ประวัติศาสตร์โกคูรยอล่มสลาย (3): ราชวงศ์ถังกับการรุกรานครั้งใหม่ต่อโกคูรยอ

โกคูรยอล่มสลาย (3): ราชวงศ์ถังกับการรุกรานครั้งใหม่ต่อโกคูรยอ

การรุกรานโกคูรยอครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.612 ได้จบสิ้นลงด้วยชัยชนะอันเด็ดขาดของโกคูรยอ ถึงแม้สุยหยางตี้จะให้กองทัพมารุกรานอีกสองครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ในทางกลับกันความเสียหายจากการรุกรานโกคูรยอกลับทำให้เกิดกบฏทั่วแผ่นดินต่อต้านราชสำนักสุย และทำให้ราชวงศ์สุยล่มสลายไปในที่สุด

ถึงแม้จะเปลี่ยนราชวงศ์จากสุยมาเป็นถังแล้ว ราชสำนักถังยังคงเห็นว่าโกคูรยอเป็นศัตรูที่จะต้องกำจัดไปเสียให้จงได้ ในไม่ช้าโกคูรยอจำต้องประสบกับการรุกรานครั้งใหม่ ซึ่งจะเป็นการรุกรานครั้งที่ห้า

และในครั้งนี้ข้าศึกมิใช่หมูๆ เสียด้วย แต่เป็นราชวงศ์ถัง หนึ่งในราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน

กองทหารม้าถัง

ยอน เกะโซมึน

การรุกรานครั้งสุดท้ายของราชวงศ์สุยเกิดขึ้นในปี ค.ศ.614 ส่วนการรุกรานครั้งแรกของราชวงศ์ถังเริ่มต้นในปี ค.ศ.645 นั่นเท่ากับว่าช่วงว่างศึกเป็นเวลานานถึงเกือบ 30 ปี

ในช่วงเกือบ 30 ปีนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งในโกคูรยอ นั่นก็คือการขึ้นสู่อำนาจของยอน เกะโซมึน (Yeon Gaesomun)

ยอน เกะโซมึน

ยอน เกะโซมึนเป็นบุตรชายของอัครมหาเสนาบดียอน เทโจ ครอบครัวของเขาเป็นครอบครัวชนชั้นสูงที่ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีมาหลายสมัย ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าประวัติของเขาในช่วงแรกเป็นอย่างไร แต่เขาได้รับราชการตามแบบบรรพบุรุษและมีอิทธิพลมากขึ้นตามลำดับในราชสำนักโกคูรยอ

อิทธิพลของยอน เกะโซมึนเพิ่มสูงขึ้นจนเทียบเคียงกับกษัตริย์ยองนิวแห่งโกคูรยอ (King Yeongnyu of Goguryeo) ตัวยอน เกะโซมึนเองก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายอ่อนน้อมของพระองค์ต่อราชสำนักถัง ทำให้เขากลายเป็นศัตรูอันดับ 1 ของกษัตริย์ของเขาเองไปโดยปริยาย

ในปี ค.ศ.642 กษัตริย์ยองนิวทรงต้องการจะกำจัดยอน เกะโซมึนเสีย แต่ยอน เกะโซมึนในวัย 39 ปี ทราบแผนการของพระองค์เสียก่อน เขาจึงชิงลงมือก่อนด้วยการนำกำลังทหารบุกเข้าวังหลวง และทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด

เขาสังหารเหล่าชนชั้นสูงที่เป็นศัตรูการเมืองของเขาไปถึง 180 คน และปลงพระชนม์กษัตริย์ยองนิวเสียด้วย หลังจากนั้นก็ทูลเชิญพระนัดดาของพระองค์มาเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ ทรงพระนามว่า กษัตริย์โบจัง

หลังจากนั้นยอน เกะโซมึนก็ได้รั้งตำแหน่งเป็นอัครมหาเสนาบดีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในทางปฏิบัติแล้ว ยอน เกะโซมึนเป็นกษัตริย์ที่แท้จริงของโกคูรยอ

ปฐมบทแห่งสงครามครั้งใหม่

ยอน เกะโซมึนกลับทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดอีกครั้งหนึ่ง คือเขาส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชวงศ์ถังในปีช่วงปี ค.ศ.642-644 สาเหตุที่เป็นไปได้คือ ยอน เกะโซมึนต้องการถ่วงเวลาไม่ให้ราชวงศ์ถังเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในคาบสมุทรเกาหลี เพื่อที่เขาจะได้ร่วมมือแพ็คเจ ทำลายชิลลาเสียก่อน

หากแต่ว่าเมื่อ ยอน เกะโซมึนโจมตีชิลลา ราชสำนักถังกลับแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงในเรื่องดังกล่าว ต่อมาไม่นานราชวงศ์ถังกับชิลลาก็เป็นพันธมิตรกันอย่างเป็นทางการ

แท้จริงแล้ว ถังไท่จงฮ่องเต้ มหาราชแห่งราชวงศ์ถังปรารถนาจะยกไปตีโกคูรยอมานานแล้ว พระองค์ปรารถนาจะทำในสิ่งที่สุยหยางตี้ทำไม่สำเร็จเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์เอง นอกจากนี้ถังไท่จงยังต้องการขจัดอาณาจักรที่แข็งแกร่งพอที่จะต้านทานอิทธิพลของราชวงศ์ถังไว้ได้อย่างโกคูรยอทิ้งไปเสีย

ถังไท่จง

ด้วยเหตุนี้ ถังไท่จงทรงใช้ประเด็นที่ว่า พระองค์ต้องการกำจัดยอน เกะโซมึนที่ทำการปลงพระชนม์กษัตริย์ยองนิว มาเป็นข้ออ้างในการรุกรานโกคูรยอ กองทัพขนาดใหญ่ถูกจัดเตรียมขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.644 และพร้อมจะยกไปตีโกคูรยอในปี ค.ศ.645

ชัยชนะของกองทัพถัง

กองทัพของราชวงศ์ถังเป็นกองทัพที่ทำสงครามมาตั้งแต่รวบรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่ง และทำศึกกับพวกทูเจี๋ย ในการรุกรานครั้งนี้ ถังไท่จงเสด็จมาเป็นจอมทัพด้วยพระองค์เองด้วย โดยมีหลี่จีเป็นแม่ทัพใหญ่ รวมทั้งทัพบกทัพเรือกำลังทหารฝ่ายถังมีไม่น้อยกว่า 100,000 คน และยังมีทหารชนเผ่าต่างๆ ที่มาสนับสนุนอีกเป็นจำนวนมาก

การรุกรานโกคูรยอในปี ค.ศ.645

ถังไท่จงเป็นแม่ทัพที่มีประสบการณ์สูงมาก ในสงครามรวมแผ่นดินก่อนหน้านี้ พระองค์แทบไม่เคยพ่ายแพ้ในการต่อสู้เลย หลี่จีเองก็เป็นแม่ทัพชั้นยอดที่เอาชนะศัตรูมาครั้งแล้วครั้งเล่า ในครั้งนี้โกคูรยอจำต้องพบกับแม่ทัพระดับมือดีที่สุดตั้งแต่เคยต่อสู้มาก็ว่าได้

ในเดือนเมษายน กองทัพของหลี่จีบุกเข้าไปในดินแดนของโกคูรยอ และข้ามแม่น้ำเหลียวไป กองทัพถังได้แสดงฝีมือให้ฝ่ายโกคูรยอได้ประจักษ์ เพียง 11 วัน กองทัพของหลี่จีก็ตีป้อมแกโม ป้อมสำคัญของฝ่ายโกคูรยอแตกพร้อมกับจับเป็นทหารได้ถึงสองหมื่นคน

การรุกของหลี่จียังดำเนินต่อไป ต่อมาไม่กี่สัปดาห์ หลี่จีก็เข้าล้อมเมืองเหลียวตง เมืองสำคัญที่สุดทางภาคเหนือของโกคูรยอเอาไว้ได้ และยังตีกองทัพโกคูรยอจำนวนสี่หมื่นคนที่มาช่วยเหลือแตกยับเยิน

ถังไท่จงพร้อมกับกองทหารม้ามาถึงเหลียวตงหลังจากนั้นเล็กน้อย อีกไม่กี่วันต่อมา ในวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ.645 กองทัพถังใช้อาวุธเพลิงเข้าโจมตีเมืองเหลียวตงจนแตกในที่สุด ถังไท่จงทรงมีรับสั่งให้กองทัพถังอยู่ในระเบียบวินัย ไม่ให้ไปปล้นชิงทรัพย์สินของราษฎรในเมืองที่ตีได้ทุกแห่ง

การโจมตีที่รวดเร็วและรุนแรง และท่าทีต่อประชาชนของถังไท่จง ทำให้เมืองต่างๆ ของโกคูรยอวางอาวุธยอมจำนนมากมาย กองทัพถังที่ได้ใจจึงบุกลึกเข้ามาถึงเมืองและป้อมปราการสำคัญของโกคูรยอที่ชื่อ อันชิ (Ansi Fortress)

ยอน เกะโซมึนเห็นสถานการณ์ไม่เข้าทางจึงส่งกองทัพสนับสนุนมาช่วยเหลือจำนวนมากถึง 150,000 คน เมื่อถังไท่จงทรงทราบเช่นนั้น พระองค์ดำริว่าพระองค์จะทำลายกองทัพโกคูรยอด้วยการใช้กับดัก

หลี่จีได้รับมอบหมายให้นำกำลัง 15,000 คน ไปยั่วยุทหารโกคูรยอ แม่ทัพฝ่ายโกคูรยอไม่ทราบความจึงหลงกลไล่ติดตามเข้าไปในกับดักที่ถังไท่จงทรงดักรอไว้อยู่แล้ว กองทัพถังที่แอบซุ่มอยู่ได้ปรากฏตัวออกมาและเข้าตีทหารโกคูรยอจากทุกด้าน

จากการถูกโจมตีทุกด้านอย่างที่ไม่ได้ระวังตั้งตัว ทำให้กองทัพโกคูรยอแตกยับเยิน ทหารถังไล่สังหารได้เป็นจำนวนมาก ส่วนที่เหลือก็หลบหนีไปอย่างไม่คิดชีวิต ทหารโกคูรยอมากถึงเกือบสี่หมื่นคนยอมวางอาวุธต่อฝ่ายถัง

ถังไท่จงทรงให้กองทัพบกตีป้อมอันชิให้แตกให้ได้ ส่วนกองทัพเรือให้ยกไปตีเปียงยาง เมืองหลวงของโกคูรยอให้แตก

โกคูรยอจะล่มสลายในครั้งนี้งั้นหรือ?

สถานการณ์พลิกกลับ

ยุทธศาสตร์การรบของโกคูรยอในสงครามครั้งนี้แตกต่างอย่างยิ่งกับสงครามครั้งก่อนในปี ค.ศ.612 เพราะโกคูรยอส่งกำลังทหารออกมาสู้รบกลางแปลง แทนที่จะใช้การตั้งรับและตัดเสบียงข้าศึกเหมือนกับครั้งก่อนๆ ในครั้งนี้ยอน เกะโซมึนอาจจะคิดว่าทหารถังไม่มีจำนวนมากเหมือนสมัยสุยที่มีมากกว่าหนึ่งล้านคน ทำให้เขาตัดสินใจส่งกองทัพออกมาต่อสู้ก็เป็นได้

ผลที่ออกมาคือโกคูรยอพ่ายแพ้ยับเยิน

โกคูรยอจึงกลับไปใช้ยุทธศาสตร์เดิม นั่นก็คือการตั้งรับอย่างแข็งแกร่ง ระหว่างที่กองทัพถังโจมตีป้อมอันชินี้เอง ถังไท่จงก็ได้ทรงรับรู้ถึงฝีมือการตั้งรับของโกคูรยอ

หยาง มานชุน (Yang Manchun) เป็นแม่ทัพใหญ่ที่ป้องกันป้อมอันชิอยู่อย่างแข็งแกร่ง กองทัพถังทุ่มกำลังเข้าโจมตีอย่างหนักด้วยอาวุธหนัก แต่ตีอย่างไรก็ตีไม่แตก ทหารถังกลับเป็นฝ่ายบาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้ถังไท่จงพิโรธอย่างมาก

ถังไท่จงกลับประกาศว่า ถ้ากองทัพถังเข้าเมืองได้ พระองค์จะสังหารทุกคนในเมือง เมื่อฝ่ายโกคูรยอทราบ พวกเขากลับป้องกันเมืองอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นไปอีก

ผ่านไปนานนับเดือน เมืองก็ยังไม่แตก ถังไท่จงจึงโปรดให้สร้างเนินดินขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อจะได้มองเห็นในเมืองและนำอาวุธยุทโธปกรณ์ยิงกระหน่ำเข้าใส่เมืองทั้งวันทั้งคืน

หากแต่ว่าเพราะความผิดพลาดอย่างใดสักอย่างหนึ่งทำให้เนินดินดังกล่าวถล่มลงมาทับทหารถังล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ทหารโกคูรยอจึงฉวยโอกาสบุกเข้าฆ่าฟันและยึดเนินดินที่พังลงมาเอาไว้ได้ ถังไท่จงยิ่งพิโรธมากขึ้นไปอีก พระองค์โปรดให้ทุ่มกำลังทหารเข้ายึดเนินดินคืนเป็นเวลาสามวันสามคืน แต่กลับตีคืนไม่ได้ ถังไท่จงจำต้องสั่งให้ทหารกลับเข้าค่าย

ขณะเดียวกัน กองทัพเรือฝ่ายถังที่ยกไปตีเปียงยางกลับถูกยอน เกะโซมึนตีแตกพ่ายยับเยิน ยอน เกะโซมึนจึงนำกองทัพใหญ่เข้ามาสนับสนุนเมืองอันชิด้วยตนเอง กองทัพหลวงของโกคูรยอจึงเข้ามาใกล้อันชิเข้าไปทุกวัน

ในเวลานั้นกองทัพถังล้อมอันชิมาสามเดือนแล้ว เวลาก็ใกล้เข้าสู่ฤดูหนาว กองโจรโกคูรยอก็ทำการตัดเสบียงอย่างหนักหน่วง ทำให้เสบียงในค่ายถังเหลือน้อยลงทุกที กองทัพหลวงขนาดใหญ่ฝ่ายโกคูรยอกำลังเดินทางใกล้เข้ามา ถังไท่จงจึงทรงหมดทางเลือก พระองค์โปรดให้ถอนกำลังทั้งหมดออกจากโกคูรยอในกลางเดือนกันยายน ค.ศ.645

ด้วยเหตุนี้โกคูรยอจึงสามารถป้องกันอาณาจักรไว้ได้อีกครั้งหนึ่ง

ผลที่ตามมา

ถังไท่จงได้โปรดให้สร้างวัดฝ่าหยวน เพื่ออุทิศให้กับทหารของพระองค์ที่ล้มตายในการโจมตีโกคูรยอในปี ค.ศ.645 ถังไท่จงรู้สึกเสียพระทัยที่ตัดสินพระทัยไปตีโกคูรยอ พระองค์ตรัสว่า

ถ้าเว่ยเจิงยังมีชีวิตอยู่ เขาไม่มีทางให้ข้าไปทำสงครามเช่นนี้เป็นแน่

วัดฝ่าหยวน CC By-SA3.0 – Shizhao

อย่างไรก็ตามถังไท่จงกลับไปรุกรานโกคูรยออีกครั้งในปี ค.ศ.647-648 แต่ก็ไม่ได้เป็นการรุกรานโกคูรยอครั้งใหญ่เท่ากับในปี ค.ศ.645 การรุกรานสองครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะทำให้โกคูรยออ่อนแอลง เพื่อที่พระองค์จะยกกองทัพใหญ่จำนวน 300,000 คน ไปตีโกคูรยออีกครั้งในปี ค.ศ.649

หากแต่ว่าฝันของถังไท่จงที่จะทำลายโกคูรยอไม่เป็นจริง เพราะพระองค์สวรรคตเสียก่อนในวัย 51 พรรษา ภารกิจในการโจมตีโกคูรยอต่อไปจึงตกเป็นของฮ่องเต้พระองค์ใหม่ ถังเกาจง

ราชสำนักถังเองเรียนรู้จากความพ่ายแพ้ติดๆ กันหลายๆ ครั้งของสุยหยางตี้ และถังไท่จง การรุกรานครั้งต่อไปจะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

จะเป็นไปในลักษณะใดแน่ ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

ตอนยาวล่าสุด

แนะนำ:จ้านกว๋อ

บทความอื่นๆ

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!