อาชีพหางานหรือจ้าง "ฟรีแลนซ์ (Freelance)" ดีๆ ได้ที่เว็บไซต์ไหนบ้าง?

หางานหรือจ้าง “ฟรีแลนซ์ (Freelance)” ดีๆ ได้ที่เว็บไซต์ไหนบ้าง?

ฟรีแลนซ์ (Freelance, Freelancer) คือบุคลากรที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานต่างๆ ให้กับผู้ว่าจ้าง บริษัท และองค์กรต่างๆ เป็นการชั่วคราว

ในปัจจุบันฟรีแลนซ์เป็นฟันเฟืองที่สำคัญของธุรกิจทั้งหลายทั่วโลก พวกเขารับบทบาทสำคัญในหน้าที่ต่างๆ อย่างเช่นงานเอกสาร งาน graphic design งานออกแบบเว็บไซต์ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้การดำเนินงานของผู้ว่าจ้างเป็นไปอย่างราบรื่น

ทั้งนี้ฟรีแลนซ์ไม่ได้มีสถานะเป็นพนักงานบริษัทแต่อย่างใด พวกเขามีสถานะเป็นนายของตัวเอง (self-employed) และมีสิทธิ์ทุกประการที่จะรับงานหรือไม่ก็ได้ โดยปราศจากพันธะใดๆ เหมือนกับพนักงานประจำ

ในโพสนี้ ผมจะรวบรวมเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มต่างๆ สำหรับการหางานหรือว่าจ้างฟรีแลนซ์ให้ทุกคนได้ทราบครับ

Image by William Iven from Pixabay

1. Fastwork

Fastwork เป็นเว็บไซต์สำหรับงานฟรีแลนซ์ในประเทศไทยโดยเฉพาะ โดยตัวเว็บไซต์ทำหน้าที่เป็นจุดนัดพบของผู้ที่ต้องการหางานฟรีแลนซ์ และผู้ว่าจ้าง

fastwork

ในปัจจุบัน Fastwork มีฟรีแลนซ์อยู่ในแพลตฟอร์มมากกว่า 150,000 คน ใน 70 หมวดหมู่ด้วยกัน เรียกได้ว่าผู้ว่าจ้างสามารถหาฟรีแลนซ์มาจัดการงานได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นทำกราฟิก ทำการตลาด ทำโฆษณาสวยๆ จัดการร้านค้าออนไลน์ เขียนและแปลภาษา และอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับคนที่หางานฟรีแลนซ์อยู่ คุณสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ฟรีที่นี่ หลังจากสมัครแล้ว Fastwork จะยืนยันตัวตนของคุณเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อขั้นตอนทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว คุณสามารถโพสรับงานของคุณได้ทันทีครับ

ทั้งนี้ฟรีแลนซ์สามารถตั้งราคาและเงื่อนไขต่างๆ ได้ด้วยตนเองด้วย แต่คุณจะต้องเสียค่าบริการให้กับ Fastwork เป็นเปอร์เซนต์ โดยในปัจจุบัน Fastwork ใช้ระบบขั้นบันได ถ้ามูลค่างานสูง คุณจะยิ่งเสียค่าบริการน้อยลง คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้ครับ

สำหรับผู้ต้องการว่าจ้างฟรีแลนซ์ ผมบอกได้เลยว่าจ้างฟรีแลนซ์มาทำงานให้คุณนั้นง่าย สะดวกสบาย และปลอดภัยไร้กังวล ตัวผมเองก็เคยจ้างฟรีแลนซ์จากเว็บไซต์นี้มาแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำคือพิจารณาฟรีแลนซ์จากรีวิว ราคา เวลา และเงื่อนไขของงานที่พวกเขารับ หลังจากนั้นก็ลอง chat กับพวกเขาผ่านทางแพลตฟอร์มของ Fastwork

หลังจากตกลงกันได้ คุณก็จะต้องชำระเงินให้เรียบร้อยตามที่ฟรีแลนซ์กำหนดมา โดยทางเว็บไซต์ไม่ได้คิดค่าบริการใดๆ เพิ่มจากที่ฟรีแลนซ์ตั้งไว้ แต่เงินที่คุณจ่ายไปนั้นฟรีแลนซ์จะยังไม่ได้รับเงินแต่อย่างใด พวกเขาจะได้รับเงินเมื่อคุณอนุมัติงานผ่านแพลตฟอร์มแล้วเท่านั้น ทำให้คุณสบายใจได้ว่าฟรีแลนซ์จะไม่เชิดเงินหนีไปอย่างแน่นอน

ในกรณีที่คุณเลือกฟรีแลนซ์เองไม่ได้ Fastwork ยังมีระบบ Personal assistant service ที่จะช่วยหาฟรีแลนซ์ให้คุณด้วยครับ ถ้าสนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

อย่างไรก็ดีเรื่องคุณภาพงานและอัธยาศัยนั้นขึ้นอยู่กับฟรีแลนซ์แต่ละคน บางคนที่ผมเคยเจอจะทำงานทุกอย่างตามที่คุณสั่งอย่างเดียวเหมือนกับหุ่นยนต์ โดยไม่ออกความเห็นใดๆ เลย ในส่วนนี้ผมไม่ชอบเท่าไรนัก แต่บางผู้ว่าจ้างอาจจะชอบก็ได้ครับ ดังนั้นผมแนะนำว่าให้อ่านรีวิวดีๆ ครับ

2. Freelancebay

Freelancebay เป็นเว็บไซต์ไทยสำหรับการหาและจ้างงานฟรีแลนซ์เช่นเดียวกับ Fastwork ตัวเว็บไซต์เปิดมากว่าสิบปีแล้ว และมีฟรีแลนซ์ในระบบมากถึงเกือบ 60,000 คน และงานที่ได้รับได้เรียกได้ว่ามีเกือบทุกรูปแบบที่คุณคิดได้ ตั้งแต่กราฟิก เขียนโปรแกรม ออกแบบ สร้างเว็บไซต์หรือแอพ ไปจนถึงงานบัญชี กฎหมาย หรือสอนพิเศษ

freelancebay

ถ้าคุณเป็นฟรีแลนซ์ คุณสามารถสร้าง portfolio เอาไว้โชว์ผู้ว่าจ้างได้บนแพลตฟอร์มของ Freelancebay เพื่อเพิ่มโอกาสการว่าจ้างของคุณครับ และยังตั้งราคาในแต่ละงานได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นการหางานฟรีแลนซ์จาก Freelancebay จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ดี Freelancebay จะเก็บค่าบริการจากฟรีแลนซ์ทั่วไปในรูปแบบสมาชิกได้แก่

  • Free
  • Regular (200 บาทต่อเดือน)
  • Pro (1,000 บาทต่อเดือน)

แบบฟรีนั่นก็คือฟรีแลนซ์จะรับงานได้เดือนละ 15 งาน และเข้าร่วมโปรเจคได้ 3 ครั้ง และใส่จำนวนทักษะของคุณได้แค่ 3 อย่างเท่านั้น และไม่มีฟังก์ชันอื่นๆ ที่ช่วยให้คุณหางานได้อย่างใด ในขณะที่ Regular และ Pro จะมีการช่วยเหลือที่ดีกว่ามาก อย่างเช่นมีแจ้งเตือนงานใหม่ และการจัดลำดับฟรีแลนซ์ในการ search ต่างๆ ของผู้ว่าจ้างจะอยู่สูงกว่าแบบ Free ด้วยครับ

สำหรับผู้ว่าจ้าง คุณสามารถสร้าง project บนแพลตฟอร์มของ Freelancebay เพื่อให้ฟรีแลนซ์เกือบ 60,000 คนสามารถเห็นได้ และเสนอตัวเข้ามาทำงานให้กับคุณได้ครับ

ในเรื่องค่าใช้จ่ายมีหลายแบบด้วยกัน ผู้ว่าจ้างสามารถเลือกซื้อตามการใช้งานจริงโดยเริ่มต้นที่ 500 บาท หรือซื้อแบบเหมารวมแพ็กเกจแต้มเครดิตก็ได้ครับ (เริ่มต้นที่ 1,500 บาท) คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

3. Fiverr

Fiverr เป็นเว็บไซต์สำหรับการหาและจ้างงาน freelance ระดับโลก งานที่ฟรีแลนซ์บนเว็บนี้สามารถทำได้มีตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบครับ ด้วยจำนวนผู้ว่าจ้างและฟรีแลนซ์จำนวนมหาศาล ทำให้จากสถิติแล้วทุกๆ 4 วินาทีจะมีฟรีแลนซ์ถูกจ้างงานครับ

fiverr

สำหรับฟรีแลนซ์ที่สามารถใช้งานภาษาอังกฤษได้ดี Fiverr คือโอกาสของคุณ เพราะคุณสามารถรับงานต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงกว่างานในไทย ทำให้รายรับของคุณเพิ่มพูนไปด้วย นอกจากนี้การเข้าร่วมแพลตฟอร์มของ Fiverr ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด นอกเสียจากว่าคุณจะถูกตัดรายได้ไป 20% เป็นค่าบริการหลังจากที่ผู้ว่าจ้างจ่ายเงินเท่านั้นเองครับ

สิ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ คุณจะได้รับการจัดอันดับว่าเป็นฟรีแลนซ์หรือ Seller ระดับไหน ยิ่งคุณสร้างผลงานดีๆ และทำให้ลูกค้าพอใจ สิทธิประโยชน์ทางด้านรายได้ของคุณก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่นสามารถตั้งราคาได้สูงมากขึ้น ทำให้โอกาสในการสร้างรายได้ของคุณเพิ่มมากขึ้นด้วย คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

สำหรับผู้ว่าจ้าง Fiverr เปิดโอกาสให้คุณได้ว่าจ้างฟรีแลนซ์ที่มีฝีมือระดับโลก เพราะ Fiverr ได้จัดกลุ่ม “Fiverr Pro” ซึ่งรวบรวมฟรีแลนซ์ระดับเทพที่เคยทำงานให้บริษัทชั้นนำของโลกมาแล้ว คุณจะได้ว่าจ้างงานบุคคลเหล่านี้ และสามารถรังสรรค์งานระดับสุดยอดขึ้นมาได้ครับ

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายก็จะเป็นไปตามที่ฟรีแลนซ์ตั้งไว้ และคุณจะต้องเสียค่าใช้จ่าย 5% ต่องานแต่ละงาน โดยจะต้องเสียอย่างน้อย $2 ครับ

4. Upwork

Upwork เป็นเว็บไซต์หาและจ้างงานฟรีแลนซ์ที่ต้องเอ่ยถึง เพราะว่ามีฟรีแลนซ์มากถึง 12 ล้านคนจากทั่วโลก! และครอบคลุมสายงานแทบทุกอย่างในสากลพิภพ ขนาดหาวิศวกรเก่งๆ ยังสามารถหาได้เลยครับ

Upwork

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าถ้าคุณเป็นฟรีแลนซ์ที่ใช้งานภาษาอังกฤษได้ดี นี่เป็นโอกาสของคุณที่จะได้เข้าถึงงานจำนวนมหาศาลในโลก และมีโอกาสได้ค่าจ้างต่อชั่วโมงสูงๆ ด้วยตามที่คุณตั้งไว้ แถมงานที่มีการว่าจ้างใน Upwork ยังมีโอกาสเป็นงานระยะยาวตั้งแต่ 3-6 เดือนขึ้นไป ทำให้คุณสามารถได้รายได้สูงติดต่อกันเป็นเวลานานได้ครับ

ทั้งนี้ฟรีแลนซ์บางคนที่ผมเห็นบนแพลตฟอร์มทำเงินไปแล้วมากกว่า $500,000 แม้ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่นอินเดียก็ตาม Upwork จึงเป็นโอกาสของฟรีแลนซ์ไทยที่จะไปทำเงินในระดับโลกครับ

ส่วนเรื่องค่าบริการนั้น Upwork จะคิดจาก Freelance เป็นขั้นบันไดโดยยึดตามจำนวนผู้ว่าจ้าง โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นได้แก่

  • ค่าบริการ 500 เหรียญแรกที่ฟรีแลนซ์ได้มาจากผู้ว่าจ้างรายใดรายหนึ่ง ทาง Upwork จะหักไป 20%
  • ค่าบริการ 500.01-10,000 เหรียญแรกที่ฟรีแลนซ์ได้มาจากผู้ว่าจ้างคนเดิม ทาง Upwork จะหัก 10%
  • ค่าบริการที่สูงกว่านั้นจากผู้ว่าจ้างคนเดิม ทาง Upwork จะหักแค่ 5%

นั่นหมายความว่าถ้าผู้ว่าจ้างคนเดิมกลับมาใช้บริการฟรีแลนซ์คนนี้อีกเรื่อยๆ ค่าบริการที่ Upwork หักจะลดน้อยลงไปตามลำดับ แต่ถ้าเปลี่ยนผู้ว่าจ้างหน้าใหม่บ่อยๆ ก็จะโดนหักใน rate ที่สูงถึง 20% ครับ

แต่ถ้าคุณเป็นผู้ว่าจ้าง คุณสามารถจ้างงานฟรีแลนซ์ระดับโลกที่สามารถทำงานที่มีความซับซ้อนสูงได้ ผ่านทาง Upwork ครับ โดยงานที่ว่าจ้างสามารถเป็นงานที่ซับซ้อนขนาดที่ใช้เวลา 3-6 เดือนขึ้นไปด้วย

วิธีการใช้แพลตฟอร์มก็ง่ายมาก คุณสามารถโพสรายละเอียดงานของคุณลงบนแพลตฟอร์ม หลังจากนั้น AI ก็จะจัดการสรรหาฟรีแลนซ์ที่เหมาะสมให้กับคุณ หรือเหล่าฟรีแลนซ์ที่เห็นงานของคุณอาจจะเข้ามาเสนอตัวให้คุณว่าจ้างได้ด้วยเช่นกัน การโพสนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แต่ถ้าคุณต้องการให้ทีมของ Upwork มาช่วยคุณหาฟรีแลนซ์ก็ทำได้เช่นกัน แต่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเข้ามาครับ

ค่าใช้จ่ายก็จะเป็นไปตามที่ฟรีแลนซ์ของคุณได้ตั้งไว้ แต่จะมีบวกค่าดำเนินการไปอีก 3% ครับ สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่นี่

5. เว็บไซต์หางาน Freelance อื่นๆ ที่น่าสนใจ

นอกจากเว็บไซต์เหล่านี้แล้ว ยังมีเว็บไซต์อีกหลายแห่งที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับหางานและจ้างงานฟรีแลนซ์ อาทิเช่น

  • Freelancer – คล้ายคลึงกับ Upwork ทุกประการ และเป็นแพลตฟอร์มที่มีฟรีแลนซ์ในระบบนับล้านครับ
  • Guru
  • Toptal – เว็บไซต์สำหรับผู้ว่าจ้างที่ต้องการฟรีแลนซ์ระดับเทพในสาขาอย่างเทคโนโลยี การเงิน ดีไซเนอร์ หรือ product manager
  • 99Designers – เว็บไซต์สำหรับหาฟรีแลนซ์ที่มาดีไซน์กราฟิกหรือสินค้าต่างๆ ให้กับคุณ
  • CodeControl – เว็บไซต์ที่มีฟรีแลนซ์สายแก้ระบบและโปรแกรมอยู่มากมาย ถ้ามีปัญหากับเว็บไซต์ คุณสามารถหาคนเก่งๆ มาช่วยแก้ปัญหาได้ครับ

ข้อควรทราบ

สำหรับฟรีแลนซ์ทั่วไปแล้ว คุณสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้มากกว่า 1 เว็บไซต์ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสที่คุณจะถูกจ้างงาน แต่งานต้องทำให้ได้ดีด้วย เพราะจะส่งผลถึงรีวิวและคะแนนของคุณบนเว็บไซต์ได้ครับ

ในเรื่องของภาษาอังกฤษ ถ้าคุณสามารถสื่อสารได้ดีระดับหนึ่งก็เพียงพอต่อการถูกจ้างงานแล้ว (ยกเว้นคุณจะไปทำงานฟรีแลนซ์ที่เกี่ยวข้องกับภาษา) ระดับที่เพียงพอคือ

  • เข้าใจสิ่งที่ผู้ว่าจ้างเสนอมาเป็นภาษาอังกฤษอย่างถ้วนถี่
  • โต้ตอบกับผู้ว่าจ้างทาง chat/email ได้ดี ผู้ว่าจ้างสามารถเข้าใจคุณอย่างไม่มีอุปสรรค
  • Grammar/Vocab ไม่จำเป็นต้อง perfect แต่ถ้าคุณพะวงเรื่อง grammar คุณสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการตรวจเช็คแบบ real-time ก่อนพิมพ์ครับ

แพลตฟอร์มอย่าง Upwork จะมีระบุไว้อย่างชัดเจนว่าภาษาอังกฤษของคุณอยู่ในระดับไหน และผู้ว่าจ้างสามารถเลือกได้ ฟรีแลนซ์เก่งๆ ที่ทำเงินได้มากๆ บางคนก็ไม่ได้มีภาษาอังกฤษที่ perfect แต่อย่างใดครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!