพถังที่ติดอยู่ที่เปียงยางให้แตกยับไป

กองทัพของโกคูรยอได้ค่อยๆ โอบล้อมกองทัพถังเข้าไปเรื่อยๆ สถานการณ์ของกองทัพถังจึงแทบไม่ต่างอะไรกับ กองทัพเยอรมันที่สตาลินกราดเลย เพราะทุกด้านเป็นพื้นที่ของศัตรูและทะเล

สมรภูมิที่ซาซู

สถานการณ์อันย่ำแย่ของฝ่ายถังทำให้ชิลลาได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือ กองทัพชิลลาที่นำโดยคิมยูชินจึงรีบยกขึ้นเหนือไปทันที เพื่อส่งเสบียงและคลายวงล้อม

หากแต่ว่าช้าไปเสียแล้ว ต้นปี ค.ศ.662 ยอน เกะโซมึนได้สั่งให้กองทัพทั้งหมดเข้าโจมตีกองกำลังฝ่ายถังพร้อมกันทุกด้าน กองทัพถังแตกกระจัดกระจาย ทหารถังถูกสังหารล้มตายคนแล้วคนเล่า โดยรวมแล้วทหารถังกว่าหนึ่งแสนคนสิ้นชีวิตในการรบที่ซาซูแห่งนี้ แม่ทัพผังเสี่ยวไถ้ แม่ทัพถังและบุตรอีก 13 คนถูกสังหารทั้งหมด

กองทัพถังที่เหลืออยู่ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหนีขึ้นเรือรบ และถอยหนีไปทางใต้เพื่อบรรจบกับกองทัพชิลลาที่ยกทัพมาถึง การรุกรานโกคูรยอครั้งใหญ่ครั้งที่ 4 จึงจบลงด้วยความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง

ความมั่นใจของราชวงศ์ถังที่มาจากการทำลายแพ็กเจจึงสูญสลายไปทั้งหมด แต่ราชสำนักถังไม่เคยลืมความพ่ายแพ้ การรุกรานโกคูรยอครั้งหน้าจะต้องเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน

ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!