ประวัติศาสตร์การสังหาร 4 รัฐมนตรี: คดีการเมืองสะเทือนขวัญของไทย

การสังหาร 4 รัฐมนตรี: คดีการเมืองสะเทือนขวัญของไทย

คดีฆ่า 4 รัฐมนตรีเป็นหนึ่งในคดีการเมืองที่รุนแรงและเหี้ยมโหดที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่ ฆาตกรไม่มีสาเหตุอื่นใดนอกจากความขัดแย้งทางการเมืองในการสังหารผู้ตายที่เป็นถึงอดีตรัฐมนตรีถึง 4 คน การสังหารดังกล่าวยังเป็นตัวอย่างของการปกปิดความจริงของรัฐบาลที่ไม่มีใครในประเทศเชื่อ

ปูมหลัง

ภายหลังการรัฐประหารแห่งปี พ.ศ. 2490 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้หวนกลับคืนสู่อำนาจ แต่กลุ่มการเมืองเสรีไทยที่ถูกทำรัฐประหารอย่างกลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ พยายามจะแย่งอำนาจกลับคืน นำไปสู่เหตุการณ์กบฏวังหลวงในปี พ.ศ.2492

จอมพล ป.พิบูลสงครามสามารถปราบกบฏได้สำเร็จด้วยการใช้กำลังทหารบก เมื่อปราบปรามได้แล้วรัฐบาลจึงเริ่มทำการกวาดล้างผู้นำฝ่ายเสรีไทย ด้วยการส่งตำรวจไปสังหารอาทิเช่น พันตรี โผน อินทรทัต และ พันตำรวจโท บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข เป็นต้น นอกจากนี้ยังออกคำสั่งอย่างเป็นทางการให้จับกุมนักการเมืองอีกหลายคน

ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ รัฐบาลได้ทำการจับกุม นายถวิล อุดล นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ทั้งสี่คนเป็นนักการเมืองฝั่งนายปรีดี พนมยงค์ หรือ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (นายกรัฐมนตรีที่ถูกทำรัฐประหารในปี พ.ศ.2490) พวกเขาทั้งสี่ล้วนแต่เคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้วในรัฐบาลก่อนๆ

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์

ประเด็นสำคัญคือ อดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 ไม่ได้อยู่ในประกาศจับของรัฐบาลที่ออกมาแต่อย่างใด รวมไปถึงไม่มีส่วนในการก่อกบฏวังหลวงที่ผ่านมาด้วย แต่พวกเขาถูกวางตัวให้ปฏิบัติอย่างการร่างกฎหมายใหม่ ถ้าการปฏิวัติประสบความสำเร็จ

การจับกุมและคุมขัง

รัฐบาลจับกุมทั้งสี่รัฐมนตรีได้อย่างง่ายดาย คนที่ยากที่สุดคือ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ที่ลี้ภัยไปอยู่ปีนังตั้งแต่เหตุการณ์กบฏเสนาธิการในปี พ.ศ.2491 วิธีการจับกุมคือรัฐบาลส่งโทรเลขไปลวงว่าการปฏิวัติสำเร็จแล้ว ดร.ทองเปลวจึงเดินทางกลับมาเป็นต้นเหตุทำให้ถูกจับกุมดังกล่าว

ในครั้งนี้ข้อหาที่ตำรวจใช้ในการจับกุมคือ ข้อหากบฏ

การถูกจับกุมเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทั้ง 4 รัฐมนตรี เพราะหลังรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 ทั้งสี่ก็เข้าออกคุกอยู่บ่อยครั้ง นายทองอินทร์ถูกจับกุมในข้อหามีอาวุธไว้ในครอบครอง ต่อมาก็ถูกจับกุมในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน นายถวิลถูกจับกุมในข้อหาทุจริตเงินเสรีไทย และกบฏแบ่งแยกดินแดนอีสานเช่นเดียวกับนายทองอินทร์ นายจำลองถูกจับกุมข้อหาคอมมิวนิสต์ ส่วนดร.ทองเปลวถูกจับกุมในเหตุการณ์กบฏเสนาธิการ

นาย ถวิล อุดล

ถึงแม้ทั้ง 4 คนจะถูกจับกุมบ่อยครั้ง แต่พวกเขาได้รับการปล่อยตัวอย่างรวดเร็ว เพราะว่าไม่มีหลักฐานในการกระทำผิด คดีที่พวกเขาโดนจึงเป็นเพราะสาเหตุทางการเมืองอย่างแน่นอน

ในครั้งนี้เหล่าญาติของอดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 จึงไม่ได้กังวลอันใดมากนัก เพราะคิดว่าพวกเขาก็เข้าคุกกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครทราบเลยว่าในครั้งนี้การกวาดล้างศัตรูทางการเมืองของรัฐบาลจะรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เมื่อญาติมาร้องขอให้ประกันตัว พวกเขากลับไม่ได้รับการประกันตัวซึ่งต่างจากครั้งก่อนหน้านี้

นายจำลอง ดาวเรือง

ระหว่างที่อยู่ในที่คุมขัง ทั้งสี่อยู่ในสถานที่คุมขังคนละแห่งต่างถูกข่มขู่ให้รับสารภาพ ไม่มีใครทราบว่าทั้งสี่ได้ตอบสนองอย่างไร และการกระทำดังกล่าวของพวกเขาส่งผลต่อการตัดสินใจต่อผู้มีอำนาจหรือไม่?

การสังหาร

ในคืนวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2492 เจ้าหน้าที่ไปรับทั้งสี่จากสถานที่ต่างๆ กันเพื่อไปคุมขังรวมกันที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเรื่องความปลอดภัย ตำรวจที่ทำหน้าที่ดูแลการเคลื่อนย้ายมีอยู่มากถึง 20 นาย

แต่ทว่าในรุ่งเช้ากลับมีการพบศพทั้งสี่ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร๋ บางเขน แต่ละร่างมีกระสุนฝังอยู่ไม่ต่ำกว่าสิบนัด ตำรวจได้แถลงการณ์ว่าในคืนนั้นระหว่างที่กำลังเคลื่อนย้ายทั้งสี่ไปยังบางเขน ได้มีกลุ่มโจรจีนมลายูบุกเข้าโจมตีเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา ทำให้เกิดการปะทะกับตำรวจ ผลของการปะทะคือ อดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 ล้วนแต่ถูกโจรมลายูยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนไม่ต่ำกว่า 10 นัด ส่วนตำรวจที่คุมกำลัง 20 คน ล้วนแต่ปลอดภัย ไม่มีแม้แต่การบาดเจ็บ

ดร.ทองเปลว ชลภูมิ

ไม่มีใครเชื่อแถลงการณ์ของตำรวจเลยแม้แต่น้อย ประชาชนล้วนแต่เห็นตรงกันว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้ลงมือสังหารอดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 คน เอง เพราะความต้องการของผู้มีอำนาจที่จะกวาดล้างศัตรูทางการเมือง หลังจากนั้นไม่นานนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามอีกหลายคนก็ถูกสังหารหรือหายตัวไปอย่างลึกลับ อีกอย่างเหล่าโจรจีนมลายูก็เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จู่ๆขึ้นมาแย่งตัวสี่รัฐมนตรีจะมีใครเชื่อ

ในสมัยที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาและมีการตัดสินอย่างจริงจัง ศาลพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตตำรวจสามคนได้แก่ พลตำรวจจัตวา ผาด ตุงคะสมิท พลตำรวจจัตวา ทม จิตรวิมล สิบตำรวจเอกแนบ นิ่มรัตน์ แต่ทว่าประชาชนก็ยังคิดว่าตำรวจเหล่านี้เป็นแพะอยู่ดี ฆาตกรตัวจริงจึงกลายเป็นปริศนาที่จางหายไปกับกาลเวลา

ขอให้ทั้ง 4 ท่านไปสู่สุคติ

Sources: สถาบันพระปกเกล้า

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!