ประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์รัสเซียชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาลของเกลยา เด็กสาวในรูปถ่ายกับสตาลิน

ชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาลของเกลยา เด็กสาวในรูปถ่ายกับสตาลิน

ในปี ค.ศ.1936 โปสเตอร์รูปสตาลินอุ้มเด็กสาวผมดำวัย 8 ขวบ ในงานเลี้ยงได้ถูกตีพิมพ์ทั่วทั้งสหภาพโซเวียต ต่อมามันถูกติดไปทั่วทุกหนแห่ง โดยเฉพาะในโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ เจตนาของรัฐบาลโซเวียตในขณะนั้นคือสร้างภาพสตาลินว่าเป็น “ผู้นำที่ใจดี รักเด็ก เข้าถึงประชาชน”

การเป็นเด็กสาวที่สตาลินอุ้มทำให้ เอนเกลซินา มาร์คิโซวา หรือ เกลยา วัย 8 ขวบ มีชื่อเสียงไปทั่วทั้งประเทศทันที

งานเลี้ยงนั้นได้เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล จริงหรือไม่?

สตาลินกับเกลยา

งานเลี้ยงเปลี่ยนชีวิต

เกลยาเป็นลูกสาวของข้าราชการกระทรวงเกษตรกรรมเชื้อสายเบอร์ยัตชื่อ อาร์ดาน มาร์คิซอฟ ทำให้เมื่อเธอมีอายุได้ 8 ขวบ เธอมีโอกาสตามพ่อของเธอไปที่งานเลี้ยงที่พระราชวังเครมลินที่กรุงมอสโก เกลยาถูกมอบหมายให้นำดอกไม้ช่อใหญ่ไปมอบให้สตาลิน

เมื่อเธอเดินไปหาเขาแล้ว เธอกล่าวว่า

ดอกไม้เหล่านี้มอบให้สหายสตาลินจากเด็กๆ ในสาธารณรัฐเบอร์ยัต-มองโกล

หลังจากที่เธอพูดจบ สตาลินได้อุ้มเธอขึ้นไป เกลยาในวัย 8 ขวบ ยิ้มกว้างและกอดคอสตาลินอย่างรักใคร่ เหล่านักข่าวโซเวียตต่างฉวยโอกาสนั้นถ่ายรูปเอาไว้ได้

สตาลินได้มอบของขวัญให้เธอติดไม้ติดมือกลับมาด้วย เขาถามเกลยาว่าต้องการของขวัญอะไรระหว่างนาฬิกากับเครื่องเล่นกระบอกเสียง เกลยาตอบว่าเธอต้องการนาฬิกา สตาลินจึงมอบนาฬิกาสีทอง (ไม่แน่ใจว่าทองคำแท้หรือไม่) ให้กับเธอ นอกจากนี้สตาลินยังได้มอบเหรียญที่ระลึกแบบพิเศษให้กับเธออีกด้วย

เรามาดูต่อไปว่า เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกลยาได้รับแล้ว มันจะคุ้มหรือไม่?

สตาลินมอบของขวัญให้เกลยา

ชื่อเสียงโด่งดัง

รัฐบาลโซเวียตได้ทำการตีพิมพ์รูปสตาลินกับเกลยานับล้านๆ ใบ และแจกจ่ายไปทั่วอาณาบริเวณ โดยเฉพาะในโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานศึกษา และโรงพยาบาล เพื่อโฆษณาชวนเชื่อว่า สตาลินเป็นผู้นำที่ใจดีมีเมตตา

ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าชื่อเสียงของเกลยาจึงย่อมโด่งดังตามไปด้วย ทุกคนรู้ว่าเธอเป็นใคร บรรดาครูหลายคนต่างเอาใจเธออย่างมาก เกลยาได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมงานของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ นอกจากนี้เธอยังได้รับของขวัญมากมายจากทั่วทั้งสหภาพโซเวียต เธอได้กลายเป็น “เด็กโซเวียตตัวอย่าง” ที่ได้รับการยกย่องโดยรัฐบาล

เกลยาเล่าในภายหลังว่า

พวกเขาปฏิบัติกับฉันราวกับว่าฉันเป็นนักบินอวกาศ ฉันถูกเชิญไปยังงานสำคัญๆ หลายแห่ง ฉันเป็นที่นิยมมากๆ เป็นเวลาปีครึ่ง

แต่แล้วหลังจากนั้นทุกสิ่งก็เริ่มกลับตาลปัตร

The Great Purge

ในปี ค.ศ.1937 หลังจากเซอร์เกย์ คิรอฟ ผู้นำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ถูกสังหาร สถานการณ์ทางการเมืองในสหภาพโซเวียตเข้าถึงจุดเดือด สตาลินสั่งให้มีการปราบปรามศัตรูทางการเมืองและผู้ที่เขาเชื่อว่าจะเป็นศัตรูทางการเมืองอย่างรุนแรง ตำรวจลับได้ทำการจับกุมและสังหารเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เหตุการณ์ดังกล่าวจะมีชื่อในประวัติศาสตร์รัสเซียว่า The Great Purge หรือ The Great Terror (Большой террор)

พ่อของเกลยา

พฤศจิกายน ค.ศ.1937 มัจจุราชก็คืบคลานมาถึงอาร์ดาน พ่อของเธอซึ่งในเวลานั้นได้เป็นสมาชิกสภากลางแห่งสหภาพโซเวียต พ่อของเธอถูกพวกตำรวจลับจับกุมไปจากบ้านในข้อหาร้ายแรงสามข้อหา

  1. ร่วมมือกับกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติ (Counter-Revolutionary)
  2. เป็นพรรคพวกที่สนับสนุนทรอตสกี้ (Trotskyite)
  3. เป็นสายลับญี่ปุ่น

พวกตำรวจลับอ้างว่าพ่อของเธอจงใจทำให้มีการเกิดโรคจำนวนมากในสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นอาหาร จนมันตายไปมากกว่า 40,000 ตัว เพื่อสร้างความวุ่นวายและสนับสนุนการต่อต้านรัฐบาลโซเวียตในพื้นที่แถบนี้

โดมินิกา แม่ของเกลยาจึงให้เกลยาเขียนจดหมายถึงสตาลิน เพื่อขอให้สตาลินเมตตาช่วยปล่อยตัวอาร์ดาน ทั้งสองเชื่อว่าอาร์ดานไม่ได้ทำอะไรผิด และการจับกุมเป็นความผิดพลาด

เกลยาได้เขียนถึงพ่อของเธอว่า

พ่อของฉันเป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิคที่ดุดัน เขาอุทิศตนให้กับพรรค โดยเฉพาะสหายสตาลิน เขาต่อสู้ในสงครามกลางเมืองและช่วยเหลือในการจัดการสาธารณรัฐเบอร์ยัต-มองโกล

นอกจากนี้เกลยายังแนบรูปของเธอและสตาลินไว้ในจดหมายอีกด้วย เพื่อเตือนความทรงจำของสตาลิน

ไม่มีใครทราบว่าสตาลินได้อ่านจดหมายฉบับดังกล่าวหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่เคยมีจดหมายตอบกลับมาถึงเกลยาเลย

เกลยามีโอกาสเห็นอาร์ดาน พ่อของเธอเป็นครั้งสุดท้ายในเดือนมกราคม ค.ศ.1938 หลังจากนั้นเธอไม่เห็นเขาอีกเลย หลักฐานโซเวียตว่าเขาถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ.1938

เอกสารการจับกุมพ่อของเกลยา

จากหน้ามือเป็นหลังมือ

การที่พ่อของเธอถูกจับกุมในข้อหาดังกล่าว ทำให้สถานะของเกลยาแปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากเด็กสาวคนหนึ่งที่เคยเป็นที่นิยมอย่างสูง เธอกลายเป็นผู้ที่ไม่มีใครอยากจะเข้าใกล้ นั่นก็เพราะทุกคนกลัวว่าจะถูกพวกตำรวจลับจับไปด้วย ถ้าไปยุ่งกับลูกสาวของ “ศัตรูของปวงชนโซเวียต”

ชีวิตของเกลยาจึงเรียกได้ว่าตกอับโดยสิ้นเชิง แต่นั่นยังไม่ใช่จุดต่ำสุดของชีวิตเธอ

หลังจากที่พ่อของเธอจากไปได้ไม่นาน โดมินิกา มารดาของเธอถูกพวกตำรวจลับจับกุม และนำตัวไปขังไว้ในคุก โชคเป็นของเธอที่เธอไม่ถูกยิงเป้า มารดาของเธอถูกตัดสินให้รับโทษเนรเทศไปยังดินแดนเตอร์กีสถาน เกลยาและน้องชายจึงต้องตามมารดาไปด้วย

มารดาของเธอเป็นแพทย์ ดังนั้นเธอจึงทำงานที่โรงพยาบาลเด็กในฐานะกุมารแพทย์ หากแต่ว่าสองปีต่อมาหลังจากที่เธอและครอบครัวย้ายมายังเตอร์กีสถาน มารดาของเกลยากลับถูกพบเป็นศพในคืนหนึ่งที่โรงพยาบาลที่เธอทำงานอยู่

หลายคนเชื่อว่า โดมินิกาถูกฆาตกรรมด้วยการวางยาพิษ แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดออกมาเพราะความหวาดกลัว แม้แต่ตำรวจท้องถิ่นเองก็ไม่ได้มีการสืบสวนใดๆ เรื่องทั้งหมดถูกทำให้เงียบสนิท เกลยาทราบแต่เพียงว่า แม่ของเธอจากไปเพราะการฆ่าตัวตาย

เรื่องการเสียชีวิตของโดมินิกาเป็นสิ่งที่คลุมเครือ ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเธอ

หลังจากโดมินิกาจากไปแล้ว เกลยาในวัย 13 ปี และน้องชายได้เดินทางไปยังมอสโก ตามคำสั่งของแม่ของเธอที่ว่า ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับเธอ ให้ลูกทั้งสองคนเดินทางไปยังมอสโกเพื่ออาศัยอยู่กับป้า

เกลยาจึงได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นนามสกุลของลุงเขย (สามีของป้า) และได้เข้าเรียนต่อจนจบมหาวิทยาลัยอย่างเงียบๆ เธอเล่าว่าเธอไม่จำเป็นต้องบอกใครอีกแล้วว่าเด็กหญิงในรูปถ่ายกับสตาลินคือตัวเธอเอง เพราะไม่มีใครเชื่ออีกว่าเป็นเธอ เกลยาเองก็ลืมเหตุการณ์ในวันนั้นไปเกือบทั้งหมดแล้ว เธอใช้ชีวิตเป็นชาวโซเวียตธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น

ไม่แปลกที่ไม่มีใครเชื่อเพราะหลังจากที่อาร์ดาน บิดาของเธอถูกจับกุม รัฐบาลโซเวียตได้ทำการระบุว่าเด็กผู้หญิงในรูปเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่เธอ ตามนโยบายลบล้างบุคคลที่ถูกกวาดล้างไม่ให้มีตัวตนในสังคมอีกต่อไป (Damnatio Memoriae)

หลังจากที่สตาลินเสียชีวิต รูปภาพดังกล่าวก็ถูกเก็บออกไปจากหน้าสื่อจนหมดในยุคของครุสชอฟ

บั้นปลาย

ภายหลังเกลยาได้ทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในสาขาตะวันออกศึกษา เธอได้ใช้เวลาอย่างมากในการค้นหาข้อเท็จจริงของบิดามารดาของเธอ เธอให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า เธอพบว่าบิดาของเธอถูกใส่ความอย่างแนบเนียน ส่วนมารดาของเธอถูกฆาตกรรม

เกลยาเสียชีวิตในปี ค.ศ.2004 เธอมีอายุได้ 75 ปี เรื่องของเธอถูกทำเป็นสารคดีและภาพยนตร์หลายครั้งหลังจากนั้น

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!