เอสโตเนียเป็นประเทศเล็กๆ แห่งหนึ่งริมทะเลบอลติก ประเทศนี้มีขนาดเล็กมีพื้นที่เพียง 45,227 ตารางกิโลเมตร ทรัพยากรจึงไม่ได้มีมากมาย ประชากรก็น้อย ปัจจุบันมีประชาชนยังไม่ถึงสองล้านคน ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในกรุงเทพเสียอีก
ประเทศแห่งนี้เป็นประเทศที่ได้รับเอกราชหลังจากการปฏิวัติรัสเซีย แต่กลับถูกสหภาพโซเวียตเขมือบกลับเข้าไปอีกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเยอรมนีบุกสหภาพโซเวียต ชาวเอสโตเนียจำนวนมากก็พลีชีพในสงคราม
กว่าเอสโตเนียจะได้อิสรภาพอย่างแท้จริงก็ปาเข้าไปถึง ปี ค.ศ.1991 หรือการล่มสลายของสหภาพโซเวียตโน่นเลย ตลอดหลายสิบปีที่อยู่ในการปกครองของโซเวียต ชาวเอสโตเนียต้องใช้ชีวิตอย่างทุกข์ยากด้วยความอดอยากหลายต่อหลายครั้ง
ในปี ค.ศ.1992 ชาวเอสโตเนียได้ปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรก นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์แห่งการพัฒนาประเทศของเอสโตเนีย
สถานการณ์ในปี ค.ศ.1992
ในปี ค.ศ.1992 เอสโตเนียเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำมากในยุโรป (ประมาณ $2,000 ซึ่งต่ำกว่าประเทศไทย) เพราะเพิ่งออกจากการประเทศคอมมิวนิสต์ เอสโตเนียปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และนายกรัฐมนตรีเอสโตเนียทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล
ปีนั้นกลับเป็นปีที่ชาวเอสโตเนียไม่มีความสุขสักเท่าใดนัก การปรับประเทศเข้าสู่ระบอบทางการเมืองและเศรษฐกิจใหม่เป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากถึงมากที่สุด เพราะเมื่อปราศจากการควบคุมราคาในสังคมคอมมิวนิสต์ มันได้ทำให้เงินเฟ้อในเอสโตเนียสูงมากถึง 1,000 เปอร์เซนต์ การผลิตทางด้านอุตสาหกรรมลดลง 30 เปอร์เซนต์ ทั้งหมดนี้เป็นราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเปลี่ยนประเทศจากสังคมนิยมสุดโต่งสู่ทุนนิยมสายกลาง
ชาวเอสโตเนียต้องแบ่งสันปันส่วนอาหารกันเพราะทรัพยากรมีน้อย เชื้อเพลิงสำหรับทำความร้อนก็ไม่มี โครงสร้างพิ้นฐานก็ย่ำแย่สุดๆ เพราะรัฐบาลโซเวียตไม่เคยคิดจะพัฒนาเอสโตเนียเลย นักวิเคราะห์จำนวนมากคิดว่าเอสโตเนียยากที่จะมีอนาคตได้ในสภาพแบบนี้ แม้แต่คนเอสโตเนียเองก็เถอะ มีน้อยคนที่จะเชื่อมั่นในประเทศของตัวเอง
แต่ที่แน่ๆ คือ ทุกคนจะไม่ทนในสภาพแบบนี้อีกต่อไปแล้ว ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันไม่เข้าท่า ทุกคนต้องการความเปลี่ยนแปลง และไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบเล็กๆ ด้วย ชาวเอสโตเนียรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงมันต้องเป็นระดับบิ๊ก บิ๊กมากพอที่จะผลักประเทศให้ก้าวข้ามขุมนรกที่เป็นอยู่ และมันต้องเร็วด้วย เพราะทุกคนกำลังจะอดตาย
ดังนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากได้อิสรภาพ ชาวเอสโตเนียจึงออกไปเลือกตั้งกันอย่างล้นหลาม พวกเขาเลือกเลนนาร์ด มารี (Lennart Mari) วัย 62 ปีขึ้นเป็นประธานาธิบดี นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ที่แปลกคือ
ชาวเอสโตเนียเลือกมาร์ต ลาร์ (Mart Laar) วัย 32 ปี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาลและรับบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศ
สาเหตุที่พวกเขาเลือกคนหนุ่มอย่างลาร์มาบริหารประเทศก็เพราะว่า ลาร์ได้ประกาศว่าจะปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วที่สุด โดยใช้ระบบตลาดและเสรีนิยม
เจ็บแต่จบ
สิ่งแรกที่รัฐบาลใหม่ของเอสโตเนียเริ่มต้นในการพัฒนาประเทศกลับไม่ใช่เศรษฐกิจ แต่กลับเป็นการเมือง เพราะการเมืองเป็นต้นเหตุของปัญหาหลายๆ อย่างทางด้านเศรษฐกิจ การที่การเมืองไม่มั่นคงจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจหยุดชะงักและไม่ยั่งยืน
รัฐบาลใหม่จึงเริ่มต้นด้วยการส่งเสริมประชาชนที่เคยอยู่กับระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จแบบคอมมิวนิสต์อย่างยาวนานศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลไม่ใช้อำนาจที่เป็นเผด็จการ แต่กลับสร้างสถาบันการเมืองที่ประชาชนสามารถเชื่อถือได้ และใช้การลงคะแนนเลือกตั้งเป็นวิธีสำคัญในการแก้ไขปัญหาทุกอย่าง
ลาร์ได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นด้วยคะแนนเสียงมากกว่าฝ่ายค้านเพียงเสียงเดียวเท่านั้น แต่ลาร์ไม่สนใจว่าจะไม่มั่นคง เพราะเขารู้ดีว่าตราบใดที่สมาชิกสภาที่สนับสนุนเขาไม่เป็นงูเห่า เขาไม่มีทางที่จะพ่ายแพ้ในการออกนโยบายต่างๆ ลาร์จึงได้ให้สมาชิกทุกคนเซ็นสัญญาไว้ว่าจะสนับสนุนแผนดำเนินงานของรัฐบาล
สิ่งแรกที่รัฐบาลใหม่ปรารถนาจะแก้ไขทางด้านเศรษฐกิจคือ รัฐบาลต้องการจะลดการขาดดุลงบประมาณ (Budget Deficit) โดยการใช้นโยบายการคลังแบบสมดุล (รายรับเท่ากับรายจ่าย) ซึ่งแน่นอนประชาชนจำนวนมากจะไม่ชอบ เพราะว่าการสนับสนุนของรัฐบาลที่มากเหมือนกับสมัยคอมมิวนิสต์จะลดลงไปอย่างมาก แต่รัฐบาลก็ต้องทำเพื่อลดภาระทางการคลัง มิฉะนั้นจะไม่มีเงินไปพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ เลย
แท้จริงแล้วในช่วงนี้องค์กร IMF ก็ได้เข้ามายื่นข้อเสนอว่าจะมอบเงินกู้ แต่รัฐบาลคนรุ่นใหม่ของเอสโตเนีย (รัฐมนตรีบางคนอายุต่ำกว่า 30 ปี) ปฏิเสธข้อเสนอไป เพราะว่าพวกเขาต้องการสร้างอนาคตของประเทศจากการปฏิรูป ไม่ใช่การใช้เงินจากการกู้ยืม
รัฐบาลใหม่ได้ประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วไป โดยใช้องค์กรในประเทศและระหว่างประเทศช่วยกันจัดอีเวนต์ให้ประชาชนรับทราบ ชาวเอสโตเนียจึงรับทราบอย่างรวดเร็วว่ารัฐบาลจะทำอะไร
การจัดทำงบประมาณแบบสมดุล
จริงอยู่ว่ารัฐบาลประสบกับแรงต่อต้านอย่างมาก ฝ่ายค้านก็คัดค้านอย่างสุดกำลัง พวกเขาต่อต้านความพยายามที่จะลดการขาดดุลงบประมาณอย่างแข็งขัน พวกเขาใช้วิธีการต่างๆ ตั้งแต่การใช้วิธีการปิดรัฐสภาหรือประท้วงตามถนน แต่แล้วก็ไม่สำเร็จ รัฐบาลของลาร์ผ่านไปได้ด้วยวิธีทางประชาธิปไตย ถึงแม้บางทีจะยุ่งยากสักหน่อย มีอยู่ครั้งหนึ่งสมาชิกสภาฝ่ายรัฐบาลคนหนึ่งเพิ่งจะคลอดลูก ฝ่ายรัฐบาลรีบส่งรถไปรับเธอมายังสภาทันที เพื่อที่จะโหวตให้นโยบายปฏิรูปผ่านไปได้
หลังความพยายามหลายเดือน รัฐบาลก็สามารถผ่านกฎหมายที่ช่วยคุมการใช้จ่ายงบประมาณได้เป็นผลสำเร็จ รัฐบาลเริ่มต้นคุมค่าใช้จ่ายด้วยการตัดการช่วยเหลือให้กับบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ รัฐบาลใหม่มองว่าการอุดหนุนบริษัทเหล่านี้เป็นการปกป้องบริษัทเก่าๆ เน่าๆ ที่คอยหยุดยั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ลาร์ นายกรัฐมนนตรีเขียนในบทความของเขาว่า
การตัดการอุดหนุนเป็นการส่งข้อความที่เรียบง่ายให้พวกโซเวียตไดโนเสาร์ทราบว่า พวกเขาต้องเริ่มทำงานได้แล้ว หรือไม่งั้นก็ตายๆ ไปซะ
Mart Laar, the Estonian Economic Miracle
นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ยังได้ยกเลิกการสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจที่ไม่เกิดประโยชน์ และเริ่มต้นการนำกลไกราคาเข้ามาใช้ อะไรที่ปล่อยได้ก็ให้ทำงานด้วยตัวของมันเอง โดยรัฐบาลไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว
รัฐบาลใหม่ได้ใช้ความโปร่งใสทั้งต่อสมาชิกสภาและประชาชน ลาร์ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าการปฏิรูปในระยะแรกจะเต็มไปด้วยความยากลำบากและวุ่นวาย ถึงแม้จะเกิดการประท้วงมากมาย โดยเฉพาะพวกที่เสพติดกับการอุดหนุนของรัฐบาล ความเป็นผู้นำของเขาและความโปร่งใสของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่เกิดงูเห่าในสภา การปฏิรูปและรัฐบาลจึงดำเนินต่อไป
เมื่อเวลาผ่านไปงบดุลที่ติดลบอย่างมากของเอสโตเนียก็ได้กลับมาสมดุลอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นเอสโตเนียก็ได้ผ่านกฎหมายที่ว่าการใช้จ่ายงบประมาณแบบสมดุลเท่านั้นที่จะเข้ามาพิจารณาในรัฐสภาของเอสโตเนียได้ การใช้งบประมาณลักษณะนี้ทำให้เอสโตเนียมีหนี้สินของรัฐบาลต่ำมากเมื่อเทียบกับ GDP และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเศรษฐกิจเอสโตเนียในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันเงินเฟ้อในประเทศก็ลดต่ำลงด้วย จาก 1,000% เหลือเพียง 29% ในปี ค.ศ.1995 และแนวโน้มเริ่มลดลงไปเรื่อยตามลำดับ
ลาร์มองว่าถ้าเอสโตเนียไม่เปลี่ยนแปลง เอสโตเนียต้องประสบกับคุณภาพชีวิตที่ต่ำลงและสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงอย่างไม่มีทางเลือก ดังนั้นการที่เอสโตเนียจะรุ่งเรืองได้ เอสโตเนียจะต้องกำจัดระบบเศรษฐกิจเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพออกไปให้หมดเสียก่อน
ในตอนหน้า ลาร์จะเริ่มทำการจัดการกำจัดระบบเศรษฐกิจเก่า เขาจะทำอย่างไร รอติดตามได้ครับ
Additional Sources: World Bank