ทุกวันนี้การเรียนพิเศษเป็นเรื่องปกติของนักเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป เราสามารถเรียนพิเศษได้หลายแบบ ไม่ว่าจะไปเรียนที่สถาบัน เรียนกับติวเตอร์ตัวต่อตัว และเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน
อย่างไรก็ดีบางคนน่าจะเคยประสบปัญหาอย่าง “เรียนเท่าไรก็ไม่เก่งขึ้น” คะแนนสอบที่โรงเรียนก็ยังย่ำแย่ หรือไปสอบเข้าที่ไหนก็ไม่ติด ทั้งๆ ที่ได้ใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการเรียนพิเศษเพิ่มเติมกับติวเตอร์ชื่อดัง ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนเรียกได้ว่าเป็น 0
มันเคยเกิดกับตัวผมเอง
เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดกับตัวผมเอง สมัยที่ผมเริ่มเรียนพิเศษใหม่ๆ หรือในช่วงม.2 ผมได้ไปเรียนพิเศษในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เป็นเวลาหลายชั่วโมง แต่เชื่อหรือไม่ ผมเสียเงินเรียนไปนับหมื่นบาท แต่ผมไม่ได้อะไรกลับมาเลย ผลการเรียนของผมตกต่ำลงจนได้ที่โหล่!
ผมได้เล่ารายละเอียดเรื่องได้ที่โหล่ไปแล้วในบทความ “จากที่โหล่สู่ติดเตรียมอุดม” ดังนั้นผมจึงขอไม่เล่าซ้ำ ถ้าใครสนใจสามารถไปตามอ่านที่ลิงค์ได้เลยครับ
หากแต่ว่าในชั้น ม.3 ผมกลับเรียนเก่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และสอบติดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสายวิทย์-คณิตได้ในที่สุด ซึ่งผมก็ยังเรียนพิเศษเหมือนเดิมเหมือนกับชั้น ม.2 แต่ในครั้งนี้ผมประสบความสำเร็จ ตัวผมเองก็รู้สึกว่าผมเก่งขึ้นจากการเรียนพิเศษอย่างชัดเจน
หลังจากวันนั้นผมย้อนคิดไปถึงอดีตแล้ว ผมก็ตระหนักได้ว่ามีอุปสรรคบางอย่างที่ทำให้ผมเรียนพิเศษแล้วไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในชั้น ม.3 อุปสรรคเหล่านั้นได้หายไป การเรียนพิเศษจึงทำให้ผมเก่งขึ้น และสอบติดโรงเรียนที่หวังไว้ในที่สุด
“อุปสรรค” เหล่านั้นคืออะไรกันแน่ และจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร เราไปดูกันเลยครับ
1. ไม่อยากเรียน
อุปสรรคอันดับ 1 ที่ทำให้การเรียนพิเศษไม่ช่วยอะไรเราเลยก็เพราะ เราไม่อยากเรียน!
ผมเชื่อว่าหลายคนยังไม่ได้อยากเรียนพิเศษเท่าไรนัก ที่ไปเรียนก็เพราะพ่อแม่บังคับให้ไปเรียน และเหตุผลอื่นๆ ต่างๆ นาๆ อย่างเช่นอดเล่นเกม อดเที่ยวกับเพื่อน ต้องตื่นเช้า ฯลฯ ทำให้เราไม่ได้อยากเรียนพิเศษเลยแม้แต่น้อย
อย่างในช่วง ม.2 ผมต้องไปเรียนพิเศษคลาสเช้าที่สยามซึ่งเริ่มตอน 7.30 น. หมายความว่าผมต้องตื่นตั้งแต่ 6.00 น. เพื่อเตรียมพร้อมและเดินทางไปเข้าห้องเรียนอันสุดแสนจะคับแคบแออัด
แออัดขนาดที่ว่า ผมเอียงคอนิดเดียว ผมสามารถซบไหล่คนข้างๆ ได้อย่างสบาย! แถมยังต้องนั่งอยู่แบบนั้นเป็นเวลานานถึง 4 ชั่วโมงด้วยกัน
ถามหน่อยจะมีกี่คนอยากจะตื่นเช้าๆ เพื่อไปเรียนพิเศษในเวลาแบบนี้ และในสภาพแบบนี้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ผมไม่อยากจะเรียนเลยสิ้นเชิง แถมบางวันยังหลับด้วยอีกต่างหาก เมื่อไม่มีกำลังใจจะเรียน การเรียนพิเศษให้ตายก็ไม่สามารถทำให้ผมเก่งขึ้นมาได้
แต่ในชั้น ม.3 ความรู้สึกแบบนี้ได้หายไปจากใจของผม เพราะสองสาเหตุด้วยกัน
- ผมมีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะสอบติดชั้น ม.4 ให้ได้ ดังนั้นผมจึงมีความปรารถนาอย่างเต็มเปี่ยมที่จะทำตัวเองให้เก่งขึ้น
- ผมจัดตารางเรียนให้ดียิ่งขึ้น เวลาเรียนถูกย้ายให้สายขึ้น
- เลือกสถานที่เรียนพิเศษใหม่ที่ไม่แออัดจนเกินไป (เช่นย้ายสาขาเป็นต้น)
สรุปแล้วก็คือ ผมได้สร้าง “บรรยากาศ” ที่น่าไปเรียนพิเศษขึ้นมา ทำให้ผมรู้สึกว่าการเรียนพิเศษไม่เลวร้ายเมื่อก่อน และเมื่อรวมกับความต้องการที่จะเก่งขึ้น ผมจึง “อยาก” มาเรียนพิเศษจริงๆ ด้วยความตั้งใจ ปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่ผมมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนพิเศษในชั้น ม.3 ต่างจาก ม.2 อย่างสิ้นเชิงครับ
2. ไม่ตั้งใจเรียน
อุปสรรคอย่างที่ 2 ก็คือ “เราไม่ตั้งใจเรียน” นั่นเอง
ผมยอมรับว่าในชั้น ม.2 นั้น ผมไม่ตั้งใจเรียนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งที่โรงเรียนหรือโรงเรียนเรียนพิเศษ
การไม่ตั้งใจเรียนนี้ไม่จำกัดอยู่แค่เม้าท์แตก คุยระเบิดระเบ้อกับเพื่อนในห้องเท่านั้น แต่รวมไปถึงการที่เราใจลอยไปไหนมาไหนด้วย
อย่างในชั้น ม.2 ผมจำได้เลยว่าผมใจลอยไปถึงเกมอย่าง Ragnarok ผมกำลังฝันเฟื่องว่าผมจะสร้างตัวละครในเกมยังไงดี จะใส่ไอเทมอะไรดี เอาเป็นว่าผมไปไกลเลยละกัน
การที่ผมใจลอย ทำให้สมองกับมือของผมไม่สัมพันธ์กัน อย่างวิชาเลข ผมจดวิธีการแก้โจทย์เลขยกกำลังลงในหนังสือ แต่สมองของผมอยู่ที่ Ragnarok ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งที่ครูอธิบายเข้าหูซ้ายของผม และทะลุออกหูขวาในบัดดล
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะไปเรียนรู้เรื่องได้อย่างไร ไม่ต้องคิดถึงเรื่องจะเก่งขึ้นเลย
แต่ใน ม.3 ผมมีวินัยในการเรียนเพิ่มขึ้นมาก ผมตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ และใจไม่ลอยอีกต่อไป ถึงแม้อาจจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องแบบ 100% แต่ผมมั่นใจว่าเข้าใจในสิ่งที่ครูสอน 85-90% อย่างแน่นอน ในขณะที่สมัย ม.2 น่าจะเข้าใจประมาณ 5%
สรุปแล้ว วิธีการแก้ไขก็คือ เราต้องมีวินัยในการเรียน เราต้องรู้ว่าเรากำลังอยู่ในห้องเรียน และมีหน้าที่อะไรที่ต้องทำครับ
3. ไม่ทบทวน
การทบทวนเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอันดับ 1 ของการเรียนพิเศษเลยครับ ถ้าเราไม่ทบทวนบทเรียนที่เรียนมา ผมบอกเลยว่าสิ่งที่ได้ = 0 เพราะเราจะคืนครูไปหมด โดยเฉพาะวิชาที่ไม่ชอบ เราจะคืนแบบครบถ้วนสมบูรณ์แบบไม่หลงเหลืออะไรในเซลล์สมองเลย
อย่างตอน ม.2 เหรอครับ จะทบทวนอะไรกัน พอกลับบ้านก็เปิดคอมเล่นเกมแล้วครับ แต่ในช่วง ม.3 ผมรู้ดีว่าเหลือเวลาไม่มากเลยตั้งใจอ่านหนังสือทบทวนสิ่งที่เรียนมาอย่างเต็มที่
วิธีแก้ไขคือ เราต้องบอกตัวเองครับว่าการทบทวนสำคัญอย่างมาก และต้องทำให้ได้ แต่ผมขอให้คำแนะนำพิเศษอย่างหนึ่ง ถ้าอ่านทบทวนแล้วเบื่อ ผมแนะนำให้ทำโจทย์แล้วลองท้าทายตัวเองดู
ยกตัวอย่างเช่น แบบฝึกหัด 5 ข้อต่อไปนี้ เราจะต้องทำให้ถูกทั้งหมด ถ้าผิดแม้แต่ข้อเดียว เราจะต้องทำอีก 5 ข้อจนกว่าจะถูกรวดครับ เคยมีอยู่ครั้งนึง ผมทำไปมากถึง 100 ข้อกว่าจะถูกทั้งหมด ใช้เวลาไปสองชั่วโมงกว่าได้มั้ง
4. ไม่ชอบวิธีการสอนของครู
ครูแต่ละคนจะมีสไตล์ที่ต่างกัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้จะเหมาะกับเด็กทุกๆ คน เพราะฉะนั้นเป็นไปได้สูงมากที่เราจะไม่ชอบการสอนของครู และทำให้เราเกลียดวิชานั้นไปด้วย
อย่างสมัย ม.3 ถึงแม้ผมจะตั้งใจเรียนแล้ว ผมไม่ชอบวิธีการสอนของครูเลข ณ สถานที่เรียนพิเศษแห่งหนึ่งอย่างมาก เพราะข้ามไปข้ามมา ไม่อธิบายให้ละเอียด ทำให้ผมงง และครูเองก็ไม่เปิดโอกาสให้ถามคำถามด้วย เรียนไปเรียนมาก็รู้สึกว่าไม่ค่อยมีอนาคตเสียอย่างนั้น
ผมจึงหาครูคนใหม่ที่สอนเลขแบบเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากพื้นฐาน ผมหาเจอในที่สุด นั่นก็คือครู Sup’k ซึ่งสอนเลขแบบละเอียด ค่อยเป็นค่อยไป และยังสอนสนุกอีกด้วย ผมจึงเริ่มชอบเลขและเก่งวิชาเลขเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ดังนั้นผมจึงแนะนำว่า ถ้าจะเลือกเรียนพิเศษที่ใดที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรียนที่สถาบันหรือเรียนออนไลน์ ผมแนะนำว่าลองทดลองเรียนก่อนทุกครั้งว่าชอบหรือไม่ชอบ หรือพูดง่ายๆ คือ เช็คดูว่าการสอนของครูถูกจริตเราหรือไม่
ถ้าเรียนแล้วชอบก็สมัครเรียนต่อไป แต่ถ้าไม่ชอบ ผมแนะนำให้หาที่อื่น เพราะเวลาเป็นสิ่งที่มีค่า การเรียนกับครูที่เราไม่ชอบเกิดประโยชน์น้อยมาก และอาจจะเกิดผลเสียด้วยซ้ำไป