การศึกษาขั้นตอนการสมัคร "Internship" ในบริษัทการเงินระดับโลกเป็นอย่างไร

ขั้นตอนการสมัคร “Internship” ในบริษัทการเงินระดับโลกเป็นอย่างไร

Internship หรือการฝึกงาน เป็นสิ่งที่นักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาย Finance ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ทำให้การแข่งขันเพื่อแย่งชิง Internship เป็นไปอย่างดุเดือด โดยเฉพาะตำแหน่งในบริษัทใหญ่ๆ อย่างในกลุ่ม Bulge Bracket เป็นต้น

สาเหตุที่ Internship สำคัญมากก็เพราะแทบทุกบริษัท Finance ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Investment Bank หรือบริษัทสายอื่นมักจะมอบตำแหน่งงาน full-time ให้กับ Intern หลังจากที่ผ่านการประเมินแล้ว

ผู้ที่ได้ Internship และได้ full-time offer ด้วย จึงไม่ต้องกังวลอีกต่อไปในเรื่องการหางานหลังจบการศึกษา บางบริษัทถึงกับไม่เปิดรับนักศึกษาจบใหม่อีกเลย เพราะโควตาเต็มแล้วหลังจากให้ full-time offer ทั้งหมดที่มีกับ Intern ไปแล้ว

Wall Street ที่ตั้งของบริษัทการเงินระดับโลกมากมาย

ดังนั้นเราอาจจะกล่าวได้ว่าโอกาสที่ดีที่สุดที่จะได้เข้าทำงานกับบริษัทการเงินระดับโลกก็คือการเป็น Intern ในบริษัทเหล่านี้นั่นเอง

แม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้ full-time offer แต่ Resume/CV ของคุณจะดูดีขึ้นอย่างมาก เพราะคุณสามารถเขียนลงไปได้ว่าคุณเคยได้ฝึกงานกับบริษัทเหล่านี้ และได้รับการเทรนนิ่งมาเป็นอย่างดี ถ้าคุณไปสมัครงานใหม่ที่ใด คุณก็แทบจะการันตีได้ว่าจะผ่าน Resume Screening อย่างแน่นอน

สำหรับผมแล้ว ผมต้องขอบอก ณ ที่นี้เลยว่าเคยผ่านกระบวนการเหล่านี้มาหมดแล้วสมัยที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในอเมริกา และเป็นหนึ่งในคนที่ “ไม่” ประสบความสำเร็จ เพราะผมไปทำ Interview รอบสุดท้าย (ที่เรียกกันว่า Super Day) พังติดๆ กัน 2 ครั้ง

มันเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดสำหรับคนที่รักในสายงานนี้ แต่นั่นแหละครับคงเป็นรสชาติของชีวิต 555

บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ของผมเอง รวมไปถึงและประสบการณ์ของเพื่อนคนอื่นๆ ในวงการ finance ทั้งหลายที่ผมไปสอบถามมา และข้อมูลต่างๆ จากเว็บไซต์หางานสาย finance อย่าง efinancialcareers และ mergers and inquisitions ครับ

1. Preparation

ขั้นตอนการเตรียมตัว (Preparation) เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากที่สุดเลยก็ว่าได้ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ Internship ในบริษัทการเงินระดับโลก ถ้าคุณไม่ได้เตรียมตัวครับ

สิ่งที่คุณจะต้องเตรียมตัว นับตั้งแต่คุณอยู่ปี 1 คือ

1. ทำเกรดในมหาวิทยาลัยให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับ Undergraduate หรือปริญญาตรี) บรรดาสถาบันการเงินขนาดใหญ่ทุกแห่งจะรับนักศึกษาที่ได้เกรดสูงกว่า 3.50 ขึ้นไปเท่านั้น (จากสเกล 4.00)

Guide บางแห่งจะแนะนำว่าในช่วงปี 1-2 คุณควรจะเลือกเรียนคลาสง่ายๆ เพื่อที่จะได้ A เยอะๆ ไว้ก่อนครับ (ปั่นเกรดนั่นแหละ)

2. เริ่มทำกิจกรรมหรือฝึกงานที่ไหนก็ได้ที่เกี่ยวกับการเงิน อย่างเช่นฝึกงานในบริษัททั่วไปในแผนกการเงิน หรือว่าลงทุนในหุ้นส่วนบุคคล เข้า Investment Club ในมหาวิทยาลัย ฯลฯ

3. เก็บสะสมทักษะและความรู้ต่างๆ ที่คุณควรรู้ ในส่วนนี้การสมัครสอบ CFA (Charter Financial Analyst) และการสมัครคอร์สเรียนของ CFI (Corporate Finance Institute) เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก

การสมัครทั้งสองตัวนี้จะให้ความรู้และทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานในบริษัทการเงินอย่างครบถ้วน (ถ้าเป็น Investment Banking, Credit Analyst, Capital Markets คุณยิ่งควรสมัครคอร์สของ CFI ครับ แต่สาขาอื่นๆ นี่ต้อง CFA ครับ)

ความรู้จากสองตัวนี้มีประโยชน์มากๆ ต่อการผ่าน Resume Screening และการสัมภาษณ์ ซึ่งจะช่วยให้คุณผ่านการสัมภาษณ์ได้ง่ายขึ้น

4. ศึกษากระบวนการการรับสมัคร Internship และเลือกแผนกที่คุณสนใจ ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินจะเปิดรับ Intern หลายแผนกด้วยกัน คนส่วนใหญ่จะชอบ Investment Banking กับ Sales & Trading ครับ

5. เริ่มหา connection และทำ Networking กับคนในวงการ ทั้งนี้ถ้ามหาวิทยาลัยที่คุณเรียนอยู่เป็น Target School หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำที่บริษัทการเงินมักจะจัด Info session คุณอย่าพลาดที่จะไปเข้าร่วมครับ เพราะคุณจะได้ศึกษาสายงานต่างๆ ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แถมยังมีโอกาสได้ทำ Networking กับบุคลากรในธนาคารอีกด้วย

ในปัจจุบันการสมัครงานกับบริษัทการเงินจะเริ่มต้นในปี 2 (Sophomore) ถ้าคุณเรียนปริญญาตรี และปีแรก (First year) ถ้าคุณเรียน MBA อยู่ ซึ่งถือว่าเร็วมาก ถ้าเทียบกับสมัยที่ผมสมัครเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ซึ่งจะเริ่มต้นในปี 3 (Junior)

แหล่งข้อมูลหลายแห่งอธิบายว่าเป็นเพราะสถาบันการเงินเหล่านี้เผชิญกับการแข่งขันแย่งบุคลากรกับบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ อย่าง Google และ Facebook ที่ให้ค่าตอบแทนใกล้เคียงกัน แต่ให้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ดังนั้นจึงย้ายการรับสมัครมาอยู่ที่ช่วงนี้แทน (เข้าทำนองตัดหน้ากลายๆ)

ผมมองว่าคุณไม่ควรปฏิเสธโอกาสทั้ง 2 ฝั่งครับ นั่นแปลว่าคุณควรสมัครทั้งคู่นั่นเอง

2. Resume/Cover Letter

ทุกวันนี้การยื่นใบสมัคร Internship จะทำผ่านระบบออนไลน์ 100% คุณจะต้องกรอกข้อมูล และส่ง Resume และ Cover Letter ทางออนไลน์ด้วย การสมัครควรจะเริ่มทำตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะบริษัทการเงินจำนวนมากจะรับแบบ rolling basis หมายความว่าส่งก่อน พิจารณาก่อน รับก่อน ถ้ารับเต็มแล้วก็ไม่รับแล้วครับ

ในการเขียน Resume และ Cover Letter จะต้องเขียนให้ดู professional มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และอย่าใช้รูปแบบการเขียนที่ปรากฏทั่วไปใน internet อย่างเช่นใส่รูปลงไปใน Resume นี่ไม่ควรอย่างยิ่ง

ผมขอให้คุณใช้วิธีการเขียนที่ปรากฏอยู่ใน career service ของมหาวิทยาลัยของคุณเท่านั้น ซึ่งจะเหมือนกันแทบจะทุกมหาวิทยาลัยครับ

สิ่งสำคัญในการเขียน Resume และ Cover Letter คือคุณต้องเขียนอธิบายประสบการณ์ของคุณให้ละเอียดและดูใกล้เคียงกับสายการเงินมากที่สุดที่จะเป็นไปได้ บางคนจะเรียกขั้นตอนนี้ว่า “bankify”

หรือพูดง่ายๆ คุณจะต้องเขียนให้คนอ่านรู้สึกว่าทักษะของคุณจากงานเหล่านั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานทางการเงินการธนาคารได้ และผมแนะนำให้ใส่ตัวเลขลงไปพอสมควร เช่นลงทุนได้ผลตอบแทน 20%, รวบรวมข้อมูลจาก 500 แหล่งมาประเมินผลหรือนำเสนอด้วย Power BI ฯลฯ

นอกจากนี้สำหรับกิจกรรมสันทนาการและงานอดิเรกที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงินเลย ไม่ควรใส่ไปครับ คุณเอาพื้นที่ใน Resume ไปเขียนเล่าถึงประสบการณ์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสายงาน Internship ที่กำลังสมัครอยู่จะดีกว่า

แต่ถ้าอยากใส่จริงๆ เพราะคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ (อย่างของผมคือ ภาษาจีนที่พูดคล่องในระดับหนึ่ง) ผมก็เขียนสั้นๆ แล้วใส่ไปครับ

ก่อนที่จะส่งอย่าลืมตรวจสอบความถูกต้องให้ดี ตั้งแต่การสะกดคำ ไวยากรณ์ ไปจนถึงการใช้ font และการ organize เอกสารที่เป็นระเบียบ พวก banker มีสายตาที่แหลมคมในเรื่องพวกนี้มาก โดยเฉพาะเรื่องสะกดคำ และไวยากรณ์ต่างๆ

สรุปคือคุณไม่ควรหลุดเรื่องพวกนี้เลย เพราะมันจะแสดงให้เห็นถึงความไม่รอบคอบและสะเพร่าของคุณ ดังนั้นก่อนที่จะส่งอย่าลืมให้เพื่อนของคุณ, เจ้าหน้าที่ career service ของมหาวิทยาลัยหรือโปรแกรมตรวจแกรมม่าอย่างเช่น Grammarly ตรวจก่อนที่จะส่งครับ

แต่สำหรับใครที่สมัครคอร์ส CFI แบบ Full Immersion อย่าลืมใช้บริการ Resume/Cover Letter Review ที่ให้มาด้วย เพราะผู้เชี่ยวชาญในสายการเงินจะได้ตรวจสอบ Resume ให้คุณครับ)

นอกจากนี้อีเมล์ที่ระบุในใบสมัคร Internship ควรจะใช้อีเมล์ที่มีชื่อเต็มของคุณนะครับ หรือไม่ก็ใช้อีเมล์ของมหาวิทยาลัยที่ให้เราเลยครับ พวกอีเมล์แบบ cute_cute@gmail อะไรแบบนี้ไม่เอา

หลังจากที่คุณส่งใบสมัครไปแล้ว บริษัทการเงินอาจจะส่งแบบทดสอบที่เรียกกันว่า psychometric tests มาให้คุณทำด้วย แบบทดสอบจะเป็นแบบทดสอบออนไลน์ แนวๆ สอบ IQ กับคณิตศาสตร์อย่างง่ายนั่นแหละครับ จริงๆ แบบทดสอบพวกนี้ง่ายถึงง่ายมาก แต่ที่มันทำให้มันยากคือ เวลาที่มีจำกัดมากครับ

ถ้าคุณถูกส่งให้ทำแบบทดสอบเหล่านี้ คุณต้องทำคะแนนให้ดีด้วย ไม่งั้นจะถูกปฏิเสธใบสมัครทันทีครับ

อย่างไรก็ดีในปัจจุบันแบบทดสอบลักษณะนี้มีการใช้งานน้อยลงแล้ว แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่ครับ

3. Interviews

หลังจากที่คุณยื่นใบสมัครไปแล้ว แล้วผ่านการ screening ทางบริษัทจะส่งอีเมล์มาขอสัมภาษณ์ (Interview)

ถ้าคุณมาถึงรอบนี้ได้ แปลว่าคุณเป็นหนึ่ง ใน 3%-5% ของผู้สมัครทั้งหมดที่ฝ่าด่านอรหันต์มาได้ ผมต้องขอแสดงความยินดีด้วยครับ แต่คุณยังต้องเจออีกหลายรอบกว่าจะได้ Internship ในฝัน

ในการ Interview จะแตกต่างกันไปในแต่ละแผนกในบริษัท คุณอาจจะได้สัมภาษณ์ตัวต่อตัวกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่มหาวิทยาลัยของคุณ หรืออาจจะสัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์, skype หรือกระทั่งเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดอย่าง Hirevue ที่ให้คุณอัดคลิปแล้วส่งให้กับบริษัท

สิ่งที่เหมือนกันคือ คุณจะต้องตอบคำถามให้ดีและมีสติทุกครั้ง (และแน่นอนว่าแต่งตัวให้ดี) คำถามที่มีผู้สัมภาษณ์จะถามคุณได้มีมากมาย ตั้งแต่ประวัติส่วนตัว ทัศนคติในเรื่องต่างๆ ไปจนถึงทักษะและความรู้ของคุณทาง finance แผนกที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งเกี่ยวกับบริษัทที่สัมภาษณ์คุณอยู่ครับ

การที่คุณจะตอบได้ดี คุณจะต้องผ่านการซ้อมมาอย่างหนักหน่วงครับ ลองตอบคำถามหลายๆ แบบหน้ากระจก หรือว่าให้เพื่อนหรือคนรู้จักช่วยฟังก็ได้ครับ

สำหรับใครที่ไม่มั่นใจการสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ผมแนะนำให้เรียนคอร์สติวเข้มการสัมภาษณ์ (ของ Udemy ที่ราคาไม่แพง) ไปก่อนล่วงหน้าครับ

เว็บไซต์ที่ผมว่ามีประโยชน์มากในการเตรียมตัว Interview คือ

  • Mergers & Inquisitions – ทำความเข้าใจสายงานต่างๆ ใน finance + เคล็ดลับการเตรียมตัว Interview
  • eFinancialcareers – Interview Guide ชั้นยอด
  • CFI – มี resource เกี่ยวกับการ Interview สาย finance ที่ให้คุณใช้ได้ฟรี 100% บทความของ CFI จัดว่าละเอียดมากที่สุดเลยก็ว่าได้ ในส่วนนี้ใครก็ใช้ได้ ไม่ต้องสมัครคอร์สครับ

สำหรับ Internship และ Full-time นั้น การ Interview จะคล้ายๆ กัน นั่นคือมีหลายรอบ บางแผนกอาจจะมี 3-4 รอบ แต่บางแผนกจะมีรอบเดียว อย่างตอนที่ผมสมัครส่วนมากจะมี 2 รอบครับ นั่นคือรอบแรกกับรอบสุดท้าย

หลังจากสัมภาษณ์จบไปแล้วแต่ละรอบ ถ้าคุณผ่านไปได้ บริษัทจะส่งอีเมล์หรือโทรมาคุณอย่างรวดเร็ว (ไม่เกิน 7 วัน แต่ส่วนมาก 1-3 วันก็โทรมาแล้ว) แต่ถ้ารอนานกว่านั้นแล้วยังไม่โทรมา ผมขอให้คุณตัดใจไปเลยครับ การสมัคร Internship ที่บริษัทนี้ของคุณจบสิ้นลงแล้ว ไปสมัครบริษัทใหม่เลยดีกว่า ไม่ต้องเสียเวลารอ หรือหวังลมๆ แล้งๆ

รอบสุดท้ายเราจะเรียกว่า “Super Day” ซึ่งคุณจะได้เดินทางไปที่บริษัท และได้รับการสัมภาษณ์จากเหล่า Managing director และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทการเงินชั้นนำ รอบนี้เป็นรอบที่เครียดมาก เพราะเป็นรอบสุดท้ายแล้ว แถมคุณยังต้องถูกสัมภาษณ์จากคนระดับนี้ด้วย

อย่างที่ทราบกันไปแล้ว ผมไม่สามารถผ่านรอบนี้ไปได้อย่างที่ใจหวัง สาเหตุหลักคือผมทำได้แย่เองทั้ง 2 ครั้ง (ผมคุมความตื่นเต้นไม่ได้จนตอบได้แย่มากๆ ครับ) และอีกปัจจัยนึงคงเพราะการแข่งขันสูงเหลือเกิน อย่างแผนกที่ผมสมัคร ผู้สมัครเข้ามารอบสุดท้าย 8 คน และเลือกเอา 1-2 คนเท่านั้น

ถ้าคุณผ่าน Super Day ไปได้ นั่นแปลว่าคุณเป็นผู้สมัครที่ได้รับเลือกครับ (เหมือนกับเพื่อนคนไทยของผมหลายๆ คน) คุณจะได้ Internship ในบริษัทการเงินระดับโลกสมใจครับ หลังจากนั้นหน้าที่ของคุณก็คือตั้งใจทำงานให้ดี เพื่อให้ได้ full-time offer ครับ

ข้อควรทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสมัคร Internship

ในทุกขั้นตอน คุณห้ามโกหกเกี่ยวกับประวัติ ผลงาน รวมไปถึงสถานการณ์การสมัครงานเป็นอันขาด ไม่ว่าจะใน Resume, Cover Letter และ Interview เพราะถ้าถูกจับได้ คุณจะงานเข้าใหญ่โตเลยครับ ลองอ่านเคสที่เกิดขึ้นดูก็ได้ครับ

สิ่งที่ผมเขียนขึ้นไปอ้างอิงจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการสมัคร Internship ของบริษัทการเงินระดับโลกในสาขาสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสิงคโปร์เท่านั้น (สองที่หลังผมสมัครออนไลน์ แต่ขั้นตอนทุกอย่างจะทำที่อเมริกาครับ) แต่ถ้าคุณสมัครในยุโรป ขั้นตอนการสัมภาษณ์น่าจะแตกต่างออกไปครับ

ถ้าคุณไม่ได้ก็ไม่ต้องเสียใจมากหรอกครับ (เสียใจนิดนึงได้ 555 ผมเองก็รู้สึกเจ็บตอนนั้น) โอกาสของคุณยังมีอีกมากทั้งในและนอกสายงาน finance ครับ อย่างตัวผมเอง ในปัจจุบันก็มีความสุขมากที่ได้ทำงานนอกสายงาน finance ครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!