ประวัติศาสตร์ฟิลิปป โกโลเชคิน อดีตหมอฟันจอมบงการสังหารครอบครัวโรมานอฟ

ฟิลิปป โกโลเชคิน อดีตหมอฟันจอมบงการสังหารครอบครัวโรมานอฟ

ท่านที่ติดตามเรื่อง วันสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟมาน่าจะสังเกตว่าไม่ว่าจะเป็นยูรอฟสกี้ หรือ เยอร์มาคอฟ หรือมือสังหารคนอื่นๆ ที่สังหารครอบครัวโรมานอฟในห้องใต้ดินของบ้านอิปาตเยฟ ต่างเป็นพวกบอลเชวิคระดับล่างที่ได้รับคำสั่งมาเท่านั้น

ผู้ที่สั่งตายนิโคลัส และครอบครัวจริงๆ คือ คณะกรรมาธิการอูรัล หรือ ศูนย์กลางการปกครองของพวกบอลเชวิคในแถบนั้น และหนึ่งในแกนนำของคณะกรรมาธิการอูรัลคือ

ฟิลิปป อิซาเยวิช โกโลเชคิน (Филипп Исаевич Голощёкин) ผู้ที่ทำทุกวิธีทางที่จะสังหารนิโคลัสและครอบครัวให้ได้

โกโลเชคิน

ประวัติย่อของจอมบงการ

โกโลเชคินมีเชื้อสายยิว เราไม่ทราบประวัติของเขาในวัยเด็กมากนัก เรารู้แต่เพียงว่าเขาจบการศึกษาจากโรงเรียนทันตกรรมที่ริกา (ปัจจุบันคือเมืองหลวงของลัตเวีย) และได้ประกอบอาชีพเป็นหมอฟันหรือเจ้าหน้าที่ทันตกรรมอยู่สักพักหนึ่ง

ในปี ค.ศ.1903 โกโลเชคินได้เข้าร่วมพรรค RSDLP (พรรคสังคมนิยมที่แยกเป็นบอลเชวิคและเมนเชวิคในภายหลัง) หลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นนักปฏิวัติอย่างเต็มตัว จนกระทั่งถูกจับครั้งแรกโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลซาร์ในปี ค.ศ.1909 และได้รับโทษเนรเทศไปยังไซบีเรีย

ชีวิตในช่วงก่อนปฏิวัติของโกโลเชคินแทบจะไม่มีอะไรน่าสนใจ เขาหนีจากไซบีเรีย แต่กลับมาถูกจับและโดนเนรเทศกลับไปไซบีเรียไปอีกครั้ง เขาโดนแบบนี้อยู่ 2 รอบ จนกระทั่งการปฏิวัติกุมภาพันธ์ได้ปะทุขึ้น ทำให้โกโลเชคินเป็นอิสระ

ระหว่างที่อยู่ที่ไซบีเรีย โกโลเชคินได้รู้จักและสนิทสนมกับยาคอฟ สเวียตลอฟ ซึ่งต่อมาได้เป็นมือขวาของเลนิน ทำให้สเวียตลอฟเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของโกโลเชคินในเวลาต่อมา

สเวียตลอฟ

หลังการปฏิวัติตุลาคม โกโลเชคินถูกรับเลือกให้เป็นสมาชิกกรรมาธิการบริหารกลาง และถูกส่งโดยเลนินและสเวียตลอฟให้ไปยังดินแดนอูรัล โกโลเชคินได้ก่อตั้งหน่วยเรดการ์ดขึ้นที่นั่น และได้รับเลือกให้เข้าอยู่ในคณะกรรมาธิการอูรัล

ต่อมาเขายังได้รับเลือกเป็นคอมมิสซาร์ฝ่ายทหารแห่งเขตอูรัลด้วย ทำให้โกโลเชคินเป็นหนึ่งในผู้นำคนสำคัญของพวกบอลเชวิคในเยกาเตรินเบิร์กและบริเวณโดยรอบ อิทธิพลของเขาในเขตอูรัลจึงเรียกได้ว่ามากมาย แต่น้อยกว่าเบโลบาโรดอฟ เพียงผู้เดียวเท่านั้น

บทบาทในการสังหารครอบครัวโรมานอฟ

โกโลเชคินเป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอให้นำครอบครัวโรมานอฟมายังเยกาเตรินเบิร์ก จนเกือบกระทบกระทั่งกับยาคอฟเลฟ และเมื่อครอบครัวโรมานอฟอยู่ที่เยกาเตรินเบิร์กแล้ว โกโลเชคินเป็นคนล็อบบี้อย่างหนักหน่วงต่อมอสโกให้อนุญาตให้ลงมือสังหารครอบครัวโรมานอฟ เพื่อการนี้เขาเดินทางไปมอสโกหลายครั้งเพื่อขอให้เลนินและสเวียตลอฟอนุมัติคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ไม่เป็นผล

สิ่งที่โกโลเชคินได้มาคือการยินยอมทางลมปากให้อนุญาตให้สังหารครอบครัวโรมานอฟได้เท่านั้น

ในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1918 โกโลเชคินส่งโทรเลขเพื่อขอยืนยันคำอนุญาตให้สังหารอีกครั้งหนึ่ง และได้การตอบกลับจากมอสโก แต่โทรเลขดังกล่าวสูญหายไปอย่างลึกลับ

ระหว่างที่ยูรอฟสกี้และมือสังหารคนอื่นๆ กำลังจัดการกับครอบครัวโรมานอฟ โกโลเชคินเดินไปเดินมาอยู่รอบรั้วที่ล้อมบ้านอิปาติเยฟเอาไว้ เพื่อตรวจดูว่ามีเสียงอะไรลอดออกมาหรือไม่ เขาเองก็ได้สั่งให้คนขับรถบรรทุกศพเร่งเครื่องเต็มที่เพื่อกลบเสียงปืน เสียงกรีดร้อง และเสียงเห่าอย่างบ้าคลั่งของสุนัขทั้งสามของครอบครัวโรมานอฟ

แต่สุดท้ายโกโลเชคินก็ตระหนักว่า เสียงดังกล่าวก็ยังลอดออกมาได้อยู่ดี เขาจึงสั่งให้คนเข้าไปบอกยูรอฟสกี้ให้ใช้ดาบปลายปืนสังหารครอบครัวโรมานอฟ นี่น่าจะเป็นสาเหตุที่เยอร์มาคอฟพยายามใช้ดาบปลายปืนแทงสี่สาวโรมานอฟอย่างบ้าคลั่ง แต่ก็ไม่เป็นผล สุดท้ายยูรอฟสกี้จำต้องใช้ปืนพกยิงสังหารพวกเธอทุกคน

เสียงปืนที่ดังลอดออกมาไปเข้าหูสถานทูตอังกฤษที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้น โกโลเชคินรีบไปที่สำนักงานโทรเลข เมื่อได้ทราบว่าเซอร์โทมัส เปรสตัน ทูตอังกฤษประจำเยกาเตรินเบิร์กกำลังจะส่งโทรเลขไปแจ้งรัฐบาลอังกฤษว่า

ซาร์นิโคลัสที่ 2 ถูกยิงเมื่อคืนนี้

โกโลเชคินขัดขวางการส่งโทรเลขเอาไว้ได้ เขาเอาโทรเลขของเปรสตันมาขีดฆ่าและเขียนไปว่า

ซาร์นิโคลัส จอมเพชฌฆาตถูกยิงเมื่อคืนนี้ – ชะตากรรมที่เขาสมควรได้รับมันเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อกองทัพเช็กกำลังเข้ามาใกล้ โกโลเชคินและพรรคพวกจึงหลบหนีออกจากเยกาเตรินเบิร์ก พวกเขาออกจากเมืองไม่ถึงสัปดาห์หลังจากการสังหารครอบครัวโรมานอฟ

การสังหารหมู่โกโลเชคิน

โกโลเชคินทำงานในรัฐบาลบอลเชวิคต่อไป ต่อมาเขาได้เลื่อนเป็นประธานสภาจังหวัดซามารา (Samara) ในปี ค.ศ.1922 โกโลเชคินปฏิบัติงานใช้ได้ในเมืองแห่งนี้ เขาดำเนินนโยบาย NEP (New Economic Policy) ของเลนินเป็นอย่างดี เขาจัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเศรษฐกิจระดับชนบท และให้การศึกษากับประชาชน

ต่อมาในปี ค.ศ.1925 โกโลเชคินได้เลื่อนเป็นผู้ว่าราชการเขตคาซัคสถานทั้งหมด เขาปกครองดินแดนเหล่านี้ราวกับว่าเป็นจอมเผด็จการ

เมื่อสตาลินออกนโยบายนารวมทั่วทั้งสหภาพโซเวียต โกโลเชคินก็ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างดี เขาริบที่ดินของประชาชนทั้งหมดเข้าเป็นของรัฐ รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงต่างๆ ด้วย รวมทั้งหมดแล้วฟาร์มมากกกว่าหนึ่งหมื่นแห่งถูกริบ เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงอีกเกือบหลายล้านตัว (บ้างว่าหลายสิบล้านตัว)

นอกจากนี้เขายังได้สั่งให้ประชาชนทุกคนเข้าไปอยู่ในนารวม ไม่ว่าจะเป็นชาวคาซัคหรือชาวรัสเซีย ถ้าใครไม่ยอมไป โกโลเชคินก็จะสั่งให้ทหารใช้ความรุนแรงได้ทันที

อนุสรณ์สถานระลึกถึงการสังหารหมู่โกโลเชคินที่ประเทศคาซัคสถาน Автор: Дмитрий Филюшин – http://www.panoramio.com/photo/81343227, CC BY-SA 3.0,

หลังจากเข้าไปในระดมนารวมได้ไม่นาน ปัญหาก็เกิดขึ้น นั่นก็คือ การริบสัตว์มาจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ทำให้โกโลเชคินไม่สามารถหาอาหารมาให้พวกมันได้ เพราะเจ้าของเองก็ถูกส่งไปทำงานในระบบนารวม

โกโลเชคินจึงตัดสินใจให้สังหารสัตว์เหล่านั้น! สัตว์เหล่านี้ถูกสังหารไปถึง 90% ของทั้งหมด!

การสังหารสัตว์สร้างปัญหาอย่างมาก เพราะชาวคาซัคทั่วไปใช้พวกมันเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และใช้เป็นอาหารในการดำรงชีพด้วย เมื่อระบบนารวมไม่สามารถให้ผลผลิตตามที่ต้องการได้ ทุกคนจึงไม่มีอะไรกินและเริ่มหิวโหยตามลำดับ ไม่ต่างอะไรกับภาวะขาดอาหารที่ปรากฏในจีนหรืออินเดีย

ผลที่ตามมาคือ ชาวคาซัคสิ้นชีวิตไปประมาณสองล้านคน ตัวเลขของรัฐบาลโซเวียตแสดงให้เห็นว่าชาวคาซัคลดลงจาก 3.6 ล้านคน เหลือเพียง 2.2 ล้านคนภายในเวลา 12 ปีเท่านั้น ตัวเลขจริงอาจจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป

ตลอดเวลา 8 ปี ที่อยู่ที่คาซัค โกโลเชคินไม่เคยสนใจเลยว่าพวกชาวบ้านอาศัยอยู่กันอย่างไร ทำให้ชาวคาซัคเกลียดชังเขามาก ชาวคาซัคเรื่องภาวะขาดอาหารที่เกิดขึ้นช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งที่คาซัคว่า

การสังหารหมู่โกโลเชคิน

กระแสความไม่พอใจทำให้โกโลเชคินถูกปลดออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ.1933 แต่ได้รับคำสั่งให้ไปรับตำแหน่งใหม่ในฐานะผู้ตรวจการแห่งสหภาพโซเวียต

หมดอำนาจและมอดม้วย

ในฐานะผู้ตรวจการ โกโลเชคินมีส่วนสำคัญในเหตุการณ์ Great Purge ของสตาลิน เขาร่วมมือกับนิโคไลย์ เยชอฟ ผู้บังคับบัญชาตำรวจลับ ในการจับกุม “ัศัตรูทางการเมือง” ของสตาลินทั้งที่เป็นศัตรูจริงๆ และศัตรูในจินตนาการ

เยชอฟ

นักประวัติศาสตร์โซเวียตบันทึกไว้ว่า โกโลเชคินโหดเหี้ยม หยิ่งผยอง และไม่เคยคำนึงถึงชีวิตมนุษย์ใดๆ ผู้คนจำนวนมากจึงต้องสิ้นชีวิตเพราะเขา

แต่สุดท้ายกรรมก็ตามทันชายผู้นี้จนได้

ในปี ค.ศ.1939 เยชอฟถูกสตาลินปลดออกจากตำแหน่งและจับกุมตัว เยชอฟถูกทรมานและรับสารภาพทุกสิ่ง เขาบอกผู้สอบสวนว่า เขาและโกโลเชคินเคยเป็นคู่รักร่วมเพศกันช่วงที่โกโลเชคินเป็นผู้ว่าราชการดินแดนคาซัคในปี ค.ศ.1925

สำหรับสตาลินแล้ว เมื่อเขาไม่ไว้ใจเยชอฟ เขาย่อมไม่ไว้ใจโกโลเชคินที่เป็นเพื่อนสนิทหรือคู่รักของเยชอฟด้วย โกโลเชคินเองก็เป็นพวกบอลเชวิคเก่าแก่ที่มีอิทธิพลสูงในพรรค โกโลเชคินจึงเข้าข่ายที่จะโดนกำจัดเต็มๆ

โกโลเชคินถูกจับกุมทันที เมื่อเขาต้องเผชิญหน้ากับสตาลิน อำนาจที่โกโลเชคินมีอยู่ไม่อาจจะทำอันใดได้ โกโลเชคินได้รับการกล่าวโทษในข้อหาหนัก 4 ข้อหา

  • มีใจให้กับแนวคิดและพรรคพวกของทรอตสกี้
  • เตรียมการก่อการร้าย
  • ดำเนินนโยบายนารวมอย่างรุนแรงเกินไป
  • เป็นสายลับให้กับพวกนาซีเยอรมัน

โกโลเชคินถูกสอบสวนอย่างหนัก แต่โชคของเขายังดี แต่เขายังไม่ถูกยิงเป้า ต่างจากเยชอฟที่ถูกยิงทิ้งไปหลังจากถูกสอบสวนได้ไม่ถึงปี

ระหว่างที่กองทัพเยอรมันบุกโซเวียต โกโลเชคินถูกนำตัวไปยังซามารา เมืองที่เขาเคยเป็นผู้ว่าราชการเมือง เขาจะไม่ได้ออกไปจากที่นี่อีกแล้ว

หลังจากนั้นไม่นาน โกโลเชคินถูกขนานนามว่าเป็นนักโทษที่ “เป็นอันตรายอย่างมาก” และเป็นหนึ่งในนักโทษที่สตาลินมีคำสั่งโดยตรงให้ประหารชีวิตเสียด้วยการยิงเป้า ในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ.1941

ศพของโกโลเชคินถูกนำไปโยนทิ้งโดยไม่มีหินปักที่ฝังศพใดๆ เช่นเดียวกับที่เขาสั่งให้ทำกับครอบครัวโรมานอฟ และชาวคาซัคจำนวนมาก กฎแห่งกรรมได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!